คนขายก็เยอะ คนโกงก็แยะ Online ไทยจะเติบโตได้จริงหรือ?
31 May 2024

โดนมากับตัวครับ ผมสั่งซื้อวิตามินให้คุณแม่ โดยไม่ได้ดูราคาหรืออะไรเป็นพิเศษ เลือกแค่เป็นยี่ห้อดังที่เราเคยซื้อ ผ่านไปวันหนึ่ง ด้วยความสามารถของระบบออนไลน์ก็ทำการ Up-sale และ Cross-sale ขึ้นมาด้วยผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่นๆ จากร้านต่างๆ อ๊ะ! มีร้านที่ราคาถูกกว่าที่ผมสั่งตั้ง 300บาท เรตติ้งในแอปฟ้าก็ดีมาก เลยสั่งมาเพิ่มเพื่อแชร์ cost

จากนั้นผมส่งข้อความไปหาร้านแรกที่สั่งเพื่อถามว่าทำไมแพง คำตอบที่ได้รับคือ "ร้านเค้าขายแต่ของแท้" พร้อมทั้งส่งราคาจากต่างประเทศมาให้ดู ส่วนร้านที่ราคาถูกก็ตัวใครตัวมัน เอาล่ะสิ น่าลุ้นมั้ยล่ะครับ ด้วยความอยากรู้เลยไม่คืนของใดๆ เพื่อให้รู้กันไปว่าวิตามินยี่ห้อดังมันจะปลอมกันจริงๆ หรือ

พอมาสินค้ามาส่งตรงตามเวลาของแอปฟ้าเค้า เอากระปุกเทียบกัน เขย่าดูเทียบกัน ก็รู้แล้วว่า โอ้โห!!! โดนแล้วเรา แท้เลย ปลอมแท้ๆ ครับ 55555 ฉลากสีเข้มกว่า ตัวอักษรไม่ชัด เขย่าแล้วข้างในเป็นก้อนๆ ไม่เป็นเม็ดๆ สิ่งที่น่าตกใจคือ ถ้าไม่ซื้อมาเทียบกันนี่ไม่รู้แน่ๆ คำถามคือ ทำไมขายของปลอม (มั้ง) กันง่ายๆ แบบนี้เลยหรือ

 

 

ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโต 7%ในปี 2023 ที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้สูงถึง 16%ในปี 2024 ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง Priceza แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังคาดการณ์ว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะเติบโตที่ 980,000 ล้านบาท (เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้รองจากประเทศอินโดนีเซีย) แล้วทำไมเรายังพบเห็นการโกงกันง่ายดายขนาดนี้

คนไทยใช้เว็บไซต์และแอปพลิเคชันในการชอปปิ้งออนไลน์มากถึง 78% จากข้อมูลล่าสุดของ We are Social เมื่อเดือนมกราคม 2024 ที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนมากมาย เช่น

  • การเข้าถึงบัญชีธนาคารของคนไทยที่สูงขึ้นเป็น 94.2%
  • การมีบัตรเครดิตที่ 22.6%
  • การมีบัตรเดบิตที่ 63.2%
  • มีการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ถึง 80.1%

 

ในปีที่ผ่านมา ถ้าดูรายละเอียดด้านพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่า ในแต่ละสัปดาห์

  • ผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ 66.9%
  • สั่งของกินของใช้ผ่านร้านค้าออนไลน์ 44%
  • เปรียบเทียบราคาผ่านออนไลน์ 23.8%
  • ซื้อสินค้ามือสองผ่านออนไลน์ 14%
  • มีการผ่อนสินค้าออนไลน์ 22.7%

ทำให้เห็นว่าคนไทยมีการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว แต่เราก็ยังเคยเจอแก๊งค์ Call center โทรมาหลอกเราแบบโง่ๆ กันทุกคน แล้วทำไมเราไม่มีการป้องกันอะไรใดๆ เลยหรือ

 

 

มาดูด้านช่องทางออนไลน์กันบ้าง โดยปกติแล้วช่องทางอีคอมเมิร์ซแบ่งเป็น 4 ช่องทางได้แก่

  • ตลาดกลางทางอิเล็คทรอนิกส์ (Marketplace)
  • สื่อสังคมออนไลน์ (Social commerce)
  • ร้านค้าปลีกออนไลน์ (e-tailor)
  • ร้านชำออนไลน์ (e-grocery หรือ Quick commerce)

สัดส่วนแต่ละช่องทางในประเทศไทยช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Marketplace เช่น Shopee, Lazada, NocNoc สัดส่วน 55% (แอปส้ม แอปฟ้าที่ผมเล่าตอนแรกนี่ล่ะ) รองลงมาคือ Social commerce เช่น Facebook, Line, TikTok สัดส่วน 28% (ปี 2023 อยู่ที่ 22% เพราะ TikTokทำให้เติบโตได้เร็ว) แล้วทำไมเรายังปล่อยให้คนเปิดร้านค้าหลอกลวงกันได้อย่างโจ่งครึ่ม

 

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สรุป 18 กลโกงออนไลน์ของมิจฉาชีพไว้ดังต่อไปนี้ (https://www.immigration.go.th)

  1. การหลอกขายสินค้าออนไลน์ ทั้งการไม่ได้รับสินค้าหรือได้รับสินค้าไม่ตรงตามโฆษณา
  2. การหลอกให้ทำงานเสริมผ่านออนไลน์
  3. การหลอกกู้เงินออนไลน์
  4. การข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว เช่น Call Center
  5. การหลอกให้ลงทุน
  6. การหลอกให้รักแล้วลงทุน
  7. การหลอกให้รักแล้วโอนเงิน
  8. การปลอมหรือแฮกบัญชี LINE หรือ Facebook แล้วหลอกยืมเงิน
  9. แชร์ลูกโซ่
  10. การพนันออนไลน์
  11. การหลอกให้ดาวน์โหลดโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์
  12. การส่ง QR code หลอกโอนเงิน
  13. การชวนไปทำงานต่างประเทศ
  14. การหลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย
  15. การยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร หรือบัญชีม้า
  16. การให้ข่าวปลอม
  17. การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ (Ransomware)
  18. การฉ้อโกงรูปแบบอื่นๆ เช่น การหลอกลวงเรื่องเป็นผู้โชคดี

เป็นไงครับ ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้เลยใช่ไหมครับ

 

 

ถ้าจะสรุปเป็น 5 วิธีโกงที่คนไทยโดนมากที่สุดในปีที่ผ่านมา คือ

1. หลอกลวงซื้อสินค้าหรือบริการ ทั้งไม่ส่งสินค้าหรือสินค้าไม่ตรงปก รวม 100,694 คดี มูลค่าความเสียหาย 1.4 พันล้านบาท

2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน มูลค่าความเสียหาย 4 พันล้านบาท

3. หลอกให้กู้เงิน

4. หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 1 หมื่นล้านบาท

5. ข่มขู่ทางโทรศัพท์

(ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 มีนาคม 2565 – 1 พฤษภาคม 2566)

เอาเป็นว่าถ้าหากสงสัยว่าจะตกเป็นเหยื่อ สอบถาม 1441 หรือ 081-866-3000 หรือแจ้งความออนไลน์ ได้ที่ https://www.thaipoliceonline.com/

 

ดังนั้นจากที่ได้เล่าให้อ่านมาตั้งแต่ต้น ผมคิดว่ามีอีกไม่น้อยที่เคยโดนหรือกำลังจะโดนโกง เลยนำ 5 วิธีฉลาดแก้โกง สำหรับการป้องกันการโกงออนไลน์มาเล่าให้ฟังครับ

 

1. ตรวจสอบความน่าเชื่อถืออย่างเป็นทางการของร้านค้า

ตั้งแต่แบบเดิมๆ คือทะเบียนการค้า บัตรประชาชนผู้ขาย ไปจนถึงเครื่องหมาย Verified Badge เพื่อยืนยันว่าเป็นแอคเคาท์ของเจ้าของจริงๆ Verified Badge คือสัญลักษณ์วงกลมหรือวงแฉกที่มีเครื่องหมายถูกต่อท้ายชื่อ) ในส่วนของผู้ขายถ้าอยากให้ร้านของคุณน่าเชื่อถือก็ควรขอสัญลักษณ์นี้ให้ได้ครับ

 

2. ชื่อเพจ ชื่อร้านค้า ชื่อคนขาย สะกดถูกต้อง และดูเป็นทางการ

ไม่ใช้ชื่อประหลาด ไม่ใช้สัญลักษณ์แปลกๆ แม้แต่-ขีดกลาง . จุดแปลกๆ หรือเว้นวรรคแปลกๆ หากไม่ใช่ตามนี้ให้สงสัยไว้ก่อน เพราะมิจฉาชีพมักจะใช้ชื่อเลียนแบบของแท้ให้ใกล้เคียงที่สุดเสมอ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าบางยี่ห้อมีเพจทางการมากมาย แต่เพจที่แท้จริงจะมียอดผู้ติดตามจำนวนมาก และมีการโพสต์อยู่อย่างสม่ำเสมอ และเป็นปัจจุบัน

 

3. จำนวนคนติดตาม คนคอมเมนท์ และประวัติการซื้อขาย รวมถึงเรตติ้ง

ให้ลองดูยอดติดตาม การคอมเมนท์ในแต่ละโพสต์ ดู transaction ที่เคยเกิดขึ้น ไปจนถึงการพูดคุยล่าสุด การซื้อขายล่าสุดที่เกิดขึ้น อันนี้รวมไปถึงภาษาที่ใช้ทั้งตัวเพจเอง และหน้าม้าที่เข้ามาโพสต์ ถ้าเป็นเพจปลอมมันจะดูแปลก อ่านแล้วไม่ใช่สำนวนที่เราใช้กันเป็นปกติ

 

4. หวงข้อมูลส่วนตัวไว้เสมอ

โดยเฉพาะข้อมูลตัวเลขที่มักจะใช้เป็นรหัสผ่านหรือข้อมูลเพื่อการตรวจสอบ เช่น เลขที่บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์มือถือ แม้มิจฉาชีพจะบอกข้อมูลมาถูกก็อย่าเพิ่งเชื่อ (เพราะข้อมูลของคนไทยรั่วไปหลายครั้งจริงไหมครับ)

 

5. อะไรไม่ชัวร์ให้สงสัย และปฏิเสธไว้ก่อน

ปัจจุบันมีถึงการปลอมเสียง การดูดเสียง การใช้ AI ถ้ามันแปลกๆ ให้สงสัยทันที และอย่าตอบรับใดๆ อย่าเดา อย่าเล่นเกมกับพวกมัน ช้าไว้ก่อนไม่เสียฟอร์ม ต้องตรวจสอบให้แน่ใจ แม้จะเป็นของที่เราอยากได้มาก หายากเพียงใด แต่ถ้าไม่ชัวร์ “อย่าเสี่ยง” ครับ อีกเรื่องที่มักจะยั่วยวนการโดนหลอกเสมอคือ “ราคา” จำไว้ว่า ถ้าถูกขนาดนั้นจริง คนแห่ไปซื้อจนเป็น Talk of the town แล้ว ดังนั้น อย่าเชื่อครับ

 

เป็นที่น่าเสียดายว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยต่างพึ่งพาการค้าออนไลน์ แต่ในประเทศไทยยังคงมีมิจฉาชีพจำนวนมาก และดูไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขได้ (เราโดน Call center มากันหลายปีแล้วจริงไหมครับ) หากเราจริงจังเรื่องนี้มากขึ้น ให้ความรู้กันมากขึ้น จะทำให้ลดปัญหาได้ และทำให้การค้าออนไลน์เติบโตครับ

ทีนี้ถ้าหากพลาดไปจริงๆ ควรทำอย่างไร แนะนำให้เก็บหลักฐานทุกอย่างไว้ให้ดี ประวัติการติดต่อ การโทรศัพท์ หลักฐานการโอนเงิน ข้อมูลการแชท การแคปฯ หน้าจอ แล้วนำบัตรประชาชนและหลักฐานที่รวบรวมไว้ไปลงบันทึกประจำวัน พร้อมแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจในท้องที่ ระบุว่า "ต้องการดำเนินคดีให้ถึงที่สุด" โดยทำให้เร็วที่สุด ตั้งแต่วันที่รู้ว่าถูกโกง และสุดท้ายคือ “ทำใจ” ครับ

ขอให้ช้อปปิ้งออนไลน์ให้สนุกปลอดภัยทุกท่าน และขอให้มิจฉาชีพมีชีวิตที่พังพินาศโดยเร็วเทอญ สาธุ

 



บทความจากนิตยสาร MarketPlus ฉบับที่ 166 May-June 2024

[อ่าน 5,057]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
TCDC ‘Creative Lab’ พื้นที่ปฏิบัติการต่อยอด Empowering Local Stories
เข้าใจ Customer Centric พิชิตใจลูกค้าได้ไม่ยาก
จาก รองเท้าหรู สู่ สนีกเกอร์กระแสแรง
คณะประมง ม.เกษตรฯ แนะนำเมนูเด็ด-กู้แหล่งน้ำ
คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางภาพยนตร์ LGBTQ+
สร้างความแตกต่างของธุรกิจด้วย การวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning)
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved