สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ผลักดันการจัดหาทองคำอย่างมีจริยธรรม
15 Feb 2020

 

ปัจจุบันการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นร้อนแรงในธุรกิจเครื่องประดับทั่วโลก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือ UAE เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว โดยนอกเหนือจากการเข้าร่วมและปฏิบัติตามข้อกำหนดของ Kimberley Process สำหรับการค้าเพชรแล้ว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังพยายามผลักดันแนวทางในการจัดหาทองคำด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าจะช่วยลดหรือกำจัดทองคำแท่งที่ไม่ผ่านการรับรองแหล่งที่มาให้หมดไปจากตลาด และช่วยสร้างความโปร่งใสให้แก่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น

 

การรับรองแหล่งที่มาของทองคำใน UAE

ปัจจุบันการเข้าร่วมกระบวนการรับรองแหล่งที่มาของทองคำใน UAE ยังคงขึ้นอยู่กับความสมัครใจ โดยมีหน่วยงาน Dubai Multi Commodities Centre (DMCC) เป็นองค์กรหลักที่กำหนดกฎระเบียบในด้านแหล่งที่มาอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ (Responsible Sourcing Regulatory) มาตรฐานด้านจริยธรรมทางการค้า (Ethical Standards) แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมทองคำและโลหะมีค่า (DMCC Guidance) และข้อกำหนดในการทบทวนที่อ้างถึงกฎสำหรับการตรวจสอบสถานะความเสี่ยงพื้นฐานของกิจการในธุรกิจนี้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (DMCC Rules for Risk Based Due Diligence in the Gold and Precious Metals Supply Chain) ซึ่ง DMCC เป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) จึงอ้างอิงกระบวนการรับรองแหล่งที่มาโดยปฏิบัติตามแนวทางของ OECD ที่จัดทำกรอบขั้นตอน OECD Due Diligence Guidance for Responsible Supply Chains of Minerals from Conflict-Affected and High Risk Areas (ข้อมูลเพิ่มเติมศึกษาได้จาก http://www.oecd.org/corporate/mne/mining.htm)

 

ที่ผ่านมากิจการสกัดทองคำ และกิจการค้าทองคำภายใน UAE บางรายได้สมัครเข้าร่วมปฏิบัติตามข้อกำหนดในการจัดหาเครื่องประดับอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบแล้ว โดยส่วนหนึ่งเป็นกิจการค้าทองคำและเครื่องประดับในดูไบ ซึ่งเป็นสมาชิกของ Dubai Gold Jewellery Group (DGJG) ที่ได้สมัครขอใบรับรองเพื่อช่วยยืนยันว่ากิจการของตนใช้ทองคำแท่งที่ “จัดหามาอย่างถูกต้อง” ในขณะที่กิจการอีกหลายรายยังไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการรับรอง เนื่องจากความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่คิดตามสัดส่วนของผลประกอบการ ซึ่งจะเป็นภาระหนักสำหรับผู้ค้าปลีก

 

 

ถึงกระนั้นก็ตามภาคอุตสาหกรรมยังเชื่อว่าการเข้าร่วมกระบวนการรับรองดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้และเหมาะสมกับสถานะของดูไบในการเป็น“เมืองแห่งทองคำ” เพราะระบบการรับรองอย่างถูกต้องนั้นจะช่วยจัดการปัญหาว่าด้วยทองคำจาก “การทำเหมืองอย่างไม่เป็นทางการ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกา ทั้งนี้การเข้าร่วมระบบการรับรองหมายความว่ากิจการแต่ละแห่งในธุรกิจทองคำและเครื่องประดับไม่ว่าจะเป็นผู้ขายปลีกผู้ขายส่งผู้ค้าทองคำแท่ง และกิจการโรงงานสกัดทองคำจะต้องตรวจสอบว่าทองคำที่ตนซื้อ และนำไปใช้งานนั้น มาจากแหล่งที่ผ่านการรับรองและติดตามข้อมูลได้ ด้วยวิธีนี้ การค้าทองคำที่ไม่ผ่านการรับรองและไม่ทราบแหล่งที่มาก็จะถูกยับยั้งหรือยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง

 

กระบวนการทั้งหมดนี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อผู้ซื้อ/ผู้บริโภคทองคำในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ความเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ที่การเพิ่มกระบวนการรับรองขึ้นมาอีกขั้นตอนหนึ่งในภาคธุรกิจทองคำเท่านั้น โดยข้อกำหนดสำคัญประการหนึ่งคือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกรายจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบสองขั้นในการซื้อแต่ละครั้ง กล่าวคือ ทองคำที่ขายนั้นจะต้องสืบย้อนกลับไปได้ถึง “ผู้จัดหาทองคำสองรายก่อนหน้านั้น” แต่หากไม่สามารถระบุข้อมูลดังกล่าวนี้ได้ ก็ไม่ควรดำเนินการซื้อขายต่อ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมชี้ว่าทองคำจากแหล่งทำเหมืองอย่างไม่เป็นทางการนั้นไม่ใช่ปัญหาในระดับค้าปลีก แต่เป็นสิ่งที่ผู้สกัดทองคำทุกรายต้องพึงระวัง เพราะทองคำที่ไม่ผ่านการรับรองอาจอยู่ในรูปของเม็ดทองคำขนาดเล็กซึ่งส่งตรงไปยังโรงงานสกัดทองคำเพื่อเลี่ยงภาษี โรงงานอาจซื้อเม็ดทองคำเหล่านี้ได้ในราคาลดพิเศษ แล้วนำไปสกัดและแปรรูปให้เป็นทองคำแท่ง

 

ในขณะที่ผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่นั้นไม่รับซื้อทองคำดิบ เพราะผู้ค้าปลีกชั้นนำทุกรายซื้อทองจากธนาคารทองคำที่มีชื่อเสียงระดับโลก อีกทั้งยังมีมาตรฐานการดำเนินงานที่เข้มงวดอยู่แล้ว อย่างในกรณีของบริษัท Malabar Gold & Diamonds ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ค้าเครื่องประดับทองรายใหญ่ 1 ใน 5 รายสำคัญของดูไบ ระบุว่า ทองคำที่บริษัทใช้กว่าร้อยละ 80 มาจากธนาคารทองคำ ส่วนที่เหลือนั้นเป็นทองคำรีไซเคิลซึ่งมาจากผู้ซื้อในประเทศ ฉะนั้นทองคำแท่งที่จัดหามาอย่างไม่ถูกต้องนั้นมีจำนวนน้อยมากในตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะเดียวกันการขอรับการตรวจสอบว่าเป็นกิจการที่จัดหาทองคำอย่างถูกต้องยังถือเป็นส่วนที่ง่ายในกระบวนการนี้ แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้กิจการหลายแห่งไม่ต้องการเข้าร่วม ซึ่งรวมถึงบริษัท Malabar Gold & Diamonds ด้วย เนื่องจากค่าใช้จ่ายนี้จะเพิ่มภาระต้นทุนสำหรับผู้ค้าปลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความต้องการทองคำชะลอตัวลงในตลาดนี้

ดังนั้น กระบวนการรับรองแหล่งที่มานี้น่าจะได้ผลในระดับผู้สกัดทองคำมากกว่าในระดับอื่นๆ แต่จากมุมมองของภาคอุตสาหกรรม ถ้าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าร่วมแนวทางการรับรองก็จะช่วยสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นได้ในทุกภาคส่วน

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา DMCC ได้ดำเนินการให้ความรู้แก่ภาคอุตสาหกรรมว่าด้วยการจัดหาวัตถุดิบอย่างถูกต้องและการดูแลให้กิจการปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสม และพิจารณาเพิ่มความเข้มงวดรัดกุมให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการผลักดันใช้มาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม โดยในวันที่ 13 ตุลาคม 2019 คณะรัฐมนตรีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพิ่งอนุมัตินโยบายทองคำฉบับใหม่ เพื่อเสริมสถานะของประเทศในฐานะศูนย์กลางการค้าทองคำและเครื่องประดับระดับโลก ซึ่งนโยบายนี้จะตั้งอยู่บนพื้นฐานหลัก 3 ข้อคือ ธรรมาภิบาล ความยั่งยืน และนวัตกรรม โดยการสร้างธรรมาภิบาลในตลาดทองคำทั้งระดับรัฐบาลและระดับท้องถิ่น ริเริ่มใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและภาคการผลิตในอุตสาหกรรม จัดตั้งแพลตฟอร์มของรัฐบาลกลางสำหรับการค้าทองคำและติดตามแหล่งที่มาของทองคำให้ตรงตามมาตรฐานสากล รวมถึงส่งเสริมการตลาดระหว่างประเทศของธุรกิจทองและเครื่องประดับทอง ซึ่งคาดว่านโยบายนี้จะช่วยสร้างความโปร่งใสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

 

 

การตรวจสอบแหล่งที่มาของทองคำทวีความสำคัญในตลาดโลก

ปัจจุบันมีหลายประเทศสำคัญของโลกที่ยึดหลักการสร้างความโปร่งใสในธุรกิจทองคำ เพื่อให้แน่ใจว่า ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่เหมืองไปจนถึงกระบวนผลิตทองคำ จะไม่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนเหตุความขัดแย้ง และกลุ่มนอกกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันประเด็นเรื่องการฟอกเงิน ที่รัฐบาลหลายประเทศควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น บางประเทศจึงได้ออกกฎหมายบังคับใช้โดยเฉพาะ ขณะที่บางหน่วยงานหรือสมาคมก็กำหนดให้มีกระบวนการรับรองแหล่งที่มาของทองคำตามที่ OECD กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ อาทิเช่น Responsible Jewellery Council, London Bullion Market Association, The London Metal Exchange และ Responsible Minerals Initiative เป็นต้น

 

สำหรับสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่มีบทบาทสำคัญในตลาดทองคำระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก รัฐบาลสวิสให้ความสำคัญกับมาตรการตรวจสอบแหล่งที่มาของทองคำจากนอกประเทศ โดยได้ทำข้อตกลงในระดับชาติและนานาชาติเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าทองคำที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการผลิตเข้าสู่ประเทศ โดยออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าทองคำของสวิส คือ Precious Metals Control Act และ Anti-Money Laundering Act อย่างเข้มงวด เพื่อให้การตรวจสอบมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการบิดเบือนแหล่งที่มาของทองคำ นอกจากนี้ สภาแห่งชาติของสวิสยังได้แนะนำให้เพิ่มบทบาทของผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมและขยายความร่วมมือในการผลิตทองคำที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็กำลังเตรียมจะออกกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ธุรกิจเครื่องประดับจะต้องรับรู้และเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาของวัตถุดิบทั้งหมด ไม่ใช่แค่อัญมณี เพชรหรือพลอยสี แต่รวมถึงทองคำและโลหะมีค่าอื่นๆด้วย มิฉะนั้นจะถูกดำเนินการตามกฎหมายใหม่ที่คาดว่าจะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมนี้อย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังศึกษาและดำเนินการกำหนดกระบวนการรับรองแหล่งที่มาของทองคำเช่นกัน อย่างเช่น สหภาพยุโรปที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายในเดือนมกราคม 2021 โดยอ้างอิงกระบวนการตาม OECD

 

ฉะนั้นผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในตลาดเหล่านี้ ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่แต่ละประเทศกำหนดไว้ และให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ สำหรับผลิตเป็นเครื่องประดับซึ่งควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าตนเองไม่ได้ใช้วัตถุดิบอย่างทองคำ และอัญมณีจากเหมืองที่ใช้แรงงานเด็ก หรือเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งรวมถึงอุตสาหกรรมเหมืองทองและอัญมณีนั้น ดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบ และมีจิตสำนึกสามารถตรวจสอบได้ โดยผู้ประกอบการ จะต้องสำแดงเอกสารแหล่งที่มา ของวัตถุดิบให้เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดอย่างถูกต้อง จากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ อาทิ องค์กรที่ให้การรับรองเหมืองทองอย่าง Fairtrade และ Fairmined ใบรับรองลำดับการครอบครอง (Chain of Custody) ของ Responsible Jewellery Council หรือเพชรที่มีใบรับรอง Kimberley Process รวมถึงการใช้เทคโนโลยี Blockchain ที่สามารถระบุและติดตามแหล่งที่มาของอัญมณีในทุกๆ ขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในธุรกิจเครื่องประดับ

 

การจัดหาวัตถุดิบทั้งอัญมณีและโลหะมีค่าตามหลักจริยธรรมทางการค้าเป็นจุดเริ่มต้นและต่อยอดไปถึงภาคการผลิต และการค้าเครื่องประดับที่ควรดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพราะการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคยุคใหม่นั้นมีพื้นฐานมาจากแนวทางที่ผู้ขายนำเสนอปัจจัยเหล่านี้อุตสาหกรรมนี้จึงควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและกระตุ้นความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ

 


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

[อ่าน 3,094]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทำความเข้าใจการขึ้นราคากระเป๋า Chanel ล่าสุดปี 2024 และตลาดขายต่อ
"ยูนิลีเวอร์" วางแผนแยกธุรกิจไอศกรีม ส่งผลให้พนักงาน 7,500 ราย ถูกเลิกจ้าง
"ฝรั่งเศส" เจ้าภาพโอลิมปิก 2024 เผยโฉมชุดนักกีฬาทีมชาติ
อาลัย Akira Toriyama ผู้สร้าง Dragon Ball เสียชีวิตแล้วในวัย 68 ปี
ลอรีอัล ยืนหนึ่งด้านสิ่งแวดล้อมนำคะแนน ‘AAA’ 8 ปีซ้อนจาก CDP
"Casio" เปิดตัวรุ่นลิมิเต็ด ครบรอบ 50 ปี "นาฬิกาดิจิทัลพร้อมปฏิทินอัตโนมัติเรือนแรกของโลก"

MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved