Five Cs of a Trusted Leader and the Effective Communication ผู้นำที่น่าเชื่อถือต้องมีอะไรบ้าง
03 Jun 2021

 

คำอวยพรกันในช่วงเวลานี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่า “ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านแข็งแรง ปลอดภัย ห่างไกลโควิดนะครับ” ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในระดับสูง สวนทางกับตัวเลขอัตราการฉีดวัคซีนที่ประเทศไทยยังอยู่ในระดับกลุ่มท้ายตาราง ทำให้พวกเราทุกคนดูจะหวั่นใจอยู่ไม่น้อย ช่วงนี้เราถึงเห็นผู้บริหารหรือผู้นำประเทศหลายท่านออกมาแถลงเกือบทุกวัน หลายท่านก็พูดจาดูน่าเชื่อถือ บางท่านก็พูดแล้วดูน่าขัดใจไปเสียหมด วันนี้ผมจึงนำเรื่องเทคนิคของการเป็นผู้นำที่น่าเชื่อถือมาฝาก พร้อมกับการสร้างแบรนด์ของผู้นำว่า ทำอย่างไรถึงจะสร้างความจงรักภักดีในแบรนด์ (Brand Loyalty) ให้กับผู้บริโภคได้ครับ

การสร้างความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจในทุกวันนี้ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์ไม่ปกติยิ่งต้องอาศัยความน่าเชื่อถือมากๆ ลองสังเกตรอบๆ ตัวเราสิครับว่า เราเชื่อถืออะไรบ้าง เราเชื่อว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มาจากประเทศญี่ปุ่นว่า มีคุณภาพสูงเราเชื่อว่าวัคซีนจากประเทศสหรัฐอเมริการมีประสิทธิภาพดี เราเชื่อว่าระบบการศึกษาของต่างประเทศดีคนถึงได้ส่งลูกหลานไปเรียนต่อกันมากมาย หรือแม้แต่เงินดิจิทัลอย่าง Cryptocurrency ก็เติบโตขึ้นเพราะความเชื่อว่ามันมีอยู่จริง และใช้งานได้

ความน่าเชื่อถือของผู้นำเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชา พันธมิตรคู่ค้า ไปจนถึงลูกค้า และผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจทั้งหมด ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่จะต้องสร้างขึ้นอย่างมีนัย และมีความสม่ำเสมอต่อเนื่อง

 

 

การสร้างความน่าเชื่อถือ ประการแรก คือ Commitment หรือความยึดมั่นหรือความมุ่งมั่น ผู้นำที่มี Commitment คือผู้นำที่ยึดมั่นในวิสัยทัศน์ที่ได้วางเอาไว้ ยึดมั่นในสิ่งที่ได้สัญญาเอาไว้ (เรียกว่าเราจะทำตามสัญญานั่นแหละครับ) เมื่อยึดมั่นแล้วก็จะมุ่งมั่นทำให้สำเร็จ ทำให้ทีมงานของเขาเห็นผลสำเร็จของงานเสมอ Commitment นี้เป็นสิ่งแรกที่ผู้นำใช้ในการสร้างความน่าเชื่อถือครับ

ประการที่สอง Connection หรือความสัมพันธ์ที่ดี ผู้นำที่มีความน่าเชื่อถือจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ทั้งลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงความสัมพันธ์กับบุคคล และหน่วยงานภายนอก ผู้นำที่มี Connection มักจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง เข้าถึงได้ง่าย ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น และได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นด้วย

ประการที่สาม Compassion หรือความเห็นอกเห็นใจ ผู้นำที่มีความน่าเชื่อถือจะมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเสมอ เช่นการดูแลใส่ใจผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่แสดงอำนาจเหนือโดยอาศัยตำแหน่ง (Legitimate Power) แต่จะใช้อำนาจจากความรู้ความสามารถ (Expert Power) เพื่อนำผู้อื่น คอยสนับสนุนทุกๆ คนในทางที่ถูกที่ควร

ประการที่สี่ Consistency หรือความสม่ำเสมอ คงเส้นคงวา ไม่มีอารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวฉุนเฉียว เดี๋ยวดีใจหาย ผู้นำที่มีความน่าเชื่อถือควรมีทั้ง IQ และ EQ ที่ดี รวมถึงการมีมารยาทที่ดีแม้ในสภาวะที่ถูกกดดัน ซึ่งตรงนี้จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชา กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ อันจะนำพาองค์กรไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ประการที่ห้า Competency หรือความรู้ ความสามารถ พูดง่ายๆ คือ ‘ความเก่ง’ นั่นเอง ผู้นำที่ดีควรจะต้องมีการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของตนเองอยู่เสมอ เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ไม่ได้หมายความว่าผู้นำจำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ต้องรู้จักวิธีการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ มีทีมงานที่มีความรู้รอบด้านอยู่ใกล้ตัว พร้อมที่จะบริหารงานในทุกๆ ด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

แถมด้วย C ตัวสุดท้าย คือ Communication ผู้นำที่น่าเชื่อถือจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสื่อสารที่ดี ซึ่งการสื่อสารที่ดีนี้หมายถึงการสื่อสารที่ ถูกต้อง ชัดเจน มีประสิทธิภาพ และมีทักษะในการสื่อสารที่ดีจึงจะสามารถจูงใจ โน้มน้าว และสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นได้ ผมจึงขอนำเสนอหลักการสื่อสารของผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพให้แก่ท่านผู้อ่านดังนี้

 

 

การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพของผู้บริหาร ใช้หลัก SIMPLE ครับ

SIMPLE ประกอบด้วย Speech ได้แก่ การเลือกใช้ถ้อยคำให้ถูกต้อง เหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟัง ท่วงทำนองน่าฟัง ไม่ Monotone จนน่าเบื่อ พูดให้เต็มคำ โดยเฉพาะการใช้ภาษาต่างประเทศหรือคำศัพท์เฉพาะต่างๆ ต้องมีการฝึกซ้อมให้ชำนาญ การออกเสียงที่ไม่ชัดเจนหรือผิดพลาดจะทำให้ไม่น่าเชื่อถือ Interact ได้แก่ การมีปฏิกริยากับผู้ฟัง สื่อสารให้เหมือนกับการพูดคุยกับบุคคล แม้แต่การสื่อสารกับกล้องก็ตาม Movement ได้แก่ การขยับร่างกาย ควรมีการขยับตัวให้เป็นธรรมชาติ อาจมีการเดินเข้าหาผู้ฟังบ้าง ไม่ยืนตัวแข็งหรือนั่งตัวเกร็งหรือขยับยุกยิกตลอดเวลา การขยับตัวอย่างเหมาะสมจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกสบายๆ ไปด้วย Posture ได้แก่ ท่วงท่าอริยาบท ควรใช้มือ นิ้ว และอวัยวะต่างๆ ช่วยในการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น เช่น การผายมือ การกำมือ ท่วงท่าในการนั่ง Length ได้แก่ ความยาวในการสื่อสารหรือบรรยาย ควรกำหนดความยาวให้เหมาะสม ไม่ควรเยิ่นเย้อ แต่ก็ไม่ควรสั้นจนไม่ได้ใจความสำคัญ ผู้บริหารที่สื่อสารได้เก่งจะสามารถปรับความสั้น-ยาวของการสื่อสารให้เข้ากับสถานการณ์ได้ตลอดเวลา Eye contact ได้แก่ การสบตา การสบสายตากับผู้ฟังเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงถึงความจริงใจ ความมั่นใจ หากบรรยายกับคนจำนวนมากก็ต้องใช้สายตาสื่อสารไปทั่วๆ แม้แต่การสื่อสารกับกล้องก็ควรมองกล้องอย่างเป็นธรรมชาติ สายตาไม่หลุดจากกล้อง (ผมใช้คำว่าต้องจิกเลนส์ไว้ครับ) แม้แต่จะอ่านโพยหรืออ่าน Prompter ก็ควรจะฝึกมองและอ่านให้เป็นธรรมชาติด้วย

 

หลักการของ SAVE นี้ช่วยให้ผู้บริหารสามารถสื่อสารหรือนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้พูดได้เป็นอย่างดี

หากถามว่าทำไมต้องสร้างความน่าเชื่อถือขนาดนี้ ผมตอบได้ว่า เพราะผู้นำ ผู้บริหารหรือ CEO เป็นตัวแทนที่สำคัญที่สุดขององค์กร “CEO is the first brand ambassador of the firm.” และตัวผู้นำนี่แหละที่จะสื่อสารความเป็นทุกสิ่งทุกอย่างขององค์กรได้ คนเป็นผู้นำต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับตนเอง และเกิดกับองค์กรโดยรวม เพราะถ้าคนมั่นใจในตัวผู้นำแล้ว องค์กรก็จะน่าเชื่อถือไปด้วย ทำงานง่ายขึ้น จะทำอะไรก็ย่อมได้รับการสนับสนุน

 


บทความจากนิตยสารมาร์เก็ตพลัส ฉบับที่ 134 

โดย...คุณวีรพล สวรรค์พิทักษ์ ที่ปรึกษาด้านการตลาด - อาจารย์มหาวิทยาลัย และวิทยากรมืออาชีพ 

[อ่าน 2,713]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หลุยส์คาเฟ่ ปลุกกระแสแบรนด์เนมตื่น เอนเกจพุ่ง 950 % หลังเปิดตัวเพียงครึ่งเดือน
สัญญาณดีๆ ของปี 2023 มีส่งต่อปี 2024 ไหม
TikTok ร่วมพัฒนาอนาคตแห่งความบันเทิงและการค้าในปี 2567
ถอดรหัสเทรนด์ การชำระเงิน ในเอเชียแปซิฟิกปี 2567
ข้อมูลอโกด้าชี้ นักท่องเที่ยวไทยตื่นเที่ยวจีนหลังการยกเลิกวีซ่าไทย-จีนถาวร
การรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร และ ข้อดีของโคเวิร์กกิ้งสเปซ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved