ทำไม 'รถยนต์​ไฟฟ้า' ของ Apple ถึงไปไม่ถึง 'ฝัน'
01 Apr 2024

​ทศวรรษที่ผ่านมา พนักงานจำนวนมากในโครงการรถยนต์สุดลับของ Apple ซึ่งมีชื่อเรียกภายในว่า Titan มักจะเรียกมันแบบประชดประชันว่า 'หายนะไททานิก’ พวกเขารู้ดีว่าโครงการนี้อาจไปไม่รอด

​ตลอดช่วงเวลาที่ดำเนินอยู่ โครงการรถยนต์ถูกยกเลิกและเริ่มต้นใหม่อยู่หลายต่อหลายครั้ง มีการปลดพนักงานหลายร้อยคนออกไป กระทั่งแนวคิดของรถยนต์ Apple นั้นเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจากการเห็นต่างกันในหมู่ผู้บริหาร

​ตอนแรกวางไว้ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อแข่งกับ Tesla แล้วเปลี่ยนมุ่งเน้นเป็นรถยนต์ไร้คนขับเพื่อท้าชนกับ Waymo ของ Google

 

 

สุดท้ายก็ไปไม่รอด

​ในที่สุด เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2024 ผู้บริหารประกาศภายในบริษัทว่าโครงการนี้ถูกยุติลงและสมาชิกหลายคนในทีมจะถูกย้ายไปทำงานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) แทน

​รายงานของ The New York Times ระบุว่า จากการบอกเล่าของคนประมาณครึ่งโหลที่ทำงานในโครงการนี้ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ว่า Apple ได้ทุ่มงบประมาณไปแล้วเกิน 10 พันล้านดอลลาร์ หรือไม่น้อยกว่า 3.6 ล้านล้านบาท

และท้ายที่สุดแนวคิดรถยนต์ก็ได้กลับไปที่จุดเริ่มต้น เป็นเพียงรถยนต์ไฟฟ้าที่มาพร้อมฟีเจอร์ช่วยเหลือการขับขี่สู้กับ Tesla

 

​การสิ้นสุดของโครงการรถยนต์นี้สะท้อนถึงความยากลำบากของ Apple ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นับตั้งแต่การจากไปของ Steve Jobs ในปี 2011

โครงการนี้เปลี่ยนหัวหน้าถึงสี่คน และมีการเลย์ออฟหลายครั้ง ปัญหาคาราคาซังและล้มเหลวในท้ายที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะการพัฒนาซอฟต์แวร์และอัลกอริทึมเพื่อให้รถขับเคลื่อนได้เองนั้นยากเกินไป

​The New York Times ชี้ว่า ตัวแทนของ Apple ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

 

​"ตอนเริ่มต้นทุกอย่างดูเป็นใจ ทำให้คิดว่านี่น่าจะเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ Apple จะประสบความสำเร็จแบบถล่มทลาย"

Bryant Walker Smith ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและวิศวกรรมศาสตร์แห่ง University of South Carolina (เคยมีโอกาสพูดคุยกับ Apple คร่าวๆ เกี่ยวกับโครงการนี้ในปี 2015) ได้ให้ความเห็น

"แต่หลังจากผ่านไปสิบปี ตอนนี้กลายเป็นว่ามีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนน้อยลงมาก"
 

 

 

เป็นเพราะไม่อยากตกขบวน

ตอนที่ Apple เริ่มโครงการรถยนต์ในปี 2014 บริษัทต่างๆ รวมถึงนักลงทุน ผู้บริหาร และวิศวกร กำลังพุ่งเป้าไปที่แนวคิดรถยนต์ไร้คนขับกันอย่างล้นหลาม

หลังจาก Google เริ่มทดสอบรถต้นแบบบนถนนสาธารณะในรัฐแคลิฟอร์เนีย บรรดาบริษัทใน Silicon Valley ยืนกรานว่า ไม่นานรถอัตโนมัติจะเป็นเรื่องปกติทั่วไป ซึ่ง Apple ไม่อยากถูกทิ้งให้ตามหลัง

​ในช่วงเวลานั้น บริษัทกำลังเผชิญกับเสียงเรียกร้องจากวิศวกรระดับแนวหน้าเกี่ยวกับโปรเจกต์ใหญ่ต่อไป

ตามคำบอกเล่าของบุคคลที่ใกล้ชิดกับต้นกำเนิดของโครงการนี้  Apple เพิ่งจะเปิดตัว Apple Watch ไปหมาดๆ ทำให้วิศวกรในทีมอยากเริ่มโปรเจกต์ใหม่

​กลายเป็นเหตุผลที่ Tim Cook ซีอีโอของ Apple ต้องยอมอนุมัติโครงการนี้ส่วนหนึ่งเพื่อรั้งวิศวกรของบริษัทไม่ให้ย้ายไปเป็นคู่แข่งอย่าง Tesla

 

​Apple จำเป็นต้องหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อขยายธุรกิจ พวกเขามองเห็นว่ายอดขาย iPhone จะเติบโตช้าในอนาคต  อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นตลาดมูลค่าราว 2 ล้านล้านดอลลาร์อาจเป็นโอกาสสำหรับ Apple (ซึ่งตอนนั้นเป็นบริษัทมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์)

​ถึงจะมีความเชื่อมั่นจากซีอีโอ แต่ทีมที่ทำงานในโครงการนี้ก็รู้อยู่แก่ใจว่าพวกเขาต้องเผชิญกับความเป็นจริงอันโหดร้าย หากจะออกสู่ตลาดรถยนต์ Apple น่าจะต้องมีราคาอย่างต่ำๆ 100,000 ดอลลาร์ หรือไม่น้อยกว่า 3.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ถูกเลย

​และที่สำคัญจะได้กำไรที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าอย่างสมาร์ทโฟนหรือหูฟังมาก ทั้งยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะแข่งขันกับ Tesla ซึ่งครองตลาดไว้แล้วได้

​มีข้อมูลจากคนที่รู้เรื่องนี้บอกว่าบริษัทเคยมีการพูดคุยกับ Elon Musk เกี่ยวกับการจะซื้อกิจการ Tesla แต่สุดท้าย Apple พิจารณาแล้วว่าการสร้างรถด้วยตัวเองเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่าการซื้อและรวมธุรกิจ

 

ถึงกับดึงผู้บริหารมือฉมังเข้ามาคุม

​เพื่อช่วยกระตุ้นขวัญกำลังใจและให้คำแนะนำ ผู้บริหารระดับสูงอย่าง Jony Ive (ที่สุดท้ายแล้วได้ลาออกมาก่อตั้งบริษัทออกแบบของตนเองโดยมี Apple เป็นลูกค้า โดยโบกมือลาด้วยตำแหน่ง ประธานฝ่ายออกแบบ)

และ Bob Mansfield หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม Mac ก็ลงมาคลุกคลีกับโครงการนี้ด้วย

​นอกจากนี้ Apple ยังซื้อกิจการสตาร์ทอัพอีกหลายรายเข้ามาเสริมทีมรถยนต์ และเพื่อเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ Apple ได้แต่งตั้ง Kevin Lynch ผู้บริหารเบื้องหลังความนิยมของ Apple Watch ขึ้นมาดูแลโครงการนี้ในปี 2021

 

 

​Ive กับทีมนักออกแบบของเขาได้ร่างแบบรถยนต์ที่ดูคล้ายรถตู้สไตล์ยุโรปอย่าง Fiat Multipla 600 ซึ่งมีหน้าต่างครึ่งโหลและหลังคาแบบโค้ง รถมีลักษณะไร้พวงมาลัยและสั่งการด้วย Siri ผู้ช่วยเสมือนของ Apple

​วันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วงปี 2015 Mr. Ive และ Mr. Cook  มีการประชุมที่สำนักงานใหญ่ของโครงการในซันนีนเวล รัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อสาธิตการทำงานของรถ

ทั้งสองนั่งลงในห้องโดยสารแบบจำลอง ด้านนอกมีนักแสดงอ่านบทเป็นสิ่งที่ Siri จะพูดออกมาในขณะที่รถกำลังแล่นบนถนนในจินตนาการ

​Mr. Ive ได้ทดลองถาม Siri ว่าพวกเขาเพิ่งผ่านร้านอาหารอะไรมาบ้าง และนักแสดงก็อ่านคำตอบออกมา นี่เป็นข้อมูลจากผู้ที่ได้เห็นการสาธิตครั้งนั้นสองคน

 

​แต่ในช่วงปี 2016 เริ่มชัดเจนแล้วว่าโครงการรถยนต์นี้มีปัญหา

Mr. Zadesky ออกจาก Apple ไป  และ Mr. Mansfield ผู้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนบอกกับทีมว่าพวกพวกเขาจะเปลี่ยนโฟกัสจากผลิตรถยนต์ไปเป็นการสร้างซอฟต์แวร์สำหรับรถไรรรคนขับเอง ซึ่งข้อมูลนี้ได้จากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางนี้สามคน

 

เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

 

 

​Apple ได้รับใบอนุญาตจากรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อเริ่มทดลองขับรถ Lexus sport utility ที่ติดตั้งเซนเซอร์และคอมพิวเตอร์ไว้ ก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกับค่ายผลิตรถยนต์อยาง BMW, Nissan และ Mercedes-Benz

กระทั่งตกลงเซ็นสัญญากับ Volkswagen เพื่อนำรถตู้ Transporter มาใช้สำหรับโครงการรับส่งของ Apple โดยใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติ

​รายงานของ The New York Times รายงานอีกว่า มีการเปลี่ยนตัวผู้นำทีมอีกสองคนในปีต่อๆมา

Doug Field อดีตผู้บริหาร Tesla ได้ปลดพนักงานในโครงการนี้ออกไปกว่า 200 คนพร้อมกับพุ่งพลังไปที่การสร้างระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มตัว หลังจากนั้น  Mr. Lynch  ซึ่งรับตำแหน่งผู้บริหารได้ไม่นาน พลิกแผนกลับไปสู่แนวคิดตั้งต้นของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

 

​ตอนต้นปีที่ผ่านมา ผู้บริหาร Apple ตัดสินใจว่าการทุ่มกำลังไปที่ Generative AI น่าจะเกิดประโยชน์ต่อบริษัทมากกว่ารถยนต์ โดยได้แจ้งกับพนักงานในการประชุมภายใน โดยบริษัทบอกว่าสมาชิกบางส่วนของทีม Project Titan จะถูกย้ายไปทำงานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) แทน

ในการสัมภาษณ์กับ The New York Times เมื่อวันพุธที่ 28 กุมพาพันธ์ พนักงานที่ทำงานในโครงการนี้เห็นด้วยกับการยกเลิกโครงการ โดยมองว่าเทคโนโลยีเบื้องหลัง Generative AI จะมีประโยชน์อย่างมากต่ออนาคตของสมาร์ทโฟน iPhone ซึ่งเป็นหัวใจหลักของบริษัท

 

​ตัวโครงการรถยนต์ Apple อาจตายไป แต่เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาระหว่างทางจะยังอยู่ต่อไป บริษัทวางแผนจะใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติไปผสมกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่กำลังวิจัยอยู่

ทั้ง AirPod แบบ AI ที่มาพร้อมกล้อง, หุ่นยนต์ช่วยเหลือ รวมถึงระบบ augmented reality นี่เป็นข้อมูลจากบุคคลสามคนที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหล่านี้

​แม้ว่าวิศวกรที่ทำงานเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ระบบอัตโนมัติจะได้ย้ายไปทำงานด้าน AI แต่สำหรับทีมรถยนต์ส่วนอื่นได้รับแจ้งว่าจำเป็นต้องสมัครตำแหน่งงานใหม่ภายในบริษัท

 

Xiaomi ใช้เวลาแค่ 3 ปี

 

 

​Business Insider ได้ออกบทความที่ระบุว่า เมื่อเดือนที่แล้ว Apple ประกาศยุติความฝันเรื่องการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่เดือนนี้หนึ่งในคู่แข่งสำคัญของ Apple ในประเทศจีนกำลังจะแสดงให้เห็นว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทำได้อย่างไร

Xiaomi ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากปักกิ่งพร้อมแล้วที่จะทำสิ่งที่ Apple ทำไม่สำเร็จ ด้วยการประกาศแผนเปิดตัวรถ EV รุ่นแรก Speed Ultra 7 (หรือ SU7) ในวันที่ 28 มีนาคมนี้  พร้อมจำหน่ายใน 30 เมืองทั่วประเทศจีน

 

​สำหรับ Lei Jun ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอมหาเศรษฐีของ Xiaomi นี่ถือเป็นก้าวกระโดดที่ไม่ธรรมดา เพราะรถยนต์ไฟฟ้าของเขาสามารถออกขายหลังจากที่เขาประกาศเพียง 3 ปีว่าจะขยายไลน์สินค้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าด้วย

​เมื่อเดือนธันวาคม Lei ได้เขียนบนเว็บไซต์ X เกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาในการทดลองขับรถยนต์ 100 คันเพื่อ ​"เรียนรู้ข้อดีของแต่ละคัน"

และเพื่อให้เข้าใจตรงจากประสบการณ์จริง ที่เขาเชื่อว่าจำเป็นต่อการสร้างรถยนต์ที่สามารถแข่งขันได้  และความพยายามก็ดูจะสัมฤทธิ์ผล Xiaomi บอกว่า SU7 สามารถเร่งความเร็วจากศูนย์ถึง 100 กม./ชม. ใน 2.78 วินาทีได้

​"ขณะที่เรากำลังย่างเข้าสู่ปีที่สามในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 'ความมุ่งมั่นเพื่อ Xiaomi EV' ยังคงเติมพลังให้ผมและทีมงาน เราจะทำรถยนต์ที่ยอดเยี่ยมให้ได้แน่นอน!"  ซีอีโอของ Xiaomi กล่าวไว้บน X

 

​เช่นเดียวกับ Apple ที่ Xiaomi โด่งดังจากการขายสมาร์ทโฟน ข้อมูลจาก Counterpoint Research ระบุว่า ในตลอดหกสัปดาห์แรกของปีนี้ Xiaomi มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 13.8%  ตามหลัง Apple ที่มี 15.7% ของตลาดมือถือจีน

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า Xiaomi  บริหารจัดการจนสามารถทำในสิ่งที่ Apple ใช้เวลาสิบปีแต่ไม่สำเร็จได้อย่างไร

 

​สิ่งที่เป็นตัวแปลคือการที่ Xiaomi ได้ประโยชน์จากการมีฐานอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ที่เอื้ออำนวยอยู่ในจีนอยู่แล้ว

​Xiaomi ได้ประโยชน์จากการร่วมทุนกับ Beijing Automotive Group ทำให้บริษัทได้ใบอนุญาตการผลิตอย่างรวดเร็วตามรายงานของ Bloomberg การร่วมมือกันครั้งนี้อาจช่วยให้ Xiaomi ผลิตรถยนต์ EV ได้ประมาณ 2 แสนคันต่อปี

​แน่นอนว่า Xiaomi ไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จ เพียงเพราะมีความพร้อมขายรถยนต์แล้วในเวลานี้

 

แม้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังอยู่ในช่วงขาลง และคู่แข่งอย่าง Tesla และ BYD กำลังทำสงครามราคากันอยู่เพื่อดึงดูดผู้บริโภคก็ตาม

​Xiaomi ซึ่งยังไม่เปิดเผยราคา SU7 แต่ตั้งเป้าจะเจาะตลาดกลุ่ม ‘พรีเมียม’ ซึ่งอาจเป็นโจทย์ที่ท้าทายในจีนท่ามกลางสภาวะความต้องการตลาด EV ที่ชะลอตัว ​กระนั้น Xiaomi ก็ทำในสิ่งที่ Apple ฝันถึงมานานสิบปีได้สำเร็จแล้ว

 

ซึ่ง Business Insider ได้ทิ้งท้ายว่า

Tim Cook อาจต้องนั่งมองอยู่ที่คูเปอร์ติโน ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของ Apple แล้วคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป

[อ่าน 4,271]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
SiteMinder สานต่อความร่วมมือกับ Trip.com ตอบรับการฟื้นตัวของตลาดการท่องเที่ยวของจีน
มงต้องลงแล้ว Miss AI เวทีประกวดนางงามจาก AI ครั้งแรกของโลก!
‘Digital Art Toy’ ภาคต่อที่เพิ่มมูลค่าให้กับ ‘ของเล่นศิลปะ’
พบความเชื่อมโยง แพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก
กับเหตุสังหารหมู่โลมา เมืองไทจิ ประเทศญี่ปุ่น
ทำความเข้าใจการขึ้นราคากระเป๋า Chanel ล่าสุดปี 2024 และตลาดขายต่อ
"ยูนิลีเวอร์" วางแผนแยกธุรกิจไอศกรีม ส่งผลให้พนักงาน 7,500 ราย ถูกเลิกจ้าง
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved