‘Knock Knock’ แคมเปญช่วยเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว เพียงแค่เคาะหน้าจอมือถือ
22 May 2023

Pain point ของการโทรศัพท์แจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายด้วยเสียงในขณะที่กำลังตกอยู่ในอันตราย คือการที่มีคนร้ายหรือผู้ก่อเหตุอยู่ข้างๆ หรือวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ซึ่งหลายกรณีเป็นคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว

จึงเป็นเรื่องยากลำบากที่จะทำให้ภารกิจรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเหยื่อสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้และ Cheil Worldwide ประเทศเกาหลีใต้ มีทางออกที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ายอดเยี่ยม!

 

ต่อไปนี้คือสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของจังหวัดคย็องกี ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2561

เมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจถามปลายสายว่า "คุณมีอะไรให้เราช่วยไหม?"

ผู้หญิงในสายตอบแบบติดๆ ขัดๆ ราวกับว่าเธอไม่เข้าใจคำถามที่สุดแสนจะธรรมดานี้ แต่ในที่สุดเธอก็ละล่ำละลักตอบว่า "ฉันอยู่ที่ห้องเช่าใกล้สะพานลอย คุณช่วยส่งบะหมี่จีนสองห่อมาให้ฉันที่นี่ได้ไหม" เสียงของเธอสั่นเครือ

เมื่อตระหนักได้ในทันทีว่ามีบางอย่างผิดปกติและเธอกำลังขอความช่วยเหลือจริงๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็กระแอมในลำคอเบาๆ และถามเธออีกครั้งด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบว่า

“คุณกำลังอยู่กับคนที่กำลังคุกคามคุณอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ ช่วยบอกเราทีว่าตอนนี้คุณอยู่ที่ไหน”

 

 

เมื่อปมคลี่คลายแล้ว พบว่าในขณะที่เธอโทรมาหาตำรวจนั้นเธออยู่กับแฟนหนุ่มซึ่งเป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมด เธอจึงไม่สามารถพูดคุยกับตำรวจเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นทางโทรศัพท์ได้ เลยแสร้งทำราวกับว่ากำลังสั่งอาหารอยู่

เจ้าหน้าที่ตำรวจรับรู้ได้ทันทีว่าเธอกำลังตกอยู่ในอันตราย จึงบอกให้เธอแจ้งที่อยู่ จากนั้นตำรวจรุดไปที่เกิดเหตุและจับกุมผู้กระทำความผิด

เรื่องจริงนี้เป็นแรงบันดาลใจให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสาะหาแนวทางใหม่สำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม เมื่อต้องอยู่ต่อหน้าผู้ทำร้ายให้สามารถขอความช่วยเหลือได้ โดยไม่พูดอะไรสักคำ

เพราะผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดเด็ก และการล่วงละเมิดทางเพศหลายคนพบว่าเป็นการยากลำบากอย่างยิ่งที่จะแจ้งความต่อตำรวจ เนื่องจากมักอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับผู้กระทำทารุณกรรม

 

โซลูชั่นที่ค้นพบคือ แม้จะไม่สามารถเอื้อนเอ่ยอะไรได้แม้เพียงคำเดียว แต่สิ่งที่ทำได้ขณะโทรออกคือ กดหมายเลขตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ปลายสาย นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อแคมเปญ ‘Knock Knock’

 

 

"เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ เหยื่อจะโทรไปที่หมายเลข 112 เพื่อแจ้งเหตุ แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง ทำให้รู้สึกลำบากใจที่จะพูด

หากใครตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ กรุณากดหมายเลขตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งก็คือเลขอะไรก็ได้บนหน้าจอโทรศัพท์สองตัว เพื่อแจ้งให้ทราบว่ากำลังตกอยู่ในอันตราย"

 

 

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบจนแน่ใจว่าบุคคลในโทรศัพท์กำลังรายงานอาชญากรรมในโหมดปิดเสียง ก็จะส่งลิงก์ URL ให้กับเหยื่อ เพื่อติดตามตำแหน่งของพวกเขา

และเปิดใช้งานโหมดการสนทนาลับในรูปแบบ Google Search เพื่อไม่ให้ถูกจับจ้องหรือทำให้ผู้ก่อความรุนแรงสงสัยว่ากำลังแชตกับใคร และโดยที่ผู้แจ้งเหตุไม่จำเป็นต้องเปิดแอป กล้องถ่ายรูป ไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมหรือแอปอื่นๆ ตำรวจก็สามารถเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านเลนส์กล้องของเหยื่อราวกับว่าพวกเขากำลังสนทนาทางวิดีโอคอล

 

 

ไม่เพียงแต่ผู้หญิงหรือเหยื่อทั่วไปเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ แต่ผู้พิการทางหูที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบาง ก็ได้รับประโยชน์นี้ด้วยเช่นกัน

ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินรูปแบบใหม่ที่กลายเป็นระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินอย่างเป็นทางการของเกาหลีใต้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 4,800 นาย ทั่วประเทศเกาหลีใต้นำไปใช้งานนี้ ยังถูกเผยแพร่และบอกต่อแบบปากต่อปากโดยบิวตี้ บล็อกเกอร์ รวมถึงร้านเสริมสวย ร้านทำเล็บ สปา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้หญิงนิยมใช้บริการ

รวมถึงสื่อเอาท์ดอร์ในสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน และมีการรายงานข่าวทางสถานีโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างล้นหลาม กระทั่งมียอด Media Impression สูงถึง 237 ล้านครั้ง และมีการส่งลิงก์ URL ออกไป 5,479 ครั้ง

 

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของรัฐบาลเกาหลีใต้เมื่อปี 2565 พบว่า 1 ใน 3 ของสตรีวัยผู้ใหญ่ในเกาหลีใต้เคยประสบกับความรุนแรง โดยผู้กระทำความผิดมักเป็นผู้ที่สนิทสนมกันในปัจจุบันหรือในอดีต กล่าวคือประมาณครึ่งหนึ่งของผู้กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงในเกาหลีเป็นคู่ครองหรือคู่สมรสของเหยื่อในปัจจุบันหรือในอดีต

นี่คือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (Domestic violence) ที่เกาหลีใต้เผชิญมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ปัญหาสังคมเรื้องรังนี้เพิ่มขึ้นสูงถึง 718% แต่น่าตกใจที่ว่ามีเพียง 2% เท่านั้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการรายงาน

ขณะที่จากข้อมูลของรัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่าในปี 2564  มีการโทรศัพท์ 514,006 ครั้ง เพื่อขอคำปรึกษาในภาวะวิกฤติและความช่วยเหลือฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัว เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนหน้า

 

 

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงในครอบครัวมักถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและมักเกิดขึ้นภายในบ้าน ไม่มีคนภายนอกรู้เห็น แต่ในความเป็นจริง ปัญหานี้เชื่อมโยงกับบริบททางสังคม/วัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อผู้หญิง

ความรุนแรงในครอบครัวมักเกิดขึ้นจากความเชื่อของปิตาธิปไตยที่ให้สิทธิผู้ชายในการใช้อำนาจ ควบคุม และสั่งการเรื่องต่างๆ ในครอบครัว ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ

ความเชื่อคร่ำครึนี้ทำให้ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นเรื่องปกติและทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ขณะเดียวกันในโครงสร้างสังคมแบบปิตาธิปไตยที่เข้มงวด จะขัดขวางไม่ให้ผู้หญิงปกป้องตัวเองในความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่พึงปรารถนา

 

นอกจากนี้ วัฒนธรรมที่สนับสนุนและให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในครอบครัวเกาหลีใต้ดั้งเดิม พ่อจะมีอำนาจเหนือกว่าทุกคน ขณะที่แม่จะดูแลบ้านเป็นศูนย์กลางและอุทิศตนเพื่อเลี้ยงดูลูกๆ ของเธอ ส่วนปู่ย่าตายาย ป้าและลุง จะมีบทบาทสำคัญในชีวิตของเด็ก

ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นภายในครอบครัวจึงยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ผู้หญิงยอมจำนนและคงอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษต่อไป แทนที่จะตัดสินใจหย่าร้างหรือเลือกทางเดินที่เป็นอิสระและปลอดภัยให้กับตัวเอง

 

 

จากไอเดียที่แปรเปลี่ยนเป็นการใช้งานมีประโยชน์อย่างมากต่อสังคม ไม่แปลกใจเลยที่ Knock Knock ผลงานสร้างสรรค์อันล้ำเลิศจาก Cheil Worldwide ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้ จะกวาดรางวัลจาก ADFEST 2023 ไปแบบเป็นกอบเป็นกำ

จนกระทั่งได้รับรางวัล Digital Agency of the Year นำโดยรางวัลใหญ่สุดอย่างรางวัล Grande ประเภท Grande for Humanity, Mobile Technology: Innovative Use of Technology รวมถึงรางวัล Gold ประเภท Media Lotus, Use of Mobile & Devices, รางวัล Silver ประเภท PR Lotus, Public Services & Cause Appeals, รางวัล Bronze ประเภท Direct Lotus, Mobile & Devices รางวัล Bronze ประเภท Effective Lotus, Campaign Success และรางวัล Bronze ประเภท Media Lotus, User Experience for Mobile จากงาน ADFEST 2023

 

ผลสำเร็จอันท่วมท้นจากแคมเปญที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ ช่วยทำให้ผู้หญิงซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ที่ให้คุณค่ากับสถาบันครอบครัวเป็นอย่างมาก มีช่องทางในการขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อตกเป็นเหยื่อหรือถูกทำร้ายโดยคนในครอบครัวของตัวเอง

 

ด้วยการส่งเสียงที่เคยเงียบงันให้ดังกึกก้องผ่าน Knock Knock

 


บทความจากนิตยสาร MarketPlus Magazine Issue 156 May 2023

[อ่าน 1,245]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Tesla เตรียมปลดพนักงานกว่า 10% ท่ามกลางความท้าทายในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
รองเท้า On มาแรงเกินต้าน ทำยอดขายพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
คิง เพาเวอร์ ร่วมฉลองชัย “จิ้งจอกสยาม” THE POWER OF POSSIBILITIES
วินฟาสต์พลิกเกม!! หนุนการใช้ EV ด้วยนวัตกรรมบริการแบตเตอรี่แบบเช่า
การท่องเที่ยว "สวิตเซอร์แลนด์" เผยโลโก้ใหม่ในรอบ 30 ปี
 พร้อมแนวคิดเบื้องหลังที่ลุ่มลึกและแยบคาย
ยูนิโคล่ สนับสนุนทัวร์นิทรรศการ KAWS + Warhol พร้อมจัดแสดงครั้งแรกที่พิตต์สเบิร์ก
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved