ส่องการผลิตพลังงานไฟฟ้ายั่งยืนของ BPP สู่ก้าวสำคัญแห่งการพัฒนาโซลาร์รูฟท็อป
04 May 2023

หลังจากที่เราอยู่กับโลกปกติใหม่นี้กันจนคุ้นชินสัญญาณความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศก็เริ่มดีขึ้น จีนนับเป็นอีกประเทศยักษ์ใหญ่ที่น่าจับตามองจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของไตรมาสแรกในปี 2023 เป็นไปในทิศทางบวก

 

ด้วยอัตราการขยายตัวที่ดีกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 4.5% ต่อปี นำโดยภาคบริการที่เติบโตสูงสุดในรอบ 18 เดือน หลังจากที่จีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์และเปิดประเทศ เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยฟื้นตัวตามกันไปด้วย ธนาคารโลก (World Bank) ยังประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในปี 2023 จะมีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) เฉลี่ยสูงถึง 5.1% เทียบกับปี 2022 ที่ 3% โดยมีความต้องการในประเทศเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ

เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าก็ย่อมเติบโตสอดคล้องไปในทางเดียวกันด้วย บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล ที่ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งลงหลักปักหลักฐานธุรกิจในจีนมานานกว่า 20 ปี ได้จับสัญญาณเศรษฐกิจและประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าในจีนว่าจะเพิ่มขึ้นสอดคล้องไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญของผู้ผลิตไฟฟ้าจึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้ทันต่อทิศทางตลาดที่ขยายตัว พร้อมๆ ไปกับการตอบรับยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของจีน

“จีนเป็น 1 ใน 8 ประเทศยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพที่ BPP มองเห็นโอกาสและเน้นขยายการลงทุนมาตลอดช่วง 2 ทศวรรษ เพื่อที่จะเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจจีนและตอบรับนโยบายเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

BPP จึงเร่งสร้างการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ที่มาพร้อมกับเป้าหมายขยายกำลังผลิตไฟฟ้าให้ถึง 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2025โดย BPP ยังคงเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มกำลังผลิตในจีนอีก 200 - 800 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า” กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เผยถึงแนวทางการเติบโตของ BPP ในจีน

 

 

การบริหารจัดการพลังงานเพื่อรองรับประชากรกว่า 1,400 ล้านคนภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวในอัตรากว่า 5% ต่อปี ไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนใหญ่จีนยังต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานดั้งเดิมที่ตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงาน คาดการณ์ว่าในปี 2023 จีนจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานดั้งเดิมอยู่ที่ 65% - 70% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ

อย่างไรก็ดี จีนยังคงเดินหน้าปฏิวัติพลังงานเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่สะอาดมากขึ้น และสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2060 ส่งผลให้ในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด อย่างการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) มีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าและเทรนด์ความต้องการพลังงานของคนยุคใหม่

ขณะเดียวกันก็ออกมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาวิกฤตขาดแคลนพลังงานในประเทศ เช่น เพิ่มโควต้าการผลิตถ่านหิน เปิดเหมืองถ่านหินเพิ่ม และยกเลิกเพดานการขึ้้นราคาไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมหนักเพื่อบรรเทาแรงกดดันของผู้ผลิตไฟฟ้า 

ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา BPP ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศจีนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐมาโดยตลอด โดยเริ่มจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) 3 แห่ง ใน 3 เมืองอย่างเจิ้งติ้ง โจวผิง และ หลวนหนาน

การลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) และการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 7 แห่ง ทำให้ในปัจจุบัน BPP มีกำลังผลิตรวม 1,185.40 เมกะวัตต์เทียบเท่า จาก 11 โครงการในประเทศจีน โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้นคิดเป็นประมาณ 20% ของกำลังผลิตรวมจากสินทรัพย์ที่ BPP มีทั้งหมดในจีน 

 

 

ประกาย หยกน้ำเงิน Vice President – Business & Market Development ประจำกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ให้ข้อมูลเสริมว่า “ในช่วงแรกของการขยายการเติบโตของธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในจีนตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ของ BPP นั้น เราเน้นลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาดในขณะนั้น แต่ในปี 2022 เป็นปีแรกที่โครงการโซลาร์รูฟท็อปในจีนมีการเติบโตมากกว่าโซลาร์ฟาร์มที่ติดตั้งบนพื้นดิน สาเหตุจากพื้นที่ที่จำกัดมากขึ้นและราคาค่าไฟที่สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น

ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโซลาร์ฟาร์มของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาไม่ถึง 10 ปีก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็นหลายร้อยกิกะวัตต์ พื้นที่ที่จะใช้พัฒนาเป็นโซลาร์ฟาร์มได้จึงมีน้อยลง ที่เหลือจะเป็นพื้นที่การเกษตร ต่อมาเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น จึงเปลี่ยนพื้นที่โซลาร์ฟาร์มบางส่วนกลับมาเป็นพื้นที่การเกษตร การทำโซลาร์รูฟท็อปจึงเป็นทางเลือกที่ลงตัวในช่วงเวลานี้” 

 

นอกจากนี้ ในฐานะประเทศผู้ผลิตที่สำคัญของโลกทำให้จีนมีความพร้อมในการเป็นแหล่งผลิตวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์ กังหันลม แบตเตอรี่ หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศอุตสาหกรรมพลังงาน ด้วยขนาดของตลาดที่ใหญ่มาก ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าประเทศอื่นๆ

ดังนั้นการทำธุรกิจพลังงานสะอาดในแหล่งที่รวมผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานไว้อย่างครบวงจร จึงเป็นโอกาสมากกว่าจะเป็นความท้าทาย หากมองจากมุมมองของผู้ที่คร่ำหวอดในตลาดอย่าง BPP ยิ่งไปกว่านั้น การขยายตัวของโซลาร์รูฟท็อปในจีนยังมีแรงหนุนจากอัตราค่าไฟที่สูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตที่มีไฟส่วนเกินมีโอกาสขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยได้ในราคาที่สูงกว่าการขายให้ระบบที่ราคาขายส่ง

 

“ตัวอย่างเช่นที่ปักกิ่ง ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟท็อปสามารถขายให้แก่ผู้ใช้ได้ในราคาประมาณ 2.40 บาทต่อหน่วย แต่หากขายไฟเข้าระบบ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1.50 - 1.70 บาทต่อหน่วย จึงทำให้โซลาร์รูฟท็อปเติบโตเร็วเพราะมีโอกาสในการแข่งขัน แม้รัฐจะไม่ได้ให้เงินอุดหนุน (Adder) ดังเช่นในช่วงเริ่มต้นของการส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แล้วก็ตาม” ประกาย กล่าวเสริม

 

ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจพลังงานและหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดของจีน BPP ยังสามารถพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับและไว้ใจ จากผลงานทั้งด้านศักยภาพในการผลิต ประสบการณ์ การกำกับดูแลกิจการที่ดี และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนโดยรอบพื้นที่และหน่วยงานท้องถิ่น โดยใช้หลัก ESG ผสานจุดแข็งของระบบนิเวศทางธุรกิจ ทำให้ BPP กลายเป็นบริษัทไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นให้พัฒนาโครงการโซลาร์รูฟท็อปให้กับเมืองเจิ้งติ้ง มณฑลเหอเป่ย

 

 

“BPP ทำธุรกิจในเมืองเจิ้งติ้งมานานกว่า 20 ปี ผ่านการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้ง (Zhengding) ทั้งการจ่ายความร้อนให้แก่ครัวเรือนที่ทำได้ดีเกินกว่ามาตรฐานกำหนด และการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมในระดับมณฑล จากการนำความร้อนส่วนเกินที่เกิดจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ เพื่อทำระบบปรับอากาศให้กับเมือง (District Heating) ให้หลายพันครัวเรือนได้นำความร้อนไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งเจิ้งติ้งยังถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญของมณฑลเหอเป่ย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนคนปัจจุบันให้ความสำคัญ จากการที่ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาเมืองเจิ้งติ้ง”  กิรณ ตอกย้ำถึงความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าว

 

จากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงานที่สั่งสมมา BPP จึงพร้อมเดินหน้ากับโอกาสที่ได้รับ โดยในปัจจุบัน BPP กำลังพัฒนาโครงการโซลาร์รูฟท็อปให้เมืองเจิ้งติ้ง ด้วยศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ถึง 167 เมกะวัตต์ สำหรับอาคารสำคัญหลายแห่ง เช่น ที่ทำการของหน่วยงานรัฐ และโรงเรียนต่างๆ  การทำโครงการโซลาร์รูฟท็อปให้กับเมืองเจิ้งติ้งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การหล่อเลี้ยงเมืองให้มีชีวิตให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้โดยใช้พลังงานที่สะอาดขึ้นนั้น สามารถเป็นไปได้

 

“เมืองจะมีโอกาสขยายไปเป็นสมาร์ทซิตี้ (Smart City) มีระบบการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ เพราะเมืองคือชีวิต และชีวิตคนเราก็ต้องมีการบริโภค แต่จะบริโภคอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะฉะนั้น เราจึงมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยการจัดการพลังงานอยู่เสมอ เราสามารถนำระบบดิจิทัลเข้ามาบริหารและลดการสูญเสียพลังงานได้

รวมไปถึงสามารถนำมาใช้บริหารการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดได้ ปัจจุบันในจีนมี 8 มณฑลจากทั้งหมด 32 มณฑลหรือประมาณ 25% ที่มีตลาดซื้อขายไฟแบบวันต่อวันหรือชั่วโมงต่อชั่วโมง ตลาดไฟฟ้าในจีนจึงมีความเสรีในระดับหนึ่ง เป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับ BPP ในตลาดไฟฟ้าเสรีที่เรามีประสบการณ์ด้วย”  กิรณ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

“BPP” ยังคงยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Powering Energy Sustainability with Quality Megawatts เพื่อสร้างเมกะวัตต์ที่มีคุณภาพด้วยหลัก “Triple E”

  • Ecosystem สร้างระบบนิเวศของธุรกิจไฟฟ้าที่มีสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อน พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีพลังงาน
  • Excellence รักษาประสิทธิภาพของการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ
  • ESG ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลักความยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

 


ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com

[อ่าน 580]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยูนิโคล่ สนับสนุนทัวร์นิทรรศการ KAWS + Warhol พร้อมจัดแสดงครั้งแรกที่พิตต์สเบิร์ก
คาร์เทียร์จัดนิทรรศการ Crystallization of Time พร้อมการเรียบเรียงใหม่บนพื้นที่ใหม่
SiteMinder สานต่อความร่วมมือกับ Trip.com ตอบรับการฟื้นตัวของตลาดการท่องเที่ยวของจีน
มงต้องลงแล้ว Miss AI เวทีประกวดนางงามจาก AI ครั้งแรกของโลก!
‘Digital Art Toy’ ภาคต่อที่เพิ่มมูลค่าให้กับ ‘ของเล่นศิลปะ’
พบความเชื่อมโยง แพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก
กับเหตุสังหารหมู่โลมา เมืองไทจิ ประเทศญี่ปุ่น
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved