"Tanbo Art" เปลี่ยนผืนนาเป็นงานศิลปะ
07 Mar 2017

 

         ‘สวยงาม เรียบง่าย และสร้างสรรค์’ สามคำนี้ขอยกให้กับ ‘ญี่ปุ่น’ ดินแดนแห่งลูกพระอาทิตย์ที่ไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็สามารถเพิ่มมูลค่าลงไปได้ทุกสิ่ง นับตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์แต่งบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ นานา ไปจนถึงพืชผลทางการเกษตร ที่ชาวญี่ปุ่นจับเอามาแต่งเนื้อแต่งตัวใหม่ จนกลายเป็นสินค้าระดับพรีเมียมที่มีราคาสูงลิ่ว


         ความครีเอทของชาวญี่ปุ่นไม่ได้หยุดแต่ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการปั้น ‘เมือง’ ที่สุดแสนจะธรรมดา ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต ดังจะเห็นได้จากหลายๆ โมเดลที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะจังหวัดคุมาโมโตะ (Kumamoto) ที่ได้สร้างมาสคอต 'คุมะมง' (Kumamon) หมีดำแก้มแดงขึ้นมาประชาสัมพันธ์เมืองจนดังไปทั่วโลก และกลายเป็นเซเลปที่เดินสายไปโชว์ตัวทั่วญี่ปุ่น จนมีการนำคุมะมงไปใช้ผลิตสินค้าต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ของเล่นไปจนถึงหิ้งพระพุทธรูป จนมีการประเมินว่าคุมะมงเพียงตัวเดียวสามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจแก่ภาคเอกชนได้ถึง 1.2 แสนล้านเยน (4 หมื่นล้านบาท) ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี


         นอกจากความสร้างสรรค์แล้ว ความร่วมมือร่วมใจของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชาวเมือง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการยกระดับสิ่งธรรมดาให้กลายเป็นสิ่งไม่ธรรมดา รวมไปถึงความกล้าที่จะหนีออกจากกรอบ ความกล้าที่จะปรับแนวคิดดั้งเดิมให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ๆ บวกกับ 'คาวาอิ คัลเจอร์' (Kawaii Culture) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ปลูกฝังอยู่ในสายเลือดของคนญี่ปุ่นทุกวัย ที่แม้อาจจะดูขัดๆ กับภาพลักษณ์ที่ดูเคร่งครึมและอนุรักษ์นิยมอยู่บ้าง แต่พวกเขาก็สามารถนำมาผนวกเข้ากับวัฒนธรรมพื้นบ้านแบบเนียนๆ และไม่เคอะเขิน


         เช่นเดียวกับ ‘หมู่บ้านอินาคาดาเตะ’ (Inakadate) จังหวัดอาโอโมริ (Aomori) จังหวัดทางตอนเหนือของภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku) ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้สร้างเทศกาล ‘ทันโบะอาร์ต’ (Tanbo Art) หรือ ‘ศิลปะบนผืนนาข้าว’ ขึ้นมาจนกลายเป็นจุดขายของหมู่บ้าน ที่ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติต่างแวะเวียนมาถ่ายรูปผลงานศิลปะขนาดใหญ่บนนาข้าวที่หมู่บ้านแห่งนี้ถึง 250,000 คนเลยทีเดียว

 


         จุดเริ่นต้นของ ‘ทันโบะอาร์ต’ เกิดขึ้นในช่วงปี 2536 ซึ่งชาวนาในแถบชุมชนอินาคาดาเตะกำลังเผชิญกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำ หากแต่พวกเขาไม่ได้นิ่งเฉยและมองหาวิธีรับมือกับปัญหา ด้วยไอเดียในการเปลี่ยนนาข้าวที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นผืนผ้าใบในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ โดยชาวบ้านได้ร่วมใจกันนำข้าวหลากสีมาปลูกเป็นลวดลายต่างๆ เพื่อช่วยสร้างสีสันและปลุกชีวิตชีวาให้กับชาวเมืองที่เศร้าหมองจากพิษเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากแปลงข้าว 2,500 ตารางเมตรในปีแรก ก่อนจะกลายเป็นขนาด 15,000 ตารางเมตรในปีหลังๆ

 


         ในช่วงแรกนั้น ทันโบะอาร์ตได้ทำเป็นภาพที่ไม่ซับซ้อนมาก และเน้นภาพที่สะท้อนวัฒนธรรม ประเพณี หรือสถานที่เด่นๆ ของญี่ปุ่น แต่เมื่อประเพณีเริ่มเป็นที่รู้จักของคนภายนอกมากขึ้น ทันโบะอาร์ตของของชาวอินาคาดาเตะก็เริ่มเป็นภาพที่มีลวดลายซับซ้อนมากขึ้นและเป็นภาพที่คนส่วนใหญ่รู้จัก 

 


         ทันโบะอาร์ตเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ จากการบอกเล่ากันปากต่อปาก ไปสู่การแชร์ภาพของแปลงนาที่สวยงามลงในโลกโซเชียล ซึ่งบางปีทันโบะอาร์ตก็มีลวดลายที่ทันสมัยและสร้างเสียงฮือฮาอย่างมาก อาทิ นโปเลียน, มาริลีน มอนโร, โมนาลิซ่า, เจ้าหญิงในกระบอกไม้ไผ่, เกอิชา บางปีก็เอาใจเด็กๆ ด้วยภาพจากการ์ตูนเรื่องดังทั้งอุลตร้าแมน, ก็อตซิลล่า ฯลฯ รวมไปถึงภาพยนตร์เรื่องดังอย่างสตาร์ วอร์ส และหนังดังของญี่ปุ่นเรื่องอื่นๆ

 


         โดยการสร้างสรรค์ทันโบะอาร์ตจะเริ่มกันตั้งแต่ช่วงต้นปี เพื่อปรึกษาหารือกันว่าในปีนี้จะสร้างงานศิลปะรูปแบบใด โดยมีครูศิลปะชั้นมัธยมปลายในพื้นที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับภาพที่จะเลือกใช้ ซึ่งเมื่อได้แบบที่ลงตัวแล้ว ชาวบ้านก็จะช่วยกันคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่จะนำมาใช้ปลูกในแต่ละจุดของภาพ และเริ่มต้นปลูกจริงในช่วงเดือนเมษายน โดยทางหมู่บ้านจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคม รวมระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งในแต่ละช่วงเวลานาข้าวก็จะมีสีสันที่สวยงามแตกต่างกันออกไป


         สำหรับผู้ที่สนใจไปเที่ยวชมความสวยงามของทันโบะอาร์ตนั้น จะมีค่าเข้าชมอยู่ที่ 300 เยน และเด็กประถม 100 เยน นอกจากนี้ยังมีคอร์สสำหรับให้ผู้ที่สนใจเข้ามาทดลองดำนาและเกี่ยวข้าวได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และยังมีอาหารกลางวันให้ทานกันฟรีๆ ด้วย (ต้องจองล่วงหน้า) ซึ่งถ้าสนใจจะไปจริงๆ ก็คงต้องเช็กวันเปิด-ปิดกันให้ดีก่อนไป เพราะในแต่ละปีอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ แถมการเดินทางยังไกลไม่ใช่เล่น

 


         นอกจากผลงานทันโบะอาร์ตที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีแล้ว ทางหมู่บ้านยังได้มองหาช่องทางใหม่ในการจำหน่ายสินค้าการเกษตรของชุมชนเพิ่มขึ้น ด้วยการคิดค้น rice-code ขึ้นมา เพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้แอปพลิเคชัน ‘Nature-barcode’ ที่หมู่บ้านเป็นผู้พัฒนาขึ้น สแกนรูปภาพบนนาข้าวเหมือนการสแกน QR Code เพื่อสั่งซื้อข้าวจากหมู่บ้านอินาคาดาเตะได้ง่ายๆ และไม่ต้องแบกกลับเองให้ยุ่งยาก เพราะทางหมู่บ้านมีบริการส่งข้าวให้ถึงที่ด้วยนั่นเอง

 


         ความสำเร็จของหมู่บ้านอินาคาดาเตะถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะช่วยทำให้เมืองเกษตรกรรมเล็กๆ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผลผลิตดั้งเดิมของชุมชนได้อีกด้วย


         (ขอบคุณภาพจาก inakadatevillage, sachiy2012)

[อ่าน 1,944]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิกฤติ AI ของ ‘Apple’ เมื่อยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีกำลังหายใจไม่ทัน
สื่อปรับตัวรับ Generative AI ปี 68 มุ่งสู่ ‘AI-First’ สร้างสรรค์คอนเทนต์ด้วย Multimodal AI
อู๋ซี เมืองแห่งการผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์และความทันสมัย ผ่านซีรีส์สารคดี "A Touch of Wuxi"
Sushiro 2050 ร้านซูชิสายพานแห่งอนาคต ”มากกว่าความอร่อย คือความยั่งยืน“
Meitu ทุบสถิติ! รายได้พุ่งทะลุฟ้า 17,100 ล้านบาท กำไรแรงจัด 59.2%
Forever 21 ล้มละลายอีกครั้งในรอบ 6 ปี ปิดตำนานฟาสต์แฟชั่น เตรียมปิดทุกสาขาในอเมริกา
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved