"ซื้อบ้าน แถมเมียฟรี" การตลาดล่อลวง? ในช่วงวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีน
25 Jan 2024

มูลค่าทรัพย์สินที่ลดลงกำลังฉุดเศรษฐกิจของจีน และความถดถอยอาจคงอยู่นานหลายปี บีบคั้นให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวจีนที่สิ้นหวังต้องคิดต่างและทะลุนอกกรอบมากขึ้น

The Wall Street Journal รายงานว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งในเมืองเทียนจิน โฆษณาว่า “ซื้อบ้าน ได้ภรรยาฟรี” ส่วนอีกบริษัทหนึ่งในมณฑลเจ้อเจียงของจีนให้สัญญาว่าจะให้ทองคำแท่งกับผู้ซื้อบ้าน

ความเป็นจริงคือข้อตกลงเรื่องให้ภรรยาฟรีเมื่อซื้อบ้าน เป็นเพียงการเล่นสำนวนในภาษาจีนแบบดั้งเดิม ซึ่งมีรูปแบบการใช้ถ้อยคำเดียวกับการล่อลวงผู้ซื้อบ้านโดยทั่วไป (ไม่มีภรรยาที่แท้จริง นี่เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการขายที่โป้ปดเท่านั้น) นั่นเป็นเหตุให้หน่วยงานกำกับดูแลของจีนปรับบริษัทที่ทำการโฆษณานี้เป็นเงิน 4,184 ดอลลาร์สหรัฐ

 

นับจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของจีนแตกเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เมื่อบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Evergrande ประกาศล้มละลาย ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ของการผิดนัดชำระหนี้และความสูญเสียทางธุรกิจที่ฉุดเศรษฐกิจจีนให้ถดถอย

บริษัทอสังหาริมทรัพย์มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลายแห่งล่มสลายลง และผู้บริหารธุรกิจชาวจีนถูกควบคุมตัวหรือหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย อุตสาหกรรมธนาคารเงาที่ให้ทุนสนับสนุนการเติบโตด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน กำลังพังทลาย ซึ่งรวมถึง Zhongzhi Enterprise Group ซึ่งบอกกับนักลงทุนว่า "ล้มละลายอย่างรุนแรง" โดยมีหนี้สินมหาศาลกว่า 64,000 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ราคาบ้านใน 4 เมืองที่ร่ำรวยที่สุดของจีน คือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้น ลดลงระหว่าง 11% ถึง 14% ส่วนยอดขายบ้านใหม่ลดลง 6%

 

เซิง ซงเฉิง อดีตหัวหน้าแผนกสถิติของธนาคารประชาชนจีน คาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของจีนจะคงอยู่ต่อไปอีก 2 ปี

เศรษฐกิจของจีนซึ่งเติบโตด้วยเลขสองหลักเมื่อทศวรรษที่แล้ว กลับขยายตัวเพียง 5.2% ในไตรมาสที่ 4/2566 ซึ่งต่ำกว่าความคาดหวังของนักเศรษฐศาสตร์ และนอกจากวิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์แล้ว เศรษฐกิจจีนยังได้รับผลกระทบจากการว่างงานของเยาวชนที่อยู่ในระดับสูงและความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศ

 

 

Hyper-Aggressive Marketing คืออะไร เหตุใดจึงไร้จรรยาบรรณและไม่ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค

การตลาดแบบก้าวร้าวมากเกินไปหรือรุกรานมากเกินไป (การตลาดเชิงรุกแบบเกินเบอร์) หมายถึงกลยุทธ์ที่บริษัทต่างๆ หาญกล้าที่จะใช้ในการโปรโมตผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนเพื่อดึงดูดความสนใจผู้บริโภค โดยไม่สนใจว่าจะต้องหลวงหลอกด้วยวิธีใด

ซึ่งอาจรวมถึงการใช้เทคนิคการขายที่กดดันสูง การโฆษณาที่ทำให้เข้าใจผิด การเข้าถึงผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าด้วยวิธีการที่ล่วงล้ำ และแนวทางปฏิบัติอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับผลกำไรในระยะสั้นมากกว่าความพึงพอใจของลูกค้าในระยะยาว

แม้ว่าคำนี้เองอาจไม่มีคำจำกัดความที่ตายตัว แต่โดยทั่วไปก็บ่งบอกถึงระดับความก้าวร้าว และไม่น่าเชื่อถืออย่างรุนแรง นอกเหนือไปจากบรรทัดฐานทางการตลาดแบบเดิมๆ

ต่อไปนี้คือสาเหตุบางประการ ที่ทำให้การตลาดแบบก้าวร้าวมากเกินไปถูกมองว่าไร้ทั้งจรรยาบรรณ ไม่ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค

 

  • แนวทางปฏิบัติที่หลอกลวง

การตลาดที่น่าสะอิดสะเอียนนี้มักเกี่ยวข้องกับการพูดเกินจริง ความจริงเพียงครึ่งเดียว หรือแม้แต่การโกหกโดยสิ้นเชิงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดในการซื้อโดยอาศัยข้อมูลอันเป็นเท็จ

 

  • กลยุทธ์กดดัน

กลยุทธ์การขายที่มีแรงกดดันสูง เช่น ข้อเสนอที่มีเวลาจำกัด การตลาดทางโทรศัพท์เชิงรุก หรือการเสนอขายต่อหน้าที่เร่งรีบไม่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้ตรึกตรองหรือใคร่ครวญก่อนซื้อ สามารถสร้างความรู้สึกเร่งด่วนที่อาจทำให้ลูกค้าตัดสินใจโดยไม่ต้องคำนึงถึงความต้องการหรือทางเลือกอื่นอย่างเต็มที่ และเมื่อลูกค้ารู้สึกกดดันหรือถูกหลอก อาจนำไปสู่ความไม่พอใจและการรับรู้ในเชิงลบต่อแบรนด์ได้ ลูกค้าที่ไม่พึงพอใจมีโอกาสน้อยมากถึงมากที่สุดที่จะกลายเป็นผู้ซื้อซ้ำ และอาจแบ่งปันประสบการณ์เชิงลบกับผู้อื่นโดยเฉพาะทางโซเชียล มีเดีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท

 

  • การบุกรุกความเป็นส่วนตัว

การตลาดเชิงรุกแบบสุดโต่งอาจเกี่ยวข้องกับวิธีการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค เช่น การโทรโดยไม่ได้นัดหมาย อีเมลสแปม หรือการใช้ป๊อปอัปโฆษณามากเกินไป วิธีการเหล่านี้สามารถคุกคามความเป็นส่วนตัวของลูกค้าและสร้างประสบการณ์เชิงลบได้

 

  • ขาดความโปร่งใส

​บริษัทที่มีส่วนร่วมในการตลาดเชิงรุกมากเกินไป อาจไม่ได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อกำหนดและเงื่อนไขในการซื้อ การขาดความโปร่งใสนี้สามารถนำไปสู่ความเข้าใจผิดและความไม่พอใจของลูกค้าได้

 

  • มุ่งเน้นไปที่ผลกำไรระยะสั้น

การตลาดเชิงรุกมากเกินไปมักมุ่งสู่การขายได้ทันที โดยไม่สร้างความสัมพันธ์ระยะยาวที่ยั่งยืนกับลูกค้า ด้วยแนวทางที่ตะกละตะกลาม เอาแต่ได้นี้ อาจส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของบริษัทในระยะยาว

 

 

โดยสรุป การตลาดแบบก้าวร้าวมากเกินไปถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการสักแต่แสวงหาประโยชน์และชักจูงลูกค้า กัดกร่อนความไว้วางใจ และให้ความสำคัญของกำไรระยะสั้นโดยสูญเสียความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้า

ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร แนวทางปฏิบัติทางการตลาดที่มีจริยธรรม โปร่งใส ซื่อสัตย์ และมุ่งเน้นที่การส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า แทนที่จะเพียงเพิ่มยอดขายสูงสุดในทันที เป็นกลยุทธ์ที่ไม่เคยล้าสมัย ไม่ทำลายแบรนด์ และไม่ทำร้ายผู้บริโภค

 


#ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน #อสังหาริมทรัพย์​ #HyperAggressiveMarketing #MarketPlusDaily #MarketPlusUpdate

[อ่าน 7,797]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Nespresso เจ้าพ่อกาแฟแคปซูล เปิดตัวกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มครั้งแรก ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เร่งรีบและความยั่งยืน
ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สเกาหลีวัย 80 ปี พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข
เบื้องหลังการปลดและแต่งตั้ง CEO สตาร์บัคส์ ครั้งประวัติศาสตร์
เดวิด หวัง จากหัวเว่ย ชี้การสร้างระบบนิเวศใหม่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอัจฉริยะ
เราเรียนรู้อะไรจากการรับมือ "ภัยพิบัติ" แบบขั้นเทพของ "ญี่ปุ่น"

เลอโนโว จุดประกายนวัตกรรมล้ำสมัย AI PC
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved