Gender Neutral Jewelry พลิกกรอบการขายเครื่องประดับ
30 Jan 2021

 

การขายและทำการตลาดโดยแบ่งตามเพศ เป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในธุรกิจเครื่องประดับ แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้กระแสความเป็นกลางทางเพศได้แผ่ขยายไปทั่วโลกแม้กระทั่งในหมู่แบรนด์ดังแห่งโลกแฟชั่น ทำให้ปัจจุบันนี้ มีเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับเทรนด์ใหม่ ที่นำเอาสไตล์ของผู้หญิง และผู้ชายมาผสมรวมกัน เป็นสไตล์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสองเพศ นั่นคือ “Gender Neutral” ที่ไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นของผู้ชายและผู้หญิง ทำให้ทั้งสองเพศสามารถใส่ได้อย่างเท่าเทียม

 

เครื่องประดับที่ไม่ระบุเพศ เจาะกลุ่มผู้ซื้อหลากหลาย

แนวคิดเรื่องเครื่องประดับที่ไม่ระบุเพศ (Gender Neutral Jewelry) ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ในปี 2020 กระแสนี้ค่อยๆ กลายเป็นแนวทางที่คงอยู่อย่างถาวร เพราะผู้คนมีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปในเรื่องเพศสภาพ โดยเฉพาะผู้ซื้อในกลุ่มคนรุ่น Millennial และ Gen Z ต่างมีแนวคิดไม่ยึดติดกับขนบธรรมเนียมทางเพศ อันเกิดจากพัฒนาการหลายด้านในสังคมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องความเป็นกลางทางเพศ การกำเนิดของสื่อโซเชียลมีเดีย และการที่ผู้ซื้อรุ่นใหม่มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นต่อแนวทางการโฆษณาตลอดจนการซื้อขายสินค้าและบริการ ด้วยเหตุนี้ตลาดจึงเปิดรับวัฒนธรรมการใส่เครื่องประดับของผู้ชาย รวมถึงกลุ่มเป็นกลางทางเพศหรือไม่ระบุเพศมากยิ่งขึ้น

ยุคสมัยแห่งการยอมรับความแตกต่างได้ส่งผลอย่างเห็นได้ชัดต่อแวดวงการออกแบบเครื่องประดับ เมื่อนักออกแบบตัดแนวคิดเรื่องเพศออกไปจากกระบวนการสร้างสรรค์เครื่องประดับหมวดใหม่ก็ได้รังสรรค์ขึ้น เพื่อสะท้อนแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศที่เปิดกว้างมากขึ้น ปัจจุบันเครื่องประดับชายจึงไม่จำกัดอยู่แค่เพียงเข็มกลัดติดเน็คไท กระดุมแขนเสื้อและนาฬิกาข้อมืออีกต่อไปแต่ผู้ชายหันมาใส่แหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ เข็มกลัด หรือแม้กระทั่งใส่ต่างหูในบางโอกาส ทั้งในรูปแบบที่ตกแต่งหรือไม่ตกแต่งด้วยอัญมณีอย่างเพชร พลอยสี ไข่มุก หยก เป็นต้น ขณะเดียวกันการสวมใส่เครื่องประดับของผู้หญิงก็เปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงหันมาสนใจเครื่องประดับดีไซน์เท่ๆ แบบผู้ชายกันมากขึ้น และเมื่อคนส่วนใหญ่มองหาเครื่องประดับชิ้นใหม่ก็มักหันไปสนใจเครื่องประดับที่ไม่ระบุเพศที่บ่งบอกความเป็นตัวตนเพิ่มมากขึ้น

 

กำไลข้อมือคอลเลกชัน Genderless แบรนด์ UNOde50 ในแคมเปญ “Love Has No Rules”


ชาว LGBT นับเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพและน่าจับตามองโดย LGBT Capital บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินที่ให้บริการกลุ่ม LBGT เป็นหลัก ประเมินว่าทั่วโลกมีคนกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อยกว่า 500 ล้านคน ซึ่งในเอเชียนั้นมีทั้งหมด 288 ล้านคน หรือ 60% จากทั้งหมดทั่วโลก โดยจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนชาว LGBT สูงสุดถึง 85 ล้านคน ตามด้วยอินเดีย 80 ล้านคน ญี่ปุ่น 8 ล้านคน และประเทศไทยสูงถึง 4 ล้านคน ซึ่งนับเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย หากแต่จำนวนคนดังกล่าวนี้เป็นแค่จำนวนคนที่เปิดเผยเท่านั้นยังไม่รวมจำนวนคนอีกมากที่ไม่ได้ระบุข้อมูลเอาไว้ โดยชาว LGBT ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ค่อนข้างสูง มีกำลังซื้อสูง มักคำนึงถึงภาพลักษณ์ที่ดูดี ทำให้นิยมซื้อสินค้าที่มีคุณภาพสูงควบคู่ไปกับดีไซน์ที่สะท้อนบุคคลิกและบ่งบอกถึงตัวตนด้วย และส่วนมากมักจะไม่มีบุตร ทำให้พร้อมใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความสุขของตนได้อย่างไม่มีกังวล อีกทั้งคนกลุ่ม LGBT ยังมีความภักดีต่อแบรนด์สูงมาก

โดยเฉพาะแบรนด์ที่ให้การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศจึงเป็นกลุ่มผู้บริโภคในตลาด ที่ธุรกิจเครื่องประดับ ไม่ควรมองข้ามการเปลี่ยนแปลงทางเพศดังกล่าว เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มผู้ซื้อมากขึ้น และสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการในการขยายการจำหน่ายเครื่องประดับที่ไม่ระบุเพศ เข้าสู่ผู้ซื้อกลุ่มต่างๆ ทั้งชาย หญิง และเพศทางเลือก หรือก็คือคนกลุ่ม LGBT ไม่ว่าจะเป็น Lesbian ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกัน Gay ผู้ชายที่ชอบผู้ชาย หรือคนที่ชอบเพศเดียวกัน Bisexual คนที่ชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง และ Transgender คนข้ามเพศคือผู้หญิงที่มีจิตใจเป็นผู้ชาย ผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มตามเพศสภาพ แต่เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

ธุรกิจเครื่องประดับขยายตลาดสู่เทรนด์ Gender Neutral

เครื่องประดับได้ปรับตัวเข้ากับกระแส Gender Neutral มาอย่างต่อเนื่อง โดยแบรนด์ชั้นนำอย่าง Cartier, Boucheron, Tiffany & Co., Givenchy, Gucci, Bulgari, Thomas Sabo และ Pandora ต่างผลิตสินค้าที่ปฏิเสธการแบ่งขั้วทางเพศ ซึ่งทั้งผู้หญิงและผู้ชายใส่ได้อย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างแบรนด์ดังระดับโลกที่ผลิตเครื่องประดับแบบไม่ระบุเพศมานานหลายสิบปี อาทิ กำไลข้อมือ Juste un Clou แบรนด์ Cartier เป็นงานออกแบบอันโด่งดังมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970 โดยแต่เดิมได้รับการออกแบบมาสำหรับผู้หญิง แต่ผู้ชายก็ชอบเครื่องประดับแบบนี้เช่นกัน ขณะที่เครื่องประดับเล่นพื้นผิวอันโดดเด่นสะดุดตาอย่างแหวน Quatre แบรนด์ Boucheron ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นเครื่องประดับที่ไม่แบ่งเพศนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2004

 

กำไลข้อมือ Juste un Clou แบรนด์ Cartier (ซ้าย) และ แหวน Quatre แบรนด์ Boucheron (ขวา)

 

นอกจากนี้ แบรนด์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเครื่องประดับกำลังมุ่งหน้าสู่ความเป็นกลางทางเพศมากยิ่งขึ้น ได้แก่ Bulgari แบรนด์ดังจากอิตาลี ที่เครื่องประดับคอลเลกชัน B.Zero1 Rock ได้รับความนิยมทั้งในหมู่ลูกค้าชายและหญิงมาตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 1999 และเครื่องประดับชุดใหม่ในคอลเลกชันนี้ ก็นำเสนอรูปลักษณ์ที่ท้าทายด้วยการใช้อัญมณีเม็ดเล็กเรียงเป็นแถว เพื่อสร้างความแปลกใหม่ ที่สำคัญ ยังเป็นเครื่องประดับกลุ่มแรกที่ Bulgari ประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นเครื่องประดับที่ไม่ระบุเพศด้วย ขณะที่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Louis Vuitton แบรนด์ดังสัญชาติฝรั่งเศส ก็ได้เปิดตัวคอลเลกชัน Volt เครื่องประดับไม่ระบุเพศ เพื่อตอบรับโอกาสทางการตลาดนี้เช่นกัน

 

เครื่องประดับ B.Zero1 Rock แบรนด์ Bulgari

เครื่องประดับคอลเล็กชัน Volt แบรนด์ Louis Vuitton

 

ฉะนั้นเมื่อธุรกิจเครื่องประดับจะต้องรุกตลาดผู้บริโภครุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z ซึ่งเป็นคนยุคหลัง Millennial ที่เติบโตมากับสังคมที่สนับสนุนความเท่าเทียมกันในกลุ่มคนเพศต่างๆ เครื่องประดับที่ไม่ระบุเพศ จึงกลายเป็นกระแสที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ และดูเหมือนว่า เครื่องประดับที่ทลายกรอบทางเพศนั้นจะยังคงอยู่ไปอีกนานแบรนด์ Comme des Garçons


แบรนด์แฟชั่นสุดเก๋ของญี่ปุ่น Comme des Garçons ได้เผยโฉมเครื่องประดับแท้คอลเลกชันแรกของทางแบรนด์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาโดยคอลเลกชันนี้เป็นการร่วมมือกับ Mikimoto ผู้ผลิตเครื่องประดับไข่มุกจากญี่ปุ่น ประกอบด้วยสร้อยคอไข่มุกรวมเจ็ดแบบ แต่ละแบบผ่านการสร้างสรรค์ปรับแต่งอย่างแหวกแนวด้วยฝีมือของ Rei Kawakubo ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Comme des Garçons สร้อยคอเหล่านี้ได้รับการออกแบบโดยไม่กำหนดวัยหรือเพศ ตามแนวทางแฟชั่นที่ไม่แบ่งเพศของทางแบรนด์ สายโซ่เงินเส้นหนาและชาร์มของ Comme des Garçons ถูกนำมาใช้ตัดกับไข่มุกเม็ดงามที่คัดด้วยมือ ทำให้สร้อยคอไข่มุกที่แปลกใหม่ชุดนี้กลายเป็นกระแสโด่งดังในหมู่คนรักแฟชั่น

 

แบรนด์ Comme des Garçons

 

เมื่อโอกาสในตลาดเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ ผู้ขายเครื่องประดับจึงจำเป็นต้องทบทวนและวางแผนแนวทางการขาย กลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะในอนาคตคนส่วนใหญ่จะนิยมเครื่องประดับที่เป็นกลางทางเพศและใส่ได้หลากหลายเพศมากยิ่งขึ้น ซึ่งการออกแบบให้เครื่องประดับในรูปแบบเดียวกันสามารถปรับขนาดให้เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพของทั้งชายและหญิง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยอีกทั้งควรมีรูปแบบให้เลือกอย่างหลากหลาย

โดยจะต้องมีความสวยงาม ที่มาพร้อมกับความกระฉับกระเฉงเน้นความเรียบง่าย ดีไซน์ทันสมัย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถสะท้อนบุคคลิกของผู้สวมใส่ได้ เพื่อให้ตอบโจทย์ตรงใจผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มผู้ซื้อขนาดใหญ่และมีศักยภาพในการจับจ่ายสินค้าตอบสนองความพึงพอใจทางอารมณ์ของตนเอง

 



ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 

>>> https://infocenter.git.or.th <<<

 

[อ่าน 2,377]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มงต้องลงแล้ว Miss AI เวทีประกวดนางงามจาก AI ครั้งแรกของโลก!
‘Digital Art Toy’ ภาคต่อที่เพิ่มมูลค่าให้กับ ‘ของเล่นศิลปะ’
พบความเชื่อมโยง แพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก
กับเหตุสังหารหมู่โลมา เมืองไทจิ ประเทศญี่ปุ่น
ทำไม 'รถยนต์​ไฟฟ้า' ของ Apple ถึงไปไม่ถึง 'ฝัน'
ทำความเข้าใจการขึ้นราคากระเป๋า Chanel ล่าสุดปี 2024 และตลาดขายต่อ
"ยูนิลีเวอร์" วางแผนแยกธุรกิจไอศกรีม ส่งผลให้พนักงาน 7,500 ราย ถูกเลิกจ้าง
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved