Renault ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส อาจต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายสูงถึง 112.5 พันล้านรูเบิล (1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 46,440 ล้านบาท) หากต้องการกลับเข้าสู่ตลาดรัสเซียอีกครั้ง ตามคำกล่าวของ Maxim Sokolov ซีอีโอของ AvtoVAZ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของรัสเซีย
จากเจ้าตลาด...สู่การถอยฉาก
Renault เคยเป็นบริษัทรถยนต์จากตะวันตกที่มีอิทธิพลมากที่สุดในตลาดรัสเซีย แต่หลังจากปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียในยูเครนเมื่อปี 2022 บริษัทได้ระงับการดำเนินงานที่โรงงานในมอสโก และเพียงสองเดือนให้หลัง Renault ตัดสินใจขายหุ้นส่วนใหญ่ใน AvtoVAZ ในราคาเพียง 1 รูเบิล ภายใต้ข้อตกลงที่ให้สิทธิซื้อคืนภายใน 6 ปี
ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นในช่วงที่หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ของตะวันตกเร่งถอนตัวออกจากรัสเซียเพื่อลดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและภาพลักษณ์
แม้ Renault จะมีสิทธิซื้อคืน AvtoVAZ แต่ Sokolov ระบุว่า การกลับเข้ามาจะมีต้นทุนมหาศาล เนื่องจากในช่วงที่ Renault ถอนตัวไป รัฐบาลรัสเซียและพันธมิตรได้ลงทุนมหาศาลเพื่อฟื้นฟูกิจการ โดย AvtoVAZ ได้อัดฉีดเงินไปแล้วกว่า 67,500 ล้านรูเบิล (779 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ระหว่างปี 2023-2024 และยังมีแผนลงทุนเพิ่มอีก 45,000 ล้านรูเบิล (520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2025
"ราคาเข้าจะไม่ใช่ราคาออก 1 รูเบิลอีกต่อไป" Sokolov กล่าว
นั่นหมายความว่า หาก Renault ต้องการกลับมาครอบครองสินทรัพย์เดิม จะต้องชดเชยเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงที่บริษัทไม่อยู่ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวม 1.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เกมอำนาจและความไม่แน่นอนของ Renault
ขณะที่การคาดเดาเรื่องการกลับมาของ Renault กำลังร้อนแรงขึ้น แต่ซีอีโอ Luca de Meo กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า "การซื้อคืน AvtoVAZ เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง"
นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีมอสโก เซอร์เกย์ โซบยานิน ยังออกมาปฏิเสธแนวคิดนี้อย่างหนักแน่น โดยให้ความเห็นว่า Renault แทบไม่มีโอกาสได้อะไรคืนเลย
ปัจจุบัน หุ้น 68% ของ AvtoVAZ อยู่ภายใต้การควบคุมของ Central Scientific Research Automobile and Automotive Engine Institute (NAMI) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมรัสเซีย ขณะที่โรงงานในมอสโกถูกโอนไปให้รัฐบาลท้องถิ่น
Renault กล้าพอจะกลับมาไหม?
Renault ไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการกลับเข้าสู่ตลาดรัสเซีย บริษัทตะวันตกหลายแห่งที่ถอนตัวออกไป ต่างต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบทางธุรกิจ ภาพลักษณ์ และเงื่อนไขที่รัฐบาลรัสเซียกำหนด
แม้ตลาดรัสเซียเคยเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของ Renault แต่ด้วยต้นทุนที่สูงลิบสำหรับการกลับคืน และบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่แน่นอน คำถามสำคัญคือ Renault ยังมองเห็นอนาคตของตัวเองในรัสเซียอยู่หรือไม่?
การกลับไปอาจไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นเกมแห่งอำนาจและกลยุทธ์ที่ต้องคิดให้รอบคอบ
สำหรับ Renault Group ก่อตั้งขึ้นในปี 1899 โดยพี่น้องตระกูลเรโนลต์ และเติบโตเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก มีแบรนด์หลักอย่าง Renault ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม เช่น Clio, Megane และ Captur ขณะที่ Dacia จากโรมาเนียเน้นรถราคาประหยัด เช่น Duster และ Sandero ส่วน Alpine เป็นสายรถสปอร์ตสมรรถนะสูง เช่น A110
นอกจากนี้ Renault ยังรุกตลาดบริการเดินทางและยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเคยเป็นเจ้าของ Renault Trucks ก่อนขายให้ Volvo Group ในปี 2001 และเป็นกำลังสำคัญใน Renault-Nissan-Mitsubishi Alliance ที่ช่วยขยายเครือข่ายและเทคโนโลยีระดับโลก
แม้ต้องเผชิญความท้าทาย เช่น การถอนตัวจากตลาดรัสเซียในปี 2022 Renault ยังคงแข็งแกร่งด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งสู่นวัตกรรมและความยั่งยืน โดยตลอด 125 ปี ที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับตัวและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ก้าวล้ำอย่างต่อเนื่อง