‘กระทิง’ เรืองโรจน์ พูนผล The Godfather of Startups
27 Dec 2016

          ‘กระทิง’ เรืองโรจน์ พูนผล ได้ชื่อว่าเป็นมือปั้นสตาร์ทอัพระดับพระกาฬ นอกจากการส่งมอบประสบการณ์ตรงของชาวซิลิคอนวัลเลย์ให้กับสตาร์ทอัพไทยแล้ว เขายังทำหน้าที่ทั้งเป็นโค้ช ด้วยการก่อตั้ง Disrupt University สถาบันปั้น Tech Startups ที่จะมีผู้จบการศึกษาถึง 1,000 คนในปี 2017 อีกทั้งยังร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพต่างๆ ถึง 23 บริษัท นับแต่ก.ค. 2015 ในฐานะที่เป็น ผู้ก่อตั้ง กองทุน 500 ตุ๊กตุ๊กส์ ที่มีเม็ดเงินเริ่มจาก 300 ล้านบาท แล้วค่อยๆ ขยับเป็น 450 ล้านบาทอย่างในปัจจุบัน

 


          ฉายา ‘เจ้าพ่อสตาร์ทอัพไทย’ ของ ‘กระทิง’  มิใช่ได้กันมาเฉยๆ หากแต่เป็นความทุ่มเทที่มีต่อการปั้นสตาร์ทอัพนับแต่ปี 2012 จนทำให้มีพัฒนาการอย่างรุดหน้าจนถึงวันนี้ที่แม้เขาเองก็ยังออกปากว่า วงการสตาร์ทอัพไทยช่วง 2 ปีหลังนี้เปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงจากปี 2012 ราวกับอยู่กันคนละประเทศ เพราะใช้เวลาเรียนแค่ 3 เดือนก็เปิดบริษัทได้เลย ซึ่งต่างกับปี 2012 ที่จะต้องสอนกันตั้งแต่วิชาความรู้พื้นฐาน  


          “ผมเชื่อว่า สตาร์ทอัพบ้านเราจะเติบโตทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งเงินทุนที่เข้ามาในไทยก็ถือเป็นสิ่งที่เราดีใจและเกินคาดจากที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2012 เล็กน้อย แต่ทั้งนี้ เราก็ยังต้องพยายามกันต่อไป เนื่องจากสตาร์ทอัพไทยโตเร็วก็จริง แต่ก็ยังเติบโตช้ากว่าศักยภาพที่ควรจะเป็นไปได้”


มองสตาร์ทอัพข้างบ้าน

          กระทิงมองว่า สตาร์ทอัพไทยวันนี้ต้องเร่งสปีดตัวเองให้ได้ เพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ก็ทิ้งโค้งไปไกลแล้ว จนกลายเป็น Top10 สตาร์ทอัพระดับโลกไปแล้ว โดยมีอินโดนีเซียและมาเลเซียตามไปติดๆ ฉะนั้น คู่แข่งขันสำหรับสตาร์ทอัพไทยนับแต่นี้จึงต้องแข่งกับเวียดนามที่เริ่มมาก่อนไทยและกำลังไต่สู่ยุค Wave ที่ 2 และมีสตาร์ทอัพที่มีมูลค่า 3 หมื่นล้านบาทไปแล้วอย่าง VNG ที่มีโมเดลธุรกิจแบบเทนเซ็นต์ (Tencent เจ้าของ WeChat, สนุกดอทคอม) ของจีน ซึ่งเริ่มจากเกม จากนั้นขยายต่อไปยังแชต, เพย์เมนต์และอื่นๆ อีกหลายอย่าง ขณะที่ไทยเพิ่งอยู่ใน Wave แรกของสตาร์ทอัพเท่านั้น 


          เมื่อมองย้อนถึงยุทธศาสตร์ประเทศกับการสนับสนุนสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นนั้น กระทิงยกตัวอย่างถึงสิงคโปร์ที่มีเตรียมความพร้อมด้วยการวิเคราะห์ถึงอุตสาหกรรมที่มีอนาคต จากนั้นก็มองว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องการทักษะแบบใดบ้าง เพื่อที่จะวางแผนแม่บทของการสร้าง Talent (คนเก่ง) เพื่อป้อนอุตสาหกรรมดังกล่าว ที่สำคัญ ทุกหน่วยงานของสิงคโปร์ค่อนข้างเข้าใจเหมือนกันหมด ประกอบกับสิงคโปร์ก็มีรัฐบาลที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ 
กระทิงสำทับด้วยตัวอย่างจากอินโดนีเซียที่ขณะนี้ได้จับมือกับกูเกิล เพื่อปั้นโปรแกรมเมอร์จำนวน 1 แสนคนในอีกสิบปีข้างหน้า พร้อมวางแผนแม่บทสำหรับแผนการดังกล่าว แน่นอนว่า นี่ย่อมสร้างอิมแพคที่สั่นสะเทือนในระดับภูมิภาค รวมทั้งไทยอย่างยากจะปฏิเสธ


          “สำหรับเราไม่ต้องพูดถึง Thailand 4.0 ว่าจะเกิดได้หรือไม่ เพราะในอนาคตเราจะต้องไปแข่งกับเมียนมาและกัมพูชาแน่ๆ ไม่ใช่ว่าดูถูก 2 ประเทศนี้ แต่ทิศทางการแข่งขันมันไปทางนั้น จริงๆ แล้วตอนนี้เราสูสีกับเวียดนาม แม้เวียดนามจะล้ำหน้าเราไปเล็กน้อยก็ตามจากการที่เริ่มก่อนเราและเงินเดือนของคนเก่งๆ ทางด้านเทคนิคที่ทั้งภาษาดีและขยันเพียง 15,000 บาทเท่านั้น ถ้าเป็นประเทศไทยก็ต้องจ้างแพงกว่านั้น แล้วเมื่อพูดถึงการศึกษา เราต้องเข้าใจว่า เราต้องใช้เวลาถึง 2 ทศวรรษจึงจะสามารถสร้างคนได้ สำหรับไทยผมว่าเราต้องมีการปฏิวัติการศึกษาอย่างถึงรากถึงโคน เพื่อสร้าง Talent เราต้องยอมรับว่าการศึกษาเปลี่ยนแปลงทุก 2.3 ปี นี่จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงว่าThailand 4.0 จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าเราไม่ปฏิวัติการศึกษากันอย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องยากๆ และใช้เวลาอย่างนี้เอกชนทำไม่ได้ ต้องยกให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐ” 

 


ปัญหาเชิงโครงสร้างอื้อ

          ปัญหาเชิงโครงสร้างที่รอภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือนั้นมีมากมาย กระทิงสะท้อนภาพตัวอย่างว่า “ปัญหาใหญ่ตอนนี้ของไทยอยู่ที่การสร้างรากแก้วในแต่ละอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน การสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และกฎหมาย อย่างในสิงคโปร์การจดทะเบียนบริษัททำได้ในวันเดียว แล้วที่สิงคโปร์ก็เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียง 15% อีกทั้งยังมีกรอบสนับสนุน Private Company (บริษัทเอกชนจำกัด) เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Note ตราสารหนี้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นกู้แปลงสภาพจากการถือหุ้นกู้ไปเป็นหุ้นสามัญตามอัตรา ราคาแปลงสภาพและเวลาที่กำหนดไว้) ขณะที่ประเทศไทยไม่มี Private Company มีแต่ Public Company (บริษัทมหาชนจำกัด) หรือไม่มี ESOP (Employee Stock Options Plan สิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด (คล้ายวอร์แรนท์) แต่ออกให้กับบริษัทหรือพนักงานของบริษัทโดยเฉพาะ) แต่ประเทศไทยจะใช้วิธีเขียนเป็นจดหมายลงนาม ซึ่งถือเป็นข้อตกลงไม่มีผลทางกฎหมาย ฉะนั้น เมื่อมีปัญหาจะฟ้องร้องกันไม่ได้”


          กระทิงกล่าวต่อไปว่า “ปัญหาที่เป็นอยู่ในขณะนี้คือ Stock Options (การให้สิทธิพนักงานซื้อหุ้นของบริษัทในราคาคงที่ ภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้) ถือเป็นปัญหาใหญ่มากของสตาร์ทอัพ เพราะพนักงานยอมทำงานหนักมากๆ แต่ได้เงินเดือนน้อยมากๆ เพื่อที่จะได้ Stock Options ซึ่งตอนนี้เราก็ได้เห็นพนักงานจากหลายๆ บริษัท อาทิ GrabTaxi ที่ร่วมงานกับบริษัทในระยะเริ่มต้นได้รับผลตอบแทนตรงนี้ระดับพันล้านบาท ถ้าพนักงานระดับต้นก็จะได้ 60-70 ล้านบาท นี่ละคือตัวอย่างของพนักงานที่ยอมทำงานเหนื่อย เพื่อให้ได้ ESOP แต่บ้านเราไม่มีกรอบกฎหมายตรงนี้หากไม่ได้ขึ้นมาจะทำอย่างไร ฉะนั้น สตาร์ทอัพที่ระดมทุนได้และไม่มีหุ้นกู้แปลงสภาพ ไม่มี ESOP ก็ต้องไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์” 

 

          นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่แม้บ้านเราจะมีกฎหมายบังคับใช้ แต่ก็ไม่ได้บังคับใช้กันอย่างจริงจัง สังเกตได้จากเทปผีซีดีเถื่อนที่ยังมีมากมายในไทย 


Talent Mobility

          เนื่องจากในประเทศไทยมี Talent ไม่เพียงพอ ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยต้องดึง Talent มาจากต่างประเทศด้วย แต่ปัญหาในทางปฏิบัติที่กระทิงสะท้อนคือ

 
          “นิตยสาร Forbes รายงานว่า เชียงใหม่ ภูเก็ตคือสวรรค์ของพวก Digital Nomad (ผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยการใช้ไอทีและใช้ชีวิตแบบเร่ร่อน) คนกลุ่มนี้จะมาท่องเที่ยวและทำงานอยู่ที่นี่เยอะมาก เพราะเมืองไทยน่าอยู่ แต่ในความเป็นจริง คนเหล่านี้ต้องวิ่งไปต่อวีซ่า 3 เดือนครั้ง ซึ่งไม่เวิร์ค เมื่อมองถึงจุดแข็งของคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในไทย (Expat) ก็จะพบว่า คนเหล่านี้สามารถที่จะอบรมคนไทยได้ในเรื่องที่คนไทยไม่มีความรู้ เพราะการแข่งขันในยุคหน้าไม่ใช่การแข่งขันในแง่ของเงินทุน แต่เป็นการแข่งขันกันที่การดึงดูด Talent แล้วอุตสาหกรรมในอนาคตที่จะเป็นเสาหลักของ Thailand 4.0 ยิ่งต้องขับเคลื่อนด้วยพนักงานที่มีองค์ความรู้ (Knowledge Worker ถ้าหากประเทศไทยผลิตพนักงานดังกล่าวไม่ทัน เราก็ต้องไปดึงจากคนเหล่านี้แหละมาช่วยงาน แล้วถ้าเราได้คนเก่งเดี๋ยวเงินก็มาเอง ไม่ต้องห่วงเรื่องเงิน แต่ต้องห่วงเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมให้ดีที่สุด เพราะไทยจะใชโมเดลปิดประเทศแบบจีนไม่ได้ เนื่องจากไทยเล็กนิดเดียวมีประชากรเพียง 70 ล้านคน ขณะที่จีนมี 1,300 ล้านคน ตรงนั้นจีนทำได้ แต่ไทยทำไม่ได้”


          อย่างไรก็ตาม กับประเด็นของ Expat นั้นยังมีประเด็นที่น่าสนใจที่กระทิงไฮไลท์ต่อถึงความจริงที่ไม่สมเหตุสมผลว่า การที่เราจะจ้างคนต่างชาติเข้ามาทำงานด้วยนั้น เราถูกกำหนดให้ต้องจ้างด้วยฐานเงินเดือนที่สูงกว่าคนไทย เพื่อพิสูจน์ว่ามีความสามารถมากกว่าคนไทย ทั้งที่จริงแล้วหากสตาร์ทอัพไม่มีงบมากพอที่จะจ่ายขนาดนั้นได้ 

 


    

มุมองภาคประชารัฐ

          จากการที่กระทิงเข้าไปคลุกคลีกับภาครัฐถึง 4 กรรมาธิการ เพื่อให้ความเห็นกับกระทรวงการคลัง,กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งสนง.คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เขาบอกถึงการทำงานภาคประชารัฐว่า 


          “เป็นที่น่ายินดีว่า ในระดับรัฐมนตรีมองเห็นภาพนี้เหมือนกันทั้งหมด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การมองเป็นยุทธศาสตร์ภาพรวมทั้งหมดและการบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานมากกว่า ซึ่งอาจจะมีประเด็นเรื่องงบประมาณ ความซ้ำซ้อน หรือแต่ละหน่วยงานไม่ทราบว่าใครทำอะไร  แล้วยิ่งตอนนี้มี KPI ก็ทำให้ทุกหน่วยงานหันมาทำเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ โดยเน้นปริมาณกันหมด ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่ควรเน้นที่ยุทธศาสตร์และถูกผลักดันด้วยตัวชี้วัดที่ถูกต้อง เพราะถ้าเราได้จำนวนสตาร์ทอัพที่ดีแต่ได้สตาร์ทอัพที่คุณภาพไม่ดี สุดท้ายก็จะเป็นฟองสบู่”


          กระทิงกล่าวต่อไปว่า “การทำธุรกิจแหล่งเงินก็ควรจะมาจาก 1. จากลูกค้าซึ่งสำคัญที่สุด และ 2.จากนักลงทุน ฉะนั้น หากอยู่ดีๆ ได้เงินฟรีจากรัฐบาลก็จะไม่เห็นคุณค่าและผลาญเงินไป ทำให้เกิดการใช้โปรโมชันที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ทั้งนักธุรกิจและลูกค้าถูกตามใจจนเหลิง และบิดเบือนการตลาดทั้งอุตสาหกรรม เพราะการให้เงินฟรีๆ นั้นง่าย เห็นผลลัพธ์ง่าย ผมว่านี่เป็นปัญหากันทุกรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่แก้ สุดท้ายเอกชนเราก็ทำไม่ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ผมพูดภาครัฐทราบหมดแล้วอยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่อะไร แต่เท่าที่ดูก็เห็นความจริงใจและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง”


          อย่างไรก็ตาม กระทิงเตือนสติสตาร์ทอัพทุกคนว่า “คุณต้องยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองมิฉะนั้น ก็จะเป็นเด็กถูกตามใจจนแข่งขันกับใครไม่ได้ ถ้าแข่งกันเองในประเทศยังสู้ใครไม่ได้แล้วจะไปแข่งขันกับใครได้”

 

[อ่าน 2,217]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดใจ ‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘Cafe Chilli’ ให้เป็นแบรนด์เรือธง ของ สะไปซ์ ออฟ เอเซีย
ทีเด็ด POP MART เจาะตลาดไทยอย่างไร ให้มัดใจผู้บริโภคอยู่หมัด
‘เดอะคลีนิกค์’ เผยผลงานโดดเด่นปี 66 โกยรายได้กว่า 2.3 พันล้าน เดินหน้าบุกตลาดความงาม
“เพราะชีวิตคือบททดสอบ” เปิดเรื่องราวชีวิตหญิงแกร่ง CHRO แห่งทรู คอร์ปอเรชั่น
‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘บิสโตร เอเชีย’ ให้มียอดขายเติบโตขึ้นถึง 70%
ศุภลักษณ์ อัมพุช กับ New Era ของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่เป็นมากกว่าแค่ช้อปปิ้ง แต่คือการสร้างย่านการค้า
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved