ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช เปิดมุมมอง 'กัญชา' ในฐานะ 'พืชเศรษฐกิจ'
04 Jul 2021

 

ความพยายามของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุขที่พยายามผลักดันให้ 'กัญชงและกัญชา' เป็น 'พืชเศรษฐกิจ' ตัวใหม่ และมองช็อตต่อเนื่องถึงเป้าหมายที่ต้องการให้เป็น 'โปรดักท์ แชมเปี้ยน' ด้วยว่ามูลค่าตลาดของ 'กัญชงและกัญชา' ในระดับโลกไต่ขึ้นหลักแสนล้านบาท และกำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนมูลค่าตลาดในประเทศไทยก็ขึ้นระดับหมื่นล้านบาทแล้ว

 

ทั้งนี้นับแต่กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2563 ปลดล็อกให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้น ช่อดอกใบที่ติดกับช่อดอก และเมล็ดกัญชา ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชา และกัญชงได้แล้ว ด้วยการตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการนำเอาไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องโดยต้องรวมตัวกัน 7 คนขึ้นไป เป็นวิสาหกิจชุมชน และทำสัญญาร่วมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานสาธารณสุข 

 

ในฐานะที่ศูนย์วิจัย และพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญของการทำการวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกกัญชาที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ทั้งนี้ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ออกมาเปิดมุมมองถึง กัญชง และกัญชา ในฐานะพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย รวมถึงความท้าทายต่างๆ ที่ยังรออยู่ ก่อนที่จะสร้างรายได้แบบ New S-Curve ให้กับระบบเศรษฐกิจไทย

 

ในฐานะของ ‘หน่วยงานต้นน้ำ’ คิดว่า กัญชงและกัญชา มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ได้เร็วๆ นี้หรือไม่

ผมก็มองเห็นความเป็นไปได้ที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่เป็นได้เมื่อไร ..แล้วเมื่อมีการปลดล็อกกัญชา ถามว่า ตอนนี้เสรี หรือไม่ - ไม่เสรี เพราะอนุญาตให้ปลูกใช้ได้เฉพาะทางการแพทย์เป็นหลัก และปลูกได้จำนวนจำกัด แต่พืชที่น่าจะทำเงินได้จริงๆ คือ กัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp)

แต่อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่า มีกระแสตอบรับอย่างดีมากโดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการขณะนี้ ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่น้อย และสูญเสียรายได้ไปมาก ดังนั้นต่างก็ต้องการที่จะได้รายได้เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหายให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันตลาดเองก็มีความต้องการ และการตอบรับอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, เครื่องดื่มหรืออะไรก็ตามที่ใส่กัญชาต่างก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากกัญชามีภาพลักษณ์ และให้ความรู้สึกในใจผู้บริโภคถึงความเอ็กซ์คลูซีฟ เท่ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งราคาได้มากกว่าเดิม โดยที่ผู้บริโภคก็ยินดีจ่ายด้วย

 

จากการควบคุมสารสำคัญ THC ที่สกัดจากกัญชงและกัญชา เพราะมีส่วนคาบเกี่ยวในเชิงการแพทย์ และมีสารเสพติดที่รัฐควบคุม ทำให้ทั้งเกษตรกรและธุรกิจภาคเอกชนต่างก็อยากปลูกกัญชง เนื่องจากไม่ต้องยุ่งกับหน่วยงานของรัฐ มากเหมือนกัญชา เพียงแค่มีโควตาและได้ขออนุญาตถูกต้องก็สามารถปลูกได้เลย ตรงนี้นี่เองที่จะทำให้มองได้ว่า กัญชงจะเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคตได้ จะเห็นได้ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยากใส่หมด น้ำดื่มเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มบำรุงอยากใส่

 

นอกจากนี้ กฎหมายยังปลดกัญชาในส่วนใบ, ราก, ต้น จึงสามารถนำไปปรุงอาหารได้ เนื่องจากมีสาร THC ต่ำจึงมีการนำไปผสมอาหาร คุกกี้ ขนมขบเคี้ยว ชา กาแฟ ฯลฯ กาแฟธรรมดาแก้วหนึ่งไม่กี่สิบบาท แต่เมื่อใส่กัญชาเข้าไป แก้วละเป็นร้อยก็มีคนซื้อหรืออย่างร้านอาหารช่วงก่อนโควิด -19 ถ้าเปิดขายเมนูใส่กัญชา คนยืนรอเต็มหน้าร้านเลย ตรงนี้ทำให้เห็นได้ว่า ตลาดมีอุปสงค์เยอะมาก มูลค่าตลาดก็สูงมาก นี่จึงทำให้เกษตรกรอยากจะปลูก แต่ความจริงที่ไม่ทราบจะรู้กันเมื่อไรก็คือ มีการนำใบกัญชงที่ดูคล้ายกัญชามาแอบใส่แทน แต่ใบกัญชงไม่อร่อยเหมือนใบกัญชา เพราะไม่มีสรรพคุณทางด้านการเจริญอาหาร อย่างไรก็ตามการนำมาผลิตอาหาร-เครื่องดื่มในเชิงสินค้าอุตสาหกรรมยังต้องขออนุญาตผลิตจาก อย. ซึ่งยังดำเนินการไม่ได้ในตอนนี้เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดปริมาณที่ให้ใช้จาก อย.(ได้ทั้ง THC, CBD)

 

ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 

 

กัญชงและกัญชาไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศหรือไม่

ความเป็นจริงก็คือ ทั้งกัญชงและกัญชาในประเทศไทยถูกล็อกมา 70 กว่าปี องค์ความรู้และโนว์ฮาวของการปลูกกัญชาก็อยู่ ‘ใต้ดิน’ ต้องแอบๆ ทำ ไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้ตามหลักวิชาการ หรือการพัฒนาสายพันธุ์อย่างจริงจังจากหน่วยงานวิชาการ เนื่องจากเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และในประเทศไทยก็ได้ปลดล็อกให้ทุกส่วนของกัญชงและกัญชาไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นช่อดอก ใบที่ติดกับช่อดอก และเมล็ดกัญชามาเมื่อ 2 ปีนี้เอง หลังองค์การสหประชาชาติ ‘แง้มประตู’ ปรับลดระดับการควบคุมให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากการพัฒนาแต่ละสายพันธุ์นั้นต้องใช้เวลาถึง 3 ปี

ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งมาจับเรื่องนี้ไม่นาน ดังนั้น ผมจึงคิดว่า ถ้าสัก 5 ปี (ตอนนี้ผ่านไป 2 ปีแล้ว) หลังจากการปลดล็อก การพัฒนาสายพันธุ์กัญชาของบ้านเราน่าจะดีขึ้นเพราะถ้าเทียบสายพันธุ์กัญชาบ้านเรากับต่างประเทศโดยดูจากการให้ผลผลิต เรายังสู้ต่างประเทศที่พัฒนาสายพันธุ์มานานไม่ได้ อีกทั้งค่าแรงในไทยแพง เครื่องมือ อุปกรณ์ก็ยังต้องนำเข้า

 

ถ้าไม่รอการพัฒนา แล้วทางลัดด้วยการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศเลยจะเร็วกว่าหรือไม่

จะมีปัญหาตามมาอีกว่า หากนำเข้าเมล็ดพันธุ์มาแล้วจะสามารถปลูกได้จริงหรือเปล่า เพราะโดยธรรมชาติ กัญชงชอบอากาศเย็น ไม่ชอบความชื้น ขณะที่กัญชาชอบอากาศร้อน นอกจากนี้ ในการปลูกกัญชงก็จะต้องได้สาร CBD สูงตามด้วย เมล็ดพันธุ์กัญชงที่นำเข้าเมื่อตอนปลูกในต่างประเทศได้ CBD  ถึง 24% แต่ผลจากการวิจัยพบว่าเมื่อนำมาปลูกในประเทศไทย CBD เหลือแค่ 4-5% เท่านั้นเอง ฉะนั้น จึงเป็นไปได้ว่า เรานำเข้าเมล็ดพันธุ์มาปลูกในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับธรรมชาติของกัญชงที่นำเข้าหรือเปล่า

เช่น ปัจจัยทางด้านอุณหภูมิและความชื้น แล้วจะมีการควบคุมอย่างไร เพื่อมิให้การปลูกกัญชงแล้วกลายเป็นกัญชา คือ มีปริมาณของ THC เพิ่มขึ้นจนเกินกำหนดของกฎหมาย

เนื่องจาก กัญชาเป็นพืชควบคุม และเป็นพืชที่มีการกระทำอย่างผิดกฎหมายมาก ขนาดยังไม่ได้ปล่อยเสรี ก็มีปลูกกันมากมายแล้วทุกวันนี้ ในแปลงกัญชงของเกษตรกรก็มีกัญชาแฝงอยู่ด้วยเต็มไปหมดแล้วแยกแยะยาก เพราะหน้าตาเหมือนกันเปี๊ยบ แต่ต่างกันที่สารสำคัญ เวลาใครถาม เกษตรกรก็จะบอกว่า ‘กัญชง’ แต่จริงๆ ก็มีแฝงๆ กันไปในแปลงนั่นแหละ นี่จึงทำให้ประเทศไทยต้องออกกฎหมายล็อก ทั้งกัญชงและกัญชา เพราะเหมือนกันมากจริงๆ แม้แต่เจ้าหน้าที่ก็แยกไม่ออก

ดังนั้น เมื่อมีการอนุญาตได้ตามกฎหมายก็มีการมองหาเมล็ดพันธุ์กัญชง ซึ่ง มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้รวบรวมพันธุ์กัญชงตั้งแต่ปี 2547 และเริ่มคัดเลือกพันธุ์ให้มีปริมาณสารเสพติด THC ต่ำ โดยใช้วิธีการคัดเลือกรวม (Mass Selection) และในปี 2554 ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์กัญชงต่อกรมวิชาการเกษตร 4 สายพันธุ์ คือ RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4 (Royal Project Foundation 1, 2, 3, 4) มีสาร THC ต่ำกว่า 0.3% (0.072- 0.270%) และมีปริมาณ CBD เฉลี่ย 0.824% (0.594 - 1.100 %) และมีเปอร์เซ็นต์เส้นใยเฉลี่ย 13.9 % (12.9 – 14.7 %) สามารถเจริญเติบโตและในพื้นที่สูงที่มีแตกต่างกัน แต่ที่ต้องรู้คือ ทั้ง RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4 ได้พัฒนาในส่วนของการใช้งาน เพื่อใช้เส้นใยทั้งหมด

โดยไม่ได้พัฒนาเพื่อสกัดเป็นน้ำมัน อย่างไรก็ตาม เราก็พบว่า RPF3 มีน้ำมันสูงสุดถึง 17% จากการทดสอบของภาคเอกชน ดังนั้น เมื่อมีสายพันธุ์เท่านี้ การตั้งเป้าจะเป็นพืชเศรษฐกิจจึงต้องอนุญาตให้มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงเข้ามาในประเทศไทยก่อน แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศและอื่นๆ ที่จะทำให้เราไม่ได้ผลผลิตตามที่คาดหวัง

 

แล้วเมื่อไรประเทศไทยจะมีสายพันธุ์ระดับ ‘ดาวรุ่ง’ ที่จะสู้กับตลาดต่างประเทศได้หรือไม่

ประเทศไทยมีสายพันธุ์กัญชาระดับดาวรุ่ง ติดอันดับ TOP 5 ที่ฝรั่งชื่นชอบมากคือ ‘พันธุ์หางกระรอก’ และสายพันธุ์กัญชาในไทยก็มี ‘หางกระรอก’ ผสมอยู่ เพียงแต่จะมีกี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น คือ ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย คือ เรามีสายพันธุ์กัญชาหางกระรอกแบบ

พันธุ์แท้กับพันธุ์ทาง เช่น ถ้ามีหางกระรอกสัก 70% ก็จะมีสาร THC มาก อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะพบว่า ทุกสายพันธุ์กัญชาที่มีกัน 30 กว่าแหล่งทั่วประเทศนั้นเป็น ‘เครือญาติ’ กันสักเท่าไร ซึ่งตรงนี้ก็ต้องให้เวลากับนักวิชาการด้วย

แต่ประเด็นก็มีเรื่องน่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้มีการลักลอบนำเอาเมล็ดพันธุ์กัญชาของไทยออกไปต่างประเทศด้วย อาจจะโดยพกติดตัวไป หรือใส่ซองส่งทางไปรษณีย์ เนื่องจากเมล็ดมีขนาดเล็กมากทำให้การลักลอบนำออกทำได้ง่ายมาก ทำให้กัญชาสายพันธุ์ ‘หางกระรอก’ ของไทยเข้าไปในตลาดโลก และมีการจดสิทธิบัตรในต่างประเทศหลายประเทศแล้ว เนื่องจากฝรั่งได้เมล็ดพันธุ์ไปก็จดสิทธิบัตรก่อน โดยที่ประเทศไทยไม่ทันได้จดสิทธิบัตรไว้

 

อาจารย์มองว่า ปัญหาและความท้าทายของตลาดนี้อยู่ที่ไหน

ในฟากของเกษตรกร นอกจากการตัดสินใจว่า จะเลือกปลูกพืชแบบใดระหว่างกัญชาและกัญชง ซึ่งหากสนใจปลูกกัญชาก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมโดยกระทรวงสาธารณสุข เพราะกัญชาเป็นพืชควบคุม ต้องมี ‘ผู้รับผิดชอบ’ และเป็นพืชที่ต้องใช้กันในทางการแพทย์ฉะนั้น หากเกษตรกรอยากจะปลูกก็ไม่สามารถปลูกเองได้ แต่ต้องปลูกร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และต้องรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน

ปัจจุบันก็มีวิสาหกิจชุมชนขอเข้ามาหลายร้อยแห่ง เกือบถึงหลักพันแห่งอยู่แล้ว แต่ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกจริงก็มีเพียง 200 กว่าแห่งเท่านั้นและอนุญาตให้ปลูกได้ 50 ต้น เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์เท่านั้น ส่วนอื่นๆ ที่ไม่ผิดกฎหมายก็สามารถนำไปใช้อย่างอื่นได้ เช่น ใส่อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น 

 

 

แต่ในทางปฏิบัติ เกษตรกรยังขาดความรู้เชิงวิชาการโดยทั่วไปชาวบ้านมักจะใช้ปุ๋ยขี้ไก่ปลูก ทำให้ผลผลิตที่ได้มีการปนเปื้อน

สารโลหะหนักและใช้ในทางการแพทย์ไม่ได้ ซึ่งปัญหาทำนองนี้ก็เกิดกับการปลูกกัญชงและกัญชาในประเทศเพื่อนบ้านเราด้วย และถูกยุโรปปฏิเสธการนำเข้า เนื่องจากมีสารโลหะหนักปนเปื้อน ดังนั้น เพื่อให้ได้ต้นกัญชาแห้งที่มีคุณภาพเกรดทางการแพทย์

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในฐานะหน่วยงานต้นน้ำจึงปลูกภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เป็นไปตามแนวทางของหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านเกษตรอินทรีย์หรือ IFOAM, USDA Organic Standard ซึ่งเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากลในระดับโลกและด้วยกัญชายังมีสถานะเป็นยาเสพติด มาตรการรักษาความปลอดภัยจึงจำเป็นต้องดำเนินการตามแนวทางของหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดี หรือ GSP ใช้ระบบความปลอดภัยตามแบบมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ควบคุมการผลิตในบริเวณที่ควบคุมอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ ก็เป็นความท้าทายในส่วนของกระบวนการกลางน้ำ ซึ่งขึ้นกับความสามารถในการเปลี่ยนสารสำคัญที่มีอยู่ในกัญชา ไม่ว่าจะเป็น THC, CBD, สารเทอร์พีน (Terpene) ซึ่งเป็นสารที่ให้กลิ่นเฉพาะเป็นน้ำมันหอมระเหยสกัดที่มีในกัญชา/กัญชง ทำให้มีสีสันที่หลากหลายในเรื่องของกลิ่นและรสชาติที่โดดเด่น

อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมให้กัญชา/กัญชงออกฤทธิ์มีผลช่วยบำบัดรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ฯลฯ เนื่องจากที่จริงแล้ว สารสำคัญในกัญชานี้มีเกือบ 500 ชนิด เพียงแต่ที่ผ่านมา เราไปโฟกัสที่สารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่น มีคุณสมบัติทำให้เจริญอาหาร หลับดี มีคุณสมบัติในทางยา

ความท้าทายอีกประการจากการขอใบอนุญาตปลูก ตลอดจนการขอใบอนุญาตสกัดและการขอใบอนุญาตเพื่อการแปรรูป ในทางปฏิบัตินั้นการที่ อย. ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้ธุรกิจสกัดและธุรกิจแปรรูปนั้นจะทำให้ทราบถึงจำนวนโควตาความต้องการของตลาดด้วยขณะเดียวกัน เกษตรกรที่จะปลูกก็ต้องมาเข้ามาในเครือข่ายของหน่วยงานหรือโรงสกัด เพื่อเจรจากันถึงความต้องการของผู้รับซื้อว่า ต้องการน้ำมันที่มีสาร THC สัดส่วนเท่าใด เนื่องจากหากมีสาร THC เกินกว่ากม.กำหนดก็จะผิดกฎหมาย ถูกจับกุม ถูกยึดสินค้าอีก

ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังในส่วนของธุรกิจ และทำให้ได้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเกษตรกรก็ต้องเข้าให้ถึงและมีความรู้ ไม่ใช่ไม่รู้ว่า พืชที่ตัวเองปลูกนั้นเป็นกัญชงหรือกัญชา - อย่างนี้ไม่ได้ ซึ่งจะทำให้โรงสกัดก็ไม่อยากเสี่ยงรับซื้อ เพราะอาจทำให้น้ำมันที่ได้มี THC เกินกำหนดก็จะผิดกฎหมายอีก หรือเมื่อต้องเข้าโรงงานแปรรูป โรงงานก็จะไม่อยากรับซื้อเช่นกัน เพราะเมื่อได้สารสกัดออกมาแล้วก็ต้องไปขายให้กับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม หรือโรงงานแปรรูปอื่นๆ หากมี THC เกินกำหนด สินค้าทั้งล็อตก็จะถูกปฏิเสธอีก หนำซ้ำผิดกฎหมาย ถูกจับ ถูกยึดใบอนุญาตการผลิตอีก

ขณะเดียวกันการควบคุมด้วยโควตานี้ ก็เท่ากับเป็นการควบคุมอุปสงค์อุปทานโดยอัตโนมัติ โดยจะไม่ทำให้ราคากัญชงและกัญชาตกต่ำ อย่างที่เกิดขึ้นมากับพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพด ยางพารา หรือมันสำปะหลัง จนรัฐต้องเข้ามาพยุงราคา, อุดหนุนหรือใช้มาตรการเยียวยา ซึ่งประเด็นของกัญชงและกัญชาจะมีความอ่อนไหวมากกว่าพืชเศรษฐกิจปกติ หากทำให้รัฐต้องเข้ามาแทรกแซงหรือเยียวยา เนื่องจากกัญชงและกัญชาเป็นพืชที่มีสารเสพติด

ในส่วนของโรงงานสกัดเมื่อได้โควตามา เช่น 5 หมื่นลิตรก็ต้องมาดูว่า การจะได้น้ำมัน 5 หมื่นลิตรนั้นจะต้องใช้พื้นที่กี่ไร่ ปลูกพันธุ์อะไร ต้องรับซื้อราคาเท่าไร ปลูกครบกำหนดตามโควตาหรือยัง ฯลฯ เพราะถ้าปลูกเกินโควตาก็จะทำให้ราคาตก ดังนั้นโรงงานสกัดจึงต้องมีส่วนช่วยรัฐควบคุมอุปสงค์ - อุปทานในตลาด โดยการประสานงานและเจรจากับ อย. เนื่องจากเป็นส่วนที่กระทบกับธุรกิจของตนเองด้วย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการผลิตเพื่อสกัดในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากภาคเอกชนรอกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติจากภาครัฐปัญหาคือ มากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ดี ทำนองนี้หรือเปล่า

ใช่ ตลาดนี้เป็นเรื่องของดีมานด์ ซัพพลาย ซึ่งประเทศไทยไม่เก่งเรื่องนี้ คือ เราไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมว่า การปลูกพืชประเภทนี้จะปลูกได้เต็มที่เท่านี้ๆ หรือถ้าปีหน้าอยากจะขยายก็ขยายได้ แต่เมื่อขยายจนเต็มเพดานสูงสุดแล้วก็ต้องให้มันหยุดอยู่แค่นั้น แต่ประเทศไทยไม่มีตรงนี้ ใครอยากปลูกมัน ปลูกข้าวโพด ยางพารา ฯลฯก็ปลูกไป ไม่มีใครมาควบคุมได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วเรื่องแบบนี้ควรเป็นบทบาทของทุกกระทรวงที่ควรมาร่วมมือกัน ขณะที่ต่างประเทศก็จะเป็นบทบาทของสมาคมผู้ปลูกอะไรสักอย่างมาทำหน้าที่ควบคุมสมาชิกกันเอง แต่ของประเทศไทยภาครัฐไม่ได้ให้สิทธิ์กับสมาคมเหล่านี้เพื่อทำหน้าที่ควบคุมกันเอง ถ้าหากมีการให้สิทธิ์ให้สามารถควบคุมกันเองได้ ผมก็เชื่อว่า สมาคมเหล่านี้จะควบคุมผลผลิตตนเองได้อย่างเข้มแข็ง 

 

 

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ธุรกิจภาคเอกชนอาจไม่ไว้วางใจกับระบบ Contract Farming จึงต้อง Backward ไปปลูกเอง

             จริงๆ สิ่งที่ดีที่สุดคือ การทำไร่กัญชาของตนเอง

            แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือ จะได้รับใบอนุญาตหรือเปล่า

            ส่วนโรงงานสกัด ถ้าได้รับใบอนุญาตก็สามารถมีได้

นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการทำการเกษตรของประเทศไทยก็มีมากอยู่เช่นกัน เช่น ปลูกกัญชา 100 ไร่ก็อาจจะต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศ ฝนฟ้าน้ำท่วม โรคแมลง หรือพายุเข้าต้นกัญชาล้มหมด หรือปลูกมาแล้วไม่ได้ค่าของสารสกัดตามที่คาดหวัง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะค่าของธาตุอาหารในพืช หรือปัญหาอากาศร้อนจัด ซึ่งจะมีผลกระทบกับพืชโดยตรงทำให้ชะงักการเจริญเติบโต

ดังนั้น ธุรกิจต่างๆ เหล่านี้จึงมักจะกระจายความเสี่ยงไปที่เกษตรกร ทำให้เป็นการลดความเสี่ยงของผู้ลงทุน และใช้วิธีจับมือกับวิสาหกิจชุมชนและโรงสกัดให้มาส่งของที่ตนเอง มิฉะนั้น ของที่ผลิตได้ไปไหนเช็กไม่ได้ก็ผิดกฎหมาย  

 

จากปัจจัยเหล่านี้ บริษัทต่างๆ จะสามารถออกสินค้าได้ตามแผนที่ตั้งเป้าไว้หลังกลางปีหรือ

เป็นอีกหนึ่งความท้าทายเช่นกัน เนื่องจากขณะนี้ กองอาหาร อย.กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณากันถึงสัดส่วนการใช้กัญชงในอาหารและเครื่องดื่มได้ในปริมาณเท่าใด บริโภคแค่ไหนถึงเมา บริโภคแค่ไหนถึงจะขับรถแล้วไม่หลับ ฯลฯ .ซึ่งข้อกำหนดต่างเหล่านี้เราไม่สามารถอาศัยทางลัดอ้างอิงข้อมูลจากฝรั่งมาใช้ได้ เพราะน้ำหนักตัวขนาดตัวของคนไทยกับฝรั่งไม่เหมือนกัน อาหารการกินของไทยกับฝรั่งก็ต่างกัน นอกจากนี้ สภาพอากาศก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การออกฤทธิ์ของสารสำคัญ แต่ละตัวในกัญชงและกัญชาจึงไม่เหมือนกันไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามก็จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดถึงปริมาณและเพดานสูงสุดการใส่ส่วนผสมของสารสำคัญของ THC ตรงนี้ ก็มีประเด็นอีกเช่นกันว่า ใส่มากก็ไม่ได้ ใส่น้อยก็กลายเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งการกำหนด Magic Number ตรงนี้ก็เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตและแปรรูป

อีกทั้งเพื่อบอกกับผู้บริโภค อย่างเช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่ระบุว่า สตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม และไม่ควรดื่มเกินวันละสองขวด เป็นต้น ฉะนั้น ประเทศไทยจึงต้องทำการศึกษาและวิจัยในส่วนนี้เอง แต่ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่า ประเทศไทยก็เพิ่งเข้ามาจับเรื่องนี้สัก 2 ปีเอง ขณะที่ประเทศอื่นๆ ทำมาเป็นสิบปีแล้ว

ฉะนั้น เราก็คงต้องมีกระบวนการลองผิดลองถูก (Trial & Error)ไปก่อน ถ้าหากกินแล้วไม่ดีหรือมีประเด็นก็ค่อยๆ สั่งลด สูตรก็จะค่อยๆปรับเปลี่ยน เพื่อหาว่าปริมาณสูงสุดของการใส่กัญชาควรเป็นเท่าไร และขีดจำกัดสูงสุดอยู่ที่ไหน เด็กที่สามารถดื่มได้ควรมีอายุเท่าไร เนื่องจากเด็กยุคนี้เห็นอะไรแปลกๆ ก็อยากลอง จ่ายเงินง่าย ไม่คิดมาก และขอซื้อเพื่อให้ได้ลองก่อน

 

 

การใช้กัญชาลงในเครื่องดื่มแล้วทำให้มีปัญหาเรื่องกลิ่นเพี้ยนหรือไม่

มีอย่างในกาแฟ ปกติคนดื่มกาแฟจะต้องการกลิ่นหอมของกาแฟด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาว่า ต้องใส่เป็นปริมาณเท่าใด กลิ่นกาแฟจึงจะไม่หายไป แล้วใส่มากไปก็ไม่ดีใส่น้อยไปก็เท่ากับหลอกลวงผู้บริโภค ฉะนั้น ก็ต้องมีการทดสอบทางยาและทางการแพทย์ทั้งหมด

 

ทำไมราคากัญชาของแม่โจ้ถูกกว่าท้องตลาดถึงสิบเท่า

เป็นนโยบายของทางมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้ผู้คนเข้าถึงกัญชาได้ ขณะที่ราคาตลาดขายกันถึงหลักหมื่นบาทแล้ว แต่สำหรับแม่โจ้เราขายใบสดกิโลละ 1,000 บาทก็พอแล้ว เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้จริงๆ สำหรับใบสดจะมีประมาณ 600-1,000 ใบ/กิโลกรัมแล้วแต่ขนาดของใบ แต่ก็มีกรณีของคนป่วยที่ซื้อ เพื่อใช้รักษาอาการป่วย อย่างถ้ามีเงินน้อย 50 บาทก็ซื้อได้ครึ่งขีด หรือ 100 บาทก็สำหรับหนึ่งขีด อย่างลูกค้าบางคนดั้นด้นเข้าที่สถาบันบอก “ผมเป็นมะเร็ง” พูดเท่านี้ก็ไม่ต้องมีคิว ต้องเข้าใจว่า คนป่วยด้วยโรคนี้ปกติก็เครียดมากอยู่แล้ว เราก็ขายเลยหนึ่งขีด 100 บาท ได้ 60 ใบ และในการใช้งานก็หนึ่งใบหรือครึ่งใบเท่านั้น โดยอาจจะทำเป็นเครื่องดื่มได้หนึ่งเดือนเก็บแช่ตู้เย็นไว้ อย่างน้อยกัญชาของเราก็จะช่วยในแง่จิตใจของคนป่วยที่ไม่มีความหวัง ไม่มีที่ไปแล้ว และในการซื้อจากเรา แม่โจ้จะออกเอกสารการซื้อขายให้กับผู้ซื้อด้วย เผื่อว่าถูกตำรวจตรวจก็สามารถแสดงให้เห็นได้ว่า เป็นการซื้อมาอย่างถูกกฎหมาย

จริงๆ อยากให้ฟรีเลยด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากเป็นทรัพย์สินของทางมหาวิทยาลัยจึงให้ฟรีไม่ได้ แต่อย่างน้อย เราก็ได้ช่วยให้คนป่วยมีความหวัง กินอิ่ม นอนหลับ ซึ่งก็น่าจะช่วยให้ร่างกายกายฟื้นฟูขึ้น แต่ไม่ได้บอกว่า จะรักษาแล้วหาย ผมคิดว่า เราช่วยกันไปช่วยกันมาแบบนี้ สังคมจะอยู่ด้วยกันได้ เพราะถ้าคนกลุ่มนี้มีเงินคงมาไม่ถึงแม่โจ้คงหาซื้อตามอินเทอร์เน็ตไปแล้ว

 

ถึงตอนนี้ เปิดเสรีเพื่อสานฝันสู่ โปรดักท์ แชมเปี้ยน เป็น New S-Curve ให้กับระบบเศรษฐกิจไทยได้หรือยัง

หากจะถามว่าเปิดเสรีจะได้หรือไม่ - ผมก็ตอบตอนนี้ได้เลยว่า ล้นตลาดแน่นอน แล้วราคาก็คงไม่ต่างกับข้าวโพด และในอนาคตก็คงไม่ใช่พืชเศรษฐกิจอีกต่อไป แล้วอย่าลืมว่า กัญชงและกัญชา นั้นประเทศเพื่อนบ้านเรารอบๆ ปลูกกันหมดทุกประเทศ ทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม นอกจากนี้ ก็เป็นจีน ซึ่งปลูกกัญชงส่วนใหญ่ เนื่องจากมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกัน ทางโลกตะวันตกก็มีประเทศสำคัญๆ อย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดาที่พัฒนาในส่วนตลาดของกัญชงและกัญชามาก่อนประเทศไทย ซึ่งตรงนี้ยังถือว่าเป็นโชคดีที่เรามีการห้ามนำเข้าและห้ามจดทะเบียนจึงทำให้ไม่ทะลักเข้ามา

นอกจากนี้ สายพันธุ์กัญชงที่นำเข้ามาก็มีตั้งแต่ 5, 10, 30 เหรียญสหรัฐ ซึ่งคนไทยก็มักจะมีความเชื่อว่า ของนอกย่อมดีกว่าของไทยแต่การนำเข้าเมล็ดพันธุ์นั้นไม่ได้ผลผลิตตามที่คิด ซ้ำเกษตรกรบางคนยังต้องใช้วิธีซื้อหลอดไฟหลอดละเป็นหมื่น เพื่อให้มีแสงสว่างนานขึ้น 15 ชั่วโมงสำหรับแปลงกัญชง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเบ็ดเตล็ดอีก ต้องซื้อปุ๋ย, ฮอร์โมนและโรงเรือนจากผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ ฉะนั้น คำถามคือแล้วใครจะได้ประโยชน์ เพราะสำหรับประเทศไทยถ้าไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีในส่วนนี้ เราก็จะต้องใช้เทคโนโลยีของฝรั่งทั้งหมด

แล้วเมล็ดพันธุ์ที่ได้ เราไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อได้เลย อาจเป็นเพราะเขาเป็นเจ้าของสิทธิบัตรและผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้สำหรับการเพาะปลูกแค่ครั้งเดียว และสาเหตุหนึ่งในนั้นคือ เมล็ดพันธุ์ที่ได้มานั้นอาจเป็นการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) และปัจจุบันเทคโนโลยี GMO ใช้เอนไซม์ตัดต่อ ฉะนั้น จะไม่มีรอยแผลเลยทำให้ตรวจสอบย้อนกลับได้ยากมาก 

 

 

รัฐคุมกำเนิดจำนวนการก่อตั้งโรงสกัดด้วยหรือเปล่า

รัฐควบคุมโรงงานสกัดตามปริมาณตลาดว่า แต่ละรายจะใช้ปริมาณเท่าใด ช่วงแรกอาจจะอนุญาตให้มีจำนวนน้อย เมื่อไม่เพียงพอค่อยๆ อนุญาตให้เปิดเพิ่มได้ เพราะสินค้าไม่ใช่จะบูมได้ภายในวันเดียวแต่ตลาดจะค่อยๆ เติบโตขึ้น

 

จะมีวันที่เห็นการส่งออกกัญชงและกัญชาในตลาดต่างประเทศหรือไม่

ยังมีโอกาส โดยเฉพาะในส่วนของ CBD แต่ที่สำคัญคือ ราคาต้องแข่งขันได้ แต่ปัญหาคือ ต้นทุนของประเทศไทยแพงทำให้ราคายังแข่งขันไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับกัญชงและกัญชาคือ การทำเป็นสินค้าแปรรูป หรือเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่ม(Value Added Product) อย่างการส่งมันสำปะหลังไปยุโรปก็แค่เป็นอาหารสัตว์ เราส่งเนื้อสัตว์ไปยุโรปไม่ดีกว่า หรือ เพราะสำหรับงานในเชิงวิจัยแล้ว ประเทศไทยเรามีนักวิชาการที่เก่งๆ มากมายและให้เวลาสักนิด เชื่อว่า ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำด้านกัญชงและกัญชาได้

[อ่าน 8,008]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดใจ ‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘Cafe Chilli’ ให้เป็นแบรนด์เรือธง ของ สะไปซ์ ออฟ เอเซีย
ทีเด็ด POP MART เจาะตลาดไทยอย่างไร ให้มัดใจผู้บริโภคอยู่หมัด
‘เดอะคลีนิกค์’ เผยผลงานโดดเด่นปี 66 โกยรายได้กว่า 2.3 พันล้าน เดินหน้าบุกตลาดความงาม
“เพราะชีวิตคือบททดสอบ” เปิดเรื่องราวชีวิตหญิงแกร่ง CHRO แห่งทรู คอร์ปอเรชั่น
‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘บิสโตร เอเชีย’ ให้มียอดขายเติบโตขึ้นถึง 70%
ศุภลักษณ์ อัมพุช กับ New Era ของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่เป็นมากกว่าแค่ช้อปปิ้ง แต่คือการสร้างย่านการค้า
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved