‘ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์’ Life is an experiment
06 Jun 2017

          หากจะพูดถึงสตาร์ทอัพรุ่นบุกเบิกที่ประสบความสำเร็จและเป็นแรงบันดาลใจให้กับสตาร์ทอัพหน้าใหม่ให้ลุกขึ้นมาทำความฝันของตัวเอง หนึ่งในนั้นที่หลายๆ คนนึกถึงคงหนีไม่พ้น คุณหมู ‘ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี จำกัด (Ookbee) ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชันและเว็บไซต์หนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรืออีบุ๊ก (E-Book) รายใหญ่ที่สุดของเมืองไทยและ Southeast Asia

 
          ณัฐวุฒิ ถือเป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีอยู่ในวงการไอทีมากว่า 12 ปี จากหนุ่มเนิร์ดดีกรีปริญญาตรีด้านวิศวกรรมการบิน พ่วงด้วยปริญญาโทด้านวิศวกรรมอุตสาหการ บวกกับความชื่นชอบในการเขียนโปรแกรมซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเขาระหว่างเรียน ผลักดันให้เขาก้าวสู่การเป็นเจ้าของกิจการจนสามารถเปิดบริษัทรับทำโปรแกรม เขียนโปรแกรม และซอฟต์แวร์ แพ็กเกจ ของตนเองได้สำเร็จภายใต้ชื่อ บริษัท ไอที เวิร์ค จำกัด ซึ่งถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานกว่า 30 คน 


          เขาเล่าย้อนให้ฟังถึงแอปพลิเคชันตัวแรกๆ ในยุคก่อตั้งไอที เวิร์คว่า “ตอนแรกคือฮามาก ถ้าไปลองเปิดในแอปสโตร์ชื่อแอป Thai Beauty Clock (Siam Square) มันเป็นโปรแกรมซึ่งถ่ายภาพที่สยามสมัยยังไม่มีสยามสแคว์วัน เป็นนาฬิกาเขย่าแล้วก็เปลี่ยนรูปสาวๆ ไปเรื่อยๆ โง่ๆ แบบนี้แหละครับ (หัวเราะ) อยากรู้ว่าคนจะยอมจ่ายเงินหรือเปล่าแค่ 1 เหรียญเอง ตั้งแต่สมัยไอโฟนออกมาแรกๆ เราก็อัพโหลดขึ้นไป ปรากฏว่าได้ตังค์วันละประมาณ 500 เหรียญ เราเลยรู้สึกว่าเออมันมีคนจ่าย ไม่ต้องไปขายทุกวัน แต่มันได้เงินทุกวัน” 


          หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าพ่อเทคโนโลยีอย่างสตีฟ จอบส์ ก็ได้ส่งสินค้าใหม่อย่าง iPad ออกสู่ตลาด ด้วยความสนใจทางด้านไอทีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาจึงตัดสินใจสั่งซื้อ iPad มาลองใช้งาน และนั้นก็ทำให้เขามองเห็นโอกาสที่จะเปิดธุรกิจใหม่ เพื่อให้ทุกคนสามารถพกพาหนังสือไปอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง ‘อุ๊คบี’ (OOKBEE) ในปี 2011 จนถึงปัจจุบัน 

 
          “ตอนแรกอุ๊คบีเป็นอีกแผนกหนึ่งในไอที เวิร์ค เป็นทีมเล็กๆ ประมาณ 5 คน ซึ่งตอนหลังก็กลายเป็น บริษัท อุ๊คบี จำกัด ตอนนั้นเราคิดว่าเราไม่อยากสร้างคอนเทนต์เอง คอนเทนต์มีเยอะแยะอยู่แล้วพวกนิตยสาร หนังสือ เราไม่ต้องไปทำแข่งกับเขาหรอก แต่พวกเขาไม่มีเทคโนโลยีที่จะมาขายตรงนี้ เราก็เลยไปพาร์ทเนอร์มา” 

 


          ปัจจุบัน อุ๊คบี ถือเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยในช่วงสามปีที่ผ่านมาสามารถระดมทุน Series A จาก บริษัท INTOUCH HOLDINGS PLC. และ Series B จากบริษัท Transcosmos Inc. ด้วยมูลค่าบริษัทกว่า 2,000 ล้านบาท แอปพลิเคชันของอุ๊คบีถูกดาวน์โหลดไปแล้วมากกว่า 8.5 ล้านครั้ง มีผู้ใช้งานมากกว่า 6.5 ล้านคน และมีผู้ใช้งานใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 คนต่อวัน พร้อมขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศทั้ง เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และล่าสุดที่อินโดนีเซีย


          ทั้งนี้ ในยุคที่เทคโนโลยีขยายตัวอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับการเลือกเสพสื่อที่ตรงกับความต้องการของบรรดา User มากยิ่งขึ้น อุ๊คบีจึงขยายธุรกิจใหม่ในกลุ่ม UGC (User Generated Content) ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกได้สร้างคอนเทนต์ของตัวเองตามความชื่นชอบส่วนตัว โดยแบ่งเป็น อุ๊คบีคอมิกส์ (www.ookbeecomics.com), สตอรี่ล็อค (www.storylog.co), ฟิคชั่นล็อค (www.fictionlog.co), เว็บนิยายธัญวลัย (www.tunwalai.com) ชุมชนทางดนตรีฟังใจ (www.fungjai.com) และ ซี ชาแนล (www.cchan.tv) ครอบคลุมทั้งกลุ่มคนรักการ์ตูน นิยาย ดนตรี และวิดีโอ 


          “ความจริงกลุ่มธุรกิจใหม่ก็มาจากความชอบส่วนตัวของผม ตอนนี้ Business Model จะไม่ค่อยเหมือนเดิมแล้ว ส่วนที่เป็นอีบุ๊กก็ยังมีอยู่ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็น UGC ซึ่งเป็นพาร์ทที่มีการเติบโตสูงและนักลงทุนอย่าง ‘เทนเซ็นต์’ (บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด) ที่มาลงทุนกับบริษัทเราเขาก็สนใจลงทุนในส่วนนี้ ตอนนี้เรามองว่าเราเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ ทุกวันนี้ใครๆ ก็สร้างคอนเทนต์ได้ด้วยโทรศัพท์เครื่องเดียว เปิดเพจเฟซบุ๊กได้ มีคนอ่าน มีสปอนเซอร์ มันเป็นโลกอนาคต เป็นสื่อ Digital First เช่น อุ๊คบีคอมิกส์ คนที่วาดเป็นเด็กไทยทั้งนั้น เดี๋ยวนี้มีคอมพิวเตอร์มีสมาร์ทโฟน วาดเสร็จก็อัพโหลดขึ้นมา โลกมันเปลี่ยนไปอย่างที่บอก หนังสือ Best Seller พิมพ์หลักหมื่น แต่เด็กพวกนี้วาดขึ้นมาไม่ใช่อ่านแค่ 20-30 คน บางทีคนอ่านเป็นล้าน แล้วเด็กที่แต่งนิยายกันตอนละบาทสองบาทอายุ 17-18 เขาได้เงินกันเดือนละหลายแสน” 


          “เราเลยรู้ว่าอนาคตมันไม่ได้อยู่ในโลกของกระดาษแล้ว กลายเป็นว่าตอนนี้อีบุ๊กมีสัดส่วนแค่ประมาณ 20-30% จากแต่ก่อนที่เคยเป็นทั้งหมดของเรา ในขณะที่ธุรกิจในกลุ่ม UGC ใช้เวลาแค่ 2 ปี มันใหญ่กว่าอีบุ๊ก 4 เท่า ปัจจุบัน สมาชิกที่แอคทีฟในส่วนของ UGC ประมาณ 4.5 ล้านคน ฝั่งอีบุ๊กประมาณ 2 ล้านคน รวมแล้วก็ประมาณ 6.5 ล้านคนต่อเดือน และคิดว่าน่าจะเกิน 10 ล้านภายใน 1 ปี เราหวังว่ามันจะโตไปเรื่อยๆ”

 


อนาคตของ ‘อุ๊คบี’

          “เราเป็นสตาร์ทอัพที่อยู่มานาน เราก็ต้องพยายามปรับปรุง พัฒนาโมเดลธุรกิจของเราไป ก็ถือว่าเราเป็นสตาร์ทอัพรุ่นพี่ที่อยู่มาก่อน เราผ่านจุดเริ่มต้นมาแล้วต่อไปก็เป็นเรื่องของสเกลที่เราจะใหญ่ไปได้ขนาดไหน แล้วก็ท้ายสุดธุรกิจมันก็จะจบที่เราสามารถทำรายได้ได้มากเท่าไร IPO (Initial Public Offering) ได้ไหม ซึ่งในอนาคตเราก็อยากจะ IPO บริษัทในช่วงเวลา 3-5 ปีข้างหน้า” 


จาก ‘พี่ใหญ่’ ถึงสตาร์ทอัพ ‘น้องใหม่’

          “ทุกวันนี้เราไม่ได้มีปัญหาว่าไม่มีสตาร์ทอัพ เพราะเวลาจัดงานคนมากันเยอะแยะ คำว่าสตาร์ทอัพจริงๆ แล้วมันคือเจ้าของกิจการเล็กๆ ซึ่งผมเชื่อว่าใครก็สามารถทำได้ จริงๆ มันพร้อมมากเลยนักลงทุนก็มี รัฐบาลถึงขั้นประกาศนโยบายสนับสนุนสตาร์ทอัพกันเลย ดังนั้น มันคือการทดลองทำ ทุกบริษัทที่เราเห็นว่าใหญ่โตครองโลกจริงๆ แล้วก็เพิ่งเกิดมาไม่เกิน 10 ปี เกิดจากคนไม่กี่คนทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก็น่าจะลองดูได้ครับ ไม่มีอะไรเสียหาย”


เพราะทุกอย่างคือ ‘การทดลอง’ 

          “ผมมองว่าทุกอย่างคือการทดลอง จริงๆ เราลองทำอะไรในสเกลเล็กๆ ได้ เพราะการมาถึงของเทคโนโลยีมันทำให้ใครทำอะไรก็ได้ ใครมีไอเดียอยากทำอะไรคุณไปเปิดเพจเฟซบุ๊กเลยครับ แล้วคุณก็ซื้อโฆษณาเล็กๆ ลงโฆษณา 500 บาท แล้วดูว่ามีคนทักแชทเข้ามาไหม คุยกับเขา โอนเงิน เดี๋ยวนี้มีโมบายล์แบงก์กิ้งสะดวกมาก จริงๆ แล้วมันเป็นโลกที่ใครจะทำอะไรก็ได้เพียงแต่ว่ามันต้องลอง ผมเชื่อในคอนเซปต์นี้ ดังนั้น เวลาผมมีไอเดียอะไรผมเลยไม่ค่อยมาทำมาร์เก็ตรีเสิร์ซ เอาจริงๆ พวกนั้นมันเป็นเรื่องของอดีต เราลองเลยเล็กๆ ก่อน แล้วดูว่าเวิร์คหรือเปล่า อยากให้มองว่าทุกอย่างมันทดลองได้ในโลกปัจจุบัน”


          นอกจากการบริหารอุ๊คบีแล้ว เขายังควบตำแหน่งผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks ซึ่งเป็นกองทุน VC ของ 500 Startups หนึ่งในกองทุนที่มีชื่อเสียงที่สุดใน Silicon Valley โดย 500 TukTuks เป็นกองทุนขนาด 400 ล้านบาทที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ซึ่งขณะนี้ มีการลงทุนไปแล้วมากกว่า 23 บริษัทในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และมีเป้าหมายที่จะลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพกว่า 60 บริษัทช่วง 2 ปีข้างหน้า


           “ทุกวันนี้ทำงาน 7 วันเลย พอมาทำ 500 Tuktuks มันก็ยุ่งขึ้นเรื่อยๆ เราก็เลยมีเวลาส่วนตัวน้อยลง แต่ว่าเวลามันก็จะยืดหยุ่นเพราะผมนอนกี่โมงก็ได้ ถ้าผมไม่มีนัดผมก็นอนไปจนกว่าผมจะตื่น ถ้าวันไหนไม่มีนัดผมอยากไปออกกำลังกายผมก็ไป ตรงไหนมีช่องว่างทำอะไรได้ก็จะทำ ทุกวันนี้เทคโนโลยีมันดีมากผมสามารถเรียกดูข้อมูลทุกอย่างผ่านสมาร์ทโฟนได้ตลอดเวลา มันก็ช่วยให้เราไม่ต้องเข้าออฟฟิศได้บางส่วน แต่ตอนนี้นัดมันเยอะขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนธันวา ผมได้หยุดวันที่ 31 วันเดียวไปกินข้าวกับพ่อ แต่ทุกวันนี้ตื่นขึ้นมารู้สึกแฮปปี้นะ เพราะเราได้ทำอะไรที่เราอยากทำ เพียงแค่ว่ามันเหนื่อยเท่านั้นเอง แต่ใครๆ ก็เหนื่อยทั้งนั้นแหละพูดจริงๆ แต่ว่าเราได้เหนื่อยกับเรื่องที่เราชอบก็ยังดี” ณัฐวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ผู้เขียน// ปาริชาติ บุญเอก

คอลัมน์ // Work & LifeStly By MarketPlus Magazine Issue 90 March 2017

[อ่าน 5,030]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดใจ ‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘Cafe Chilli’ ให้เป็นแบรนด์เรือธง ของ สะไปซ์ ออฟ เอเซีย
ทีเด็ด POP MART เจาะตลาดไทยอย่างไร ให้มัดใจผู้บริโภคอยู่หมัด
‘เดอะคลีนิกค์’ เผยผลงานโดดเด่นปี 66 โกยรายได้กว่า 2.3 พันล้าน เดินหน้าบุกตลาดความงาม
“เพราะชีวิตคือบททดสอบ” เปิดเรื่องราวชีวิตหญิงแกร่ง CHRO แห่งทรู คอร์ปอเรชั่น
‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ กับเบื้องหลังการปั้น ‘บิสโตร เอเชีย’ ให้มียอดขายเติบโตขึ้นถึง 70%
ศุภลักษณ์ อัมพุช กับ New Era ของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่เป็นมากกว่าแค่ช้อปปิ้ง แต่คือการสร้างย่านการค้า
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved