พระบิดาแห่งการโคนมไทย อาชีพพระราชทานสู่ความยั่งยืน
14 Dec 2016

          อาชีพการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพพระราชทานที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงวางรากฐานจากพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรที่ยาวไกลมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปเป็นเวลา ๖ เดือน โดยเมื่อเสด็จถึงประเทศเดนมาร์ค ซึ่งเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงทางด้านการเลี้ยงโคนมของยุโรป พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการฟาร์มโคนมของชาวเดนมาร์คเป็นอย่างมาก ด้วยทรงเล็งเห็นว่า อาชีพการเลี้ยงโคนมจะช่วยให้ชาวไทยบริโภคอาหารที่มีคุณค่า อีกทั้งยังช่วยให้กสิกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคงและเป็นหลักแหล่ง ไม่ต้องบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยอีกต่อไป และจากนั้นคือจุดเริ่มต้นที่อาชีพการเลี้ยงโคนมได้แพร่กระจายออกไปทั่วประเทศและทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น  ‘พระบิดาแห่งการโคนมไทย’

 


จุดเริ่มต้นอาชีพพระราชทาน

          ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของอาชีพการเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานว่า 


          “การเสด็จประพาสยุโรปและเดนมาร์คกระหว่างเดือนมิถุนายน ๒๕๐๓ – ๑๘ มกราคม ๒๕๐๔  ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงสนพระราชหฤทัยกับอาชีพการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์คเป็นอย่างมาก ด้วยทรงเล็งเห็นว่า นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าและเหมาะสมกับการบริโภคและหากเกษตรกรไทยได้ทำกิจการทำฟาร์มโคนมก็จะทำให้อยู่เป็นหลักแหล่ง ลดการทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติได้เนื่องจากการทำเกษตรของคนไทยในสมัยนั้นยังเป็นการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งเป็นการถากถางทำลายป่าจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งไปเรื่อยๆ   


          หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จนิวัตกลับประเทศไทยแล้ว รัฐบาลและประชาชนชาวเดนมาร์คได้ทูลเกล้าฯ ถวายโครงการเลี้ยงโคนมแด่ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ ด้วยการส่งผู้เชี่ยวชาญจากเดนมาร์คให้มาศึกษาความเป็นไปได้ของการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย โดยทำการศึกษาร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์จากประเทศไทย เพื่อสำรวจหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดตั้งฟาร์มโคนม โดยการสำรวจก็เป็นการขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจหลายแห่งทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ รวมทั้งที่เขาใหญ่และมวกเหล็กก็อยู่บริเวณชายขอบของเขาใหญ่ 


          จากการศึกษาดังกล่าว คณะทำงานฯ ก็เล็งเห็นว่า ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งในปัจจุบันของฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คมีความเหมาะสมมากในแง่ของภูมิอากาศ ภูมิประเทศและแหล่งน้ำที่มีลำธารมวกเหล็กเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญ เนื่องจากการเลี้ยงโคนมจะต้องใช้น้ำในฟาร์มเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การเลือกสถานที่ตั้งฟาร์มก็ยังต้องคำนึงถึงการตลาดและการขนส่งด้วย เนื่องจากอ.มวกเหล็กอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เพราะในยุคนั้นมองว่าถ้าหากผลิตน้ำนมเพื่อจำหน่ายได้ ตลาดที่สำคัญก็น่าจะอยู่ที่กรุงเทพฯ”

 


          จุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มโคนมเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๕ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระเจ้าเฟรดเดอริคที่ ๙ และ พระราชินีอิงกริด แห่งเดนมาร์ค ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งถึงสถานีแก่งคอยและเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากอ.แก่งคอยถึงฟาร์มโคนม เพื่อทำพิธีเปิด ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค ณ อาคาร ๑๙๖๒ ต.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งพระราชกรณียกิจที่สำคัญในครั้งนี้ได้ปรากฏในแผ่นจารึกที่พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยไว้เป็นหลักฐานและได้ประดิษฐานที่ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คจนถึงปัจจุบัน
 

          ตามคำรายงานกราบบังคมทูลของผู้แทนคณะอำนวยการฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค เนื่องในพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์อบรม มวกเหล็ก จ.สระบุรี วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๕ ระบุว่า

 
          “การดำเนินโครงการฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลเดนมาร์คจะเป็นผู้ดำเนินโครงการตลอดระยะเวลา ๘ ปี บนพื้นที่ประมาณ ๒,๓๐๐ ไร่ ตั้งอยู่สองฟากข้างถนนมิตรภาพ โดยพื้นที่ที่มีขนาด ๑,๗๓๑ ไร่ จะใช้เลี้ยงโคเพื่อทำรีดนม ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีกฟากหนึ่งจะใช้สำหรับเลี้ยงลูกโคและปลูกพืชเมล็ดและพืชหมักอาหารสัตว์ 


          อาคาร ๑๙๖๒ ซึ่งเป็นคอกโคแห่งแรกนี้บรรจุโคนมได้ราว ๑๖๐ ตัว มีลักษณะเป็นแถวเพื่อรีดนมวัวในคอกและใช้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และกสิกรไทย ซึ่งสะดวกต่อการรีดนมด้วยมือ” 

 


          ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวถึงอาชีพพระราชทานในยุคแรกว่า 


          “นอกจากเงินลงทุนสนับสนุนแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการคือ การบริหารจัดการฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คที่มีชาวเดนมาร์คมาบริหารงานเป็นหลัก โดยมี มร.นิลส์ กุรราร์ ซอนเดอร์กอรด์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก โดยสมาคมเกษตรกรและรัฐบาลเดนมาร์คให้เงินช่วยเหลือให้กับโครงการประมาณ ๑๓ ล้านบาท (๔.๓๓ ล้านโครนเนอร์)"  

          ทั้งนี้ ตามคำบอกเล่าของ ดร.ยอด วัฒนสินธุ์ อดีตผู้อำนวยการ อ.ส.ค. คนไทยคนแรกได้กล่าวถึงการเริ่มโครงการฯ ไว้ว่า 


          “เดนมาร์คได้เสนอเงื่อนไขให้ผู้อำนวยการมีอำนาจเต็มในการใช้เงินและการดำเนินการ พร้อมกับขอเลือกคณะเจ้าหน้าที่ที่จะมาร่วมงานเอง ซึ่งรัฐบาลไทยยอมตกลง และทางเดนมาร์คอยากให้รัฐบาลไทยร่วมลงทุนด้วย ๒๐-๒๕% เพื่อจะได้ให้ความสนใจกับโครงการนี้อย่างจริงจัง 


          แต่จากรายงานความเห็นของหน่วยงานราชการหน่วยงานหนึ่งในยุคนั้นที่สรุปว่า การเลี้ยงโคนมในประเทศไทยเป็นเรื่องเพ้อฝัน ไม่มีทางทำได้ในเขตร้อนและถึงจะทำได้ก็ไม่คุ้มทุน ทางที่ดีคือปลูกข้าวให้ได้มากและเอาเงินไปซื้อนมกิน เมื่อทางเดนมาร์คอ่านรายงานจบก็บอกว่า รัฐบาลไทยคงไม่เอาด้วยแน่จึงออกเงินลงทุนเองทั้งหมด ….”


สู่การเป็นรัฐวิสาหกิจ

          หลังการบริหารจัดการฟาร์มโคนมโดยชาวเดนมาร์คประมาณ ๘-๙ ปีก็ได้เปลี่ยนการบริหารโดยคนไทยและรัฐบาลเดนมาร์คก็ได้ยกฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค ให้กับรัฐบาลไทยเป็น องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ปี ๒๕๑๔ โดยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ การดำเนินการโดย อ.ส.ค. นั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่านทรงมีพระปณิธานที่จะให้เกษตรกรโคนมเป็นอาชีพที่มั่นคงยั่งยืนและทรงต้องการให้คนไทยมีอาหารนมบริโภคได้ก็กลายเป็นกฤษฎีกาจัดตั้ง ซึ่งก็มี ๒-๓ วัตถุประสงค์ ที่อ.ส.ค.สืบสานภารกิจจากฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คมาจนถึงปัจจุบัน

 


เศรษฐกิจพอเพียง

          “สำหรับแนวคิด ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ที่หมายถึงการรู้จักกิน รู้จักใช้อย่างพอประมาณ การเดินสายกลางและการทำอะไรอย่างมีองค์ความรู้ ต้องบอกเลยว่า การเลี้ยงโคนมนั้นต้องใช้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะการเลี้ยงโคนมนั้นกสิกรไทยจะต้องผ่านการฝึกอบรม ต้องเป็นคนที่มีความรู้ก่อนจึงจะประกอบอาชีพได้ ซึ่งเป็นหลักการที่พระองค์ท่านทรงเน้นย้ำว่า ทำอะไรให้รู้ในสิ่งนั้นอย่างแท้จริง เพื่อที่จะสามารถทำได้ ต้องซื่อสัตย์และเดินสายกลาง ซึ่งอาชีพการเลี้ยงโคนมก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คือ ต้องมีความซื่อสัตย์ มีความจริงใจต่อการประกอบอาชีพ เพราะน้ำนมที่ได้ต้องมีคุณภาพมีมาตรฐาน ไม่เติมน้ำลงไปในนม หรือไม่รีดน้ำนมส่งในช่วงที่โคยังมีนมน้ำเหลือง (Colustrum) ซึ่งจะเป็นช่วงที่โคคลอดลูกภายใน ๗ วัน ซึ่งเป็นนมที่ไม่เหมาะกับการบริโภคของคน หรือไม่รีดน้ำนมส่งกรณีที่โคมีปัญหาเต้านมอักเสบ ซึ่งจะต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ 


          ฉะนั้น กสิกรผู้เลี้ยงโคนมจึงต้องซื่อสัตย์ซื่อตรงต่ออาชีพ ต้องมีความรู้ ต้องมีการพัฒนา ส่วนส่งออกกับการผลิตจะต้องมีความสอดคล้องกันนั้นก็คือ การทำอะไรก็ตามต้องให้เหลือกินก่อนจึงค่อยนำออกไปขาย การเลี้ยงโคนมก็เหมือนกัน จะเก็บไว้บริโภคส่วนหนึ่งที่เหลือค่อยนำออกไปขาย” 


          ปัจจุบัน อาชีพการเลี้ยงโคนมของกสิกรไทยซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานก็ได้แพร่หลายไปทั่วประเทศไทย ด้วยพระกรุณาธิคุณและด้วยพระอัจฉริยภาพของ  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทำให้คนไทยได้ประกอบสัมมาอาชีวะ ขณะเดียวกัน ก็มีแหล่งอาหารที่สำคัญยิ่งและมีคุณค่าต่อบริโภคของประชาชนภายในประเทศด้วย

[อ่าน 2,834]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทำความรู้จัก “ปิ่นเพชร โกลบอล” ผู้อยู่เบื้องหลัง “ฮากุ” แบรนด์ทิชชู่เปียกของคนไทย
ดิษทัต ปันยารชุน วางรากฐาน OR เตรียมส่งไม้ต่อให้แข็งแกร่งและยั่งยืน
วีรพล สวรรค์พิทักษ์ ยุทธศาสตร์ Eminent Air สู่ทศวรรษที่ 5
บทพิสูจน์ MAZDA เพื่อก้าวสู่ การเติบโตที่ยั่งยืน
ซีเล็คทูน่า x Sesame Street ครั้งแรกของโลก เมื่อก๊วนเพื่อนแสนซน แห่งถนนเซซามี่ มาอยู่บน ทูน่ากระป๋อง
เปิดใจ ‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ ทำอย่างไร ให้ร้านอาหารในเครือ ‘บิสโตร เอเชีย’ สามารถเข้าถึงโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ได้
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved