ชาตยา สุพรรณพงศ์ 'MOON VISION' of 'FOOD PASSION'
23 Sep 2019

 

ด้วยยุทธศาสตร์การเติบโตของ บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ที่ต้องการปักหมุดแจ้งเกิดแบรนด์ให้ได้ในระดับสากล ด้วยวิสัยทัศน์ขององค์กรที่เรียกว่า MOONSHOT VISION ที่จะขับเคลื่อนให้ "ฟู้ดแพชชั่น" (FOOD PASSION) ทั้งองค์กรมองเป้าหมายที่  "ไกลกว่า - ใหญ่กว่า - กล้าท้าทาย - กล้าทดลอง - กล้าที่จะผิดพลาดแล้วเริ่มใหม่" เพื่อที่จะต้องไปให้ถึงปลายทางอย่างมุ่งมั่น แบบ Think Big & 10X Move Forward  

 

"เพื่อเป้าหมายสู่ Regional ทั้งองค์กร

ต้องมี MOONSHOT VISION

ที่มองเป้าหมายไปถึงดวงจันทร์กันก่อน"

 

ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด แม่ทัพหญิงขององค์กรที่ทำหน้าที่ "ยกเครื่ององค์กร" ทั้งระบบหน้าบ้าน - หลังบ้าน ซึ่งประกอบด้วย ระบบการบริหารจัดการ ระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนระบบรับรองมาตรฐานต่างๆ ที่ ฟู้ดแพชชั่น มองข้ามช็อตไปก่อนแล้วว่า การจะเติบโตได้ในระดับสากลนั้น จะต้อง สร้าง "แกร่งจากภายใน" เพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคง และใช้ต่อยอดความสำเร็จในอนาคตได้

           

Regional Growth

 

"เราตั้งเป้าหมายว่า เราจะขับเคลื่อนแบรนด์ "ฟู้ดแพชชั่น" ซึ่งเป็นแบรนด์ไทยแท้และบริหารโดยทีมบริหารคนไทยทั้งหมดให้เดินทางจากการเป็น Local Brand ไปสู่ Regional Brand อีกทั้งเป็นแบรนด์ที่มีมาตรฐานและมีจุดยืนในระดับภูมิภาค ทำให้แบรนด์คนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล"

 

ทั้งนี้ เพื่อการเติบโตตามยุทธศาสตร์ "ฟู้ดแพชชั่น" ได้ดำเนินกลยุทธ์ในสองมิติ นั่นคือ มิติทางด้านธุรกิจและมิติทางด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์

 

มิติทางด้านธุรกิจ ยุทธศาสตร์การเติบโตของ "ฟู้ดแพชชั่น" ที่มีสาขารวมจากทุกแบรนด์รวมกว่า 250 สาขา มาจากการขยายธุรกิจ บาร์บีคิว พลาซ่า และ จุ่มแซ่บฮัท อันเป็นธุรกิจหลักของตนเอง พร้อมๆ กับการพัฒนาแบรนด์ใหม่ของตนเอง ได้แก่ ฌานา (Charna) ร้านอาหารสุขภาพ, Space Q ร้านชาบูปิ้งย่างสไตล์ Social Grill และล่าสุด คือ การซื้อกิจการ Red Sun เชนร้านอาหารจากเกาหลีใต้ โดยเข้าถือหุ้น 74%

 

 

"เราให้ความสำคัญกับการเลือกพาร์ทเนอร์

เราพิถีพิถันเสมือนหาคู่แต่งงาน

ข้อสำคัญต้องเป็นมีเคมีตรงกัน

โฟกัสกับคุณค่าและวัฒนธรรมที่คล้ายๆ กับเรา"

 

"เรามีเป้าหมายตรงนี้ชัดเจน เริ่มจากที่มาของแผนการขยายธุรกิจ ขยายแบรนด์ของเราในเครือไปยังภูมิภาค ซึ่งตอนนี้เรามีบาร์บีคิวพลาซ่า ทั้งในประเทศไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซียและกัมพูชา นอกจากนี้ ทางด้านการบริหารจัดการ เราก็วางระบบหน้าบ้าน-หลังบ้านตามมาตรฐานสากลจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการวัดผล ระบบการรับรองมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบ ISO, GMP, HACCP, FSSC ฯลฯ รวมถึงการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคล

 

สำหรับการวางระบบต่างๆ ให้ได้ตามมาตรฐานสากลนั้นตั้งแต่แรกนั้นเป็นความตั้งใจของ ฟู้ดแพชชั่น เราไม่คิดว่า เราต้องเป็น Global Brand ก่อนจึงค่อยทำ เนื่องจากเราเชื่อว่า เราควรจะสร้างระบบของเราภายในให้มีความแข็งแรงตั้งแต่แรก เพื่อสร้างพื้นฐานให้มั่นคง แข็งแรงพร้อมที่จะเติบโตได้ออกไปได้ในอนาคต  

 

มิติทางด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากเราเชื่อว่า การที่จะแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ได้นั้นต้องประกอบ ด้วย 3 ปัจจัย นั่นคือ  'Man - Machine - Money' ตรงนี้อาจจะมีแตกต่างกันระหว่างบริษัทกับบริษัท ระหว่างประเทศกับประเทศ แต่ทุกโครงสร้างทางธุรกิจ ทุกบริษัทจะต้องมี "คน" หรือ Man ไม่ว่าจะเป็นบริษัทระดับใดก็ตาม สำหรับ ฟู้ดแพชชั่น เราอาจจะไม่ได้เป็นบริษัทที่มี Machine หรือมีเทคโนโลยีไฮเทค แต่เราเชื่อว่าเราสามารถสร้างคนได้เก่งไม่แพ้องค์กรไหนๆ แล้ว "ทุนมนุษย์" นี่แหละที่เป็นต้นทุนที่มีเท่าๆ กัน"  

 

 

MOONSHOT VISION

 

เพื่อให้ทุนมนุษย์ในองค์กรของฟู้ดแพชชั่นเดินหน้ากันไปอย่างถูกทางและเห็นภาพเดียวกัน ชาตยากล่าวว่า

 

"ที่ฟู้ดแพชชั่น เรามีวิสัยทัศน์ที่จะต้องเดินทางด้วยกันที่เราเรียกว่า MOONSHOT VISION อันเป็นเป้าหมายที่เราต้องการให้บุคลากรของเรามองไกลถึงระดับภูมิภาคและระดับโลก ไม่ได้มองแค่เราจะเป็นองค์กรผู้นำในเขตกรุงเทพ นนทบุรี แต่เราเชื่อว่า ในเมื่อองค์กรระดับโลกสามารถสร้างวิสัยทัศน์ (Vision) สามารถสร้างอิมแพค (Impact) อย่างไรได้ เราก็น่าจะทำในสิ่งที่เขาทำได้เหมือนกัน"

 

ชาตยาตั้งวิสัยทัศน์ขององค์กรอย่างไร้ข้อจำกัด โดยมิให้ขนาดของธุรกิจที่เล็กเมื่อเทียบกับองค์กรระดับโลกต้องกลายเป็นข้อจำกัด หากแต่เธอกระตุ้นและชี้นำบุคลากรให้มองภาพใหญ่แบบ "ฝันให้ไกล ไปให้ถึง" และที่สุด "ฟู้ดแพชชั่น" ก็ได้ MOONSHOT ภาพแรกว่า "เราจะเป็นองค์กรที่จะดูแล "ทุกคน"ให้มีความสุข โดยมีอาหารเป็นศูนย์กลาง"

 

"คำว่า "ทุกคน" ในที่นี้ไม่ได้หมายความแค่ทุกคนในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้มีความสุข เนื่องจากเมื่อจับเข้ากับแนวคิดของ MOONSHOT ก็ทำให้เกิดภาพใหญ่ขึ้นและเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้บุคลากรทั้งองค์กรทำงานจากมุมมองใหม่ๆ มองหาเป้าหมายที่อยู่สูงขึ้นไปอีก มิใช่เป้าหมายทางด้านหน้าที่การงานที่คนเหล่านี้ทำ ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี เนื่องจากพนักงานเริ่มมองหามุมมองหรือแม้แต่การจุดประเด็นดีๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจและช่วยให้คนมีความสุขมากขึ้นกับแง่มุมต่างๆ"

 

ชาตยา กล่าวต่อไปว่า เรามีฝันใหญ่ได้ แต่เราต้องเริ่มเล็กๆ ค่อยๆ ทำทีละขั้น แต่การมี MOONSHOT VISION จะแค่ "มี" ไม่ได้ แต่ต้อง "เชื่อ" ว่าเราทำได้ด้วย ต้อง "คิดแบบผู้ชนะ" คือ ผู้ชนะคิดแบบไหน เขาทำอย่างไรจึงจะทำสิ่งเหล่านั้นได้ ถ้าเราเชื่อตรงนี้แล้วก็ช่วยเปิดโอกาส เปิดความเป็นไปได้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้น เมื่อมีปฏิบัติการ MOONSHOT IN ACTION แล้วก็ต้องมีการ "ขมวดจบ" เพื่อให้พนักงานทราบว่า สิ่งที่พวกเขากำลังทำคืออะไร ผลลัพธ์เป็นอย่างไร

 

"พูดง่ายๆ เราต้อง Celebrate Small Success หรือฉลองความสำเร็จครั้งย่อยๆ เพื่อขมวดให้ทราบว่า สิ่งที่ทำๆ ไปนั้นทำเพื่ออะไร โดยเฉพาะเมื่อมีกิจกรรมอื่นๆ มาเพิ่มเติมอีกในระหว่างทาง  ฉะนั้น จึงต้องมีการพักเบรคเพื่อฉลองความสำเร็จ ซึ่งเป็นการบอกเป้าในอนาคต และชื่นชม ขอบคุณในสิ่งที่ทำกันมา รวมทั้ง บอกว่าสิ่งที่ทำกันนั้นประกอบกันเป็นเรื่องอะไร เช่นเ ป็นผลผลิตของการทำนวัตกรรมในองค์กร เพราะบางครั้งพนักงานทำโดยที่ไม่รู้จริงๆ ว่ามีที่มาอย่างไรและมีผลงานที่เป็นรูปธรรมออกมาแล้ว"

 

 

MOONSHOT in ACTION

 

แม้ฟู้ดแพชชั่นจะเป็นองค์กรใหญ่ที่มีทั้งพนักงานเกือบ 4,000 คนทั้งใน และต่างประเทศ ทว่า ที่นี่ก็มีปฏิบัติการ Engagement และเป็น MOONSHOT in ACTION ที่ชาตยานำแนวทาง วิธีคิด วิธีปฏิบัติของแบรนด์และองค์กรระดับโลกตลอดจนวัฒนธรรมองค์กร อาทิ Apple, Google, Starbucks มาดัดแปลงให้เข้ากับ "จริต" ของคนไทย ด้วยสาระบวกกับความบันเทิงแบบ "เฮฮา มะเทิ่ง โป๊ง ชึ่งสุดขีดมากๆ" พร้อมทั้งปรับการสื่อสารให้เหมาะสมกับพนักงานระดับต่างๆ อาทิ การจัดปาร์ตี้ "ปิ้งย่าง" แบบไทยๆ กับพนักงานกลุ่มต่างๆ ที่บ้านของชาตยา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างเธอกับพนักงาน อันเป็นไอเดียที่ได้จากการจัดงานบาร์บีคิวปาร์ตี้ที่บ้านของประธานบริษัทฟาสต์ฟู้ดที่สหรัฐอเมริกา หรือการจัดกิจกรรมแบบ Town Hall ของ Google ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ให้พนักงานทราบ ขณะเดียวกันก็เป็นเวทีให้พนักงานถามผู้บริหารด้วย สำหรับฟู้ดแพชชั่นก็จัดกิจกรรมแบบนี้เช่นกัน เพื่อเชิญพนักงานมาให้รับฟัง รับทราบเป็นระยะๆ และร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรให้ถึงเป้าหมาย   

 

" เราจะต้องหาโอกาสอัพเดทเรื่องราวทางธุรกิจให้กับพนักงานฟังบ่อยๆ ว่าตอนนี้ในภาพใหญ่ ฟู้ดแพชชั่นเราอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร ใกล้หรือไกลกับเป้าหมายอย่างไร เพราะแน่นอนว่า พนักงานย่อมอยากรู้ว่า บริษัทไปได้ดี หรือไม่ เขาจะมีส่วนร่วมตรงไหนได้บ้าง " 

 

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม "วันสุขใจ" เพื่อฉายภาพความสุขให้เห็นตรงกัน โดยการให้พนักงานได้มาลองทานอาหารที่สาขาเปิดใหม่ก่อนวันเปิดจริง 1 วันที่เรียกว่า Dry Run

 

"เนื่องจากเราจะต้องเปิดร้าน เปิดโต๊ะ เปิดเตาทุกเตาเสมือนมีลูกค้าเต็มร้าน เราต้องเตรียมทุกอย่างเพื่อเตรียมขายในวันรุ่งขึ้น ต้องมีการจัดชุดอาหาร เพื่อเตรียมเสิร์ฟ ดังนั้น ก็จะมีทีมพนักงานอีกทีมซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นลูกค้าได้ชิม ซึ่ง "ทีมชิม" บางคนอาจจะเคย/ไม่เคยทานมาก่อน แต่ "ทีมชิม" ก็จะได้ความรู้สึกของการเป็นลูกค้าที่ต้องคอย ทราบถึงวิธีกินเพื่อให้คำแนะนำกับลูกค้าได้อย่างถูกต้อง และ "ทีมเตรียมงาน" ก็เข้าใจความรู้สึกของคนจัดอาหารว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อบริการให้รวดเร็ว ซึ่งไอเดียนี้มาจากพิธีกรรมรับน้องใหม่ของ Starbucks ที่ต้องการให้น้องใหม่ "อิน" ตั้งแต่วันแรก ด้วยการให้ชง- ชิมกาแฟ เพื่อเข้าใจถึงรสชาติของกาแฟและสามารถทำหน้าที่บาริสต้าส่งมอบจิตวิญญาณของแบรนด์ได้ สำหรับ "ขมวดจบ" ของ "วันสุขใจ" เราก็บอกกับพนักงานว่า "เรามอบความสุขให้ผู้คนโดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง" นั้น "ความสุข" ที่เราหมายถึงคือ"ความสุข" ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ชั่วโมงที่ผ่านมาที่ทุกคนในทีมเพิ่งสัมผัส เป็นความรู้สึกและโมเมนต์อย่างนี้แล้วเราก็จะส่ง "ความสุข" แบบนี้ให้กับลูกค้าของเรา" 

 

"ภายใต้แนวคิด

'เราดูแลทุกคนให้มีความสุข โดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง'

แล้ว 'วงจรแห่งความสุข'

เริ่มต้นที่พนักงาน เราจึงมีคำว่า Employee First"

 

MOONSHOT in ACTION ที่น่าสนใจอีกกิจกรรมเกิดที่บาร์บีคิวพลาซ่า ในกัมพูชา เมื่อสาขาที่นี่นำแนวคิด"วันสุขใจ" มาผสานรวมกับแนวคิดที่มาจากโฆษณาทีวีชุด "พนักงานร้านอาหารก็มีแม่" (The Waiter's Mom) ซึ่งเป็นแคมเปญช่วงวันแม่และให้พนักงานพาแม่มาทานที่ร้านแล้วเขียนจดหมายถึงแม่ เนื่องจากพนักงานเหล่านี้ไม่ค่อยมีเวลามาพบแม่เท่าไร บางคนไม่ได้กินข้าวกับแม่มาหลายปี ดังนั้น นี่จึงเป็นแคมเปญกินใจและ "พีค"มาก เมื่อแนวคิด "วันสุขใจ" บวกแนวคิด The Waiter's Mom ทางร้านอนุญาตให้พาครอบครัวและแม่มาทานอาหารในร้านได้ ปรากฏว่า วันเปิดร้านก็ "พีค" เช่นกันเพราะพนักงานที่ต้องขึ้นพูดต่อจากผู้บริหาร ซึ่งปกติเป็นเด็กน่ารัก ร่าเริง เธอร้องไห้หนักมากและทำให้ล่ามแปลภาษาก็ร้องไห้ตามด้วย เนื่องจากเธอไม่ได้มากินข้าวกับแม่มา 2 ปีแล้วและดีใจมากที่แม่มีความสุขมาก  แน่นอนว่าสำหรับผู้บริหารก็ซึ้งเล่นเอาน้ำตาคลอไปด้วย  

 

อีกกิจกรรมที่น่าสนใจคือ "บายศรีสู่ขวัญ" กิจกรรมผูกข้อมือรับขวัญน้องใหม่ของสาขา สร้างความรู้สึกเป็นบ้านหลังที่สอง ไม่ใช่แค่ที่ทำงานและการทำกิจกรรม"พี่ใจดี" ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นพี่เลี้ยงดูแลน้องใหม่  ขณะเดียวกัน ที่ Red Sun ร้านน้องใหม่ที่เราเพิ่งซื้อกิจการเราก็มีการแชร์การทำกิจกรรมและความรู้ รวมทั้งทำกิจกรรม "บายศรีสู่ขวัญ" ผูกข้อมือเป็น "พี่น้อง" ร่วมชายคาฟู้ดแพชชั่นด้วยกัน

 

"จะเห็นได้ว่า คำว่า "ความสุข" นั้นไม่มีพรมแดน ข้ามได้หมด ไม่ว่าจะเป็นการข้ามแบรนด์ (Cross Brand) หรือ การข้ามประเทศ (Crosss Company)"

 

ชาตยา ขมวดจบกับตัวอย่างกิจกรรม MOONSHOT in ACTION ซึ่งส่งผลให้ผลลัพธ์ในเชิง Sentiment ที่บริษัททำสำรวจเพื่อวัดระดับความผูกพันของพนักงานในองค์กรทุกปีนั้น พนักงานโหวตให้ ความภาคภูมิใจในงานที่ทำ กับ ชื่อเสียงขององค์กร ด้วยคะแนนสูงมาก   

 

EMPLOYEE FIRST

 

เนื่องจากธุรกิจฟู้ดแพชชั่นเป็นธุรกิจบริการ พนักงานล้วนเกี่ยวข้องกับการผลิตบริการ การดูแลและ Empower พนักงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น ภายใต้แนวคิด EMPLOYEE FIRST และเป็นหนึ่งใน MOONSHOT VISION การพัฒนาบุคลากรจากเดิมที่เริ่มกันง่ายๆ ในอดีตด้วยการให้ทุนการศึกษาบุตรธิดาพนักงานก็ขยายมาเป็นการให้ทุนเพื่อพัฒนาพนักงาน เรียกว่า "ทุนสานฝัน" ซึ่งเป็นทุนแบบให้เปล่าไม่มีข้อผูกมัดและให้พนักงานเอาเวลางานมาเรียนได้เลย โดยทุนทางฟู้ดแพชชั่นทำงานร่วมกับ วิทยาลัยในเครือไทย-เทค มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยเรียนกันหลายสาขา หลายรุ่น อาทิ หลักสูตรโลจิสติกส์ การค้าปลีก การบริการ ฯลฯ

 

"เราตั้งเป้าที่จะทำให้พนักงานทุกคนในองค์กรมีวุฒิปวช.เป็นอย่างน้อย เนื่องจากมีพนักงานอีกมากที่ยังไม่มีวุฒิ ระดับปวช.หรือปวส. บวกกับความต้องการทางธุรกิจที่ต้องขยายสาขาทุกๆ ปี จึงต้องการพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ใช่มีแค่ประสบการณ์ ดังนั้น การติดอาวุธทางปัญญาจึงทำให้เขาพัฒนาตนเองไปได้อีกระดับหนึ่ง นี่จึงเป็นที่มาของการทำศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมาเองและขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรที่เกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะและเปิดโอกาสให้คนนอกเช้ามาเรียนได้ ภายใต้โครงการ 3ม. (มีงาน - มีเงิน - มีวุฒิ) ซึ่งนักเรียนที่มาสมัครเรียนจะต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์เพื่อให้มั่นใจว่ามีความตั้งใจจริง เด็กที่มาเรียนก็มีตั้งแต่เด็กที่เพิ่งจบ ม.3 หรือมากกว่า เพื่อปั้นเด็กที่ขาดโอกาสในชนบทห่างไกลให้มีวุฒและสามารถกลับไปทำงานในจังหวัดของตนเองได้

 

"เราทำเรื่องนี้ด้วยความเชื่อก่อน เชื่อว่า การให้ทุนแบบให้เปล่านั้นให้ผลตอบรับที่ดีทั้งในแง่พนักงานและองค์กรเพราะพนักงานจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นทุกวันจากการเรียนแล้วกลับไป เพราะสามารถนำความรู้ที่เขาเรียนไปใช้ได้ทันที ดังนั้น จึงทำให้อัตราการเช้าออกลดลง แต่อัตราการเลื่อนชั้นพนักงานสูงขึ้น"

 

 

INNOVATION CULTURE

 

องค์กรจะพัฒนาได้ต้องมีนวัตกรรม ทางฟู้ดแพชชั่นเองก็พยายามที่จะสร้าง INNOVATION CULTURE ให้เกิดขึ้นในองค์กร แต่สำหรับคำว่า "นวัตกรรม" หรือ Innovation ซึ่งคนทั่วไปมักจะมองว่า นวัตกรรมในองค์กรจะต้องมีสินค้า/บริการที่สามารถจับต้องได้ ซึ่งในตอนต้น เราก็อยากสร้างนวัตกรรมในมุมนี้เช่นกัน แต่เมื่อเริ่มทำงานไปแล้วจึงปรับเปลี่ยนมุมมองออกไปอย่างแตกต่าง

 

นวัตกรรมในองค์กรของเราทำงานภายใต้โครงการ Passion Lab โดยทำเป็นโครงการบ่มเพาะ (Incubator) ในองค์กร เราก็คาดว่า หลังจากที่ทีม Passion Lab ทำโครงการแล้วจบ 4 เดือนก็จะได้นวัตกรรมมาใช้ในองค์กรมาใช้ในองค์กรได้ แต่เอาเข้าจริง เราได้มาแต่ต้นแบบไม่สามารถใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งเราก็คิดว่า โครงการนี้น่าจะล้มเหลว แต่เมื่อวันจบโครงการ เรากลับได้รับ Feed Back และสิ่งที่จับต้องได้มากที่สุด คือ

 

  • ความสัมพันธ์ในหมู่พนักงาน เนื่องจากการทำโครงการนี้ทำให้พนักงานมีความสนิทสนมกันในช่วงระยะ 4 เดือนนี้มากกว่าการทำงานด้วยกันมา 4 ปี    

 

  • พนักงานที่เก่งๆ (Talent) เรียนรู้ที่จะล้ม เพื่อเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า เนื่องจากการเข้าโครงการนี้ทำให้คนกลุ่มนี้ได้เรียนรู้ว่า ตนเองไม่รู้และยอมรับกับความผิดพลาด ความล้มเหลว ความไม่ยึดติด พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงแบบ 360 องศาและพร้อมที่จะล้มแล้วลุก เพื่อสร้างสิ่งใหม่ ฉะนั้น สิ่งที่เราได้จากโครงการนี้จึงไม่ใช่สินค้าที่เป็นนวัตกรรม แต่เป็นวัฒนธรรมเชิงนวัตกรรม (Innovation Culture) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของการไม่รู้ วัฒนธรรมของการให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ที่สำคัญ เป็นวัฒนธรรมแบบ Fail Forward นั่นคือ ล้มเร็ว ล้มถูก ลุกเร็วและเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า ซึ่งคนเหล่านี้จะก็กระจายตัวไปทำงานต่อในแผนกต่างๆ ขององค์กรและนำวัฒนธรรมนี้กลับไปใช้ในองค์กรและกับงานประจำของตนเอง

 

  • พนักงานได้เรียนรู้ว่า "นวัตกรรม" ไม่จำเป็นต้องมาจากฝ่ายบริหารหรือ Top-Down เท่านั้น แต่สามารถมาจากพนักงานธรรมดาๆ ที่หยิบยกมุมมองที่ตนสัมผัสได้มานำเสนอผู้บริหาร เช่น โครงการจากน้องฝีกงานที่เห็น Pain Point ของลูกค้าที่ไม่ทราบสิทธิประโยชน์ของตนเอง น้องก็ทำต้นแบบของแอพพลิเคชั่นเพื่อนำเสนอผู้บริหาร เป็นต้น 

           

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ MOONSHOT VISION เท่านั้นที่ส่งให้ฟู้ดแพชชั่นคว้ารางวัล Best Employer Thailand

 

(ปี 2560), รางวัล Best of The Best Employer 2018 (ปี 2561) และ BestCompanies To Work for in Asia 2019 จากเวที HR Asia Awards ในปีนี้ ทว่า MOONSHOT VISION ยังมีภาคต่อที่จะต้องติดตามกันต่อไป ภายใต้การนำของ ชาตยา สุพรรณพงศ์

             

[อ่าน 5,601]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดใจ ‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘Cafe Chilli’ ให้เป็นแบรนด์เรือธง ของ สะไปซ์ ออฟ เอเซีย
ทีเด็ด POP MART เจาะตลาดไทยอย่างไร ให้มัดใจผู้บริโภคอยู่หมัด
‘เดอะคลีนิกค์’ เผยผลงานโดดเด่นปี 66 โกยรายได้กว่า 2.3 พันล้าน เดินหน้าบุกตลาดความงาม
“เพราะชีวิตคือบททดสอบ” เปิดเรื่องราวชีวิตหญิงแกร่ง CHRO แห่งทรู คอร์ปอเรชั่น
‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘บิสโตร เอเชีย’ ให้มียอดขายเติบโตขึ้นถึง 70%
ศุภลักษณ์ อัมพุช กับ New Era ของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่เป็นมากกว่าแค่ช้อปปิ้ง แต่คือการสร้างย่านการค้า
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved