CRG ถอดบทเรียนจากโควิด-19 ชูแนวทาง ReThink & Maintain
26 Jul 2021

ธนพล ธรรพสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ ค่าย CRG

 

โควิด-19 ถือเป็นทั้งความท้าทายและบทเรียนที่สำคัญให้กับทุกธุรกิจไม่เว้นแม้แต่ค่ายธุรกิจใหญ่อย่าง บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป และอยู่ในธุรกิจมานานนับทศวรรษ และในหลายๆ เซ็กเมนต์ด้วย

ในครั้งนี้ ธนพล ธรรพสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ ค่าย CRG ซึ่งรับผิดชอบในส่วนของ Thai & Chinese Cuisine ได้เปิดใจแบ่งปันมุมมองเชิงยุทธ์ที่มาจากการถอดบทเรียนของวิกฤติ โควิด-19 ทั้งของ CRG ที่จะต้อง Re-Think, Maintain ตนเอง และกับเพื่อนร่วมอาชีพ เพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้

 

แบรนด์ภายใต้ Thai &Chinese Cuisine

CRG แบ่งกลุ่มธุรกิจของตนเองเป็น Cuisine หรือครัวแบบต่างๆ ได้แก่ ครัวแบบยุโรป, ครัวแบบญี่ปุ่น, ครัวแบบเบเกอรี่ (Bakery Cuisine), ครัวไทยและจีน สำหรับกลุ่มครัวไทยและจีนที่ถูกจับมาอยู่ในหมวดเดียวกันนี้มี 4 แบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ ได้แก่

  • ไทยเทอเรส ร้านอาหารของกลุ่มเซ็นทรัลที่อยู่มานานถึง 40 ปีในพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า ตั้งแต่ยุคก่อนที่ห้างสรรพสินค้าจะเปิดพื้นที่ในมอลล์ให้ร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ ข้ามาเช่าพื้นที่

 

  • เกาลูน บาย  ไดนาสตี้  ร้านอาหารครัวจีนที่ได้ 'เชฟยักษ์' จาก 'ไดนาสตี้' ห้องอาหารจีนระดับ 5 ดาวจากโรงแรมเซนทารา แกรนด์ ร้านนี้ขายติ่มซำ ซาลาเปาทำตลาดระดับแทส  ขายซาลาเปาสูตรฮ่องกง แต่ราคาแพงกว่าซาลาเปาเจ้าตลาดชื่อผู้หญิงๆ แค่บาทเดียว

 

  • ส้มตำนัว ครัวอาหารอีสานที่มีจุดขายตรงความอร่อยพอดีๆ รสชาติจัดจ้าน แต่ไมได้เอ็กซ์ตรีมจนน้ำตาไหล หรือกระเพาะก็สุดจะทานทน ร้านนี้มีทีเด็ดตรงใครมาแล้วก็อยากมาอีก เพราะติดใจรสชาตินี่ละ ส่วนวัตถุดิบก็คัดคุณภาพชนิดต้องส่งตรงจากไร่เกษตรกร เช่น มะเขือเทศต้องส่งจากไร่ที่อุบลราชธานี ฯลฯ ใครอยากแซ่บก็ไปได้ที่สยามสแควร์ ซอย 5, เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ชั้น 5, เซ็นทรัล  เวิลด์ ชั้น 3, สยามเซ็นเตอร์, เซ็นทรัล ลาดพร้าว ชั้น 4, เมกะ บางนา ชั้น 1

 

  • อร่อยดี แบรนด์ใหม่ล่าสุดที่เห็นช่องว่างของพอร์ตโฟลิโอตนเองว่า ยังไม่มีอาหารแนวที่สามารถรับประทานได้ทุกวัน แบรนด์นี้จึงเป็นแนวอาหารตามสั่ง เมนูง่ายๆ แต่มีจุดขายที่สามารถนั่งทานในร้านได้ด้วยบรรยากาศสบายๆ มีความเป็นมาตรฐานแบบ CRG คือ สะอาด ถูกสุขอนามัย ราคาเหมือนกันทุกสาขา และใช้วัตถุดิบที่สามารถสืบทราบถึงที่มาได้เป็นร้านที่ส่งเมนูใหม่อินเทรนด์ยุครักษ์สุขภาพในช่วงโควิด-19 อย่างน่าสนใจ เช่น อาหารเมนูกัญชา และล่าสุดเพิ่งเปิดตัวเมนูอาหารจานด่วน 'ผัดฉ่าสมุนไพร-กระชายขาว' ราคา 69 บาท  รับเทรนด์ยุค New Normal 'ทานอาหารเป็นยา'  

 

"ความเปลี่ยนแปลงที่แม้คลายล็อกดาวน์

แล้วยอดเดลิเวอรี่ก็ยังไม่ลดเท่าไรนี้เอง

ที่ทำให้เรามาพิจารณากันใหม่ว่า

เรายังจำเป็นที่จะต้องอยู่ในห้างสรรพสินค้าต่อไปหรือไม่ "

 

 

Re-Think กลยุทธ์ยุคโควิด

ธนพล กล่าวถึงการมาของโควิด-19 ว่า เป็นตัวเร่งที่ทำให้คนกรุงเทพฯ  ปรับตัวกับการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ได้พอประมาณเลยทีเดียว โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ที่นั่งรับประทานอาหารในร้าน (Dine-in) ไม่ได้ อย่างร้าน 'อร่อยดี' ช่วงก่อนโควิด-19 สัดส่วน Dine-in 50 : Delivery 50 แต่ในช่วงล็อกดาวน์ของปีที่ผ่านมายอด Delivery 100% และช่วงที่ผ่อนคลายล็อกดาวน์ก็กลับมาที่ Dine-in 25 : Delivery 70

"ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้แม้คลายล็อกดาวน์แล้วยอดเดลิเวอรี่ก็ยังไม่ลดเท่าไรนี้เอง ทำให้เรามาพิจารณากันใหม่ว่า

หนึ่ง - เรายังจำเป็นที่จะต้องอยู่ในห้างสรรพสินค้าต่อไป หรือไม่ เนื่องจากค่าเช่าพื้นที่ก็แพง คนเดินห้างสรรพสินค้าน้อยลง จะเดินห้างต่อเมื่อมีโอกาสสำคัญๆ เช่น การจับจ่ายตามเทศกาล นี่จึงทำให้เราคิดว่า เราควรจะต้องขยายตัวออกไปนอกพื้นที่ห้างฯ และมีพื้นที่จอดรถได้ง่ายๆ ใกล้ๆ ส่วนยอดเดลิเวอรี่ที่ขึ้นมาถึง 70% แล้ว ขณะที่คนเข้ามานั่งในร้านน้อยลง เราก็ปรับพื้นที่ด้วยการจัดที่นั่งให้น้อยลง แต่ใช้พื้นที่ครัวให้ใหญ่ขึ้นจากเดิมที่มีประมาณ 25-30% ให้เป็น 50% หรือมากกว่านั้นก็ได้

สอง - นอกจากเรื่องสัดส่วนพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นบทเรียนที่เราได้รับจากโควิด-19 ยังมีบทเรียนใหม่เเรื่อง Brand Haunted หรือแบรนด์ที่เข้าไปสิงอยู่ในร้านนั้น เช่น เรามี 'อร่อยดี' เราลงทุนประมาณ 1.9 ล้านบาท มีที่นั่งประมาณ 20 ที่ พื้นที่ครัวประมาณ 30% แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ยอดขายหายไป เราจะเพิ่มยอดขายอย่างไร ประเด็นนี้ เราก็ไปหาแบรนด์อื่นๆ ที่จะมาเป็นพาร์ตเนอร์กับเรา เช่น 'โจ๊กเจ๊เกียง' โจ๊กดังที่ขายย่านกองปราบมาหลายสิบปีให้อยู่ในร้าน 'อร่อยดี' ฯลฯ นี่จึงเป็นที่มาที่ไปด้วยว่า ทำไมพื้นที่ครัวจึงต้องใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ ก็มีแบรนด์ที่ไม่มีหน้าร้านอย่าง 'โตเกียว โบลว์' แต่เมื่อมาอยู่กับ 'อร่อยดี' ก็มียอดขาย 2-3 ล้านบาท/เดือน ซึ่งเป็นยอดขายที่ใช้ได้ทีเดียว

สาม - โควิด-19 ทำให้เรากล้าคิด และได้จังหวะที่จะปรับเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบของร้าน, พื้นที่ร้าน, การบริหารจัดการเรื่องเวลา และการบริหารคน อย่างร้านไทยเทอเรสที่ก่อนหน้าต้องมี18 คน/ร้าน เมื่อมีโควิดมา 12 คนก็อยู่ได้และเมื่อโควิดผ่านไป เราไม่ได้รับคนเพิ่ม 12 คนก็ยังอยู่ได้ นั่นเพราะพนักงานรู้ว่า ตนเองจะทำงานอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำงานข้ามสายงานได้ เช่น เช้าขายโจ๊ก, กลางวันขาย 'ไทยเทอเรส' หรือ 'อร่อยดี', เย็นๆ ค่ำๆ ขายหมูทอดอีกรอบ เป็นต้น แต่ประเด็นเรื่องความชำนาญในการขายอาหารที่แตกต่างกันนั้นกลับไม่กระทบ เพราะเรามีครัวกลางที่มีนักวิทยาศาสตร์การอาหารทำ R&D มาแล้วพนักงานก็ทำต่อได้ อย่างหมูทอดก็แกะถุงทอดได้เลย ฯลฯ ทำให้พนักงานไม่สับสนกับกระบวนการทำงาน ซึ่งรายได้จากส่วนนี้ก็สามารถที่จะชดเชยรายได้จาก Dine-in ที่หายไปได้ สามารถประคองตัวได้ในสถานการณ์โควิด-19

สี่ - เรามองการปรับตัวทั้งหลายต่อไป สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็น New Normal ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแบรนด์ ฟังก์ชัน พื้นที่ การบริหารจัดการเกี่ยวกับคน ซึ่งต่อไปเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง เราก็จะไม่รู้สึกว่า มันตึงเครียดและปรับตัวได้ทำให้เราสามารถไปต่อได้"

 

เนื่องจากค่าย CRG เป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัล แล้วนี่จะทำให้ค่ายนี้ 'ยืนหนึ่ง' เพราะอิงบริษัทแม่นั้น ธนพลชี้แจงว่า "จริงๆ แล้วแต่ละแบรนด์สามารถบริหารจัดการได้ และอยู่ได้ด้วยตนเอง แล้วกว่าจะสามารถยืนมาได้ถึงสถานการณ์เช่นนี้ เราก็ผ่านมาแล้วหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการต่อรองค่าเช่า, การขอลดค่าเช่าพื้นที่ 50% หรือในบางช่วงเจ้าของพื้นที่ให้ดำเนินธุรกิจฟรีก็มี หรือในบางสถานการณ์พนักงานเองก็ร่วมแรงร่วมใจ, พนักงานเองบางส่วนก็ไม่รับเซอร์วิสชาร์จ,การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องมาคิดใหม่แล้ว Grooming เพื่อปรับตนเอง จนสุดท้ายเราก็ยืนอยู่ได้ แม้จะไม่ได้สุขสมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อนก็ตาม"

 

ไม่เคยมีคลัสเตอร์จากร้านอาหาร

การประกาศมาตรการเกี่ยวกับร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการงดรับประทานในร้านหรือการผ่อนคลายมาตรการ จนถึงการงดอีกครั้งนั้น ธนพลกล่าว่า "ในการประกาศอะไรก็ตามย่อมมีผลกระทบในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีหรือกลุ่มบริษัทอย่างพวกเรา ต้องบอกว่า สัดส่วนการติดโควิด-19 จากการเข้าไปรับประทานอาหารน้อยมากหรือแทบไม่มี ยังไม่เคยมีข่าวเลยว่า ไปรับประทานอาหารร้านนี้แล้วติดโควิด-19 เพราะร้านอาหารที่เป็นร้านอาหารจริงๆ อย่างมาก็นั่งรับประทานกันคนละฝั่งของโต๊ะ และใช้เวลาไม่นาน ไม่เหมือนกลุ่มผับบาร์ที่มีเสียงดัง ต้องตะโกนคุยกัน การเต้นรำในผับบาร์ก็ทำให้มีโอกาสใกล้ชิดกันมากกว่าการใช้บริการในร้านอาหาร แต่ที่สำคัญ คลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นจริงๆ มาจากคลัสเตอร์อื่นๆ อย่างงานก่อสร้างหรือสถานบริการกลางคืน แต่ขณะที่ปิดก็ปิดหมด แล้วสถานบริการกลางคืนเมื่อมีการติดเชื้อก็ติดเป็นจุดๆ ไม่ได้ติดทั้งหมด

 

สำหรับการปิดร้านอาหารทั้งระบบในประเทศไทยเมื่อสั่งปิดจะลำบากทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในโซ่อุปทานอย่างเครื่องปรุงรส กะปิ น้ำปลา จานชาม น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก เกษตรกรที่ทำหน้าที่ส่งวัตถุดิบต่างๆ ฯลฯ ทุกธุรกิจกระทบหมด การปิดธุรกิจร้านอาหาร ไม่ว่าจะ 25% หรือ100% นั่นคือ '1 คูณ 100' เช่น หนึ่งแบรนด์มี 100 สาขา แต่ละสาขามีพนักงาน 14-15 คน เอาจำนวนพนักงานคูณด้วยจำนวนสาขาคือ 1,400-1,500 คน เฉพาะแบรนด์เดียว ไม่นับร้านเล็กร้านน้อย ฉะนั้น การสั่งปิดร้านอาหารจึงเป็นการสร้างผลกระทบในวงกว้างไปทั่วประเทศจริงๆ อย่างกรณีร้านบุฟเฟ่ต์ ชาบูที่ได้รับผลกระทบจนต้องมาโพสต์ขอความเห็นใจ ผมก็เห็นใจจริงๆ      

 

ในทางปฏิบัติ การกำหนดมาตรการแยกย่อยในรายละเอียดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดสำหรับร้านอาหารก็สามารถระบุได้ว่า ให้สามารถ Dine-in ได้แต่ต้องมีแผงกั้น ใช้ช้อนกลาง หรือคนในครอบครัวเดียวอาจอนุโลมให้รับประทานด้วยกัน ฯลฯ ผมว่ามันมีวิธีหลากหลาย ซึ่งรัฐน่าจะลองเชิญสมาคมร้านอาหารเข้าไปปรึกษาว่า ถ้าไม่ล็อกดาวน์ควรจะปกป้อง ป้องกันอย่างไร เพื่อไม่กระทบกับภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารทั่วประเทศ เพราะในเมื่อธุรกิจร้านอาหารกระทบก็จะกระทบต่อเนื่องไปถึงธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด

 

อย่างกรณีของร้านร้านบุฟเฟ่ต์ ชาบูที่ได้รับผลกระทบอย่างมากตามที่เป็นข่าวนั้น ผมอยากจะบอกว่า ให้อดทน และลองปรับวิธีคิด เช่น ลองเจรจาขอลดค่าเช่าพื้นที่, ให้มองว่าร้านชาบูนั่นไม่ใช่ร้านชาบู ร้านอาหาร แต่คิดจะขายอาหารอะไรได้ให้รีบทำขาย, อย่าคิดว่าลูกค้าที่เข้ามาที่ร้านและมาซื้ออาหารที่เราผลิตเท่านั้น แต่ต้องหาวิธีเดินหาลูกค้า เช่น ใช้กลยุทธ์ดาวกระจาย หาพื้นที่ตั้งโต๊ะเพื่อขายอาหารกล่อง ทำชุดชาบูสำเร็จรูปแล้วขายตามบ้านหรือขายออนไลน์ หรือขายผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่ หรือขายอาหารที่ตนเองถนัดที่ไม่เกี่ยวกับชาบูเลย เช่น คั่วกลิ้ง (ถ้าถนัด), ไลฟ์สดขายอาหาร ฯลฯ เหล่านี้ จะช่วยให้พนักงานในร้านมีงานและร้านก็พอมีรายได้เลี้ยงตนเอง แต่หากยังบริหารแบบเดิม แม้ขอสินเชื่อมาก็มีปัญหาทุนหมดอยู่ดี ฉะนั้น ควรเร่งปรับตัว"

         

ทิศทางครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ CRG ได้วางแผนแม่บทเพื่อเป็นกรอบในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจของตนเอง ซึ่งประกอบด้วย การขยายสาขา การจับมือกับพันธมิตรต่างๆ การเน้นที่ช่องทางเดลิเวอรี่และการเดินหน้าสู่ดิจิทัล สำหรับครัวไทย- จีนภายใต้การดูแลของธนพลก็เช่นกัน ส่วนทิศทางนับจากนี้ ธนพลกล่าว่า

"ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกสาม เราเน้นที่ Maintain ซึ่งคำนี้เราหมายความครอบคลุมถึงการดูแลและรักษาธุรกิจให้อยู่ได้และเป็นองค์กรลีน (Lean) และพนักงานให้อยู่ให้ได้ ขณะเดียวกัน ผู้ถือหุ้นและเจ้าของก็อยู่ได้แลแฮปปี้เหมือนกัน มันเป็นเส้นบางๆ ที่เราอยู่ตรงกลางและพิสูจน์ว่า เรายืนอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลประกาศจะเปิดประเทศภายใน 120 วันช่วงไตรมาส 4 ผมก็ยังมองบวกว่า นี่คือสัญญาณที่ดี การจับจ่ายใช้สอยจะมากขึ้นและนักท่องเที่ยวบางกลุ่มจะได้รับการอนุญาตให้เข้ามา ผมคิดว่า สถานการณ์น่าจะคล้ายๆ ตอนโควิดในปีที่แล้วที่จะมีการจับจ่ายตอนสิ้นปี

ในส่วนของการปรับกลยุทธ์หาก Dine-in ไม่ได้เราก็จะโฟกัสว่าแบรนด์ใดควรโฟกัสที่ลูกค้าคนไทย ลูกค้าในท้องถิ่น หรือการเน้นเดลิเวอรี่มากกว่า Dine-in ซึ่งเราได้จับมือกับฟู้ดเดลิเวอรี่ที่มีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการซื้อแบนเนอร์ การทำโฆษณาทำโปรโมชั่นร่วมกัน และขณะนี้ภาพรวมของยอดสั่งผ่านเดลิเวอรี่ก็เพิ่มขึ้นมากด้วย นอกจากนี้ ประมาณไตรมาสสุดท้ายก็น่าจะเปิดตัวเมนูอาหารใหม่ๆ จาก Plant-Base ได้"

      

“กระแสทานอาหารเป็นยา ยังเป็นคำตอบที่ดีทุกยุคทุกสมัย ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันโรคโควิด19 ระบาด ส่งผลให้ไปไหนต่อไหนได้ลำบากมากขึ้น ต้องเก็บตัว กักตัว อยู่บ้าน ดังนั้นทางแบรนด์ 'อร่อยดี' จึงพยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ด้วยการสร้างสรรค์เมนูหลากหลายจัดวัตถุดิบชั้นดี และหมั่นทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพื่อเพิ่มเติมยอดขายในส่วนของการสั่งกลับบ้านหรือเดลิเวอรี่ ซึ่งที่ผ่านมาทางแบรนด์ได้รับผลกระทบบ้างจากการไม่ได้เปิดให้นั่งทานในร้าน ส่งผลให้ในส่วนของเทคโฮมมีตัวเลขเพิ่มขึ้น อาจจะไม่ได้หวือหวามากนักแต่ว่ามีความเสมอตัวและต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี หลังจากเราวางโพสิชั่นเป็นแบรนด์ร้านอาหารสตรีทฟู๊ด ทานง่าย ราคาไม่แพง และรสชาติอร่อยได้มาตรฐาน”

 

“ล่าสุดจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูงต่อเนื่อง ทางแบรนด์ได้หาโอกาสทางการตลาด ด้วยการสรรหาเมนูที่ทำจากวัตถุดิบคุณภาพ ช่วยเสริมภูมิในเรื่องการต้านเชื้อไวรัส แล้วก็มาพบว่า กระชายขาว อ้างอิงจากผลงานวิจัย ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า 'สารสกัดจากกระชายขาว' มีฤทธิ์ต้าน COVID-19 ในหลอดทดลอง เนื่องจากมีสาระสำคัญ 2 ชนิด : Panduratin A และ Pinostrobin ซึ่งทำหน้าในการลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อและยับยั้งไม่ให้เซลล์ไวรัสเกิดการแบ่งตัวได้ถึง 100% มีฤทธิ์ต้าน COVID-19 นอกจากนั้นกระชายขาวยังมีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน แน่นหน้าอก ช่วยบำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนต่างๆ ทางแบรนด์จึงนำมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการรังสรรค์เมนูตลอดเดือนนี้”

 

 

ด้านรายละเอียด เมนูใหม่ ผัดฉ่า สมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกัน จากวัตถุดิบ 'กระชายขาว'มีตั้งแต่ ข้าวผัดฉ่าไก่กระชายขาว + ไข่ต้ม ราคา 69 บาท ข้าวผัดฉ่าหอยลายกระชายขาว + ไข่ต้ม ราคา 79 บาท ข้าวผัดฉ่าไก่คาราเกะ + ไข่ต้ม ราคา 79 บาท ข้าวผัดฉ่าไข่ปลาหมึกกระชายขาว + ไข่ต้ม ราคา 89 บาท ข้าวผัดฉ่ายกทะเลขึ้นบกกระชายขาว + ไข่ต้ม ราคา 89 บาท พร้อมกันนี้ยังจัด โปรโมชั่นพิเศษ เฉพาะสั่งผ่าน Delivery เท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2564 ชุดผัดฉ่า1 : ข้าวผัดฉ่าไก่กระชายขาว - ไข่ต้ม + ข้าวผัดฉ่าไข่ปลาหมึกกระชายขาว-ไข่ต้ม ราคา 159 บาท ชุดผัดฉ่า2 : ข้าวหฤโหดโคตรกะเพราหมูสับ + ข้าวผัดฉ่ายกทะเลขึ้นบกกระชายขาว-ไข่ต้ม ราคา 159 บาท ผู้สนใจสั่งอาหารของเราได้ทุกช่องทาง แนะนำการสั่งแบบ Delivery สั่งง่าย สั่งได้ทุกเวลาตั้งเช้าจรดค่ำ อีกทั้งยังมีโปรสุดคุ้ม ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม - 31 สิงหาคม 2564

 

นอกจากนี้ ยังเผยถึงกลยุทธ์ของการสร้างยอดขาย ในช่วง WFH และ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ว่า

“สังเกตว่าต่อจากนี้พฤติกรรมผู้บริโภค คือจะเน้นอาหารหรือสิ่งต่างๆ รอบตัวที่ช่วยเสริมภูมิซึ่งถ้าได้ติดตามข่าวในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่ามีกลุ่มคนไปหาฟ้าทลายโจรมารับประทานเพื่อเสริมภูมิและป้องกันไวรัส COVID-19 สำหรับแบรนด์อร่อยดีเล็งเห็นถึงโอกาสตรงนี้ จึงนำวัตถุดิบกระชายขาวเข้ามา พร้อมทำโปรโมชั่นอีกครั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการกลุ่มลูกค้า โดยปัจจุบันกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของเรา ค่อนข้างเป็นแมส เนื่องจากร้านอาหาร ไม่ว่าพนักงานออฟฟิศ, เจ้าของกิจการธุรกิจ, นักเรียน, นักศึกษา ฯลฯ คนทุกเพศทุกวัย ต้องใช้บริการ”

 

“ถึงแม้ขณะนี้จะมีมาตการผ่อนคลายมากขึ้น แต่แบรนด์อร่อยดี ยังคงเน้นย้ำมาตรการควบคุมและป้องกัน ในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน เพื่อการบริการที่ปลอดภัยสูงสุดแก่พนักงาน, ไรเดอร์ (Rider) และลูกค้าทุกท่านที่มาใช้บริการ กับมาตรการ 3C ได้แก่ 1) Cleanliness Procedure คัดกรองอย่างเข้มงวด รักษาความสะอาดทุกขั้นตอน 2) Consideration of Social Distancing Measures เน้นย้ำมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยจัดพื้นที่ให้บริการภายในร้านให้เหมาะสมและปลอดภัย และ 3) Contactless Service การให้บริการแบบไร้สัมผัส ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเตรียมอาหารไปจนถึงขั้นตอนการชำระเงิน เราเตรียมความพร้อมและเข้มงวดในทุกขั้นตอนการปฏิบัติตามมาตรการในทุกช่องทางการบริการลูกค้า ทั้งในรูปแบบทานที่ร้าน (Dine in) สั่งกลับบ้าน (Take Home) และบริการจัดส่ง (Delivery) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้อย่างเต็มที่ว่าทุกเมนูที่จัดเสิร์ฟสะอาด ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย”

 

ร้านอาหารอร่อยดี เปิดให้บริการรับประทานที่ร้านได้แล้ว หรือจะสั่งกลับบ้าน (Take Home) และสั่ง Delivery ได้จากทุกแพลตฟอร์ม ทั้ง Grabfood, Line Man, Food Panda, Gojek, True Food, Robinhood รวมถึงแพลตฟอร์มของ ซีอาร์จี Food hunt 1312

 


บทความจากนิตยสาร MarketPlus Magazine Issue 136 

 

 

[อ่าน 2,608]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แนะแบรนด์เสริมกลยุทธ์
The Importance of Building ​Nation Brand
9 แนวทางการสื่อสารความยั่งยืนให้กับองค์กร Effective Sustainability Communications
เปิดมุมมอง “ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ถึงกลยุทธ์ KFC ของ CRG และแผนรุกตลาด QSR ปี 2567
Do & Don’t และแผนการสืบทอดธุรกิจครอบครัว
EMMA Clinic มอบอัตลักษณ์ความงามเฉพาะคุณ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved