'บัณฑูร ล่ำซำ' เดี่ยวไมค์เปิดใจ ‘ไม้ต่อ - พายุ – ความท้าทาย’
16 Apr 2020

 

บัณฑูร ล่ำซำ คือ ชื่อชั้นของ 'ซูเปอร์ เทคโนแครต' ที่สะกดคนฟังได้ทุกครั้ง เมื่อแสดงความเห็นหรือขึ้นเวทีใดก็ตาม ล่าสุด เขาจับไมค์อีกครากับสื่อมวลชน ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ KxPress ในฐานะของ 'ประธานกิตติคุณ' (Chairman Emeritus) ธนาคารกสิกรไทย หลังจากที่ส่ง 'ไม้ต่อ' ให้สองหญิงแกร่ง กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร และ ขัตติยา อินทรวิชัย ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ตามลำดับ

 

 

การอำลาจากบทบาทนายแบงก์ที่คลุกคลีมานาน เพื่อทำงานใหม่ที่เขามองว่า ท้าทายกว่า ยั่งยืนกว่ากับการแก้ปัญหาป่าต้นน้ำน่าน การส่งไม้ต่อท่ามกลางพายุวิกฤติโควิดนั้นมีความท้าทายกับเขาหรือไม่ อย่างไร และเขามองคำว่า 'ความท้าทาย' ในแง่มุมใดบ้าง นี่คือถ้อยคำที่ บัณฑูร ล่ำซำ ลำเลียงความคิดและความในใจของเขา

 

'ไม้ต่อ' จิ๊กซอว์ที่วางมานาน

การลงจากตำแหน่งในภาวะวิกฤตินี่สิดี เพราะยิ่งเท่ากับแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อฝ่ายบริหารจัดการอย่างยิ่ง เพราะลงตอนที่วุ่นวายที่สุด นี่ยิ่งเท่ากับเป็นการทดสอบทีมบริหารจัดการด้วย หากรับมือตอนนี้ได้ ถ้าสอบผ่านก็เท่ากับ สามารถรับงานตอนไหนก็ได้ ดังนั้น จังหวะตรงนี้ถือว่าดีที่สุด

ความจริงต้องบอกว่า คณะกรรมการของธนาคารกสิกรไทยเก่งทุกท่าน บุคลากรของเราเป็นทีมงานคุณภาพจากหลายแวดวงมาชุมนุมกัน แล้วก็สามารถทำงานด้วยกันได้ดี สำหรับสาเหตุที่เลือกคุณกอบกาญจน์ก็ต้องบอกว่า เนื่องจากเธอเก่ง มีประสบการณ์ทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ ซึ่งจะทำให้มีมุมมองที่หลากหลาย อีกทั้งเธอเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีศีลธรรม ทำให้มั่นใจได้ว่า เธอจะเป็นประธานกรรมการคนต่อไปของธนาคารกสิกรไทยได้ ส่วนคุณขัตติยาก็เป็นคนเก่งในแวดวงของการบริหาร เราทำงานด้วยกันมานาน ใจดี มีเมตตา ผู้คนรัก มีความเฉียบคมในความรู้ทางด้านเทคนิคของการเงิน การจัดการ ซึ่งก็เป็นเวลาของเธอที่จะรับโจทย์อันยากนี้ต่อไป ผมก็เชื่อว่าเธอจะทำหน้าที่นี้ได้ดี

การเปลี่ยนผ่านไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เป็นการวางหมากที่อยู่ในใจมานานแล้วก็จับจิ๊กซอว์ องค์ประกอบที่มีในใจให้ครบจึงจะสามารถส่งต่อได้ด้วยความสบายใจ ซึ่งก็เกิดขึ้นแล้วและสามารถส่งไม้ต่อได้อย่างสบายใจ แล้วก็ไม่ใช่แค่สองท่าน แต่เป็นคณะกรรมการและทีมงานของธนาคารกสิกรไทยทุกระดับที่มีความพร้อมที่จะทำงานได้ต่อไป

 

 

ทั้งนี้ สิ่งที่ผมบอกกับทีมบริหาร เพื่อส่ง 'ไม้ต่อ' คือ

อย่ามั่ว : เพราะมั่ว คือความไม่ชัดเจน ตกลงกันอย่างหนึ่งไปทำอีกอย่างหนึ่งก็จะแก้ปัญหาใหญ่ไม่ได้

อย่าไม่คำนวณ : เนื่องจากจริงๆ แล้วทุกอย่างมีตัวเลขกำกับอยู่ พูดลอยๆ มันเป็นนามธรรม พูดอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น ถ้าตัวเลขมันไม่ถึง มันก็คือไม่ได้ผล ถ้าพูดโดยไม่มีตัวเลขกำกับก็จะแก้ปัญหาไม่ได้

อย่าชุ่ย : ทุกอย่างต้องมีความระมัดระวัง

อย่าเหยียบตีนกัน : การรักษาสัมพันธภาพระหว่างทีมงาน ทะเลาะกันตลอดเวลาก็ไม่ได้แก้ปัญหา

 

      " ผมไม่เล่นการเมือง แต่ต้องทำงานกับภาครัฐ "  

 

พายุ - โควิด - เศรษฐกิจพอเพียง

ในห้วงเวลาของโรคระบาดครั้งนี้ ผมอดที่จะหวนคิดถึงเมื่อ 20 ปีก่อน ที่ประเทศไทยก็เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่ทำให้เกิดการล่มสลายกันทั้งประเทศเช่นกัน และทุกคนก็พยายามที่จะช่วยกันแก้ปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จออกพระที่นั่งดุสิดาลัยในวันที่ 4 ธันวาคมของปีนั้น เพื่อพระราชทานพระราชดำรัสให้กับคนไทยทั้งประเทศและถ่ายทอดทางทีวี ตัวผมเองโชคดีที่ได้นั่งในที่นั้นด้วย เรียกได้ว่าเป็น 'บุญหู บุญตา บุญปัญญา' ที่ได้ฟังพระองค์ท่านโดยตรงถึงปัญหาและทางออกต่างๆ ที่คนไทยพึงจะต้องคำนึงถึง ซึ่งสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่อยู่บนฟ้าทรงกระทำอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ยังทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ด้วยพระเมตตามหาศาลกับคนไทยที่เผชิญปัญหาเดือดร้อนทั้งประเทศนั่นคือ พระองค์ทรงแนะนำ 'หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง' ให้คนไทยได้เข้าใจ ก่อนหน้านั้นคนไทยไม่เจอปัญหาใหญ่ เราก็คิดว่า อะไรๆ ก็ดีไปหมด แต่เมื่อมีวิกฤติเศรษฐกิจก็ครั้งใหญ่ทำให้เราคิดได้ว่า ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นได้ ในครั้งนั้นพระองค์ทรงให้พระราชดำริว่า ไม่ว่าจะทำอะไรกันก็ตาม ขอให้แน่ใจว่า ถ้าวันหนึ่ง 'พายุ' มา ก็อย่าให้ถึงกับ 'ล่ม' ซึ่งหมายความว่า อย่าทำอะไรจนสุดโต่งเกินตัว ทุกอย่างต้องมีการเตรียมการไว้ เพราะโลกมนุษย์มีการผันแปรต่างๆ มากมายอย่างนึกไม่ถึง หากไม่มีการเตรียมการ หรือระมัดระวังในมิติต่างๆ เมื่อวิกฤติมาหรือพายุมาก็จะเกิดความเสียหายต่างๆ มากมาย ล่มสลายกันถ้วนหน้าเหมือนเมื่อยี่สิบปีก่อน 

 

 

พระราชดำรัสในครั้งนั้นก็ยังก้องอยู่ในหัวผมในหูผม และในวิญญาณของผมจนทุกวันนี้ว่า ครั้งต่อไปที่เกิดพายุ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนในรูปแบบของวิกฤติเศรษฐกิจ หรือในรูปแบบของโรคระบาด ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่า เป็นพายุใหญ่ที่พัดไปทั้งโลก ทั้งที่เศรษฐกิจเดิมๆก็ยังดีอยู่ แต่กลับกลายเป็นเศรษฐกิจไม่ดีไปในชั่วข้ามคืน เพราะคนไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ หรือพายุที่อาจจะมาในรูปแบบของความสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นพื้นฐานของชีวิตที่ดีของโลกมนุษย์ อย่างดิน น้ำ ลม ไฟ ปัจจัยที่คนถือว่าต้องมีอยู่ แต่ในความจริงแล้วเกิดความเสียหาย หรือพายุที่มาจากความไม่สงบในสังคม เพราะมีความเห็นต่างกัน .. ร่ำรวยยากจนต่างกัน จนในที่สุดก็อยู่อย่างสงบสุขไม่ได้  

 

จริงๆ สิ่งเหล่านี้ ก็วนเวียนอยู่ในสมองของผม และวิกฤตเศรษฐกิจก็ผ่านมา 20 ปีแล้ว ที่จริงเศรษฐกิจและผู้คนก็มั่งคั่งกว่าเดิมเยอะ จนดูเหมือนจะลืมๆ กันไปว่า พายุจะมาได้อีกในรูปของโรคระบาด แล้วก็ยังจะมีพายุอื่นๆ มาอีกในรูปแบบอื่นๆ คำถามคือว่า 'มนุษย์' โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยจะสามารถรับมือกับพายุเหล่านี้ได้หรือเปล่าและรู้หรือไม่ว่า จะต้องเตรียมการอะไรบ้าง จริงๆ ก็เป็นอะไรที่ทำนายลำบาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ดีๆ เราก็จะรู้สึกว่าไม่เป็นอะไรยกตัวอย่างจากธนาคารที่ดูเหมือนฟื้นจากความเสียหายครั้งนั้น แล้วทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปได้ดี แต่จริงๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นหรอก ทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลงไปและความจริงแล้วความเสี่ยงมีอยู่ตลอดเวลา แล้วถ้าทำอะไรจนเกินตัวก็จะเกิดความเสียหาย ดังนั้น ก็หวังว่ามาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้จะกันไม่ให้เราไปถึงจุดนั้น  

 

แต่ถ้าถามว่า มาตรการที่ใส่ไว้นี่ครบหรือไม่ ... ไม่แน่ใจ เพราะพายุยังไม่มา

ถ้าพายุมาจริงๆ มาตรการที่เตรียมไว้อาจจะไม่พอโชคดีที่รอบนี้ที่เกิดโรคระบาดในครั้งนี้ แม้จะเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจ แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างทางสถาบันการเงิน ได้ตุนเสบียงสำรองไว้พอสมควรแล้ว ฉะนั้น แม้เศรษฐกิจถดถอย อันเนื่องมาจากผู้คนทำงาน หรือประกอบธุรกิจไม่ได้ตามปกติ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังรับได้ แค่สูญเสียกำไรกันไป ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่หากไม่มีทุนสำรองอะไรไว้เลย ก็คงจะเดือดร้อน  ฉะนั้น ส่วนที่จะต้องฟื้นฟู เยียวยา ผู้เดือดร้อน ทั้งผู้ประกอบการ ผู้คนที่ตกงานก็สามารถที่จะ 'พิง' ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยได้ขั้นหนึ่ง ตราบใดที่ไม่พิงจนล้มกันไปเสียหมด ...ก็น่าจะยังพอรับได้อยู่ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องดูว่า โรคจะลากยาวไปแค่ไหน

ถ้ายิ่งลากยาวผลกระทบทางเศรษฐกิจก็ยิ่งมาก มาตรการต่างๆ ที่ทำเข้มขึ้นมาก ทางรัฐบาล และแพทย์ก็ดูมีความหวังว่า จะสามารถสกัดได้ นี่ก็คือตัวอย่างหนึ่ง ถ้ามีการเตรียมการไว้ขั้นหนึ่ง รัฐบาลก็ไม่ได้กู้เงินไว้มากไปในอดีต ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องกู้เพื่อเยียวยาทางเศรษฐกิจก็นับว่ายังพอมีช่องที่จะทำได้อยู่ แต่ก็อาจจะตึงๆ ทั้งรัฐบาล ระบบธนาคาร และระบบการเงินแต่ก็เชื่อว่ายังรับได้ แต่ก็จะตึงๆ อยู่

 

"บทบาทของธนาคาร ก็คือ ต้องเป็นกลไกทางเศรษฐกิจ ปล่อยสินเชื่อที่ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างงานโ ดยถ้วนหน้า ไม่ปล่อยสินเชื่อที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม และชีวิตมนุษย์ "

 

ความรู้ใหม่ - โลกหลังโควิด

อย่างไรก็ตาม การรับได้ก็ยังต้องมาดูตอนจบกันอีก เพราะเราก็ยังต้องกลับมาทำมาหากินกันอีก ไม่ใช่แค่เยียวยาแล้วไม่เป็นไร แต่หลังจากนี้ เราต้องมาคิดกันหนักเลยว่า เราจะทำมาหากินอะไร สำหรับเรื่องเงินลงทุนก็พอจะหาได้ เงินสินเชื่อก็พอจะหาได้ แต่อยากให้คนไทยทำมาหากินประเภทไหน ตรงนี้เป็นเรื่ององค์ความรู้ที่เราต้องสร้างขึ้นมาใหม่             

โลกหลังโรคระบาดเป็นอย่างไร ตรงนี้ละเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะตอนนี้ทุกคนก็แตกสลาย กลับไปต่างจังหวัด แล้วก็มาคิดว่า พอโรคระบาดหายเราจะทำมาหากินอะไรกันดี เราจะทำแบบเดิม หรือจะสามารถหาวิชาชีพใหม่ให้ทำรายได้ดีกว่าเดิมหรือไม่ รับรองได้ว่า หนีไม่พ้นต้องหาองค์ความรู้ใหม่ เพราะองค์ความรู้เดิมนั้นใช้ไม่ได้แล้ว ไม่ว่ะจากระบบการศึกษา จากระบบการวิจัย นี่ละคือความเสี่ยงที่เป็นพายุที่ก่อตัวมาอีกแบบ

นอกจากนี้ระยะหลังๆ ก็ยังมีปัญหาจากงบประมาณที่มีจำกัด ทำให้งบด้านการวิจัยถดถอยประเทศจะไม่มีการวิจัยเลยไม่ได้ รัฐก็ต้องทำในส่วนของรัฐ เอกชนใหญ่ ก็สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ สถาบันวิจัยที่มาจากเงินทุนของเอกชนก็มี เช่น  สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่ต่างประเทศทำ และถือเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และวันนี้ก็ได้ค้นคิดเครื่องมือการทดสอบไวรัส (ร่วมกับศิริราช และปตท. พัฒนาชุดตรวจไวรัสโคโรนา 2019 รู้ผลเร็ว 30-45 นาที ต้นทุนถูกเพียง 475 บาท โดยใช้อุปกรณ์ในไทยทั้งหมด) องค์กรอื่นๆ ก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ กสิกรไทยก็มีความคิดที่จะทำเช่นนี้เหมือนกัน

 

                       

น่าน - ประตูท้าทายบานใหม่

จากเดิมที่ทำงานด้านการเงิน ตอนนี้ผมก็มุ่งไปที่กว้างกว่านั้นเป็นเทคนิคใหม่ๆ ในการสร้างอาชีพในระดับท้องถิ่นที่ต้องโยงกับป่า ซึ่งก็จะเป็นอีกมิติ ส่วนตัวตน .. ความคิด .. แรงบันดาลใจก็เหมือนเดิมทุกอย่าง โดยที่เป้าหมายหนึ่งในนั้นก็คืองานที่ทำเกี่ยวกับต้นน้ำน่าน ผมคิดว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างที่เป็นประโยชน์ ชีวิตจึงจะมีความหมาย นอกจากนี้ คุณสมบัติที่เอื้อกับงานนี้ของผม คือความสามารถที่จะมองโจทย์ในมุมกว้างๆ มองหายุทธศาสตร์ มองหาองค์ความรู้ หรือมองหาคนประเภทใดมาช่วยงาน

 

พูดถึงองค์ความรู้ที่อยู่ในความสนใจส่วนตัวของผมและได้ดึงธนาคารกสิกรไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาก็คือ ความรู้เกี่ยวข้องกับการเกษตร เพราะมีความเกี่ยวโยงอย่างยิ่งกับการรักษาทรัพยากรป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าต้นน้ำแห่งใหญ่ของประเทศที่จังหวัดน่านถือเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายและต้องร่วมกันหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อหาทางแก้ปัญหาความสูญเสียของป่าต้นน้ำน่าน โดยประชาชนมีที่ทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งได้ป่าที่ถูกทำลาย เพราะใช้ปลูกพืชไร่ประเภทต่างๆ กลับคืนมา 

 

ทั้งนี้ พื้นที่ป่าที่เสียไป 28%ของป่าทั้งหมดของน่านยังไม่ถึงกับได้คืน แต่ความเข้าใจของทุกฝ่ายที่ว่า ปัญหาคืออะไรมีมากขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก ความร่วมมือกันจากเดิมที่มีปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนพูดกันไม่รู้เรื่องปัจจุบันก็ดีขึ้นมาก แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีที่จะต้องไปหาองค์ความรู้ในการจัดการที่ทำให้มนุษย์ต้องอาศัยอยู่กับป่าให้ได้ ซึ่งตรงนี้เราต้องใช้องค์ความรู้ของการทำมาหากินทางด้านเกษตรแบบใหม่ แล้วก็ต้องหาให้ทันการณ์ ทันเวลา เพราะการปลูกพืชแบบเดิมๆ ขายของแบบเดิมๆ นั้นไม่พอกิน เมื่อไม่พอกินก็กลับมาทำลายป่า วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ เราก็จะไม่สามารถรักษาป่า รักษาทรัพยากรธรรมชาติได้ ไม่ใช่แค่ไปปลูกป่าๆ อย่างเดียว

 

ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นมิติใหม่อีกฉากหนึ่งของชีวิตผม โดยฉากทางด้านการเป็นนายธนาคารผมก็ทำเต็มที่แล้วไม่รู้จะทำอะไรมากกว่านี้แล้ว ทีมงานที่รับช่วงต่อไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการหรือฝ่ายจัดการ ผมมีความมั่นใจ 100% เพราะเป็นคนเก่งๆ ด้วยกันทั้งนั้น พออายุมากขึ้นก็อยากไปทำอย่างอื่นบ้าง แต่ก็ยังอิงธนาคารกสิกรไทยอยู่ ในฐานะที่จะต้องสนับสนุนโครงการที่เลือกที่จะทำ ฉะนั้น ก็สามารถพูดได้เต็มปากว่าทำแบงก์มา 40 ปีก็ถือว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ผมก็ไม่มีความกังวลอะไร สามารถส่งต่อได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ ทุกอย่างก็ต้องทำไปด้วยกัน ใครมีกำลังมากก็ต้องช่วย สถาบันการเงินมีกำลังทรัพย์ บุคลากรก็ต้องช่วยกัน ดังนั้น ในวันนี้ก็ถือว่า ผมจบฉากเดิมอย่างสบายใจทีเดียว ลูกก็บอกว่า ไม่ต้องทำแบงก์แล้วพ่อ ...ให้ทำอย่างอื่นบ้าง แต่ก็ยังป้วนเปี้ยนกับธนาคารกสิกรไทย เพราะยังต้องใช้ทรัพยากรของธนาคารไปช่วยกัน ... นี่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของชีวิต

 

แล้วถามว่า องค์ความรู้ใหม่คืออะไร ตัวเองรู้หรือเปล่าก็ต้องบอกว่าไม่รู้ ซึ่งก็ต้องหาองค์ความรู้เอาเอง และหาคนที่มีองค์ความรู้มาช่วยกัน ถ้าปัญหาแบบเดิมและการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ นั้นแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ก็ไม่เข้าใจว่า หลายๆ ที่ก็ยังทำแบบเดิมอยู่นั่นแหละ ยังประกันราคาแบบเดิมๆ เกษตรกรไทยก็ยังจนอยู่เหมือนเดิม ทำไมไม่หารูปแบบการทำการเกษตรแบบใหม่ๆ รูปแบบใหม่ๆ ของการทำสินค้าการเกษตร รูปแบบใหม่ๆ ของการทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้นและมูลค่าทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งเก็บไว้กับเกษตรกร  

           

[อ่าน 3,217]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทำความรู้จัก “ปิ่นเพชร โกลบอล” ผู้อยู่เบื้องหลัง “ฮากุ” แบรนด์ทิชชู่เปียกของคนไทย
ดิษทัต ปันยารชุน วางรากฐาน OR เตรียมส่งไม้ต่อให้แข็งแกร่งและยั่งยืน
วีรพล สวรรค์พิทักษ์ ยุทธศาสตร์ Eminent Air สู่ทศวรรษที่ 5
บทพิสูจน์ MAZDA เพื่อก้าวสู่ การเติบโตที่ยั่งยืน
ซีเล็คทูน่า x Sesame Street ครั้งแรกของโลก เมื่อก๊วนเพื่อนแสนซน แห่งถนนเซซามี่ มาอยู่บน ทูน่ากระป๋อง
เปิดใจ ‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ ทำอย่างไร ให้ร้านอาหารในเครือ ‘บิสโตร เอเชีย’ สามารถเข้าถึงโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ได้
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved