รศ. ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล FAMZ TECH โซลูชั่นเพื่อธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล
14 Apr 2021

 

ธุรกิจครอบครัวคือรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทว่า การจะดำเนินธุรกิจและการสืบทอดธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นให้ได้นั้นเป็นเรื่องศาสตร์ และศิลป์ ในฐานะที่ FAMZ เป็นผู้นำด้านที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวที่มีความเชี่ยวชาญของประเทศไทย

และล่าสุด รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดี คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัว (FAMZ) และผู้ก่อตั้ง Famz Co.,Ltd. ได้เปิดตัว FAMZ TECH โซลูชั่นใหม่ล่าสุดที่พัฒนาเพื่อมุ่งตอบโจทย์ Pain Point ของการบริหารธุรกิจครอบครัวให้สามารถบริหารงานหลังบ้านได้อย่างสะดวกมากขึ้น ตลอดจนการร่าง/อัพเดทธรรมนูญครอบครัวทำได้ง่ายขึ้นด้วย

 

ที่มาของการพัฒนาโซลูชั่น FAMZ TECH เป็นอย่างไร

การบริหารธุรกิจครอบครัวเป็นงานที่ยากและในเบื้องต้นก็ดูเหมือนจะทำท่าว่าเป็นภาระของสมาชิกครอบครัวอยู่พอสมควร อาทิ การจัดกิจกรรม การนัดหมาย การดูแลข้อมูลและระบบทั่วไป อย่างเช่น สวัสดิการของคนในกงสี ซึ่งต้องมีการบันทึกข้อมูล การบริหารภาษีส่วนบุคคล ระบบบัญชี นอกจากนี้ ก็ยังมีธรรมนูญครอบครัวที่กว่าจะนัดพบกันและปรึกษาหารือกันแล้วยังไม่ลงตัว หรือทำมาแล้วก็อยากใช้เวลาตรึกตรองอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากเป็นกระบวนการที่เกี่ยงข้องกับคนจำนวนมากและมีความอ่อนไหวด้วย หรือแม้แต่การพัฒนาแผนการสืบทอดทายาทธุรกิจ (Succession Plan) ว่าจะเลือกใครขึ้นเป็นทายาทและผู้ที่เป็นผู้บริหารอยู่เดิมจะปรับเปลี่ยนไปที่ไหน อย่างไร และทำอย่างไรจึงจะได้ข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับ กว่าจะสร้างแผนฯ ขึ้นมาและการนำแผนไปแปรผลให้เกิดการปฏิบัติ (Implement)

ดังนั้น การบริหารธุรกิจครอบครัวในยุคก่อนจึงต้องใช้ความอดทน ใช้ศิลปะกับเรื่องพวกนี้ เพื่อทำให้ธุรกิจครอบครัวเดินหน้าต่อไปได้ นี่จึงทำให้เราองค์ประกอบเหล่านี้มาพัฒนาเป็น FAMZ TECH

 

 

FAMZ TECH ตอบโจทย์งานหลังบ้านธุรกิจครอบครัวได้อย่างไรบ้าง

การบริหารธุรกิจครอบครัวในยุคดิจิทัลถือว่าง่ายขึ้น โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เรากลับมานั่งคิดว่า เราสามารถที่จะทำอะไรได้ดีกว่านี้หรือไม่ FAMZ จึงได้จับมือกับ EdBot ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ทำเกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่แล้วพัฒนา FAMZ TECH เพื่อช่วยให้ธุรกิจครอบครัวสามารถบริหารธุรกิจ หรือบริหารจัดการกับระบบหลังบ้านได้ง่ายชึ้น อาทิ การบริหารภาษี ซึ่งมีระบบหลังบ้านช่วยบันทึกว่า ใครได้รับสวัสดิการอย่างไร ใครรับไปแล้ว -เท่าไร และในปีนั้นๆ ภาษีที่เกิดขึ้นกับคนๆ นั้นจะต้องจ่ายเท่าไร ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สมาชิกในครอบครัวก็จะสามารถเห็นได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม แต่ละครอบครัวก็สามารถตั้งค่า 'ระดับชั้นของการเปิดเผยข้อมูล' ตามต้องการได้ เนื่องจากการจัดสมาชิกครอบครัวในแต่ละครอบครัวอาจมีหลายแบบ-หลายระดับ เช่น สมาชิกจากการสืบสายเลือดโดยตรง, สมาชิกครอบครัวที่เป็นคู่สมรส, สมาชิกครอบครัวที่เป็นรุ่นผู้ใหญ่ หรือรุ่นเด็กๆ สมาชิกครอบครัวที่เป็นบุตรบุญธรรม. ญาติ ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจแต่ต้องดูแล เนื่องจากเป็นการฝากฝังของคนรุ่นพ่อแม่ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลบางอย่างอาจเปิดเผยเฉพาะสมาชิกจากการสืบสายเลือดโดยตรงเท่านั้น เป็นต้น นอกจากนี้ บางครอบครัวก็มีสมาชิกเป็นร้อยคน  งานพวกนี้ก็จะหนักหนาพอควร แต่ครั้นเมื่อจะตั้งสำนักงานของธุรกิจครอบครัว มีการตั้งเป็นบริษัท มีพนักงานฯลฯ ก็จะยิ่งเป็นภาระมาก

           

คนในครอบครัวสามารถบริหารจัดการกันเองกับ FAMZ TECH ได้หรือไม่

ใช้คนในครอบครัวแค่คนเดียวเป็น 'แอดมิน' ได้เลย และครอบครัวก็สามารถที่จะมีสำนักงานดิจิทัลของครอบครัว (Digital Family Office) ได้ง่ายๆ โดยฝากข้อมูลต่างๆ ไว้บนระบบคลาวด์ด้วย

 

 

สำหรับธรรมนูญครอบครัวที่ถือเป็น 'งานหิน' FAMZ TECH ทำงานอย่างไร

เรามี Family Constitution Analytics ซอฟต์แวร์อีกตัวที่ช่วยสร้างธรรมนูญครอบครัว เพราะจากประสบการณ์การทำธรรมนูญครอบครัวมาหลายร้อยครอบครัว ทำให้เราเห็น Pain Point ของการพัฒนาธรรมนูญครอบครัวว่าอยู่ตรงไหนบ้าง ประกอบกับ FAMZ มีทีมนักวิจัย เมื่อนำ Pain Point มาผนวกกับข้อมูลเชิงลึกต่างๆ เพื่อกำหนดฟีเจอร์ของซอฟต์แวร์ แต่ทั้งนี้ ต้องเข้าใจด้วยว่า ธรรมนูญครอบครัวที่ดีนั้นจะต้องสอดคล้องกับธรรมชาติของครอบครัวนั้นๆ

การเขียนธรรมนูญครอบครัวใม่จำเป็นต้องเขียนให้หรูหรา หรือเขียนแล้วไม่ใช่ตัวตนของคนในครอบครัว มิฉะนั้น จะกลายเป็นการเขียนธรรมนูญครอบครัว แล้วรัดตัวเองเปล่าๆ ทั้งที่ก่อนหน้าก็อยู่กันดีๆ อยู่แล้ว ที่สำคัญ เนื่องจากแต่ละครอบครัวมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้น ธรรมนูญครอบครัวจึงย่อมจะไม่เหมือนกัน เพราะกว่าธุรกิจครอบครัวจะมาถึงจุดที่เราเห็นได้นั้นมีทั้งประสบการณ์ ความคาดหวัง ทิศทางการดำเนินธุรกิจ ฯลฯ และองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมายที่มาประกอบกันเป็นธุรกิจครอบครัว ฉะนั้น ธรรมนูญครอบครัวจึงแทบจะไม่มีโอกาสที่จะเหมือนกันเลย จะเหมือนก็แค่บางข้อเท่านั้นที่เป็น Classic Agreement กล่าวคือ เป็นข้อตกลงที่ธุรกิจครอบครัวประเภทนี้ควรจะต้องมี เช่น ครอบครัวที่เติบโตกัมาแบบใกล้ชิดมากๆ จะต้องระมัดระวังเรื่องอะไรบ้าง หรือครอบครัวที่เลี้ยงให้เป็นตัวของตัวเองสามารถที่จะมีความเข้าใจและมีความเคารพซึ่งกันและกันได้ ซึ่งจะตรงข้ามกับแบบแรก ดังนั้น ก็อาจต้องมีธรรมนูญครอบครัวบางข้อที่เป็นมาตรฐานวางไว้อยู่บ้าง

ต้องบอกว่า ธรรมนูญครอบครัวจะเหมือนกันที่โครงสร้างหลักๆ สัก 20-30% เช่น ความต้องการของมนุษย์ที่มีพื้นฐานคล้ายๆ กัน เช่น ความกังวลเรื่องการเจ็บป่วย การกำหนดหน้าที่ที่ดีของสมาชิกครอบครัว ซึ่งเป็นหลักการมาตรฐาน

แต่ในส่วนของรายละเอียดก็จะไม่เหมือนกันสักเท่าไร ทิศทางการดำเนินธุรกิจ, ค่านิยมของครอบครัวนั้นๆ (Family Value) ซึ่งคนนอกอาจมองว่าคนครอบครัวนี้เหมือนกันหมด กระทั่งรูปแบบการคิด แต่คนในครอบครัวไม่รู้ตัว แม้จะไม่เหมือนกัน 100% แต่เนื่องจากมีรากฐานที่คล้ายๆ กัน ถูกหล่อหลอมมาแบบเดียวกัน และเรียนรู้ไปกระทั่งวิธีการคิดหรือการตัดสินใจของคนในครอบครัวที่มีความแตกต่างกัน

อัลกอลิธึ่มของซอฟต์แวร์นี้จึงลงไปถึงความคิด ความเชื่อของสมาชิกในครอบครัว โดยให้คนในครอบครัวกรอกข้อมูล จากนั้นซอฟต์แวร์ก็จะประมวลผลออกมาเป็นความเชื่อหรือค่านิยม แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ เช่น กลุ่มนี้เหมือนกันมากที่สุด เหมือนกันบางส่วน หรือไม่เหมือนกันเลย หรือให้กรอกข้อมูลว่า หน้าที่ของสมาชิกในธรรมนูญครอบครัวควรต้องเป็นอย่างไรบ้าง เช่น การกลับเข้ามาทำธุรกิจครอบครัวเป็นหน้าที่หรือเสรีภาพส่วนบุคคล

โมเดลตัวนี้จะเลือกคำตอบจากความสอดคล้องกับความเชื่อของคนในครอบครัว และความถี่ด้วย เช่น คำตอบที่สอดคล้องกับค่านิยม แต่ความถี่น้อยก็จะถูกจัดไว้อีกกลุ่มหนึ่ง ไม่สอดคล้องกับค่านิยมแต่มีความถี่มากก็ถูกจัดไว้อีกกลุ่มหนึ่ง จากนั้น คำตอบที่ได้ในแต่ละหมวดเมื่อถูกจัดกลุ่มก็จะถูกสร้างเป็นธรรมนูญครอบครัวขึ้นมา ดังนั้น สิ่งที่ออกมาจากโปรแกรมจะเป็นร่างธรรมนูญครอบครัวฉบับ First Draft ก่อนและเห็นความกว้าง ความลึกของข้อมูลดีขึ้น และไม่ต้องอธิบายหลายรอบ ส่วนข้อดีที่สำคัญ คือ ไม่มีอคติสำหรับ First Draft  เพราะในการประชุมบางครั้งก็อาจมีคนที่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวเกรงใจ พูดอะไรก็มีคนฟัง ไม่กล้าเถียง ทำให้อาจไม่เห็นความต้องการที่แท้จริง หรือสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ดังนั้น การใช้โปรแกรมประมวลผลจึงช่วยลดปัญหานี้ได้ด้วย อย่างน้อยขยะที่อยู่ใต้พรมก็จะถูกดึงขึ้นมาและจุดประเด็นให้หารือกันก่อน หากไม่เอาก็ยกออก หากขาดอะไรก็ใส่เข้าไป

ที่สำคัญ การร่วมร่างธรรมนูญครอบครัวตั้งแต่ต้นจนจบ จากการประมวลผลของโปรแกรมด้วย First Draft นี้จะทำให้สมาชิกในครอบครัวเข้าใจและเห็นทิศทางที่จะไปต่อจนถึง Final Draft ได้ และสามารถปรึกษาหารือหรือถกเถียง (Discuss) กันต่อได้ว่า อะไรที่ใช่และอะไรที่ไม่ใช่

แล้วเมื่อได้ธรรมนูญครอบครัวมาแล้วก็สามารถเก็บไว้ได้ Digital Family Office บนคลาวด์ ซึ่งเรากันพื้นที่ให้แต่ละครอบครัว และจะสามารถเห็นพัฒนาการแก้ไขธรรมนูญครอบครัวของตนเองเป็นระยะๆ จากอดีตถึงปัจจุบันได้  สำหรับโปรแกรมธรรมนูญครอบครัวจะสามารถเก็บในโปรแกรมที่บันทึกระบบหลังบ้านได้

 

รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดี คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัว (FAMZ) และผู้ก่อตั้ง Famz Co.,Ltd.

 

Digital Family Office มีความเป็นส่วนตัว (Privacy) มากน้อยแค่ไหน

FAMZ จะให้ Username, Password กับครอบครัวนั้นๆ แล้วแต่ว่า ครอบครัวนั้นๆ จะมอบหมายให้ใครเป็นแอดมิน จากนั้นในช่วงแรก ทางเราก็จะเป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้คำแนะนำว่า แต่ละส่วนนั้นใช้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ในส่วนของ Privacy เราเขียนซอฟต์แวร์ให้ส่งคำเตือนไปที่แอดมินด้วย เมื่อใครเข้ามาใช้โปรแกรมนี้ เพราะหลังจากการทำหน้าที่พี่เลี้ยงเพื่อแนะนำแล้ว ทีมงานเราก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ยกเว้นแต่ว่า ทางครอบครัวต้องการขอความช่วยเหลือจากทีมงาน เช่น เปลี่ยนภาพในสาแหรกตระกูล (Family Tree) ให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งการเข้าระบบไม่ว่าใครก็ตาม แอดมินก็จะได้รับการแจ้งเตือนให้ทราบ

 

ค่าใช้จ่ายสำหรับโปรแกรมเหล่านี้แพงหรือเปล่า

สำหรับโปรแกรมบันทึกระบบหลังบ้าน เราให้ใช้ฟรี เพราะเป้าหมายที่อยู่ในใจเราเมื่อทำงานเกี่ยวกับธรรมนูญครอบครัว คือ ครอบครัวจะต้องดีขึ้น เพราะเราเองก็ลำบากกว่าที่จะเข็นธรรมนูญแต่ละครอบครัวออกมาได้ เราก็อยากให้มันได้ผล อีกอย่างก็ถือเป็นความสำเร็จของเราด้วย ถ้าลูกค้ามีปัญหา หรือมีความขัดแย้งน้อยลง รักกันมากขึ้น ธุรกิจกลับมาดีขึ้นและเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือความสำเร็จของเรา ฉะนั้น โปรแกรมบันทึกระบบหลังบ้านเราจึงตั้งใจที่จะลดปัญหาของการสร้างระบบในอดีตที่ผ่านมา และปัญหาการจัดการระบบมันทำได้ง่ายขึ้น เราจึงเปิดให้ใช้ฟรี

ส่วนเรื่องธรรมนูญครอบครัว, การสืบทอดทายาทธุรกิจ หรือการจัดโครงสร้างนั้นเป็นส่วนงานที่เกี่ยวกับงานที่ปรึกษา ซึ่งแต่ละครอบครัวจ่ายค่าปรึกษาในส่วนต่างๆ เหล่านี้อยู่แล้ว เราก็ให้โปรแกรมในแต่ละส่วนเหล่านี้ใช้ฟรี และลูกค้าเก่าเราก็ให้ใช้ด้วย

 

เหตุผลที่ให้ใช้ฟรี เราได้อะไร

เนื่องจากการทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวมาสิบกว่าปี ท้ายที่สุด ผมก็รู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเขาไปด้วย เนื่องจากกลุ่มธุรกิจครอบครัวเหล่านี้ไว้ใจเรา แล้วถ้ามีอะไรที่คนเหล่านี้คิดว่าทีมเราจะช่วยได้ก็มักจะนึกถึงเราก่อน ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจครอบครัวหลายๆ ครอบครัวก็ยังคงใช้บริการของเรามาสิบกว่าปี แล้วเมื่อไรที่อยากจัดประชุมหรือแก้ไขธรรมนูญครอบครัวก็จะนึกถึงเรา ดังนั้น การให้ซอฟต์แวร์และพื้นที่ในระบบคลาวด์ เพื่อให้กลุ่มธุรกิจครอบครัวทำงานได้ง่ายขึ้นนั้นไม่ได้เป็นภาระกับเรามาก 

ที่สำคัญ ความสำเร็จของธุรกิจเหล่านี้ก็จะถือเป็น Best Practices ของคนในแวดวงของเขาเอง ซึ่งก็จะทำให้เห็นว่า นี่คือต้นแบบของการทำธุรกิจครอบครัวที่ดี จากฐานความคิดเดิมที่ว่า ปัญหาแบบนี้ไม่น่าจะมีทางตกลงกันได้หรือไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้นั้นน่าจะลองคิดใหม่ เพราะมีคนลองทำแล้วและประสบความสำเร็จได้

ส่วนโปรแกรมที่กำลังทำอีกตัวคือ Succession Plan การทำโปรแกรมเพื่อช่วยให้ธุรกิจครอบครัวสามารถประเมินเพื่อเฟ้นหาผู้สืบทอดธุรกิจ จากเดิมที่ธุรกิจครอบครัวอาจจะบริหารธุรกิจกันเองระหว่างพี่น้อง แต่เมื่อต้องวางแผนเพื่อมองหาทายาทก็จะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาอีก ดังนั้น การทำซอฟต์แวร์เพื่อช่วยประเมิน

วิธีการเลือกทายาททางธุรกิจในเบื้องต้น อย่างน้อยคีย์แมนในครอบครัวก็ต้องเลือกกันก่อนว่า ต้องการทายาทธุรกิจที่มีบุคลิกลักษณะและทักษะอย่างไรเมื่อวางหลักเกณฑ์แล้วก็มาดูว่า ใครที่จะเข้าข่ายนี้ แต่ละคนมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ซึ่งตรงนี้จะมีโปรแกรมช่วยประเมินตั้งแต่สร้าง Persona ของซีอีโอ Hard Skill, Soft Skill, คาแรคเตอร์พิเศษ ซึ่งต่างคนต่างต้องตกลงกันก่อน ด้วยการเขียนภาพในใจของตนเอง  จากนั้นโปรแกรมจะประมวลผลว่า Persona สำคัญๆ ของ Successor ออกมาว่า ควรเป็นอย่างไร จากนั้นค่อยมาหารือกันในกลุ่มสมาชิกครอบครัวหรือกลุ่มกรรมการกันอีกครั้ง เพื่อหาความเหมาะสม เช่น อะไรไม่จำเป็นก็ตัดออกหรือคาแรคเตอร์ใดที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของครอบครัวก็เอาออกฯลฯ จากนั้น ก็มองหาคนที่จะเป็นแคนดิเคทว่ามีใครบ้างเข้ามาในระบบ อย่างไรก็ตาม ระบบที่เรานำเข้ามาช่วยประเมินผลนี้ เป็นการช่วยจัดข้อมูลก่อนการตัดสินใจ เพราะสุดท้ายคนคือผู้ตัดสินใจอยู่ดี

 

 

การนำซอฟต์แวร์เข้าไปช่วยงานเช่นนี้ ธุรกิจครอบครัวยอมรับมากน้อยแค่ไหน

ตอนนี้เราใช้ซอฟต์แวร์ไปสองประเภท ธุรกิจครอบครัวเองไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยี เนื่องจากคนเหล่านี้เองก็ยังมั่นใจอยู่ เพียงแต่สิ่งที่ธุรกิจครอบครัวกังวล คือ จ้างที่ปรึกษาแล้วงานไม่ออกตามที่ต้องการ ที่สำคัญ กลับมาเปิดแผลในครอบครัวขึ้นมาอีก จากที่ไม่เคยทะเลาะกันก็ทะเลาะกันขึ้นมาอีก ดังนั้นอะไรก็ตามที่จะช่วยปัญหาเหล่านี้ได้ ลูกค้าจะยอมทดลอง ก็แค่ยกกระบวนการทำงานที่เป็นอุปสรรคกับการพัฒนาออกแล้วเอาระบบเข้ามาช่วยก็จะสามารถเข้ากระบวนการทำงานได้ปกติ และผมมั่นใจว่า กระบวนการทำงานจะดีขึ้น  แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ลูกค้าก็จะมีขั้นตอนการเปลี่ยนถ่ายเอกสารกระดาษให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เรายังไม่ได้ให้บริการครอบคลุมลูกค้าทั้งหมด แต่ในอนาคตก็มีแผนที่จะเดินสายเพื่อไปแนะนำซอฟต์แวร์กับลูกค้าของเรา

[อ่าน 7,155]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดใจ ‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘Cafe Chilli’ ให้เป็นแบรนด์เรือธง ของ สะไปซ์ ออฟ เอเซีย
ทีเด็ด POP MART เจาะตลาดไทยอย่างไร ให้มัดใจผู้บริโภคอยู่หมัด
‘เดอะคลีนิกค์’ เผยผลงานโดดเด่นปี 66 โกยรายได้กว่า 2.3 พันล้าน เดินหน้าบุกตลาดความงาม
“เพราะชีวิตคือบททดสอบ” เปิดเรื่องราวชีวิตหญิงแกร่ง CHRO แห่งทรู คอร์ปอเรชั่น
‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘บิสโตร เอเชีย’ ให้มียอดขายเติบโตขึ้นถึง 70%
ศุภลักษณ์ อัมพุช กับ New Era ของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่เป็นมากกว่าแค่ช้อปปิ้ง แต่คือการสร้างย่านการค้า
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved