ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล ถอดรหัสการบริหารธุรกิจครอบครัว
22 Nov 2018

เมื่อดูจากภาพรวมก็จะพบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจครอบครัวมากถึง 70% (สำนักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปี 2544)  และมีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นธุรกิจครอบครัวหรือควบคุมการบริหารโดยบุคคลในครอบครัวก็มีสัดส่วนถึง 65% คิดเป็นมูลค่าตลาด 2.35 ล้านล้านบาท  (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2550) ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่จะระบุว่า ธุรกิจครอบครัวคือปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีมูลค่ารวมสูงถึง 28 ล้านล้านบาท จากมูลค่าธุรกิจโดยรวมของประเทศไทยทั้งหมด 39 ล้านล้านบาท  หรือเท่ากับ 72% ของระบบเศรษฐกิจ

ทว่าในความเป็นจริง ธุรกิจครอบครัวกลับถูกมองข้าม หรือไม่เห็นความสำคัญเท่ากับธุรกิจกลุ่มอื่นๆ นี่จึงทำให้ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวอย่างจริงจังมานานนับทศวรรษ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยินดีที่  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นกูรูทางด้านธุรกิจครอบครัวได้ทำการศึกษาและกลั่นประสบการณ์กว่าสิบปี เพื่อนำเสนอในหนังสือเรื่อง

‘การบริหารธุรกิจครอบครัว : ศาสตร์และศิลป์แห่งความยั่งยืน’ อย่างเป็นระบบและครอบคลุมงานหิน เพราะซับซ้อนและอ่อนไหว

“การบริหารธุรกิจครอบครัวถือเป็นหนึ่งในงานที่ยากที่สุด เพราะมีความซับซ้อน อ่อนไหวเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ อำนาจการควบคุมธุรกิจและมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สำคัญ ครอบครัวส่วนใหญ่ก็มักไม่นิยมเปิดเผยเรื่องภายในครอบครัวให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ ศาสตร์ด้านนี้จึงถูกขีดให้อยู่ในวงจำกัด ทั้งที่ธุรกิจครอบครัวความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจและเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ธุรกิจครอบครัวถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ อาทิ ค่านิยมและเป้าหมายของครอบครัว เนื่องจากคนเอเชียมักอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่และให้ความสำคัญกับการดูแลคนในครอบครัวมากกว่าคนตะวันตก  อย่างไรก็ตาม พัฒนาการที่เด่นๆ ของธุรกิจครอบครัวที่เห็นได้ชัดเจนและแตกต่างจากเมื่อสิบปีก่อน คือ

หนึ่ง การปรับตัวให้เป็น ‘ธุรกิจครอบครัวมืออาชีพ’ ที่เปิดกว้างและไม่จำกัดการบริหารธุรกิจแต่เฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้น แต่สามารถทำงานกับมืออาชีพได้อย่างกลมกลืน

สอง คนเหล่านี้เข้าใจ ‘ธรรมชาติของธุรกิจครอบครัว’ ว่าครอบครัวจะมีอิทธิพลอย่างไรกับธุรกิจ เข้าใจความสมดุลระหว่างธุรกิจกับครอบครัว เช่น เข้าใจถึงเป้าหมายทางธุรกิจและเข้าใจเป้าหมายของครอบครัวด้วย ในฐานะที่เป็นเจ้าของกิจการ ผู้บริหารและสมาชิกในครอบครัวจึงต้องรู้จักการทำให้สมดุลระหว่างธุรกิจกับครอบครัว เนื่องจากในฟากของธุรกิจมีผู้เกี่ยวข้องทั้งมืออาชีพ พนักงาน ซัพพลายเออร์และลูกค้า ขณะที่ในฟากของครอบครัวก็มีผู้อาวุโส คู่สมรส ญาติพี่น้อง ลูกหลานและคนในบ้านที่ต้องดูแล”   

FAMZ  กูรูธุรกิจครอบครัว

“คนที่เข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว ผมเชื่อว่ามีไม่มากนัก โดยบางส่วนของการเป็นที่ปรึกษานั้นจะเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย ขณะที่เราเป็นที่ปรึกษาของธุรกิจครอบครัว ส่วนใหญ่เราจะทำงานทางด้านการบริหารจัดการ การวางระบบบริหาร การลดความขัดแย้ง การสืบทอด ธุรกิจ การทำให้ธุรกิจเติบโต การปรับปรุงความสัมพันธ์/การลดความขัดแย้งของสมาชิกในครอบครัวให้ดีขึ้น การส่งผ่านความเป็นเจ้าของธุรกิจให้สมดุลและไม่ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ซึ่งตรงนี้แตกต่างกัน แต่เราก็ทำงานร่วมกันกับบริษัทที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายกล่าวได้ว่า FAMZ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจครอบครัว เพราะเราก็ทำเฉพาะด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง แค่เรื่องธุรกิจครอบครัวเราก็มีอะไรให้ค้นหาและพัฒนาทางออก (โซลูชั่น) ให้กับธุรกิจครอบครัวมากมายอยู่แล้ว เนื่องจากกลุ่มธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยเรามีอยู่มากและเนื่องจากความหลากหลายของธรรมชาติในแต่ละครอบครัว ทำให้ต้องการโซลูชั่นเป็นของตนเองแตกต่างกันไปด้วย ฉะนั้น งานของเราที่ทำอย่างต่อเนื่องนั้นค่อนข้างมีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน”

ประสบการณ์จากการคลุกวงใน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย กล่าวถึงเบื้องหลังประสบการณ์อันโชกโชนของตนเองว่า“ต้องเข้าไปคลุกคลีกับธุรกิจครอบครัว เพราะนอกจากมี องค์ความรู้อยู่ในตัวแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจกับวิธีการบริหารธุรกิจและวิธีการบริหารธุรกิจครอบครัวแล้ว ยังต้องมีประสบการณ์ด้วย เพราะประเด็นของธุรกิจครอบครัวมักจะเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดจากหลายมูลเหตุ เช่น บางกรณีก็เกิดจากการบริหารงาน ขณะที่บางกรณีอาจเกิดจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หรือความขัดแย้งส่วนบุคคลและรวมๆ กันจนกลายเป็นปัญหาของธุรกิจครอบครัว ซึ่งคนที่จะเข้าใจปัญหาตรงนี้ได้ ส่วนหนึ่งต้องมีประสบการณ์และเคยทำงานเป็นที่ปรึกษามาก่อน หรือเคยเข้าไปช่วยธุรกิจเหล่านี้ทำแผนงานต่างๆ  หรือเคยเข้าไปช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งอยู่ในระดับที่พอสมควรจึงจะมองสถานการณ์ออก   

การทำงานในลักษณะนี้หากเสนอทางออกหรือทางแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกต้องก็อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงของปัญหาที่อาจจะมีมากกว่าเดิมอีก เพราะนอกจากปัญหาเดิมจะแก้ไขไม่ได้แล้วก็ยังจะนำไปสู่ปัญหาใหม่อีกด้วย ที่สำคัญแต่ละครอบครัวต่างก็มีลักษณะธรรมชาติที่ไม่เหมือนกันเลย ดังนั้น การสั่งสมประสบการณ์มากๆ จึงจะทำให้เราสามารถอ่านกรณีศึกษาใหม่ๆ ออก เหมือนกับหมอที่ตรวจคนไข้มามากๆ พอเห็นอาการของคนไข้ก็พอจะวินิจฉัยโรคหรือสาเหตุของโรคได้ว่ามาจากสาเหตุอะไร”

หากมีสารพัดปัญหา ต้อง ฮุค’ อะไรก่อน

“กรณีที่เป็นปัญหาเร่งด่วนปัญหาที่เจ้าของที่เป็นสมาชิกในครอบครัวไม่เห็นเป้าหมายในอนาคตร่วมกันทั้งของธุรกิจและของครอบครัวที่เป็นภาพเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างมองภาพในอนาคต หรือเป้าหมายธุรกิจ หรือเป้าหมายครอบครัวของตนเอง หรือแม้แต่เป้าหมายชีวิตไปคนละทาง หรืออาจไม่มีเป้าหมายร่วมไปกับพี่น้องคนอื่นๆ ด้วยซํ้า เพราะไม่ได้ถูกอบรมสั่งสอนมาให้คิดร่วมกับครอบครัวหรือญาติ ดังนั้น พอไม่ได้ถูกสอนมาแบบนั้นก็โทษเขาไม่ได้  เขาก็จะมีเป้าหมายเฉพาะของตนเองและไม่ได้คิดว่า จะต้องนำพาธุรกิจครอบครัวไปด้วยกัน หรือต้องรักษาความสัมพันธ์ ต้องดูแลซึ่งกันและกัน ฯลฯ

เมื่อคนมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน หรือไม่มีเป้าหมายเดียวกัน ต่างคนก็จะมีวิธีการหรือเส้นทางของตนเอง แล้วเมื่อต้องมาอยู่ในครอบครัวเดียวกันหรือมาบริหารกิจการด้วยกัน บางทีก็จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ นี่เป็นมูลเหตุที่ธุรกิจครอบครัวต้องช่วยกันหล่อหลอมและสร้างให้เกิดขึ้นมา มิฉะนั้น ก็อาจจะนำพาไปสู่ปัญหาอะไรบางอย่าง”

ไม่ต้องวัดรอยเท้าก็เป็น  ‘ขาใหญ่’ ได้

หากใครคิดว่า การทำธุรกิจครอบครัวจะถูก ‘บอนไซ’ แต่ที่จริงแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัยกล่าวว่า “ถ้าเรามีโอกาสได้สัมผัสกับธุรกิจครอบครัวก็จะพบว่ามีโอกาสเติบโตได้แน่นอน เนื่องจาก

หนึ่ง เราจะพบว่าแต่ละครอบครัวมีจุดแข็งมากมายที่สืบทอดต่อๆ กันมา อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งมาก เพราะบางครอบครัวทำมาแล้วหลายเจเนอเรชั่น ฉะนั้น องค์ความรู้จึงสั่งสมในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสมแบบเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็แล้วแต่ นอกจากนี้ องค์ความรู้ยังถ่ายทอด สั่งสมกันมาผ่านพนักงานในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นด้วย

สอง มีเครือข่ายที่ดีไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ซัพพลายเออร์ที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งข้อเท็จจริงคือคนเหล่านี้มักจะไม่ทำอะไรกันแค่ในระยะสั้นๆ แต่จะมีการทำงานร่วมกันจนดูว่าลงตัวแล้วและเป็นคู่ค้ากันมาโดยตลอด ฉะนั้น การมีคู่ค้าที่ดีจึงดีทั้งเรื่องความไว้วางใจกันได้ การมีข้อมูลตลอดจนการไหลเวียนของข้อมูลในโซ่อุปทานจะถึงกันหมด นอกจากนี้ ก็มีความเกี้อกูลกัน การลดความเสี่ยง การผิดเงื่อนไข หรือความผิดเรื่องการเบี้ยวหนี้ก็จะมีน้อย

สาม ถ้าธุรกิจครอบครัวมีเป้าหมายร่วมกันในระยะยาว  โดยอยากให้ธุรกิจครอบครัวสามารถบริหารจัดการหรือดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน  แล้วเริ่มเตรียมตัวของตนเอง คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่มีความต่อเนื่อง เพราะมีทรัพยากรบุคคลที่เป็นเจ้าของเข้ามาดูแลและบริหารจัดการ สืบทอดธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้แตกต่างจากธุรกิจทั่วๆ ไปที่ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจที่ชัดเจน แล้วในเมื่อผู้บริหารหมดวาระก็ต้องมานั่งลุ้นต่อว่า ผู้บริหารที่จะมาใหม่จะมีความสามารถหรือไม่ ดีเหมือนหรือไม่/เหมือนกับผู้บริหารคนก่อนหน้านี้หรือไม่  แต่สำหรับธุรกิจครอบครัวที่มองอะไรในระยะยาวๆ จะมีการเตรียมคนไว้ตั้งแต่เล็กๆ อบรมบ่มนิสัยปลูกฝังให้รักธุรกิจครอบครัว    ทั้งหมดตรงนี้ผมเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตได้อีกอย่างแน่นอน”

การสืบทอดธุรกิจ ความขัดแย้งธุรกิจ

“ต้องบอกว่า ปัญหาการสืบทอดทางธุรกิจนั้นหนักหนามากและเป็นปัญหาที่ทุกครอบครัวต้องเจอและเป็นปัญหาที่ต้องเตรียมตัว เพราะธุรกิจครอบครัวจะสืบทอดธุรกิจจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งอยู่เสมอ บางครอบครัวในต่างประเทศสามารถสืบทอดได้ถึง 70 กว่ารุ่นและหลายครอบครัวก็ทำได้เช่นกัน นั่นแสดงว่า มีศาสตร์ที่เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวอยู่ ขณะที่ประเด็นสำหรับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยนั้น เราไม่รู้ว่า กระบวนการตรงนี้คืออะไรและเราเพิ่งจะศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการที่เราเข้าไปเป็นที่ปรึกษาเราก็พบว่า เรามีส่วนช่วยให้การสืบทอดธุรกิจค่อนข้างเป็นไปได้อย่างราบรื่น นั่นคือคนที่ได้รับการคัดเลือกให้สืบทอดธุรกิจก็ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถ ความสามัคคีในครอบครัวก็ยังคงมีอยู่ได้เหมือนเดิม

การสืบทอดธุรกิจอย่างราบรื่นนั้นไม่ใช่การได้คนเก่ง แต่ในครอบครัวแตกแยกกันหมด เพราะสมาชิกในครอบครัวรู้สึกว่า ไม่ยุติธรรม ไม่โปร่งใส ฯลฯ ดังนั้น เราต้องได้คนที่เก่งและได้รับการยอมรับด้วย เพราะช่วงรอยต่อของการสืบทอดระหว่างเจเนอเรชั่นนั้นอ่อนไหวมาก ตั้งแต่ใครคือผู้ที่ได้รับการคัดเลือก คุณสมบัติของผู้ที่เหมาะสมคืออะไร คนที่ได้รับการประเมิน (คนที่ได้รับการแคนดิเดท) เมื่อได้รับโอกาสแล้วเกิดไม่ใช่-เราจะทำอย่างไร หรือคนที่ได้รับการประเมินแต่ไม่ได้รับเลือก เขาจะไปอยู่ที่ไหน-อย่างไรในส่วนของผู้ใหญ่ เมื่อลุกจากตำแหน่งผู้บริหาร เขาจะไปอยู่ตรงไหน รายได้เป็นอย่างไร และยังมีคุณค่าในชีวิตอยู่อีกหรือไม่ ตรงนี้จะแตกต่างจากการสืบทอดกับธุรกิจทั่วไปที่เมื่อลุกจากตำแหน่ง เราก็ไม่ได้ใส่ใจอะไร และมีการจัดแพ็กเกจให้ เช่น โบนัส บำเหน็จบำนาญ ฯลฯ”

หากต้องเลือก สำหรับความจำเป็นเร่งด่วน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัยกล่าวว่า “แนะนำให้แก้ไขที่เรื่องความขัดแย้งในครอบครัวก่อน เพราะถ้าความสัมพันธ์ดี ไม่ขัดแย้งกันก็จะสามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้ หรือดำเนินการอะไรได้ง่าย แต่หากปัญหายังไม่ปะทุมาก หรือคิดว่าปล่อยไว้ก่อนหรือซื้อเวลา เพราะคิดว่า ถ้ายังแก้ปัญหาตอนนี้ไม่ได้จะขอวางไว้ก่อน ผมว่าก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ถ้าแก้ไขได้ก็ให้จัดการเรื่องความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้เรียบร้อยก่อน โดยหาทางเลือกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ก่อน และพิจารณาถึงผลกระทบโดยส่วนรวมก่อนและพิจารณาความเสียหายของคู่กรณีด้วย แม้จะต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง แต่ก็ต้องพิจารณาถึงสมาชิกในครอบครัวของเราด้วยว่า มีความเสียหาย หรือได้รับความเดือดร้อนจากการแก้ปัญหา ดังกล่าวด้วย เพราะความเป็นญาติและด้วยความเป็นสายเลือดเราก็ทิ้งใครไว้ไม่ได้ ในกรณีที่เขาต้องเสียสิทธิ์ เราจะต้องดูแลเขาอย่างไร ตรงนี้เราก็ไม่สามารถเพิกเฉยได้ เพราะจะมองหน้ากันไม่ติดในภายหลัง”

คัมภีร์ถอดรหัสธุรกิจครอบครัว

หนังสือ ‘การบริหารธุรกิจครอบครัว’ ที่กลั่นประสบการณ์ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย ที่กล่าวได้ว่ามีเนื้อหาครอบคลุมในตลาดหนังสือมากที่สุดขณะนี้ โดยวางจำหน่ายผ่านศูนย์หนังสือจุฬาและร้านนายอินทร์นั้น แต่ด้วยความหนาและการเรียบเรียงแนววิชาการบวกกับประสบการณ์ จึงมีข้อแนะนำจากผู้เขียนว่า

ผู้อ่านจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เพียงแต่เนื่องจากเนื้อหามีอยู่มากมาย ดังนั้น จึงอยากจะแนะนำให้ผู้อ่าน เลือกอ่านส่วนที่ตนเองสนใจได้ก่อน แล้วจะพบว่า ปัญหาต่างๆ มีทางออก สามารถแก้ไขได้ เมื่อลองทำแล้วได้ผลแล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปทำส่วนอื่นๆ เนื่องจากธุรกิจครอบครัวมีหลายมิติ การจะแก้ไขทุกมิติก็จะใช้เวลา ดังนั้น อะไรที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนก็ทำกันไปก่อนแล้วค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์ออกมาก็จะได้ผลที่สมบูรณ์เอง แต่หากอ่านแล้วมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามก็สามารถส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แฟนเพจของ FAMZ  มีแอดมินส่งต่อประเด็นคำถามให้กับผมและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นทีมที่ปรึกษางานของเราที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านอื่นๆ ทั้งนักกฎหมาย นักบัญชี ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนทางด้านภาษี  ฯลฯ​ ก็จะสามารถให้คำตอบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัวได้ด้วย”

[อ่าน 5,224]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทำความรู้จัก “ปิ่นเพชร โกลบอล” ผู้อยู่เบื้องหลัง “ฮากุ” แบรนด์ทิชชู่เปียกของคนไทย
ดิษทัต ปันยารชุน วางรากฐาน OR เตรียมส่งไม้ต่อให้แข็งแกร่งและยั่งยืน
วีรพล สวรรค์พิทักษ์ ยุทธศาสตร์ Eminent Air สู่ทศวรรษที่ 5
บทพิสูจน์ MAZDA เพื่อก้าวสู่ การเติบโตที่ยั่งยืน
ซีเล็คทูน่า x Sesame Street ครั้งแรกของโลก เมื่อก๊วนเพื่อนแสนซน แห่งถนนเซซามี่ มาอยู่บน ทูน่ากระป๋อง
เปิดใจ ‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ ทำอย่างไร ให้ร้านอาหารในเครือ ‘บิสโตร เอเชีย’ สามารถเข้าถึงโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ได้
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved