งานออกแบบเครื่องประดับ มูลค่าเพิ่มที่สร้างจากแรงบันดาลใจ
08 May 2020

 

เทรนด์ต่างๆ ที่นำเสนอแก่ผู้บริโภคนั้นมีหลากหลายและมากมายราวกับคลื่นแต่ละลูกที่ติดตามมากระทบฝั่งอยู่ตลอดเวลา แม้ว่านวัตกรรมเทคโนโลยีจะเป็นกระแสหลักที่ผู้คนให้ความสนใจในทุกมิติ ทุกวงการ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดจนกลืนกิน (Disruption) นวัตกรรมเดิมๆ หลากหลายธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนและปรับตัวขนานใหญ่ รวมทั้งธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับก็เช่นกัน ซึ่งต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับศาสตร์ (Science)ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และยังต้องใช้ ศิลป์ (Arts) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์อีกด้วย

 

 

ศิลปะกับอัญมณีและเครื่องประดับ

มีการสำรวจพบว่า การออกแบบสินค้า เป็นปัจจัยที่ถูกคำนึงถึงมากที่สุดสำหรับคนรุ่น Millennials ซึ่งคนกลุ่มนี้คือ ผู้บริโภคหลักในตลาด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือของแต่งบ้าน การออกแบบจึงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งไม่อาจมองข้าม ในปี 2019 มีการจัดอันดับแบรนด์เครื่องประดับที่ออกแบบเป็นที่นิยมมากที่สุด 15 อันดับไว้ดังนี้

 

 

กระแสการเล่าเรื่องราวของเครื่องประดับแต่ละชิ้น การค้นหาประวัติความเป็นมา การเชื่อมโยงกับธรรรมชาติและสัตว์ วัฒนธรรม ประเพณี เหล่านี้เป็นคลื่นกระแสหลักที่ก้าวเข้ามาพร้อมๆ กับลักษณะการบริโภคสินค้า และบริการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมีความโดดเด่นแตกต่างจากสินค้า และบริการทั่วไปของกลุ่ม Millennial แนวคิดต่างๆ ทางศิลปะผ่านแต่ละชิ้นงานจึงมีความสำคัญในการดึงดูดใจผู้บริโภค พวกเขามีไอเดียเกิดขึ้นที่ไหนและแรงบันดาลใจเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง ติดตามได้จากตัวอย่างต่อไปนี้

 

David Yurman

David Yurman ตำนานที่ยังมีชีวิต ผู้เป็นต้นแบบแห่งแรงบันดาลใจไร้กาลเวลา ผ่านการใช้นวัตกรรมและงานฝีมือที่เชี่ยวชาญด้วยการสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน กระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์เครื่องประดับและนาฬิกาชั้นแนวหน้าของโลกซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว David Yurman สร้างมาตรฐานให้ลูกค้าหลายกลุ่มสามารถเข้าถึงเครื่องประดับหรูหรา ดังเช่นสร้อยข้อมือที่มีช่วงราคาตั้งแต่ 750 ดอลลาร์สหรัฐจนถึง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่างกันที่ประเภทของหินและอัญมณีมีค่าที่ตกแต่งบนตัวเรือนแต่ใช้วัสดุมีคุณภาพเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ เอกลักษณ์ของแบรนด์ David Yurman ที่เรามักพบเห็นได้ คือ มีลักษณะเป็นเส้นลวดเล็กๆ ถักเชื่อมกันเป็นเกลียว แรงบันดาลใจนี้มาจากเมื่อวัยเด็ก เขาชอบเข้าไปเล่นในป่าซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ห้อยระย้าด้วยเถาวัลย์ที่พันกันเป็นเกลียว ผลงานของเขาจึงเสมือนเป็นการเชื่อมโยงโลกยุคดั้งเดิมเข้ากับโลกยุคปัจจุบัน

 

ลักษณะเครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์ของ David Yurman รูปจาก https://brombergs.com

 

Hajime Ando

ชาวอาทิตย์อุทัยผู้ซึ่งหลงใหลในวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมแบบโรมันในอิตาลี นำเอาศิลปะแบบโรมัน สถาปัตยกรรม ลวดลายตามท้องถนน มาผสมผสานเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเครื่องประดับ ด้วยความใส่ใจในรายละเอียดของเขานำมาซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานอย่างพิถีพิถันอันทรงคุณค่าน่าชื่นชม ด้วยพัฒนาการที่โดดเด่นเขาจึงก้าวขึ้นมาเป็น 1 ใน 7 นักออกแบบของแบรนด์ชั้นนำ BVLGARI ในกรุงโรม  

 

หลังจากทำงานกับแบรนด์ BVLGARI มานานนับ 10 ปี ปัจจุบัน เขาเลือกประเทศไทยเป็นที่ค้นหาแรงบันดาลใจในการออกแบบและวางแผนจะสร้างแบรนด์ใหม่ในไทยและทำให้ made in Thailand เป็นแบรนด์ที่รู้จักในระดับโลกโดยให้คำแนะนำสำหรับผู้สนใจต้องการเป็นดีไซน์เนอร์เครื่องประดับว่าต้องไม่ละทิ้งสิ่งต่างๆ ที่พบเจอ ต้องทุ่มเทเวลาและใส่ใจเพื่อเข้าใจถึงแก่นและเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่ได้พบเจอ โอกาสต่างๆ ถึงเกิดขึ้นได้

 

Nisan Ongwuthitham

คุณนิสันต์ องค์วุฒิธรรม ผู้ก่อตั้งและเจ้าของแบรนด์เครื่องประดับที่รู้จักกันในชื่อ NISAN ONG แบรนด์ไทยที่ก้าวไปเป็นที่รู้จักในระดับโลก ความหลงใหลและความรักในการออกแบบต้องการให้งานปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม จึงนำเขามาสู่วงการอัญมณีและเครื่องประดับในที่สุด งานออกแบบของเขาได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์สำคัญ สัญลักษณ์ต่างๆ ที่มีในวัฒนธรรมไทยตลอดจนความเชื่อความศรัทธา และธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์ป่าและดอกไม้ที่เขานิยมใช้ในการออกแบบเป็นพิเศษ ซึ่งเขาเปรียบสองสิ่งนี้เป็นหยินกับหยาง งานเครื่องประดับทุกชิ้นของเขาทำด้วยมืออย่างตั้งใจเพื่อเป็นงานชิ้นพิเศษตามที่ลูกค้าต้องการ โดยราคาเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 5,000-10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้น

 

รูปจาก http://www.nisanong.com

 

คุณนิสันต์ได้ฝากถึงผู้ที่จะเข้ามาในวงการอัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านการสัมภาษณ์ของนิตยสาร JNA ว่า งานที่เขาทำไม่ใช่แค่การทำธุรกิจ แต่เป็นความหลงใหลที่มีมาอย่างยาวนานตลอดชั่วชีวิต สิ่งนี้เป็นเหมือนหลักปรัชญาต่ออาชีพที่ส่งต่อไปยังงานทุกๆ ชิ้นที่ผลิตขึ้น การให้ความสำคัญแต่ด้านธุรกิจเพียงอย่างเดียวจะทำให้หลงทางได้ แต่ละผลงานที่ออกมาไม่ใช่เพื่อเงินแต่ผลิตออกมาจากความรักและการอุทิศตัวให้แต่ละชิ้นงาน ด้วยการเลือกที่จะทำตามสัญชาตญาณมากกว่าการตามกระแส

 

การออกแบบนอกจากจะเป็นการสร้างสรรค์ผลงานจากแรงบันดาลใจที่เป็นนามธรรมให้ออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว ยังเป็นปัจจัยที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มมูลค่าสินค้า แม้ว่าการแข่งขันด้านราคาจะทวีความรุนแรงขึ้น แต่แบรนด์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับต่างไม่ยอมพาตัวเองเข้าสู่สงครามการตัดราคา แต่เลือกการออกแบบผลงานใหม่ๆ ผ่านดีไซน์เนอร์ เพราะสิ่งนี้เป็นทางที่ผู้ประกอบการควรเลือกเพื่อดึงดูดลูกค้ารายใหม่ๆรวมทั้งเป็นการโน้มน้าวใจลูกค้าเดิมให้มีความภักดีต่อแบรนด์อย่างต่อเนื่องได้ดีกว่าการตัดราคาซึ่งไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มใดๆ และเป็นการลดความน่าสนใจต่ออัญมณีและเครื่องประดับในระยะยาวด้วย  

 

 


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

[อ่าน 2,835]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘Digital Art Toy’ ภาคต่อที่เพิ่มมูลค่าให้กับ ‘ของเล่นศิลปะ’
พบความเชื่อมโยง แพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก
กับเหตุสังหารหมู่โลมา เมืองไทจิ ประเทศญี่ปุ่น
ทำไม 'รถยนต์​ไฟฟ้า' ของ Apple ถึงไปไม่ถึง 'ฝัน'
ทำความเข้าใจการขึ้นราคากระเป๋า Chanel ล่าสุดปี 2024 และตลาดขายต่อ
"ยูนิลีเวอร์" วางแผนแยกธุรกิจไอศกรีม ส่งผลให้พนักงาน 7,500 ราย ถูกเลิกจ้าง
"ฝรั่งเศส" เจ้าภาพโอลิมปิก 2024 เผยโฉมชุดนักกีฬาทีมชาติ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved