CEO ROUND-UP
14 May 2020

 

ช่วงนี้พื้นที่ข่าวถูกไวรัสโควิด-19 แย่งพื้นที่ไปหมด โฟกัสของผู้คนนอกจากต้องระแวงกับเชื้อโรคแล้วก็ยังต้องระแวงอีกว่าจะปิดเมือง ปิดประเทศ เคอร์ฟิวกันนานหรือไม่ วิกฤตินี้จะยาวนานแค่ไหน ที่สำคัญ เราจะอยู่รอดกันอย่างไรนั้น มุมมองทางรอดของประเทศไทยจากปูชนียบุคคลของประเทศไทยอย่าง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนาและรองประธานกรรมการ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย และ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตาม

แต่อย่างไรก็ตามท่ามกลางกระแสข่าววิกฤติ COVID-19 ที่เบียดพื้นที่ข่าวความเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงหรือแม่ทัพในองค์กรใหญ่ๆ ไปนั้น MarketPlus ได้รวบรวมความเปลี่ยนแปลงในแวดวงผู้บริหารระดับสูงขององค์กรใหญ่ในครั้งนี้ที่มีทั้งการเปลี่ยนแปลงตามวาระ, การเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเหตุสุดวิสัยฯลฯ ล่าสุดที่ฮือฮาก็ต้องยกให้กับค่ายกสิกรไทยที่ปล่อยให้สองสาวแกร่ง 'กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร' ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย และ 'ขัตติยา อินทรวิชัย' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ก่อน บัณฑูร ล่ำซำ จะมาไลฟ์สดแบบเดี่ยวไมโครโฟนในวันต่อมาถึงการอำลาจากตำแหน่งประมุขของกสิกรไทย ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เพื่อทำงานบนความท้าทายใหม่ๆ

นอกจากนี้ ก็มีการเปลี่ยนตัวแม่ทัพอย่างค่ายบุญรอดฯ ที่มีการแต่งตั้ง จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ขึ้นเป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่และแต่งตั้ง สันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ขึ้นเป็น ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด,ตามด้วยข่าวเซอร์ไพรส์ที่เล่นเอางงเมื่อมีการคอนเฟิร์มว่า ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต โบกมือลาจาก ‘พฤกษา’ จริง และ อริยะ พนมยงค์ ที่บ๊ายบายกลุ่มช่อง 3 มีผล 20 มิ.ย.นี้ ตามหลัง ประชุม มาลีนนท์ ซีอีโอช่อง 3 ที่เคยชักชวนเขามาร่วมงาน โดยประชุมลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลสุขภาพทำให้ต้องจับตามองกันว่า ช่อง 3 จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่สำหรับที่ เอปสัน ถือเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับผู้บริหารไทย เมื่อมีการแต่งตั้ง ยรรยง มุนีมงคลทรลูกหม้อเอปสันขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นคนไทยคนแรกที่ขึ้นตำแหน่งนี้

 

ขณะเดียวกัน ปี 2020 นี้ก็ต้องไว้อาลัย อนันต์ กาณจนพาสน์ บิ๊กอสังหาฯ เลือดนักสู้ เจ้าของเมืองทองธานี ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายวิกฤติและมรณกรรมด้วยโรคชรา กับอีกรายคือ พากพูม วัลลิสุต ประธานกรรมการ บริษัท เดอะ ควอนท์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งทำหน้าที่เมคดีลการซื้อกิจการเทสโก้ในประเทศไทยและมาเลเซียให้กลุ่มซีพี อีกทั้งยังเป็นที่ปรึกษาการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ถึงแก่กรรมจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19

 

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

‘ไทยผ่านพ้นวิกฤติทุกครั้งได้อย่างไร’

ประเทศไทยเผชิญวิกฤติมาแล้วหลายครั้ง ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติทางการเมือง และล่าสุด วิกฤติ COVID-19 ที่ถือเป็น Sudden Shock จนเกิดวิกฤติลุกลามไปทั่วโลกนั้น กล่าวได้ว่า ประเทศไทยผ่านวิกฤติต่างๆ ได้ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมและแนวทางที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานให้กับคนไทยครั้งแล้วครั้งเล่าโดยแท้

ล่าสุด ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา รองประธานกรรมการ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย ได้กล่าวถึงการผ่านพ้น ทุกวิกฤติของคนไทยว่า เราผ่านแต่ละครั้งไปได้ด้วยคำเพียงสามคำ 'รู้ - รัก - สามัคคี'

"พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เคยรับสั่งกับผมครั้งหนึ่งว่ารู้หรือไม่ว่า ทำไมประเทศไทยถึงไม่ล่มจม และอยู่รอดปลอดภัยมาได้ทุกวันนี้ แล้วพระองค์ก็ได้พระราชทานคำตอบมาด้วยพระองค์เองว่า เพราะคนไทยเรายังให้กันอยู่ จริงๆ ก็น่าชื่นใจ เพราะว่าพอประกาศกองทุนขึ้นไปทั้งบริษัท ห้างร้าน องค์กร หรือแม้กระทั่งเด็กเล็กๆ ไปประชุมกันด้วยว่าจะเรี่ยไรที่ไหนดี แล้วสรุปว่ามาเลยที่มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นต้น

 

เราก็พยายามให้ความปลอดภัยกับบุคลากรทางด้านสาธารณสุขอย่างมากที่สุด

ขณะเดียวกัน เราเองก็มีนโยบายและสนับสนุนความคิด นวัตกรรมของคนไทยเราด้วย แล้วก็ทำการแจกไปตามกลุ่มโรงพยาบาลต่างๆ ที่ต้องการ

            ประชาชนคนไทยมีจุดเด่นอยู่อย่าง คือ เราให้กัน

            จิตสำนึกอันนี้เป็นคุณสมบัติของคนไทย

            เพียงแต่ขอให้เราสามัคคีกัน.

            'รู้ - รัก - สามัคคี'

            'รู้' ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าเหตุเป็นอะไร รู้ว่าวิธีการแก้ไขจะต้องทำตรงไหน

            รู้เสร็จแล้วต้องมี 'ความรัก' ด้วย เพราะถ้าไม่มีความรัก เราก็ไม่มีความรับผิดชอบ

            และพร้อมเพรียงกันอย่าง 'สามัคคี'

            ถ้ามีสามคำอยู่ในใจแล้วปฏิบัติ เท่าไรๆ เราก็ชนะ”

            รู้ - รัก - สามัคคี

            'รู้' ว่า เหตุและวิธีการแก้ไข

            'รัก' นำไปสู่ ‘การปฏิบัติ’

            และพร้อมเพรียงกันอย่าง ‘สามัคคี'

 

เจ้าสัวธนินท์’ ส่ง จม. เสนอ ‘ลุงตู่’ 

เสนอ 5 ยุทธศาสตร์เดินหน้าประเทศไทย

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศไทยและอันดับ 75 ของโลก จากการจัดอันดับของ นิตยสารฟอร์บ ปี 2020 ส่งจดหมายตอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์โดยสรุป ที่น่าสนใจ ดังนี้

รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ สนับสนุน เร่งกระตุ้นภาคเอกชนให้ปรับปรุงการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ ภายใต้ ‘สภาวะปกติใหม่’ (The New Normal) ที่จะมีรูปแบบความต้องการสินค้าและบริการและการตอบสนองเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหลังปัญหาโควิด-19 ยุติลง  การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงทำให้การดำรงชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป แต่จะเปลี่ยนภาพเศรษฐกิจและธุรกิจในเกือบทุกด้านรวมถึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่รวดเร็วขึ้น

ภาครัฐควรเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1: ควบคุม ป้องกันและรักษา โดยการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัล ของประชากรทุกคน และทุกนิติบุคคลในประเทศ เพื่อให้การบริหารเหตุการณ์ มีข้อมูลในทุกมิติ อาทิ  สุขภาพ การเงิน การหาความรู้ การจ้างงาน ภายใต้การดูแลเรื่องความปลอดภัยข้อมูลและมีข้อมูลสนับสนุนความช่วยเหลือครอบคลุมคนไทยทุกกลุ่ม ภายใต้ความปลอดภัยข้อมูลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนการจัดทำระบบแสดงผลตามพื้นที่ Heat Map และระบบการบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือที่โปร่งใส Digital Donation Platform เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริจาคสนับสนุนทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมทั้งมีการรวบรวมความต้องการการช่วยเหลือของโรงพยาบาลต่างๆ ไว้ในที่เดียว
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ความต่อเนื่องของธุรกิจ รัฐบาลควรเร่งปลดล็อคอุปสรรคในการทำธุรกิจ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ต่อเนื่อง อาทิ การแก้กฎหมายเพื่อรองรับ การจัดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Gov), Digital ID  ที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน, ระบบยืนยันตัวตนออนไลน์ (Online KYC), การลงนามอิเลคโทรนิกส์ (e-Signature), การทำสัญญาออนไลน์ (Smart Contract) เพื่อทดแทนการใช้กระดาษ และควรใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสทำให้เกิดขึ้นได้ รวมทั้งการใช้ระบบสื่อสารและโซลูชั่นที่รองรับการทำงานได้จากทุกที่ The New Normal ของการทำธุรกิจและการกลับมาเปิดตัวใหม่อีกครั้งของธุรกิจต่างๆ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การจ้างงานและพัฒนาคน รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้เป็นการเตรียมคนเพื่ออนาคต หากรัฐบาลส่งเสริมการจ้างงานชั่วคราวให้กับนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่มีงานทำในระยะนี้มาเป็นส่วนเสริมในการเปลี่ยนแปลงประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การสร้างผู้ช่วยด้านดิจิทัลให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศ  หรือนำเด็กจบใหม่ที่มีความสามารถด้าน ICT ไปช่วยพัฒนาการศึกษาออนไลน์ ยุทธศาสตร์นี้เน้นการสร้างความรู้ทางดิจิทัล และสมรรถนะทางเทคโนโลยีให้กับประชากรผ่านโครงการ Future Skilling เพื่อยกระดับทักษะของคนไทยทั้งประเทศ ในกลุ่มคนว่างงาน หากภาครัฐให้เงินสนับสนุนเพื่อการเรียนรู้งานแห่งอนาคต รวมทั้งการจัดทำแพลตฟอร์มในการหางาน และบริษัทที่ต้องการจ้างงานที่ใช้ Skill ใหม่ และเสนอให้รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 80% เพื่อรักษาสถานภาพพนักงานที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักพร้อมกับ Re-Skill พนักงาน โดยไม่ปลดออก แต่ต้องสร้างทักษะใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ความมั่นใจในตลาดทุน รัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน ตลาดการค้า และการลงทุน เพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง อาทิ เช่น สตาร์ทอัพ ธุรกิจ SMEที่อาจขาดสภาพคล่องในการระดมทุน มีการจัดตั้งและกระตุ้นกองทุนต่างๆให้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว เพื่อสนับสนุนรายได้ที่ขาดช่วง การขาดกระแสเงินสด และการรักษาพนักงาน ทั้งนี้ เนื่องจากในภาวะวิกฤติเช่นปัจจุบันการระดมทุนเต็มไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพที่ดี และมีอนาคต แต่ประสบปัญหาการขาดกระแสเงินสดเป็นต้น
  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 : เศรษฐกิจใหม่ หรือ Economic Reform นอกจากการวางแผนระยะสั้น ควรลงทุนเพื่ออนาคต เตรียมรองรับเศรษฐกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤติ ได้แก่ เกษตรกรอัจฉริยะ และ การทำ e-Commerce  รวมถึงการวางแผนพื้นที่การเพาะปลูก การพัฒนาระบบชลประทานให้พื้นที่การเกษตรเข้าถึงน้ำ 100% การป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่จะดึงดูดบุคลากร ผู้มีความรู้ และนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลก การออกแบบเมืองที่มีความปลอดภัย ปลอดเชื้อ การป้องกันด้านสาธารณสุข (Preventive Healthcare) การท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เน้นสุขภาพ จนถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เป็นต้น

 

'ประเสริฐ' โบกมือลา ‘พฤกษา'

ข่าว ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต โบกมือลาจาก 'พฤกษา' ที่ Prop2morrow.com นำเสนอเป็นสกู๊ปพิเศษเพียงสำนักเดียวนั้นสร้างความงงงันว่าเกิดอะไรขึ้นกับชายผู้นี้ที่ก่อนอำลาตำแหน่ง เขาก็เป็นผู้ที่มีส่วนปลุกปั้นให้พฤกษายิ่งใหญ่และก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของวงการอสังหาฯ ล้มแชมป์แลนด์แอนด์เฮ้าส์และค่ายอื่นๆ

15 ปีที่เขาอยู่กับองค์กรแห่งนี้นับแต่ปี 2548 ที่อำลาจาก บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ เพื่อมารับตำแหน่งกรรมการ/ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและพัฒนาธุรกิจที่พฤกษา ประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาฯกว่า 27 ปีและการมองขาดของประเสริฐทำให้เขาได้รับการยอมรับจากวงการอย่างไม่ต้องสงสัย

 

Prop2morrow.com กล่าว ณ วันที่ข่าวนี้ยังไม่คอนเฟิร์มว่า การออกจาก ‘พฤกษา’ ของ  ‘คุณเล็ก-ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต’ แม้จะยังไม่ได้ยินหรือมีการชี้แจงแถลงไขว่ามีเหตุอันใดที่ต้องออก ตามที่กระแสข่าวเกี่ยวกับ ‘ที่ดินแปลงงามย่านทองหล่อ’ ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ‘คุณเล็ก-ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต’ น่าจะยุติบทบาทผู้บริหารค่าย ‘พฤกษา’ในสิ้นเดือนมีนาคม 2563 หรือพูดตรงๆ นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไปนั่นเอง ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่โครงสร้างใหม่ล่าสุดของ ‘พฤกษา’ มีผล ดังนี้

 

1) เปลี่ยนชื่อ Pruksa Real Estate-Value (PSV) เป็น Pruksa Real Estate-SDA & Condo (PSSC)

2) โอนย้ายกลุ่มงาน MDPHR Premium High Rise ไปสังกัด Pruksa Real Estate-SDA & Condo (PSSC) โดยรายงานตรงต่อ นายปิยะ ประยงค์ ตำแหน่ง CEO- Pruksa Real Estate-SDA & Condo (PSSC)

3) โอนย้ายสายงาน LAQ Land Acquisition ไปสังกัด Pruksa Real Estate-Townhouse โดยรายงานตรงต่อ นายธีรเดช เกิดสำอางค์ตำแหน่ง CEO- Pruksa Real Estate-Townhouse

4) โอนย้ายสายงาน LAP Land Application ไปสังกัด Pruksa Real Estate-Townhouse โดยรายงานตรงต่อ นายธีรเดช เกิดสำอางค์ตำแหน่ง CEO- Pruksa Real Estate-Townhouse

 

อย่างไรก็ตาม ต่อมา สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง ก็ได้ยืนยันถึงการลาออกของ  ประเสริฐ ว่าเป็นความจริง ด้วยเหตุผลส่วนตัว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป

 

เคแบงก์ในมือสองหญิงแกร่ง

การวางหมากเพื่อวางตัวผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกสิกรไทย ตามที่ บัณฑูร ล่ำซำ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน หากแต่ได้วางหมากไว้เป็นเวลานานและเป็นไปตามเป้าหมายทุกประการ จนบัณฑูรออกปากว่า การอำลาจากตำแหน่งครั้งนี้เขาไม่ได้มีห่วงหรือกังวลแต่ประการใด

สำหรับ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร การเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ของเธอ แม้สังคมทั่วไปจะรู้จักเธอในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่สำหรับงานแบงก์แล้วเธอเคยเข้ามาเป็นกรรมการอิสระ ในปี 2554 ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อพ้นจากตำแหน่งได้กลับมาร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยอีกครั้งเดือนเมษายน 2561ในฐานะของรองประธานกรรมการและประธานกรรมการอิสระ ก่อนmจะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานกรรมการ

ขณะที่ ขัตติยา ถือเป็นลูกหม้อที่ได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นเป็นซีอีโอ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องโชคช่วย แต่ด้วยความสามารถหลายๆ ด้านของเธอทั้งงานบริหารและสายงานการเงิน สินเชื่อ ยุทธศาสตร์องค์กรการตลาด เทคโนโลยีทรัพยากรบุคคล ซึ่งผ่านภาวะวิกฤติมาแล้วหลายระลอก นับแต่ยุค Re-Engineering ของธนาคารกสิกรไทยในปี 2553, วิกฤติการเงินปี 2540 และ K-Transformation ปี 2550

ในฐานะประธานกรรมการ กอบกาญจน์ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของคณะกรรมการว่า มีหน้าที่กำหนดนโยบาย และกำกับดูแล เพื่อให้ธนาคารดำเนินการให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและบริหารความเสี่ยงให้พอเหมาะ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ให้ข้อคิดเห็นกับแผนปฏิบัติที่เสนอมา, เสนอกลยุทธ์ติดตามดูแลผลงาน และการปฏิบัติการของธนาคารให้เป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ให้มีประสิทธิภาพ ดูแลให้การดำเนินธุรกิจต่อเนื่องในระยะยาว และที่สำคัญ ต้องดูแลแผนพัฒนาพนักงานและแผนสืบทอดตำแหน่งของผู้บริหาร (succession plan) ด้วย แต่ทั้งนี้ ระหว่างการทำงานของคณะกรรมการกับฝ่ายจัดการ แม้จะต้องทำงานร่วมกัน แต่ก็ต้องมีอิสระต่อกัน

กสิกรไทยในยุคนี้ถือเป็นยุคที่สตรีเข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงมากที่สุด ในอุตสาหกรรมแบงก์ไทยตอนนี้ โดยในบอร์ดของธนาคาร มีผู้หญิง 7 คน จาก 17 คน หรือ 41% และยุคนี้เป็นยุคของความเป็นมืออาชีพ เนื่องจากกสิกรไทยมีกรรมการอิสระถึง 9 คน มากกว่าครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ

ความสามารถของกอบกาญจน์นั้นไม่เป็นที่กังขา เพราะผ่านงานอย่างมากทั้งในธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างโตชิบา งานภาครัฐในฐานะรมว.กระทรวงท่องเที่ยวฯ และงานสายแบงก์ที่เธออยู่กับธนาคารกสิกรไทยมานาน หลักการทำงานที่สำคัญที่เธอถือปฏิบัติมานาน เกือบ 40 ปี คือ 1) สร้างคน สร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้กล้าคิดนอกกรอบกล้าทำ 2) ทำให้คนเก่งทำงานด้วยกันได้ โดยต้องมีใจและเป้าหมายเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปตามเป้าหมาย 3) ในฐานะผู้นำเราต้องเข้มแข็ง ต้องมีสติ ต้องมีวินัย มีความนึกคิดในการตัดสินใจตั้งมั่นในการทำงานบนความถูกต้อง ความเสมอภาค ทำให้เราเติบโตได้อย่างมั่นคงต่อไป

"เราต้องเก่งคน  ‘การเก่งคน’ เป็นสิ่งที่ยากที่สุด ทรัพยากรคนมีคุณค่ามากกว่าเงินที่เรามี มากกว่าเทคโนโลยี มากกว่าเครื่องจักรที่เรามี ทำอย่างไรที่เราจะสามารถครองใจคนของเรา เพื่อที่ให้เขาทุ่มเทชีวิตของเขาทำงานไปกับเราเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย"

 

ขณะที่ ขัตติยา ซีอีโอคนใหม่มีฐานความเชื่อว่า สิ่งที่ได้มาวันนี้ไม่ได้มาจากโชคช่วย หากแต่จะได้มาต่อเมื่อตนเป็นที่พึ่งของตนและฉายแววให้ได้ เพราะ "ทุกอย่างเราต้องมีการเตรียมพร้อม เราต้องเสริมสร้างพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เมื่อมีโอกาสเข้ามา เมื่อผสมผสานกับความพร้อมของเราบวกกับโอกาสก็จะสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ดีๆ ได้" โดยเฉพาะหลักการ Learn - Unlearn - Relearn นั่นคือการเรียนรู้ ลืมสิ่งที่เรียนรู้และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เนื่องจากการเรียนรู้อยู่เสมอนั้นจะช่วยพัฒนาทักษะใหม่ๆ ซึ่งเธอเองก็ยังเรียนเกี่ยวกับ design thinking ผ่านระบบออนไลน์ และเรียนภาษาจีน เพื่อรองรับการเป็นธนาคารในภูมิภาค

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 5% หากสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ภายในไตรมาส 2 แต่ยังมีปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ การลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัว 3% แต่รัฐต้องเร่งผลักดันการลงทุนออกมาในปีนี้ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนบอบช้ำพอสมควรน่าจะติดลบ 5% เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภค อย่างมีนัยสำคัญ

"เราต้องเชื่อมั่นในประเทศไทย เชื่อมั่นรัฐบาล เชื่อมั่นสาธารณสุขไทย เราทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในกติกาที่รัฐบาล ราชการออกมา และองค์กรที่เราสังกัดอยู่ เพื่อให้สถานการณ์จบโดยเร็ว

ขณะเดียวกันธนาคารกสิกรไทยจะเร่งช่วยเหลือลูกค้า พร้อมทั้งมาตรการหนุนทางเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อลดทอนผลกระทบทางธุรกิจภายในประเทศในฐานะประธานกรรมการได้ประเมินฝ่ายบริหารพื้นฐานศักยภาพของธนาคารแล้ว ยังมั่นใจว่าเรายังคงแข็งแกร่ง และมั่นใจว่า เราจะยังคงความแข็งแกร่งและยังเชื่อมั่นฝ่ายจัดการว่า จะบริหารจัดการให้ก้าวพ้นโจทย์วิกฤติโควิด-19 ไปพร้อมๆ กับการสร้างความแข็งแกร่ง เพื่อรองรับการดิสรัปชั่นและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นอนาคตได้”

ขณะที่ขัตติยากล่าวว่า เป้าหมายของกสิกรไทยยังคงเดิม นั่นคือ Empower Every Customer’s Life and Business เพิ่มอำนาจให้กับทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า ซึ่งธนาคารได้ประกาศ 8 เส้นทางสู่การยกระดับองค์กร หรือ 8 Transformation Journeys ไว้ก่อนหน้านี้โดยร่วมกันจัดทำกับทีมผู้บริหารหลังจากวิกฤตินี้ แต่จะทำให้สำเร็จให้เร็วขึ้น ด้วยอัตราเร่งที่เติบโตได้มากขึ้น ทำด้วยต้นทุนที่ถูกลงอย่างมากเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการของธนาคาร โดยแบ่งทีมงานเป็นสองทีม เพื่อจัดการกับโจทย์ในปัจจุบัน ขณะที่อีกทีมจัดการกับโจทย์ในอนาคตเพื่อให้พร้อมวิ่งได้ทันทีหลังพ้นวิกฤติ

 

‘บุญรอด’ เปลี่ยนแม่ทัพเป็น ‘จุตินันท์’

ระหว่างที่ข่าวโควิดกลบพื้นที่ข่าวจนสิ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัดโดยมี วุฒา ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ ในฐานะประธานในที่ประชุม มีมติแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง 2 ตำแหน่ง ได้แก่ จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ขึ้นเป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่ และสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ขึ้นเป็น ประธานกรรมการบริหารบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด

การเปลี่ยนแม่ทัพในเจเนอเรชั่นที่ 3 ของตระกูลครั้งนี้ย่อมเป็นที่จับตา ในเมื่อมีการเปลี่ยน สันติ ที่นั่งตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่มาตั้งแต่ปี 2542 และเป็นบุตรชายของ ประจวบ ภิรมย์ภักดี มาเป็นจุตินันท์ บุตรชายของ จำนงค์ - คุณหญิง สุภัจฉรี ภิรมย์ภักดี ที่สำคัญ สันตินั้นเป็นบิดาของ ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด

ทั้งนี้ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 มีนาคม 2563 ตั้งข้อสังเกตว่า "การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในเชิงการบริหารงานถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะนี่คือเปลี่ยน 'แม่ทัพ' คนสำคัญขององค์กร เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กรเก่าแก่กว่า 8 ทศวรรษ (87ปี) มีรายได้ 'แสนล้านบาท' และเดินธุรกิจ 'เบียร์' เป็นพระเอกทำเงินให้สูงสุด แต่ปัจจุบันได้ขยายอาณาจักรสู่ธุรกิจใหม่ๆ สร้างการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจนอน-แอลกอฮอล์(อาหาร ขนมขบเคี้ยว น้ำดื่ม โซดา ฯลฯ) อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น"

อย่างไรก็ตาม เมื่ออ้างอิงจากรายงานของ กรุงเทพธุรกิจ ที่สอบถามแหล่งข่าวในบริษัทบุญรอดฯ ที่ระบุว่า"การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งดังกล่าวไม่มีนัยมากนัก เพราะผู้บริหารทุกท่านยังคงทำงานปกติในหน้าที่เดิม แต่ที่เพิ่มมาคือ ตำแหน่งใหม่ โดย 'สันติ' จะขึ้นไปดูแลนโยบายภาพรวมธุรกิจขององค์กรทั้งหมด คุณวุฒายังคงทำงานและนั่งอยู่ในบอร์ดบริหารบริษัทต่างๆ ส่วนคุณสันติก็ทำงานเช่นเดิม นับตั้งแต่พาองค์กรฝ่าวิกฤติต่างๆ จนสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้านคุณจุตินันท์ยังรับผิดชอบดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์"

อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องจับตาว่า แนวทาง Singha Way ที่จุตินันท์ต้องการใช้เป็นดีเอ็นเอและเครื่องมือในการขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าต่อในอนาคต แล้วส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นทั้งคนในตระกูลภิรมย์ภักดี ผู้บริหารและพนักงาน 

 

            ทั้งนี้ Singha Way ประกอบด้วย

            1) กล้าหาญอย่างสิงห์ กล้าทำสิ่งที่ถูกต้องและเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนกล้าแสดงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่

            2) เราคือครอบครัวสิงห์ พนักงานทุกคนคือครอบครัวเดียวกันและพร้อมที่จะพัฒนาให้ทุกคนมีคุณภาพ เก่งขึ้นและเติบโตมากขึ้น

            3) ส่งมอบคุณภาพที่ดีที่สุด สินค้าของสิงห์จะต้องมีคุณภาพระดับพรีเมียมและต้องทำให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

            4) เชื่อเรื่องความสุข การสร้างให้พนักงานมีความสุขและเจอโอกาสที่ดีที่สุดทั้งการทำงานและชีวิตส่วนตัว

 


บทความต่อเนื่องติดตามอ่านในนิตยสาร MarketPlus Issue 123 April-May 2020

[อ่าน 1,697]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
The Charming Business of Art Toy
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัวสู่การเติบโตยั่งยืน
Soft Power เอาจริงหรือ?
ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แนะแบรนด์เสริมกลยุทธ์
The Importance of Building ​Nation Brand
9 แนวทางการสื่อสารความยั่งยืนให้กับองค์กร Effective Sustainability Communications
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved