เจ้าของวรรคทอง “นายกฯ มัวทำไรอยู่” โกดังชาบู ปรับตัวขายน้ำจิ้ม บนออนไลน์
31 Jul 2021

 

'ประกาศลักหลับ' ฉบับล่าสุดที่เป็นฝันร้ายของธุรกิจร้านอาหาร แจ็กพอตอีกรอบ ที่ร้านอาหารไม่ทันได้ตั้งตัวกัน บางร้านมีสต็อกวัตถุดิบอย่างเนื้อ หมู ไก่ ผักอยู่มากทีเดียว ก่อนหน้านี้ เคยมีวิดีโอคลิปที่กลายเป็น Viral ของโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วยวรรคทองที่ว่า"นายกฯ มัวทำอะไรอยู่ ขอให้ร้านเราเป็นร้านสุดท้าย" ประโยคที่พูดผ่านม่านน้ำตาของ มธุรา อดเหนียว หรือ 'แก้ว' เจ้าของร้าน โกดัง ชาบู วัย 30 คุณแม่ที่มีลูกวัยกำลังน่ารัก วันนี้เธอและสามี พยุหะ ลลิตพงค์พาณิช หรือ 'ตึ๋ง' วัย 36 ก็ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

 

ชั่วโมงนี้ทำให้การปรับตัวของ 'โกดัง ชาบู' ที่เจ้าของออกมาไลฟ์สดขายน้ำจิ้มสุกี้ (400 ซีซี ขวดละ 59 บาท) และน้ำจิ้มซีฟู้ด (250 ซีซี ขวดละ 69 บาท)ที่หน้าแฟนเพจ @Kodungchabu และขายผ่าน Shopee : ร้านKODUNGCHABU (โกดังชาบู) https://shopee.co.th/kodungchabu.bkk ล่าสุดโกดังชาบูรับทำข้าวกล่องส่งกักตัวและชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยทีมงานในร้านจะนำไปแจกให้

 

ทว่า ล่าสุด 'ความหวังของหมู่บ้าน' มาตรการเขียวยาคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ พวกที่ให้บริการแบบเดลิเวอรี่ก็ใช้ไม่ได้อีก เพราะต้องใช้แบเผชิญกันตัวต่อตัวเท่านั้น และนี่คือความในใจของเจ้าของร้านโกดัง ชาบู 'ตึ๋ง' และ 'แก้ว' แม้จะเป็นบทสนทนาสั้นๆ แต่ก็ทำให้จุกๆ กันไปกับ Die-in Ban ที่ประกาศกันในแต่ละคราว

 

           

การที่รัฐบาลประกาศไม่ให้นั่งกินอาหารในร้านครั้งที่ผ่านมาและครั้งล่าสุด ร้านอาหารและเราได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

ประกาศสั่งไม่ให้กินอาหารในร้าน สำหรับร้านประเภทชาบู หมูกระทะอย่างพวกเรา แม้ไม่ได้สั่งปิดก็เหมือนสั่งปิดอยู่ดี เพราะการสั่งอาหารกลับไปกินที่บ้าน หรือแบบเดลิเวอรี่ก็ไม่สะดวกสำหรับลูกค้า เพราะมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์และกระบวนการจัดเตรียมที่ยุ่งยาก ไม่เหมือนมากินที่ร้านที่กินได้เลย

สำหรับการประกาศครั้งล่าสุดตอนตีหนึ่งนั้น ต้องบอกว่า บางร้านไม่ได้ตั้งตัวกันเลย มีการสต็อกวัตถุดิบไว้พอสมควร บางร้านที่เราคุยๆ กันบ่อย พิมพ์เข้ามาในไลน์บอกกับเราว่า "สู้ไม่ไหวแล้ว ไม่รู้จะไปต่อยังไงดี"

จริงๆ ที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความหวังให้พวกเราได้ขายประมาณหนึ่งสัปดาห์ ให้กินในร้านได้ พอเราก็กำลังจะดีขึ้นก็มีประกาศแบบนี้ สำหรับร้านอาหารอย่างพวกเรานี่ถือว่าเจอมาหลายรอบแล้ว เนื่องจากการประกาศแต่ละครั้งจะเป็นประกาศฉุกเฉินมากๆ อย่างรอบแรกประกาศเช้าก็ไม่ให้ขายในตอนเย็นเลย ต่อมามีมาตรการผ่อนคลายให้ซื้อกลับบ้านได้ แต่สำหรับร้านชาบู บุฟเฟ่ต์ก็เปิดร้านไม่ได้อีก เราก็ลองปรับตัวมาขายเป็นเซ็ต แต่ในมุมมองของคนกินบุฟเฟ่ต์ก็มองว่า ยังไงบุฟเฟ่ต์ก็คุ้มกว่า

แน่นอนว่า การประกาศอย่างกะทันหันส่งผลกระทบกับร้านอาหาร เพราะบุฟเฟ่ต์แต่ละร้านก็ต้องสต็อกวัตถุดิบเป็นสิบๆ กิโลกรัม หรือเป็นร้อยกิโลกรัม ไม่ว่าจะเป็นหมู ไก่ หรืออาหารทะเล เนื่องจากการสั่งซื้อวัตถุดิบ ยิ่งสั่งมากก็จะยิ่งได้ต้นทุนวัตถุดิบที่มีราคาถูกลง การสั่งวัตถุดิบจึงทำให้เราต้องสั่งครั้งละ 30-50 กิโลกรัม

แต่สำหรับรอบนี้เราไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเราไม่ได้สต็อกวัตถุดิบ เนื่องจากตั้งใจที่จะปิดร้านอยู่แล้ว เพราะรอบๆ ร้านเราปิดกันเยอะ แล้วเราก็ปิดร้านก่อนที่ท่านจะประกาศอีก แต่ร้านอื่นที่ไม่ได้ปิดตัว หรือการที่ร้านไม่เลือกที่จะปิดเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 พวกนี้ก็จะได้รับผลกระทบเต็มๆ ถ้าถามว่า ยอดติดลบของร้านจะอยู่ที่เท่าไร เพราะทุกครั้งที่ประกาศห้ามกินอาหารในร้านจะมีการต่อเวลาออกไปอีกเสมอ ยังไม่จบกันง่ายๆ อาจจะมี 'โปรโมชั่น' ให้ปิดร้านเพิ่มอีก 15-30 วัน

แต่ผลกระทบจากประกาศรอบแรก เราเจอกับตัวเอง เราก็ได้รับผลกระทบกับต้นทุนวัตถุดิบที่ซื้อมา 1-2 หมื่นบาท มีประสบการณ์กับการต้องทิ้งวัตถุดิบที่เตรียมไว้เกือบ 100 กิโลกรัมมาแล้ว เราต้องตัดใจทิ้ง เพราะถ้าเก็บไว้ของก็จะเสียคาตู้เย็นอีก ทำให้ครั้งนั้นเราต้องแจกลูกน้องบ้าง แจกคนรอบข้างร้านเราบ้าง ส่วนพวกผักเราก็ต้องกินเองบ้าง ทิ้งบ้าง ส่วนลูกน้องในช่วงก่อนมีประกาศ เรามีประมาณ 30 คน ค่าจ้างก็จ่ายแบบรายวัน ค่าแรงเฉลี่ยวันละ 1-2 หมื่นบาท แล้วต่อมาก็ปลดคนเหลือค่าจ้างแค่หลักพันต่อวัน แต่ก่อนที่จะเป็นข่าวรอบใหม่ เราเหลือพนักงานแค่คนเดียว ค่าแรงวันละ 300 บาท

 

 

          

เคยนับหรือเปล่าว่า ร้านต้องปิดไปกี่วันนับจากรอบแรก

ประกาศการห้ามกินอาหารในร้าน เชื่อว่า น่าจะมีสัก 7-8 ครั้งนับแต่รอบแรกในปี 2563 และมีการขยายเวลาห้ามกินอาหารในร้านเพิ่มเติมอีก เพราะจะนับแค่ประกาศครั้งที่ 1 หรือ 2 อย่างนั้นไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงมีการขยายเวลาของประกาศห้ามการกินอาหารในร้านอีก นับโดยประมาณจากปีที่แล้วถึงปีนี้ ร้านอาหารถูกแบนแบบนี้ประมาณ 7 เดือน หรือประมาณ 200 กว่าวัน

           

หนี้สินที่มีจากการถูกสั่งปิดร้านอาหารและห้ามกินอาหารในร้านมีสักเท่าไร

ถ้านับจากรอบแรกเรามีหนี้ประมาณ 9 แสนบาทเศษแต่ในภายหลังมีผู้ใหญ่ใจดีและประชาชนที่ทราบข่าวก็หลั่งไหลมาช่วยเหลือ เราก็สามารถปลดหนี้สินไปได้จำนวนหนึ่ง ตอนนี้เราก็มีหนี้อีกประมาณ 6 แสนบาท

ต้องยอมรับว่า ตอนที่เราโพสต์คลิปวิดีโอจนเป็นข่าวนั้น นั่นเราสุดๆ แล้วจริงๆ ไม่มีเงินสักบาท แถมติดลบด้วย และขณะนี้ร้านของเรายังอายุของสัญญาเช่าพื้นที่เหลืออีก 2 เดือน ค่าเช่าร้านประมาณเดือนละ 8,000 บาท แต่เจ้าของพื้นที่ใจดี และน่ารักมากที่ยอมผ่อนผันลดค่าเช่าลงครึ่งหนึ่งให้เรา 3 เดือนในช่วงการแพร่ระบาดรอบแรก แต่ที่สำคัญ เราค้างค่าเช่าเป็นปีเลย กว่าจะเงินไปเคลียร์ ถ้าเป็นเจ้าของพื้นที่คนอื่นๆ คงไม่ให้เราอยู่ได้นานขนาดนี้แน่นอน 

 

ตอนที่สุดๆ ตอนนั้นเราฮึดอีกเฮือก เพื่อเดินหน้าต่ออย่างไร

มองหน้าลูก พอเครียดหรือเจออะไรหนักๆ มองหน้าลูก นี่คือสิ่งเดียวที่ทำให้เราเย็นลงได้ ตอนนั้นเราก็สลับด้วยการเก็บใบหูกวางให้คนที่เลี้ยงปลากัดใช้รักษาแผลของปลา เราขายมัดละยี่สิบบาท ได้เงินหลักสิบหลักร้อยก็ดีกว่าไม่ได้เงินสักบาทเข้าบ้าน แล้วก็ดีกว่าไม่มีอะไรทำ มันเครียดมากตอนนั้น

 

ได้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่มีมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีหรือเปล่า

เรากู้จากธนาคารออมสิน แต่พอได้เงินมาก็มีการประกาศปิดร้านรอบ 2 พอดี เรามีเอกสารยืนยันได้ ต่อมาก็ขอกู้อีกรอบเป็นธนาคารพาณิชย์ระดับแนวหน้าแห่งหนึ่ง เราได้มาอีก 85,000 บาทก็เจอประกาศรอบที่ 3 ซึ่งเราก็นำเงินที่ได้มาใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นก่อน

 

ได้รับการผ่อนผันจากธนาคารหรือเปล่าช่วงต้องปิดร้าน

เราได้การผ่อนผันเป็นเอกสารจากธนาคารออมสินที่ส่ง SMS แจ้งกับลูกหนี้ว่า พักการชำระหนี้และพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้เป็นระยะเวลา 6 เดือน เราว่าคนที่เห็นใจผู้ประกอบการจริงๆ จึงจะคิดได้อย่างธนาคารออมสิน แต่ธนาคารอีกแห่งต้องเรียกว่า 'โหด' เพราะแม้ผ่อนปรนให้ไม่ต้องจ่ายเงินต้น แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ย 28% ยังไม่รวมค่าปรับ ค่าทวงถาม ไม่รู้ว่า อย่างนี้สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้ หรือกดให้ลูกหนี้จมลงไปอีก

 

 

มีความเห็น หรือต้องการเรียกร้องกับรัฐบาลหรือไม่

ในส่วนของภาครัฐหรือรัฐบาล เราไม่อยากเรียกร้องในนามส่วนตัว แต่อยากพูดในแง่ของส่วนรวมที่ทุกร้านอาหารจะต้องได้เหมือนๆ กัน เพราะประกาศเหล่านี้ก็ทำให้ร้านอาหารทุกรายเดือดร้อนกันหมด เราก็อยากให้เห็นใจผู้ประกอบการบ้าง ขอให้ท่านมองผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนกันบ้าง รวมทั้งอยากให้สถาบันการเงินเข้าใจสภาของลูกหนี้ด้วย

 

แล้วประกาศห้ามกินในร้านอาหารครั้งนี้ส่งผลให้เราต้อง Move on อย่างไร

ขายน้ำจิ้มสุกี้ และ น้ำจิ้มซีฟู้ด เพราะเราไม่ต้องลงทุนอะไรมาก อีกอย่างน้ำจิ้มพวกนี้ ที่ร้านก็ต้องทำอยู่แล้ว สินค้าตัวนี้เป็นทางออกที่เรามีภายใต้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด โดยเราก็แค่ไปซื้อมาเพิ่มเพื่อบรรจุใส่ขวดขาย โดยไลฟ์สดขายเอง และผ่านแพลตฟอร์ม Shopee  

ตอนนี้การปรับตัวกับประกาศฉบับนี้ เราก็ทำได้กับสิ่งที่เรามีและลงทุนน้อย แต่อย่างหมู เนื้อหมักคงยังทำไม่ได้ เพราะหากขายไม่ทัน แล้วต้องเก็บสัก1-2 วันก็จะไม่ค่อยดีแล้ว และเราอาจจะเจอปัญหาอีกรอบ แต่ส่วนของน้ำจิ้ม เราทำอยู่แล้วก็ขายแบบนี้ไปก่อน

 

อยากบอกอะไรทิ้งท้ายหรือเปล่า

อยากจะฝากเพื่อนๆ ร้านอาหารด้วยกันว่า "สู้ๆ อย่าท้อให้สู้ต่อไป" นอกจากนี้ ธุรกิจร้านอาหารกลางวันและกลางคืน รวมทั้งนักร้อง นักดนตรี เราก็ขอเป็นกำลังใจให้สู้กันต่อไป เราจะต้องรอดไปด้วยกัน

 


บทความจากนิตยสาร MarketPlus Issue 136 Die-in Ban 


 

[อ่าน 3,266]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แนะแบรนด์เสริมกลยุทธ์
The Importance of Building ​Nation Brand
9 แนวทางการสื่อสารความยั่งยืนให้กับองค์กร Effective Sustainability Communications
เปิดมุมมอง “ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ถึงกลยุทธ์ KFC ของ CRG และแผนรุกตลาด QSR ปี 2567
Do & Don’t และแผนการสืบทอดธุรกิจครอบครัว
EMMA Clinic มอบอัตลักษณ์ความงามเฉพาะคุณ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved