'สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย' GIT 'ลมใต้ปีก' อุตสาหกรรมอัญมณี-เครื่องประดับ
19 Jul 2021

 

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้รับความท้าทาย และถูกทดสอบอย่างหนักหน่วง นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ทว่า ภารกิจในส่วนของการพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจร เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ยังคงเป็นบทบาทที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็น 'ลมใต้ปีก' ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณี - เครื่องประดับ ทั้งโซ่ คุณค่า (Value Chain)

 

สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์และเทรนด์ของตลาด ตลอดจนโครงการและการดำเนินงานต่างๆ เพื่อมุ่งขับเคลื่อนและยกระดับอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ข้อจำกัดของวิกฤติโควิด-19

 

สถานการณ์อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยและของโลกในช่วงวิกฤติโควิด-19 เป็นอย่างไรบ้าง

ผลกระทบของโควิด-19 นั้นเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะที่เป็นประเทศผู้ผลิตที่มีมูลค่าตลาดในประเทศรวมการส่งออก ก่อนเกิดโควิด-19 จะสูงถึงหลักล้านล้านบาท แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับแต่ปีที่แล้วทำให้หลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการล็อคดาวน์ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การค้า การขนส่งต้องหยุดชะงักลง รวมถึงการยกเลิกงานแสดงสินค้าจำนวนมากส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานพลอยสีให้หยุดชะงักลงตามไปด้วย และทำให้ตลาดค้าพลอยสีหดตัวลง อย่างในประเทศไทยที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ถนนที่มีร้านจิวเวลรี่ใหญ่ๆ ที่รับแต่นักท่องเที่ยวอย่างเดียว บางร้านรับนักท่องเที่ยวปีละล้านคนก็ต้องปิดตัวลงตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ในไตรมาส 2/2563 และปิดต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้

สำหรับตัวเลขการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทยก็ติดลบไปกว่า40% เพียงแต่ในภาพรวมตัวเลขการส่งออกไม่ลด เพราะได้อานิสงส์จากราคาทองคำช่วงต้นปีที่แล้วที่ขยับจากบาทละ 19,000 เป็นกว่า 30,000บาท ซึ่งเป็นช่วงที่คนเทขายทองคำออกมามาก จะเห็นชัดว่า ตัวเลขจากทองคำโตขึ้นอย่างชัดเจนมาก แต่ถ้าดูตัวเลขของจิวเวลรี่จะเห็นว่ายอดตกมากและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มพลอยมีค่าทั้งหมด เช่น ทับทิม ไพลิน ฯลฯ ที่ติดลบไปกว่า 60%

แต่การที่หลายประเทศเริ่มได้รับวัคซีนโควิดช่วงต้นปี 2563 ทำให้เศรษฐกิจโลกทยอยเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว ตลาดพลอยสีจึงเริ่มปรับตัวในทิศทางดีขึ้น เห็นได้จากยอดส่งออกไตรมาส1/2563 ที่ติดลบในอัตราลดลง โดยตลาดส่งออกที่เติบโตดี ได้แก่ ฝรั่งเศส (168.01%) สวิตเซอร์แลนด์ (10.07%) สิงคโปร์ (38.36%) เบลเยียม (128.01%) และรัสเซีย (211.08%) ที่สำคัญ Future Market Insights (FMI) คาดการณ์ว่า ตลาดพลอยสีของโลกในช่วงปี 2563 – 2573 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.7% ซึ่งมูลค่าตลาดพลอยสีของโลกในปีนี้จะมีมูลค่า 4.3 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน ก็คาดว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคฟื้นตัวและมีความต้องการเครื่องประดับตกแต่งพลอยสีเพิ่มมากขึ้น โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลักที่มีสัดส่วน 85% ของภูมิภาคนี้ ส่วนตลาดสำคัญในยุโรป ได้แก่ สหราชอาณาจักร ซึ่งมีความต้องการพลอยสีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและน่าจะทำให้ตลาดพลอยสีเติบโตกว่า 8%ในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ความต้องการพลอยสีในเยอรมนีและฝรั่งเศสก็น่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนตลาดเอเชีย จีนจะเป็นตลาดสำคัญที่กลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมนำเครื่องประดับพลอยสีมาใช้ในงานแต่งงาน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว

 

เทรนด์การปรับตัวของผู้ประกอบการช่วงโควิด-19 เป็นอย่างไร

การปรับตัวมีหลายด้าน แต่ที่เห็นชัดเจนคือ การใช้ประโยชน์จากออนไลน์ อย่างเช่น การขายจิวเวลรี่บนออนไลน์ ซึ่งหากมีการขายกลุ่มระดับกลางถึงระดับบน (Middle to High) โดยมีระดับราคาบวกลบที่ 1,000 เหรียญสหรัฐ (3 หมื่นบาท) และเป็นราคาที่คนจะกล้าซื้อบนออนไลน์ แต่ถ้าเป็น Fine Jewelry คนที่จะตัดสินใจซื้อจริงๆ ต้องมาเลือก เพื่อดูสี ดูพลอย ฯลฯ ด้วยตนเอง กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ก็จะได้เห็นเทรนด์การจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญๆ ของโลกที่จะยังคงเป็นรูปแบบออนไลน์ หรือ Virtual อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีหน้าคนส่วนใหญ่ในหลายประเทศก็จะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว คงจะเริ่มกลับมาจัดงานแฟร์แบบ On-site ได้ และคาดว่าในอนาคตก็จะเป็นการจัดงานแฟร์ผสมผสานระหว่าง On-site กับ Online

 

การซื้อขายบนออนไลน์อาจทำให้ได้สินค้าปลอมหรือได้สินค้าไม่ตรงกับที่คาดหวังหรือไม่

นี่จึงทำให้ GIT ผลักดัน 'โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ' Buy with Confidence(BWC) ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้ผู้ซื้อมีตัวกลางที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบสินค้าว่า สินค้าที่ได้รับใน Certification ถูกต้องตรงกัน  และแนะนำให้ผู้ซื้อเข้าไปซื้อสินค้ากับร้านที่มีสติ๊กเกอร์ Buy with Confidence หรือในการซื้อขาย ถ้าไม่มั่นใจกับชิ้นงานนั้นๆ ก็สามารถร้องขอให้ร้านส่งมาที่ GITเพื่อรับรองก็ได้ว่า เป็นอัญมณีแท้/เทียม ฯลฯ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เราได้ขยายการบริการจุดรับ – ส่งอัญมณีและเครื่องประดับนอกสถานที่ ภายใต้โครงการ BWC ที่อาคารสิทธิกร ถนนมเหสักข์ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจค้าพลอยสำคัญของประเทศ เพื่อให้บริการกับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับด้วย

ขณะเดียวกัน GIT ก็เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลกอย่าง eBay ในช่วงเริ่มแรกจะเป็นการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ BWC ที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งเรื่องเทรนด์ของตลาด โลจิสติกส์ การปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ และกฎหมาย ระบบภาษี โดยต่อยอดกับผู้ที่อยู่โครงการ Buy with Confidence จำนวน 100 คน และผู้ที่ต้องการเข้ามาร่วมทำตลาดในช่องทางนี้ ก็สามารถกลับเข้ามาในโครงการในเฟส 2 ได้และมีแนวโน้มที่เราจะทำความร่วมมือในรูปแบบ MOU กับ eBay ในอนาคต

 

ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์จะช่วยผ่าทางตันเรื่องการเดินทางมาซื้อพลอยในไทยได้หรือไม่

คิดว่า มีแนวโน้มเป็นไปได้ จากเดิมที่ก่อนหน้า Buyer ที่ฉีดวัคซีนแล้วต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อซื้อพลอย โดยไม่ต้องกักตัวนั้น ศบค.ยังไม่อนุญาต เพราะการฉีดวัคซีนก็ไม่ได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ นอกจากนี้ ผู้ที่เดินทางเข้ามาก็มีโอกาสทั้งแพร่เชื้อและรับเชื้อ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็มี Buyer จากจีนที่ยอมมากักตัวเพื่อมาซื้อพลอย แต่ซื้อพลอยในราคาไม่สูงมาก ส่วนกลุ่มที่จะซื้อพลอยที่มีมูลค่าสูงๆ อาจจะเข้ามาในรอบของ 'ภูเก็ตแชนด์บ๊อกซ์' โดยเดินทางเข้ามาแบบฮอลิเดย์ประมาณ  1-2 อาทิตย์ที่ภูเก็ต จากนั้นก็เดินทางทั่วประเทศ ซึ่งก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องช่องทางการเข้ามาซื้อพลอยได้

 

สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ

 

ไทยโดดเด่นที่สุดทางด้านใดในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

จุดแข็งของอุตสาหกรรมนี้ก็คือ ภูมิปัญญาการปรับปรุงคุณภาพพลอยสีที่ยากจะหาใครทัดเทียมได้ แม้ว่าวันนี้ประเทศไทยจะมีพลอยน้อยลงก็ตาม แต่ทับทิมจากเหมืองต่างๆ ของโลก อาทิ แอฟริกาก็จะต้องมาที่ประเทศไทย เพื่อเผา เจียระไน ตั้งน้ำ เนื่องจากเรามีความเชี่ยวชาญอย่างมาก และเชี่ยวชาญถึงขนาดที่สามารถเผาปรับสีทับทิมได้ตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีช่างฝีมือเจียระไนอัญมณี รวมถึงช่างฝีมือผลิตเครื่องประดับมีทักษะความชำนาญเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งยังอยู่ในชัยภูมิที่ตั้งเชื่อมโยงกับทุกภูมิภาคของโลก เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตของโลก

ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในอันดับ 16 ของโลก(4 เดือนแรก) นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ส่งออกพลอยเนื้อแข็งเจียระไน(ทับทิม แซปไฟร์ มรกต) อันดับ 4 ของโลก ส่งออกพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน อันดับ 2 ของโลก และส่งออกเครื่องประดับเงินอันดับ 2 ของโลก

นอกจากด้านทักษะฝีมือแล้วประเทศไทยยังมีสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่างๆ โดยปัจจุบันภาษีนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับทุกรายการเป็นศูนย์ อีกทั้ง มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาที่นำวัตถุดิบอัญมณี (ที่ยังไม่เจียระไน) เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยผู้ซื้อจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% ของรายได้จากการขายอัญมณี

 

โครงการพัฒนาเครื่องประดับในภูมิภาค มีความคืบหน้าอย่างไร และบทบาทของ GIT ผ่านโครงการอื่นๆ 

โครงการพัฒนาเครื่องประดับในส่วนภูมิภาคในปี 2563 GIT ได้เข้าไปฝึกอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการในอีสานใต้ (นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ อบลราชธานี) ทั้งรูปแบบสินค้า เทคนิคการผลิต และการตลาดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เครื่องประดับ นำเอกลักษณ์ของภูมิภาคที่สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย และได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ จึงนำมาต่อยอดเป็น 'โครงการพัฒนาอัตลักษณ์ ยกระดับเครื่องประดับอีสานใต้ ก้าวไกลโกอินเตอร์' ในปีนี้ เพื่อพัฒนาเทคนิคการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างแบรนด์ รวมถึงเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยขณะนี้ทีมงานผู้เชี่ยวชาญกำลังลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและจะได้เห็นชิ้นงานภายในกันยายนนี้ และเมื่อชิ้นงานสำเร็จ GIT จะนำไปจำหน่ายผ่านช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์

GIT ยังมีโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ 5 ภูมิภาค ซึ่งโครงการนี้จะให้ความรู้เรื่องการเขียนแผนธุรกิจ และการทำธุรกิจอย่างมืออาชีพให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น (Smart Jeweler) ในภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคเหนือ(เชียงใหม่-สุโขทัย) ภาคกลาง(กรุงเทพฯ) ภาคตะวันออก(จันทบุรี) ภาคใต้(นครศรีธรรมราช) และภาคตะวันตก(กาญจนบุรี) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับยุคใหม่ ทั้งทายาทธุรกิจ ช่างฝีมือ นักออกแบบ และเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าสู่วงการธุรกิจอัญมณี และโดยเน้นการพัฒนาด้านเทคนิคการผลิต การใช้วัสดุทดแทนเพื่อสร้างความแตกต่าง และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า, ด้านการออกแบบ การหาเอกลักษณ์ให้กับสินค้าเครื่องประดับ, ด้านการบริหารจัดการ การจัดการต้นทุนวัตถุดิบ การจัดทำบัญชี การยื่นภาษี การบริหารธุรกิจ และด้านการตลาด เพิ่มความรู้เกี่ยวกับการตลาด และการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ

นอกจากนี้ ก็มีโครงการศูนย์กลางการลงทุน และการผลิตเครื่องประดับในภาคตะวันออก ที่จันทบุรี ตราด และสระแก้ว เพื่อยกระดับการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการพัฒนาให้เป็นแหล่งการค้าการลงทุนของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของโลก รวมถึงพัฒนาให้เป็นฐานการผลิต แหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ ตลาดซื้อขายพลอยมาตรฐาน และเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดนให้เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 15 ภายใต้หัวข้อ Intergeneration Jewelry - jewelry for every generation เพื่อสนับสนุนนักออกแบบรุ่นใหม่และนักออกแบบมืออาชีพ ให้มาร่วมนำเสนอผลงานการออกแบบจากทั่วโลกส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งปีนี้มีการส่งแบบประกวดรวม 402 ชิ้นงาน จาก 27 และขณะนี้ทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศต่างๆ และตัวแทนแบรนด์ระดับโลกได้คัดเลือกผลงานที่เข้ารอบ 30 ผลงานเรียบร้อยแล้ว

 

GIT  เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะยังแข่งขันได้ในตลาดโลก หรือไม่ และยังต้องส่งเสริมด้านใดที่เป็นรูปธรรมเพิ่มเติม

ในส่วนตลาดส่งออก เชื่อว่า ไตรมาส3 จะได้เห็นสัญญาณดีๆ และยังสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแน่นอน เพราะนี่คืออุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมาก โดยในช่วงสถานการณ์ปกติประเทศไทยสามารถทำรายได้จากการส่งออกในระดับ Top 3 สร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศถึงปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 6% ของ GDP แต่ประเด็นที่ผู้ประกอบการควรต้องให้ความสำคัญมากขึ้นด้วย คือ กระแสเรียกร้องให้ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ คำนึงถึงจริยธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง RJC (Responsible Jewelry Council) ซึ่งหลายประเทศมีแนวโน้มเข้าสู่แนวทางนี้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้น ทำให้ธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานต้องมีความรับผิดชอบ และความโปร่งใสในการดำเนินุรกิจ

 

 

ปัจจุบัน GIT ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก RJC แล้ว เพื่อติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหว และเทรนด์ของอุตสาหกรรม เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทย ผ่านการจัดสัมมนา โดยมีวิทยากรกจาก RJC มาให้ความรู้ แก่ผู้ประกอบการไทย และ GIT มีแผนจะนำแนวทางการปฏิบัติของ RJC มาแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย ดังนั้น ช่วงนี้ผู้ประกอบการควรหันมาเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ เมื่อตลาดกลับมาและบริษัทมีมาตรฐานตามกระแสสากลก็จะสามารถคว้าโอกาสนี้ได้

 


บทสัมภาษณ์จากนิตยสาร MarketPlus Magazine Issue 136  July 2021


  

[อ่าน 5,953]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดใจ ‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘Cafe Chilli’ ให้เป็นแบรนด์เรือธง ของ สะไปซ์ ออฟ เอเซีย
ทีเด็ด POP MART เจาะตลาดไทยอย่างไร ให้มัดใจผู้บริโภคอยู่หมัด
‘เดอะคลีนิกค์’ เผยผลงานโดดเด่นปี 66 โกยรายได้กว่า 2.3 พันล้าน เดินหน้าบุกตลาดความงาม
“เพราะชีวิตคือบททดสอบ” เปิดเรื่องราวชีวิตหญิงแกร่ง CHRO แห่งทรู คอร์ปอเรชั่น
‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘บิสโตร เอเชีย’ ให้มียอดขายเติบโตขึ้นถึง 70%
ศุภลักษณ์ อัมพุช กับ New Era ของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่เป็นมากกว่าแค่ช้อปปิ้ง แต่คือการสร้างย่านการค้า
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved