โลกยุคใหม่ อะไรกันครับเนี่ย !!!
12 Sep 2022

 

วันนี้ผมไปเดินเลือกซื้อหนังสือที่ร้านซีเอ็ด หนึ่งในร้านหนังสือที่อยู่ยงคงกระพันที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซีเอ็ดก่อตั้งเมื่อปี 2536 จำได้ว่าสมัยผมเรียนมหาวิทยาลัยจะไปซื้อ Textbook ตำราฝรั่งบางเล่ม ต้องไปหาที่ซีเอ็ดสาขาใหญ่ๆ ปัจจุบันซีเอ็ดยังมีสาขาถึง 246 สาขา (ข้อมูลจากเว็บไซต์ se-ed.com) แต่ละสาขายังคงมีหนังสือ และนิตยสารให้เลือกมากมาย ผมจะเล่าว่าวันนี้ผมเจอหนังสือที่จัดว่า ‘ใหม่’ สำหรับโลกธุรกิจทีเดียวครับ

 

เล่มแรกชื่อว่า 'Metaverse 101 Prepare now for the next big thing' เขียนโดยคุณแทร์รี่ วินเทอร์ส และมีฉบับแปลไทยเรียบร้อยแล้วครับ ในเล่มมีทั้งนิยามของเมตาเวิร์ส ระบบเศรษฐกิจในโลกไปจนถึงโมเดลธุรกิจในโลกเมตาเวิร์ส น่าสนใจทีเดียวครับ (หลังจากที่เราได้อ่าน Bitcoin 101 ของคุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา และคุณสิราวรรณ สกุลมาลัยทองไปเมื่อปีที่แล้ว) อีกเล่มคือ 'อัปเดต Content Marketing ในโลกยุค Metaverse' ของคุณกรรณิกา บุณศิริยะ เจอสองเล่มนี้เข้าไปกระตุกต่อมการตลาดของผมทันทีว่า โลกธุรกิจเปลี่ยนไปเร็วจริงๆ ปีที่แล้วเรายังพูดกันเรื่องคริปโทฯ ปีนี้เราเริ่มพูดกันเรื่องเมตาเวิร์สอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

 

ต่อมาระหว่างเช็กอีเมล ผมก็ได้รับอีเมลน่าสนใจหลายฉบับ ยกตัวอย่าง จาก McKinsey & Company ส่งบทความมาให้อ่านเรื่อง 'Value Creation in the Metaverse' การสร้างคุณค่าในเมตาเวิร์ส ด้วยมูลค่าที่คาดว่าจะแตะ 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2030 ทำให้บริษัทต่างๆ ไม่อาจมองข้ามได้ ในปี 2022 นี้บริษัทต่างๆ มีการลงทุนในเมตาเวิร์สมากกว่าปีที่แล้วถึงสองเท่า คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5 กิจกรรมที่ผู้บริโภครอคอยในเมตาเวิร์สอยู่ ได้แก่ การพบปะทางสังคม ความบันเทิง เกม การท่องเที่ยว และการชอปปิ้ง น่าสนใจไหมล่ะครับ

 

Value creation in the metaverse: the real business of the virtual world |  McKinsey

 

อีเมลอีกฉบับนั้น เชิญผมเข้าร่วมงานสัมมนาในหัวข้อ 'การเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองข้อมูล และการตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์' จัดที่ Google Office ส่วนอีเมลอีกฉบับก็ชวนเข้าไปเรียนออนไลน์ในหัวข้อ 'From Data Literacy to Digital Transformation' หรือ จากทักษะด้านข้อมูลสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

 

 

เกิดอะไรขึ้นกับครับเนี่ย ทำไมโลกธุรกิจมันไม่ใช่ผลิตสินค้า ทำการตลาด ขายของ เก็บเงินแล้ว หรือ มันไม่ใช่โปรโมตสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดียแล้วหรือ มันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเร็วขนาดนี้

ทำให้ผมอยากเล่าเรื่องจากงานสัมมนาของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เมื่อวันก่อนให้ฟังครับ คิดว่าเป็นประโยชน์มากทีเดียว งานสัมมนาสำหรับสมาชิกสมาคมภายใต้หัวข้อ ‘Unlock the Power of Digital Transformation’ โดยคุณชนิกานต์ โปรณานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและปฏิบัติการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผมหยิบประเด็นที่น่าสนใจมาฝากท่านผู้อ่านนะครับ

ท่านวิทยากรพูดถึงเรื่อง Facing Next Digital Era หรือการเผชิญหน้ากับยุคดิจิทัลในยุคต่อไปในหลากหลายหัวข้อ หลากหลายมิติ น่าสนใจเพราะว่าเราพูดกันถึงยุคดิจิทัลมาเป็นสิบปีแล้วมันมีอะไรใหม่บ้าง เราต้องปรับตัวอย่างไรในยุตต่อไป อธิบายเป็น 5 เรื่องดังนี้ครับ

 

 

Automation

โลกดิจิทัลในยุคต่อไปจะเป็นยุคของระบบอัตโนมัติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องจักร การใช้หุ่นยนต์ รวมถึงระบบอัตโนมัติต่างๆ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ตู้เต่าบินนั่นอย่างไรครับ ใครจะเชื่อว่าผู้บริโภคจะชอบซื้อเครื่องดื่มจากตู้ชงอัตโนมัติ (ไม่นับรวมตู้ขายเครื่องดื่มสำเร็จรูปแบบขวดหรือแบบกระป๋องนะ) ตู้เต่าบิน ดำเนินการโดย บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด (FORTH Vending) ให้บริการเครื่องดื่มกว่า 170 เมนู ราคาเริ่มต้น 15 บาท และมีเป้าหมายขยายให้ถึง 5,000 ตู้ และจะถึง 20,000 ตู้ในปี 2567 สิ่งที่น่าสนใจคือ  ‘ยอดขาย’ ไตรมาส 2/65 มีตู้เต่าบินจำนวน 2,138 ตู้ ยอดขาย 346 ล้านบาท เฉลี่ย 80,139 บาท/ตู้/เดือน เดือนมิถุนายน 2565 มี ยอดขาย 140 ล้านบาท กำไร 32 ล้านบาทหรือเรียกว่าทำกำไรวันละมากกว่า 1 ล้านบาท คนชงไม่ต้อง คนเสิร์ฟไม่มี กดเองล้วนๆ

 

 

 

Generation

ในโลกดิจิทัลในยุคต่อไป Gen Z และ Gen Alpha จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่จะกระทบกับการบริโภคสินค้าและบริการ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรด้วย การหาแรงงานเข้าสู่ตลาดจะยากขึ้น เพราะทั้งสอง Generation นี้ไม่นิยมทำงานประจำ ชอบทำงาน Freelance ชอบ Gig Economy

ดังนั้นยิ่งทำให้องค์กรต่างๆ อาจต้องวางแผนด้าน Automation ไว้ล่วงหน้าอย่างที่เล่าให้ฟังในข้อแรก เรื่อง Generation ยังรวมไปถึงการอยู่ร่วมกันของ Generation ต่างๆ ในองค์กร เพราะแต่ละองค์กรจะมีความหลากหลายทางอายุมากขึ้น การทำงาน การสื่อสารก็ต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกัน

 

 

 

Skills Obsolete

ทักษะเดิมๆ จะล้าสมัย ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านคอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรม การตัดต่อวิดีโอ หรือแม้แต่ที่เรากำลังอ่านกันอยู่นี้ ใช่ครับ ทักษะด้านการตลาดเก่าๆ ก็อาจจะล้าสมัยไปด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ เราขับรถม้าเมื่อพันปีก่อน เปลี่ยนมาขับรถยนต์เมื่อร้อยกว่าปี แต่ปัจจุบันเราไม่ต้องขับรถยนต์แล้วเพราะมีระบบขับอัตโนมัติ ต่อไปทักษะการขับรถยนต์อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว ทักษะด้านการทำงานก็เช่นกันพนักงานที่ผลิตชิ้นส่วนในโรงงานที่ทำงานได้คล่องแคล่วด้วยประสบการณ์กว่า 10 ปี อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปในยุคดิจิทัล นี่เป็นความจริงอันร้ายกาจของโลก HR ที่ต้องปลดพนักงานครับ

 

 

Cyber Security

หรือความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ คือ การนำเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงวิธีการปฏิบัติต่างๆ เพื่อป้องกันและรับมือการโจมตีเข้ามายังอุปกรณ์เครือข่าย โครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ ระบบหรือโปรแกรมที่อาจจะเกิดความเสียหายกับองค์กรได้ รวมทั้งความปลอดภัยทางไซเบอร์ส่วนบุคคลด้วย ปัจจุบันมีการโจมตีทางไซเบอร์มากขึ้นเรื่อยๆ สำนักงาน Cybersecurity แห่งสหราชอาณาจักร หรือ NCSC (National Cyber Security Centre)  รายงานว่าในไตรมาสแรกของปี 2021 สถิติการโจมตีด้วย ransomware เพิ่มขึ้น 3 เท่า จากทั้งหมดในปี 2019 ทำให้แต่ละบริษัทต้องหาทางป้องกันการโจมตีเหล่านี้ และทางออกที่เป็นความหวังคือการใช้ AI บริษัท Capgemini ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีจากฝรั่งเศส ระบุว่ากว่า 2 ใน 3 ของบริษัทต่างๆ เชื่อว่า AI จะเป็นเครื่องมือหลักของ Cyber Security นี่ยังไม่ได้พูดถึงการล่อลวงกันทางดิจิทัล การไลฟ์ชักชวนกันไปลงทุนแล้วเชิดเงินหนีเป็นพันๆล้านนะครับ

 

 

เรื่องสุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน เมตาเวิร์สจะพัฒนาไปเพียงใด ถ้าโลกร้อน น้ำท่วม เกิดภัยธรรมชาติรุนแรง ทุกอย่างก็คงพังทลายทั้งหมด จากผลสำรวจพบว่า Generation Z นอกจากจะคลั่งไคล้ในเทคโนโลยีแล้ว ยังมีแนวโน้มซื้อสินค้าและบริการที่รักษ์โลกด้วย ดังนั้นบริษัทต่างๆ คงต้องหันกลับมาพิจารณาว่าเรามุ่งไปแต่ดิจิทัลหรือเทคโนโลยี แล้วเราใส่ใจโลกหรือเปล่า สินค้าและบริการของเราดีต่อโลกหรือไม่ นี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ท้าทายในยุคดิจิทัลยุคต่อไปครับ

 

โลกยุคใหม่ไม่ใช่เรื่องของอนาคต แต่เป็นเรื่องปัจจุบันที่ต้องวางแผนล่วงหน้า องค์กรจะมี Profit ไม่ได้ หากไม่ได้ใส่ใจ Planet และ People ลองคิดแล้วลงมือทำเพื่อก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ไปด้วยกันครับ

 


 

วีรพล สวรรค์พิทักษ์

CMO บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

ที่ปรึกษาทางด้านการตลาด อาจารย์มหาวิทยาลัย และวิทยากรมืออาชีพ

werapol@gmail.comwww.facebook.com/ajgogonews

[อ่าน 1,696]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เผยลักษณะสำคัญของ Savvy Explorers ในเอเชียแปซิฟิก
อโกด้าเผยไทยติดอันดับ 2 จุดหมายยอดฮิตของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นช่วงโกลเดนวีค
เปิดโพล!! คนไทยคิดอย่างไรกับสงกรานต์ 21 วัน
หลุยส์คาเฟ่ ปลุกกระแสแบรนด์เนมตื่น เอนเกจพุ่ง 950 % หลังเปิดตัวเพียงครึ่งเดือน
สัญญาณดีๆ ของปี 2023 มีส่งต่อปี 2024 ไหม
TikTok ร่วมพัฒนาอนาคตแห่งความบันเทิงและการค้าในปี 2567
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved