‘How To Go Wow’ Digital Transformation
24 Nov 2019

 

Jargon ที่ติดปากคนไทยยุค 4.0 แน่นอนว่า ย่อมจะหนีไม่พ้นคำว่า Disruption หรือการทำอะไรให้สิ่งที่อยู่เดิมตกยุค กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปเลย อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดจะ Disrupt โดยปกติก็มักจะคิดถึงดิจิทัลไอทีกันโดยอัตโนมัติ

 

แม้เอาเข้าจริงๆ Disrupt ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีจ๋าอย่างที่มโนเบอร์นั้นก็ได้ เพียงแต่การมีดีกรีของการทำ Digital Transformation ก็จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่าน (Transform)ไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Change หรือ Disrupt ได้ดีกว่า

แต่การจะเปลี่ยนผ่าน ‘จะต้องทำอย่างไร - แล้วต้องตั้งต้นกันอย่างไร – รับมือกันอย่างไร’ นั่นคือคำถามแรกๆ ที่ผู้ประกอบการและธุรกิจต่างๆ อยากได้คำตอบ และบางครั้งเมื่อไม่รู้จะเริ่ม ‘ตั้งไข่’ กันอย่างไร ขั้นตอนต่อๆ ไปก็ไม่บังเกิด ที่สำคัญความเข้าใจเกี่ยวกับ Digital Transformation อาจจะมีความคลาดเคลื่อน และดูสูงส่งจนเสมือนว่า ไม่มีงบมากมายน่าจะทำกันไม่ได้ ‘โกดิจิทัล’ ไม่รอดแน่ๆ

"ผมว่าตั้งแต่ประเทศไทยประกาศยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ในช่วงระยะสามปีที่ผ่านมาคนก็พูดและตีความไทยแลนด์ 4.0 กันไปมากมายว่าคืออะไร ทุกหน่วยงานก็ทำยุทธศาสตร์เพื่อ 4.0 โดยที่ไม่รู้ว่า 4.0 คืออะไร

จริงๆ แล้ว ไทยแลนด์ 4.0 ก็คือ Digital Transformation อย่างหนึ่งเป็นการทำ Digital Transformation รูปแบบหนึ่งเพื่อให้ดิจิทัลมีบทบาท ฉะนั้น ในทำนองเดียวกัน ช่วงสามปีที่ผ่านมา หลายๆ องค์กรก็จะพูดถึงอีกทั้งมีการตีความ ตลอดจนทำ Digital Transformation กันหมด ทั้งที่เอาเข้าจริงๆ ผมว่า คนหรือองค์กร ตลอดจนกูรูต่างๆ ก็มีการตีความ Digital Transformation ในระดับที่แตกต่างกัน

บางบริษัทก็นำดิจิทัลมาใช้ ผู้คนก็ ว้าวว่าขนาดนี้กันเลยหรือ แล้วการทำ Digital Transformation มันจะต้อง ‘เยอะเบอร์นี้’ กันเลยหรือไม่ ขณะที่บางบริษัทแค่ใช้อีเมล หรือใช้ไลน์กรุ๊ปก็บอกว่า ตนเองทำแล้ว ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ระดับของ Digital Transformation มีหลายอย่างมากในมุมมองของผม" นี่คือประโยคเปิดของ ‘อาจารย์โก้’ วีรพล สวรรค์พิทักษ์ นักยุทธศาสตร์ทางด้านการตลาด และ Digital Marketing Manager บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เกี่ยวกับเส้นทางสู่ Disruption และ Digital Transformationโดยเฉพาะในมุม How To Go Wow Digital Transformation

แล้วในมุมมองของนักวิชาการ Digital Transformation ควรมีกระบวนการอย่างไร

ถ้าให้แต่ละคนตีความก็น่าจะได้ไม่เท่ากัน ดังนั้น ผมให้มุมมองเป็นแนว How-To  5 กระบวนการ นั่นคือ

1) ต้องรู้จัก Digital Transformation ก่อน โดยต้องรู้นิยามของคำนี้ก่อน หรือจะให้นิยามตัวเองก็ได้ หรือจะศึกษาความเป็นไปได้ของคำๆ นี้ก่อนก็ได้ สาเหตุที่ต้องรู้จักก่อนนั้นก็เพื่อทำความเข้าใจและทราบได้ว่า ตนเองจะทำอะไรบ้าง และเดินไปในทิศทางใดได้ เพราะอย่างฝ่ายผลิตที่ใช้หุ่นยนต์มาช่วยผลิตก็บอกว่าเป็นแล้ว สำหรับหน่วยงานอื่นที่ ไม่ได้ใช้หุ่นยนต์จะทำอย่างไร นี่จึงเป็นประเด็นที่บอกว่า ทำไมต้องให้นิยามกับคำๆ นี้ก่อน สำหรับมุมของผม นิยามของคำๆ นี้สั้นมาก นั่นคือการต่อยอดดิจิทัลเทคโนโลยีอะไรก็ได้เข้าไปในทุกส่วนขององค์กรก่อน อาทิ ฝ่ายผลิต ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ฯลฯ ก็ถือเป็นการทำ Digital Transformation แล้ว

จริงๆคำนี้มีมานานมากแล้วเพียงแต่สมัยก่อนไม่มีคำว่า Digital Transformation เท่านั้นอย่างสมัยก่อนการสร้างไลน์การผลิต การผลิตด้วยหุ่นยนต์ในยุคก่อนก็ถือเป็น Transformation เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ระบบดิจิทัลหรือไม่ได้เป็นระบบเน็ตเวิร์คกิ้งที่เพิ่งมามีเมื่อสักสิบปีหลังนี้  

 

2) ต้องวางวัตถุประสงค์ ต้องถามตัวเองก่อนว่าต้องการทำเพื่ออะไร หลายๆ องค์กรมองว่าต้องการทำตามกระแส เนื่องจากยุคนี้ไปดิจิทัลกันหมดแต่ถ้าเราไม่ได้วางวัตถุประสงค์ ก็จะทำให้ไร้ทิศทางและสะเปะสะปะ ไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร แล้วการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีนั้นต้องใช้เงินลงทุนมาก ตรงนี้จึงต้องมี มิฉะนั้น ก็อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน (​Return on Investment) องค์กรจึงต้องตอบตนเองให้ได้ว่าทำเพื่ออะไร เช่น ต้องการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณค่าเพื่ออัพเกรดตนเองให้สามารถขายสินค้าได้แพงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ฯลฯ  

จริงๆ ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำแล้วครบทุกด้านทั้งองค์กรเป็นดิจิทัลหมด ค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ แต่ต้องวางวัตถุประสงค์และตอบตัวเองให้ได้ว่า ทำไปทำไม

 

3) ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม ตรงนี้เป็นหน้าที่ของนักบริหารที่จะต้องดูว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรเข้ามาช่วยได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น การผลิตที่มีระบบอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์เข้ามาช่วย, การบริการก็สามารถใช้ AI หรือแชตบอท ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่า ดิจิทัลเป็นแค่ ‘ตัวช่วย’ ไม่ได้เป็นหลัก100% แต่จะช่วยทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงนี้ก็เป็นความสามารถของผู้บริหารแล้วว่า คุณรู้กว้างขนาดไหน ทันสมัยขนาดไหน มี AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality) หรือเปล่า แต่ละอันจะเอามาใช้ตรงไหนได้บ้าง จากนั้นก็จะมีกระบวนการต่อมา อาทิ การประมวลราคาค่าใช้จ่าย ฯลฯ ดังที่กล่าวข้างต้น เทคโนโลยีมีราคาค่อนข้างสูง ฉะนั้น ก็อาจจะไม่ได้ทำทุกส่วน แต่ดูว่าทำที่อะไรก่อนดี

 

4) ต้องวางแผนเป็นเฟส อย่าคิดว่าการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรแล้วจะทำอะไรได้สมบูรณ์แบบในคราวเดียว ยกตัวอย่าง เช่น อย่าคิดว่าการเอาแชตบอทมาใช้แล้วจะไม่ต้องใช้พนักงานคอลเซ็นเตอร์อีกต่อไปแล้ว และกลับไล่ออกทั้งหมด แบบนี้ไม่ใช่ เพราะเป็นไปไม่ได้ จากตัวอย่างเดียวกัน หากนำแชตบอทมาใช้ เริ่มแรกก็ให้ทำงานแบบซ้ำๆ เมื่อแชตบอทเริ่มเรียนรู้สิ่งที่ลูกค้าถามบ่อยๆ มันก็จะเริ่มเรียนรู้ และฉลาดขึ้น มันก็จะอาจจะตอบคำถามได้เองหรือศึกษาข้อมูลเองได้ ฉะนั้น การทำงานเป็นเฟสจะทำให้องค์กรมีแผนในแต่ละช่วง โดยในแต่ละช่วงแบ่งได้เป็น

  • ระยะสั้น - 1 ปี ก็น่าจะพอเพราะยุคนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว 
  • ระยะกลาง - 3 ปีเพื่อดูว่าเทคโนโลยีอะไรจะเข้ามาบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าใช้ VR ในอีกสามปี จะต้องเปลี่ยนฮาร์ดแวร์หรือไม่ ภาพจะสวยขึ้นชัดเจนขึ้นหรือไม่ มีฟังก์ชันอื่นเพิ่มขึ้นหรือไม่
  • ระยะยาว เนื่องจากปกติหลายองค์กรคิดแบบ Linear ว่าภายใน 3 ปี, 5 ปีเราจะเป็นอย่างไร แต่ความคิดแบบ Exponential หรือความคิดที่มีอัตราเร่งนั้นต้องมองเป็นอนาคตในระยะไกลๆ ที่ต้องมองอะไรที่มันล้ำอนาคตมากๆ เพราะขณะที่เรามองนั้นอาจจะยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่ทำได้ในปัจจุบัน ยกตัวอย่าง เช่น Neural Link โครงการใหม่ของ อีลอน มัสก์ ที่ต้องการเชื่อมสมองมนุษย์เข้าคอมพิวเตอร์ เพื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์และ AI   

 

5) การนำแผนที่วางไว้ทั้งหมดไปใช้กับทุกๆ มิติขององค์กร เพราะทุกข้อที่กล่าวถึงถ้าไม่ได้ทำก็จบผู้บริหารหลายคนรู้จักเทคโนโลยี และรู้ด้วยว่าควรจะใช้อะไรแต่ ‘ไม่เริ่ม-เริ่มไม่เป็น-เริ่มไม่ได้’ ฉะนั้น ข้อนี้จึงเป็นการไม้ต่อจาก From THINKER to DOER ประเทศไทยเต็มไปด้วยกูรู นักคิด คนที่ชอบสร้างแรงบันดาลใจ ฯลฯ แต่ขาดคนที่ทำจริงๆ อย่าง บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์หรือ ตูน บอดี้สแลม ถือเป็น DOER ไม่ต้องคิดมาก ทำเลย ผู้บริหารองค์กรก็เช่นกัน ต้องทำเลย เพราะไม่มีทางที่เราจะใช้เทคโนโลยีแล้วประสบความสำเร็จได้เลย แต่เราต้องค่อยๆ ปรับเทคโนโลยี ฉะนั้น ก็ทำทุกอย่างในทุกส่วนขององค์กร

 

ทางออกหากมีปัญหา‘ไม่เริ่ม-เริ่มไม่เป็น-เริ่มไม่ได้’ต้องทำอย่างไร

ปัญหามีสองอย่างนั่นคือ ผู้บริหารมองข้อที่ 1-4 ไม่ออก เช่น ถ้าไม่รู้ว่า เทคโนโลยีจะมาช่วยอะไรได้ในข้อ 3. เราก็จะหยิบอะไรมาใช้ในองค์กรลำบาก

ยกตัวอย่างปกติพนักงานขายจะต้องเขียนรายงานแบบวันต่อวันให้กับผู้จัดการและผู้จัดการก็ต้องเขียนรายงานให้กับผู้บริหารเป็นลำดับ ถ้าการเขียนรายงานไม่เป็นระบบดิจิทัล พนักงานขายก็จะกลับมาเขียนรายงานเป็นครั้งละสัปดาห์ ซึ่งก็อาจจะจำไม่ได้ นั่งเทียนเอาบ้าง หากใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ เพื่อให้เขียนผ่านอุปกรณ์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือเข้าไปในเว็บเพื่อเขียนรายงานแล้วส่งแบบวันต่อวัน ซึ่งจะทำให้ผู้จัดการทราบได้ว่า เกิดอะไรขึ้น มีปัญหาอะไรหรือไม่ อย่างไร พนักงานขายทำงานหรือเปล่า แต่จากการที่บอกว่า ในการทำงานให้วางแผนเป็นเฟสนั้นก็มองได้ว่า ถ้าพนักงานขายไม่ได้ไปจริง แต่เขียนรายงานขึ้นมาเองก็จะยิ่งแย่ไปใหญ่ ฉะนั้น แผนต่อเนื่องก็ต้องทำให้อุปกรณ์นั้นสามารถปักหมุดเชื่อมกับจีพีเอส เพื่อระบุสถานที่ นี่คือสิ่งที่จะบอกว่า ถ้ามองข้อ 3 ไม่ได้ ข้อ 5 ก็ไม่มา

 

หากข้อ 1-5 ก็ไม่มา แต่อยากทำ แล้วต้องทำอย่างไร

ถ้าข้อ 1-5 มองไม่ออกเลย ก็แนะนำให้ใช้ที่ปรึกษาหลายองค์กรที่ทำ Digital Transformation จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาหากว่าคิดเองไม่ได้ เพียงแต่การจ้างที่ปรึกษานั้น จะต้องให้นำไปใช้ปฏิบัติ (Implement) ด้วย มิฉะนั้น จะเท่ากับจ้างที่ปรึกษามาเป็น THINKER ไม่มี DOER อีก

ผมมองว่าในการทำ Digital Transformation หลายองค์กรทำเองไม่ได้ ฉะนั้น ก็ต้องหาคนที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาทำ ยกตัวอย่าง จากเรื่องจริงของผมในฐานะที่ทำ Eminent Air เราอยากทำ VR แต่เราไม่สามารถเขียน VR เองได้ หรือการทำสตอรี่บอร์ด, การคิดเกม 3D ฯลฯ ฉะนั้น เราก็ต้องจ้างคนนอก (Outsource)

โดยส่วนตัว ผมเองสนับสนุนให้ทุกบริษัท Change ตัวเอง และเปลี่ยนจาก THINKER ไปเป็น DOER ให้ได้ มิฉะนั้น เวลาที่องค์กรเหล่านี้ไปฟังขององค์กรอื่นๆ จากงานสัมมนาหรือจากที่ไหนก็ตามก็จะมีแต่ ‘ว้าวๆ’ แต่เมื่อมองดูองค์กรของตนเองก็จะมีแต่  ‘ว้า’

ฉะนั้น ถ้าทำตาม 5 ขั้นตอนที่กล่าวมา เชื่อเถอะว่าองค์กรจะสามารถ Transform ได้จริงๆ โดยเฉพาะข้อ 1 การทำความรู้จักเพื่อนิยาม Digital Transformation นั้นคือขั้นแรกของการเปลี่ยนแปลง (Change) 

 

 

ผู้บริหารต้องรับมืออย่างไรหากเผชิญความท้าทายเมื่อต้อง Transform 

ถ้าใครคิดว่าการจะทำ Digital Transformation แล้วทุกคนจะอยู่ได้อย่างสุขสบาย บอกได้เลยว่า คิดผิด เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า Transform ก็คือการเปลี่ยนแปลง แล้วในองค์กรจะไม่เหมือนเดิมเพราะมันคือการเปลี่ยนแปลง (Change)  แล้วคำว่า Change ในที่นี้หมายถึง Change เพื่อคุณค่าในสองมิติ นั่นคือ

  • คุณค่าภายใน ต้องทำให้ชีวิตคนทำงานภายในดีขึ้น เร็วขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น หรือทำงานจากที่ไหนก็ได้ หรือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากขึ้น
  • คุณค่าภายนอก ต้องทำให้ภายนอกองค์กรได้รับคุณค่าที่ดีขึ้น อาทิ ลูกค้าได้รับคุณค่าที่ดีขึ้นทั้งสินค้า/บริการ เช่น แม้เราจะไม่ได้ออกนอกบ้าน เราก็ยังสามารถทำธุรกรรม จ่ายบัตรเครดิตได้ ฯลฯ

การต่อต้านหรือการท้าทายบอกเลยว่าต้องมีอยู่แล้วแน่นอน เพราะใครๆ ก็ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลงเหมือนหนังสือเรื่อง Who Moved My Cheese เขียนโดย Spencer Johnson ที่ไม่มีใครชอบการเปลี่ยนแปลง แล้วก็เพลิดเพลินกับชีสของตัวเองไปเรื่อยๆ จนมารู้ตัวอีกทีชีสหมดไปแล้วและเมื่อมีใครมาเอาชีสของเราไปแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบว่าเราเปลี่ยนแปลง หรือทำ Digital Transformation เพื่ออะไร โดยสื่อสารตั้งแต่ ข้อ 1 - 5  

ข้อคิดกี่ยวกับการเลือกเทคโนโลยีมาทำ Digital Transformation ในข้อ 3 ได้บ้างหรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมองเป็น 5 ด้าน  นั่นคือ

1) Environment & Ecosystem (สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ) ตรงนี้ให้มองว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจของคุณมีใครบ้างทั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อดูว่า เราจะทำ Digital Transformation กับส่วนใดก่อน เช่น ทำกับต้นน้ำก่อน เช่น ซัพพลายเออร์ หรือทำกับปลายน้ำ เช่น ลูกค้า

2) Business Process (ดูกระบวนการทางธุรกิจ) เป็นการดูภายในว่าธุรกิจของเราเป็นอะไร เราจะเอาดิจิทัลเข้าไปใช้ได้ในส่วนไหน เช่น ถ้าเป็นธุรกิจด้านการผลิตก็นำเอาเครื่องจักร หุ่นยนต์มาใช้ ธุรกิจบริการก็สามารถนำอีคอมเมิร์ซหรือแชตบอทมาใช้หรือหากเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป (Trading) ก็อาจนำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่าง eProcurement เข้ามา ฯลฯ

3) People Empowerment ประเด็นหลายองค์กรก็อาจจะลืมคิดไป นี่คือการปรับในส่วนของทรัพยากรมนุษย์ของตัวเอง ขั้นตอนนี้อาจจะเป็นขั้นตอนง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพได้ เช่น การตั้งไลน์กรุ๊ป หรืออาจจะกำหนดให้ทีมงานตอบไลน์ภายในกี่นาทีตามที่กำหนด เพื่อให้งานเดินหน้าต่อได้และไม่เสียหายหรือการประชุมผ่านโปรแกรมอะไรก็ได้ที่สามารถประชุมนอกสถานที่ได้ หรือแม้แต่ให้พนักงานเช็กอีเมลเป็นประจำ หรือส่งงานหรือรายงานทางอีเมล แค่นี้ก็เป็น Digital Transformation ได้

4) Partnership Ecosystem ในส่วนของซัพพลายเออร์ ดีลเลอร์ว่า เราจะทำ Digital Transformation กับคนกลุ่มนี้ได้หรือไม่ อย่างการสั่งซื้อแบบอัตโนมัติ เช่น หากของขาดสต็อกก็สามารถสั่งซื้อสินค้าเพื่อเติมสต็อกได้ทันที หรือการวางระบบหลังบ้านของดีลเลอร์ เพื่อดูสต๊อก หรือการสั่งซื้อของดีลเลอร์ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจของเราอยู่ดี

5) Organization Culture เราจะปรับวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นดิจิทัลกมากขึ้นได้หรือไม่ เช่น การสื่อสาร การใช้ชีวิตในองค์กร เช่น บริษัทซินเน็กซ์ที่ใช้ระบบสแกนใบหน้า เพื่อควบคุมการเข้าออกขององค์กรซึ่งก็สามารถครอบคลุมได้ถึงเรื่องความปลอดภัยขององค์กร สามารถเช็คได้ว่ามีคนนอกเข้ามาในวันนั้นกี่คนการจองห้องประชุมผ่านออนไลน์หรือจองที่หน้าห้อง หรือแม้แต่การประชุมจากที่ไหนก็ได้ผ่านโทรศัพท์มือถือที่รองรับได้มากถึง 200 เครื่อง ฯลฯ แล้วเมื่อมีการสำรวจพนักงานเองก็พอใจกับการใช้ดิจิทัลขององค์กรว่า สนุก มีความท้าทายและมีคุณค่ากับการใช้ชีวิตของตนเองมากขึ้น

 

 

ตัวอย่างใกล้ตัวก็คือ Eminent Air ซึ่งเราไม่ใช่บริษัทใหญ่แต่ที่ผ่านมา เราสร้างศูนย์ฝึกอบรม Eminent Exploring Center ที่เชียงใหม่และสร้างโรงเรียนสอนช่างแอร์และทำอย่างจริงจังเมื่อสองปีก่อน โดยได้เซ็นบันทึกความเข้าใจกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ แล้วมาดูกันว่าถ้าเราจะทำ Digital Transformation เราจะทำอะไรได้บ้าง

เราก็ได้รู้แล้วว่าวัตถุประสงค์การทำ Digital Transformation เพื่อเพิ่มคุณค่าให้มากขึ้น

ส่วนขั้นที่ 2 ขั้นของการวางวัตถุประสงค์ - เราอยากให้การเรียนการสอนของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น  

ขั้นที่ 3 ขั้นของ Digital Enabler ซึ่งเป็นการนำเอาดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนงานขององค์กร เราก็รู้ว่า มี VR และ AR ที่ช่วยทำให้การเรียนการสอนของเราดีขึ้น แต่ขณะนี้ VR น่าจะเหมาะกว่าสำหรับโจทย์นี้

ขั้นที่ 4 ขั้นการวางแผนกันเป็นเฟส เราใช้กับการคิดเกม เพื่ออธิบายกับช่างและนักเรียน เกี่ยวกับขั้นตอนการติดตั้งแอร์ในสถานที่จริงแบบ 3D ตั้งแต่ต่อท่อ การติดตั้งคอมเพรสเซอร์ การเดินสายไฟจนเสร็จใน VR ความยาว 10 นาที ขณะที่ในอีกสามปีข้างหน้าเราก็วางแผนด้วยว่า เกมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แล้วแผนในระยะไกล เราก็มองไว้แล้วเหมือนกัน

สุดท้าย ขั้นที่ 5 ขั้นของการนำไปใช้จริง เมื่อเราต้องการทำ VR, คอนเทนท์ 3D แต่ไม่มีใครทำได้เราก็หา Outsource อีกหลายบริษัทจนคัดเลือกได้  DOER เพื่อร่วมกันทำคอนเทนท์ขึ้นมา

 

นี่คือตัวอย่างของการทำ Digital Transformation ที่พอจะเห็นภาพได้จาก Eminent Air

 

           

[อ่าน 5,416]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“เพราะชีวิตคือบททดสอบ” เปิดเรื่องราวชีวิตหญิงแกร่ง CHRO แห่งทรู คอร์ปอเรชั่น
‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘บิสโตร เอเชีย’ ให้มียอดขายเติบโตขึ้นถึง 70%
ศุภลักษณ์ อัมพุช กับ New Era ของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่เป็นมากกว่าแค่ช้อปปิ้ง แต่คือการสร้างย่านการค้า
Future Food เทรนด์อาหารแห่งอนาคตเพื่อโลกที่ยั่งยืน กับมุมมองของไทยยูเนี่ยน
เจน - ชลันดา ศรีวิทิตกุล Interior Designer ที่ผสานเทคโนโลยีเข้ากับงานออกแบบ
ถอดรหัส HERO BRAND กลยุทธ์สร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืนของ ”ซัคเซสมอร์”
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved