ชนาธิป เลขะกุล Digital Transformation Driven Journey
23 Nov 2022

Digital Transformation กลายเป็น Jargon ที่พูดกันให้เกร่อ แต่ ‘ระหว่างบรรทัด’ ของคำๆ นี้มีเส้นทางที่ธุรกิจทุกขนาดต้องทบทวนเพื่อถามตนเองเช่นกัน เสมือนเป็นเช็กลิสต์ว่า เราได้ผลีผลามหรือเผอเรอก้าวข้ามเฟสใดเฟสหนึ่งแล้วกระโจนข้ามขั้นตอน จนเป็นเหตุให้การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลของธุรกิจนั้นไม่สมบูรณ์ หรือไม่สำเร็จหรือไม่

 

ด้วยมุมมองของ อาจารย์ ชนาธิป เลขะกุล ผู้ช่วยคณบดี คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ซีอีโอ บริษัท เอ็ดบอท จำกัด (EdBot) ที่เรียงเส้นทางของ Digital Transformation Driven Journey ให้เห็นอย่างชัดเจน บวกกับการตั้งข้อสังเกตให้โลกธุรกิจต้องถามกลับตนเอง พร้อมกับเปิดมุมมองที่ว่า ‘ดิจิทัลยิ่งรู้ ยิ่งหาหาเทคโนโลยีได้ทั้งถูกและดี’

 

ธุรกิจที่คิดจะขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลถือว่าเป็นการกระโจนใส่ Digital Transformation เลยหรือเปล่า

การขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลนั้นอยากให้มองที่ 2 องค์ประกอบหลักก่อนนั่นคือ ในส่วนของ ‘ดิจิทัล’ และ ‘การศึกษา’ (Education) เนื่องจากการสร้างดิจิทัลโซลูชั่น (Digital Solution) จะมีพื้นฐานมาจากปัญหาที่เกิดซ้ำๆ หรือปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข (Pain Point) ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่อยากจะนำเสนอตรงนี้คือ Digital for Education เพราะทุกวันนี้แต่ละองค์กรก็จะต้องรับเอาดิจิทัลโซลูชั่นเข้ามาใช้อย่างอย่างแพร่หลาย มิฉะนั้น ก็จะขับเคลื่อนองค์กรลำบาก

แต่ทั้งนี้ ก็ต้องเข้าใจบริบทของดิจิทัลโซลูชั่นก่อนว่า ประกอบด้วย 4 มิติที่สำคัญ นั่นคือ

1. Digital Literacy ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกดิจิทัล และการปรับใช้ในทางปฏิบัติ

2. Digital Security ความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้งานในโลกดิจิทัล หรือสื่อเทคโนโลยี

3. Digital Information ข้อมูลข่าวสาร (Data & Information) ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านข้อมูลจากระบบแอนะล็อกสู่ระบบดิจิทัล เพื่อใช้ภายในองค์กร หรือการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารกับลูกค้า รวมทั้งการนำข้อมูลมาใช้ประกอบการวิเคราะห์และการคาดการณ์ต่างๆ

4. Digital Transformation การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ซึ่งแต่ละองค์กรก็นิยามและเป้าหมายของตนเอง และลูกค้าที่แตกต่างกันไป

ทว่า ในส่วนของ Digital Transformation มีข้อสังเกตที่น่าสนใจและอยากให้มองให้ด้วย นั่นคือ

1) ความพร้อมของการเปลี่ยนแปลง

2) จังหวะของการเปลี่ยนแปลง

 

เราจะเห็นได้ว่า หลายๆ องค์กรแม้อยากทำ Digital Transformation แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ นั่นเป็นเพราะไม่เข้าใจบริบทของการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ว่า ต้องประกอบด้วยสองตัวแปรนี้ นั่นคือ ‘ความพร้อม และ จังหวะการเปลี่ยนแปลง’ เพราะแม้มีความพร้อมแต่ไม่ใช่จังหวะ เช่น ช้าหรือเร็วเกินไป ฯลฯ ก็ไม่สำเร็จ หรือ แม้จังหวะได้แต่ไม่มีความพร้อมก็ไม่สำเร็จเช่นกัน

 

แล้วเกี่ยวข้องอย่างไรกับ Digital for Education

ส่วนในมุมของ Digital Solution ซึ่งประกอบด้วย 4 มิตินั้น เมื่อแตะเข้ามาที่ Digital for Education นั้นก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า Education ไม่ได้หมายถึงแค่การศึกษาในระดับประถม มัธยม หรือระดับอุดมศึกษาเท่านั้น แต่ปัจจุบันบริบทของ Education เปลี่ยนไปและให้ความสำคัญกับ Learning หรือ ‘การเรียนรู้’ มากกว่า ทั้งที่ Learning เป็นส่วนหนึ่งของ Education แต่เนื่องจาก Learning มีความยืดหยุ่นมากกว่า ไม่ติดกรอบระบบการศึกษา โดยแบ่งเป็น Hard Skill เช่น การเรียนรู้เพื่อทำธุรกิจ e-Commerce การเรียนรู้เพื่อตีกอล์ฟ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้จากทุกช่องทางที่มี ไม่จำเป็นต้องไปศึกษาในระบบที่เรียกว่า Education และอีกส่วนคือ Soft Skill เช่น การเรียนรู้พฤติกรรมการอยู่ร่วมกันในสังคมหรือครอบครัว, การเรียนรู้สำหรับการสื่อสาร, การเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาของลูกค้าในองค์กร ฯลฯ ซึ่งนี่คือส่วนขยายของ Education ในปัจจุบัน เพียงแต่ Education ที่ยังมีบทบาทในโลกใบนี้ เนื่องจากได้รับการพัฒนามาเป็นร้อยปีแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม หลายๆ องค์กรที่พยายามนำเอา โมเดล 3E เพื่อใช้พัฒนาบุคลากรของตนเอง และรีครูทพนักงานเข้ามาในองค์กร ซึ่งประกอบด้วย

  • Education การศึกษา มีสัดส่วน 10%
  • Experience ประสบการณ์ มีสัดส่วน 70%
  • Exposure การแสดงออก มีสัดส่วน 20%

โดยเฉพาะ Experience คือ ส่วนที่องค์กรต่างๆ ต้องการมาก เพราะแสดงให้เห็นว่า บุคลากรคนนั้นมีความเข้าใจในส่วนที่เกี่ยวกับ Soft Skill มากแค่ไหน อาทิ อุตสาหกรรมการบินที่นักบินต้องมีประสบการณ์จากการสะสมชั่วโมงบิน

 

หรือที่พูดกันว่า เด็กจบใหม่ตกงานเยอะ นั่นไม่ใช่เพราะเด็กไม่มีความรู้ แต่เป็นเพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก องค์กรจึงอยากได้คนที่มีประสบการณ์และสามารถทำงานได้เลย ดังนั้น หากเสียเวลาพัฒนาคนอีก 1-2 ปีก็จะไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ตลาดแรงงานนั้นกว้างใหญ่มาก แต่ศักยภาพของคนที่มีในตลาดแรงงานไม่เข้ากับความต้องการขององค์กรมากกว่า โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจทางด้านดิจิทัลในเชิงลึก ดังนั้น ดิจิทัลโซลูชั่น จึงเป็น 4 องค์ประกอบที่กล่าวไว้ (Digital Literacy - Digital Security - Digital Information - Digital Transformation) ว่า เรามีความรู้ความเข้าใจใน 4 เรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัลในส่วนขององค์กรและบุคลากร

 

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ‘องค์กรและบุคลากร’ ควรจะเดินหน้าต่อกันอย่างไร

ในส่วนของ ‘องค์กร’ ปัจจุบันให้ความสำคัญกับ Speed (ความเร็ว) และ People (บุคลากร) หรือ ทุนมนุษย์ (Human Capital) องค์กรวันนี้ต่างก็เร่งสปีดตนเอง ไม่ใช่ให้เหนือกว่าคู่แข่งขัน แต่เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งพยายามที่จะนำเทคโนโลยี ระบบดิจิทัล, ระบบอัตโนมัติ หรือหุ่นยนต์มาช่วยปฏิบัติการ ซึ่งทำให้พูดกันต่อว่า ต่อไปจะมีการใช้งานมนุษย์ในองค์กรน้อยลง แต่สุดท้ายไม่ใช่ เพราะงานบางส่วนก็ยังต้องใช้มนุษย์ทำงาน

 

แต่เมื่อมองในมุมของบุคลากร จะเห็นได้ว่า หลายๆ องค์กรพยายามตั้งเป้าหมายและการชี้วัดกันอย่างหลากหลาย เช่น KPI, OKR  ฯลฯ แต่การเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ นั่นเป็นเพราะองค์กรไม่เคยที่จะพัฒนาบุคลากร หรือทุนมนุษย์ของตนเองให้ตอบโจทย์ และทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

นี่เป็นการมองคนละแกนกัน โดยองค์กรมองว่า การที่จะบรรลุเป้าหมาย คือ ความสำเร็จ

 

แต่จริงๆ แล้ว องค์กรควรตั้งเป้าให้บุคลากรเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับเป้าหมายของงาน

ในวันนี้ที่เราจะบอกว่า ให้บุคลากรเหล่านี้เข็นงานให้ขึ้น หรือให้เติบโตให้เร็วที่สุด แต่ในเมื่อบุคลากรของเราไม่มีความพร้อม และไม่สามารถทำงานได้ก็จะทำให้ไปด้วยกันไม่ได้ ดังนั้น หากต้องการความสำเร็จนอกจากเป้าหมายงานขององค์กรแล้วก็ต้องมีเป้าหมายของบุคลากรด้วย เพื่อป้องกันการเกิด ‘ช่องว่างชิ้นใหญ่ขององค์กร’ จากการที่บุคลากรก้าวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง หรือการพัฒนาองค์กรที่รุกไปข้างหน้าแล้ว เพราะการใช้งานระบบหรือหุ่นยนต์เป็นเพียงการป้อนข้อมูลคำสั่งก็สามารถทำงานได้ แต่การพัฒนาบุคลากรมีความซับซ้อนกว่านั้น ทั้งในแง่ความรู้ความเข้าใจ ตัวตน อารมณ์ ความรู้สึก ฯลฯ

 

แล้วจะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนได้อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

เมื่อย้อนมาที่เป้าหมายในส่วนขององค์กรที่อยากให้งานสำเร็จและมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น แต่เป้าหมายในส่วนของบุคลากรนั้นไม่ได้ผลักดันเลยต่อให้มีความรู้มากแค่ไหนก็ไปไม่ได้อยู่ดี ตรงนี้จึงเป็นที่มาของ Digital Solution การที่องค์กรจะขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล (Digital Driven) แล้วไปด้วยกันได้กับบุคลากรได้นั้น

ประการแรก ถ้าเราต้องการใช้ Digital Driven เพื่อการดำเนินธุรกิจ หรือเพื่อการพัฒนาองค์กร เราต้องเข้าใจด้วยว่า ปัจจุบันดิจิทัลขององค์กรอยู่ในระดับใด คนในองค์กรของเราเข้าใจคำว่า ‘ดิจิทัล’ แล้วหรือยัง?

ถ้ายัง - เราต้องเปิดรับ (Adopt) และทำความเข้าใจกันในองค์กรว่า เราจะขับเคลื่อนกันด้วยดิจิทัล ทั้งในแง่ของการทำงานและการเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัล แล้วจะเช็กได้อย่างไรว่า คนในองค์กรมีความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัลกันแค่ไหน

ประการที่สอง ดิจิทัลที่เราจะนำมาปรับใช้นั้น เราจะสามารถนำมาปรับใช้ทางใดได้ก่อน ตัวอย่างง่ายๆ หากต้องการที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลก็ควรเป็นงานที่ทำๆ กันอยู่ โดยเริ่มกับ

1)  Digital Data ด้วยการนำข้อมูลที่มีเพื่อทำให้เป็นดิจิทัล เนื่องจากทั้ง Data, Information ทุกองค์กรมีอยู่แล้ว และหากทำให้เป็นดิจิทัลได้ก็จะสามารถจับต้องได้ง่าย เข้าถึงได้ง่าย และในส่วนนี้มีความสำคัญอย่างมากด้วย จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้องค์กรพยายามที่จะนำข้อมูลข่าวสารผ่านระบบดิจิทัลให้มากขึ้น ไม่ใช่เพราะต้องการเป็นสำนักงานแบบไร้กระดาษ (Paperless) หรือลดการใช้กระดาษ แต่เป็นเพราะอยากให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านระบบดิจิทัลมากกว่า เช่น เอกสารในสำนักงานที่ต้องพรินต์ออกมาเพื่อให้ผู้บริหารลงนาม แต่เมื่อเก็บในรูปไฟล์ดิจิทัลก็จะสามารถกำหนดชั้นความลับ หรือระดับของสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลตามลำดับชั้นของบุคลากรได้ หรือสามารถติดตามหรือตรวจสอบ (Tracking) ผู้ที่เข้าถึงเอกสารเหล่านี้ในระบบได้ นอกจากนี้ ต่อไปจะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ทำให้องค์กรต่างๆ ที่เก็บข้อมูลสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ฯลฯ ของบุคลากรต้องเตรียมปรับตัว หากมีการประกาศว่า การเก็บเอกสารเหล่านี้เป็นความผิด แล้วองค์กรธุรกิจเหล่านี้จะปรับตัวอย่างไร จริงๆ แล้วการเก็บเอกสารเหล่านี้ยังเก็บได้ แต่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการเก็บเอกสารเหล่านี้เป็นไฟล์ดิจิทัล จากนั้นก็กำหนดการเข้าถึงเอกสารตามชั้นความลับ มิฉะนั้น จะมีปัญหาเกี่ยวกับ PDPA เนื่องจากการเก็บเอกสารเป็นกระดาษอาจทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลได้ง่ายกว่า ฯลฯ

2) Digital Communication ต้องพยายามนำดิจิทัลมาใช้เพื่อการสื่อสาร หรือการติดตาม (Tracking)

 

ถ้ายังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัลอะไรมากนักก็ให้ใช้กับสองเรื่องนี้ก่อน เพราะทุกองค์กรมีข้อมูล ข่าวสารอยู่แล้ว และต้องติดต่อสื่อสารกันอยู่แล้ว นี่คือสิ่งที่จับต้องได้และบุคลากรก็ต้องถูกนำพาเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนกับสองเรื่องนี้ก่อน เพราะส่วนใหญ่จะพูดกันไปถึงการนำ ดิจิทัล หรือนำ AI มาใช้ คนจะนึกภาพไม่ออกว่า มันคืออะไร

แต่ถ้าเราบอกว่า เราจะนำดิจิทัลมาใช้เพื่อการสื่อสาร เช่น เปลี่ยนการประชุมแบบเดิมที่ใช้โทรศัพท์คุยกันเป็นการประชุมแบบกลุ่ม (Conference Meeting) หรื​อการคุยที่มีระบบติดตาม (Digital Tracking) ได้ว่า หลังประชุมแล้วมีการสั่งงานอะไร สามารถกำหนดงานได้ว่า งานต้องเสร็จภายในวันที่เท่าไร มีโปรแกรมการบริหารจัดการโครงการได้ ซึ่งระบบติดตามเช่นนี้จะช่วยปิดช่องว่างทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพดีขึ้น เช่น การคุยกันทางโทรศัพท์ เราอาจจะรู้ส่วนหนึ่งแต่จำไม่ได้ว่า เราคุยกันอะไรไปบ้าง แต่การพูดคุยผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยทำให้เราจำเนื้อหาการประชุมได้ ฯลฯ

 

การขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล (Digital Driven) ถ้าไม่มีการเตรียมการไว้ก่อน หรือเตรียมการให้เร็วกว่าคนอื่น สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลได้ และอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเข้ามาดิสรัปต์ (Disrupt) ธุรกิจของเราได้ หรืออาจเป็นอุปสรรคที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้

 

 

 

หลัง Digital Data, Digital Communication แล้วเฟส 2 ควรทำอะไรต่อ

สำหรับ 2 เรื่องในเฟสแรกก็อาจจะลุล่วงได้ช้า หรือเร็วขึ้นกับขนาดขององค์กรด้วย

ส่วนเฟส 2 ก็ควรต้องขยับไปทำเรื่อง Digital Security เนื่องจากข้อมูลอยู่บนระบบดิจิทัลแล้ว ถ้าเราไม่มีแผนสำหรับการดูแลทางด้านความปลอดภัยอย่างชัดเจน องค์กรก็อาจจะได้รับผลกระทบกลับมา อาทิ การส่งข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียแล้วถูกคนอื่นดึงข้อมูลออกไปก็อาจทำให้บริษัทได้รับความเสียหายได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้องค์กรต่างๆ เริ่มวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความปลอดภัยทางดิจิทัลขึ้นมาเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูล สังเกตง่ายๆ ได้จากการเข้าเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งเราต้องให้ความยินยอมคุ้กกี้ หรือการยืนยันตัวตนสองชั้น ฯลฯ แม้เป็นความรำคาญ อึดอัดใจ แต่มีผลในทางกฎหมาย แล้วถ้าเราไม่ให้ความยินยอม เราก็จะไม่สามารถเข้าไปในระบบหรือเว็บไซต์นั้นๆ ได้ เนื่องจากเขาไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์อะไรได้

 

ปัญหาที่องค์กรเผชิญอยู่ คือ กรณีเราไม่กดยอมรับ หรือยินยอม เมื่อเราล็อกอินเข้าก็จะมีแฮ็กเกอร์มาดึงข้อมูลไปใช้ได้ แต่หากเราให้การยินยอมหรือลงทะเบียนไปแล้ว บริษัทก็จะดูแลความปลอดภัยของข้อมูลเรา เนื่องจากถูกส่งไปเก็บในฐานข้อมูลของเขา แต่เมื่อเราไม่ได้ล็อกอิน หรือไม่ได้มีการเก็บข้อมูลเข้าเว็บไซต์ ข้อมูลต่างๆ ก็จะอยู่บนหน้าเว็บไซต์หรือคอมพิวเตอร์ของเรา ซึ่งมีข้อเสีย คือ ถ้าวันใดวันหนึ่งมีแฮคเกอร์ส่งข้อความว่า คุณได้รับโชค หรือต้องการที่จะทำอะไรสักอย่างให้กดลิงก์นี้ พอกดเข้าไปเขาก็จะได้ข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ของเราออกไปหมดทั้งพาสเวิร์ด หมายเลขบัตรเครดิต หมายเลข CVV ฯลฯ ซึ่งก็อาจทำให้เรางงๆ ว่า ทำไมอยู่ๆ มีการหักบัญชีของเราออกไปได้แบบไม่รู้ตัว นี่จึงทำให้องค์กรต้องทำด้าน Digital Security

 

นอกจากนี้ ก็ยังมีเฟส 3 Digital Transformation ซึ่งเป็นเฟส 3 แต่กลับถูกถึงเป็นอันดับ 1 ทั้งที่ในทางปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลนั้นจะต้องเป็น เฟส 3 โดยต้องผ่านเฟส 1, 2 มาก่อน จึงจะเปลี่ยนเป็นดิจิทัลโดยสมบูรณ์ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรายังสื่อสารกันด้วยการส่งเอกสารเพื่อสั่งงาน หรือนัดประชุมรวมกัน หรือการโทรศัพท์สั่งงาน แบบนี้ก็การขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลแล้ว เพราะหากเกิดปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น โควิด หรืออะไรก็ตามทำให้ไม่สามารถสื่อสารแบบเจอตัวได้ อย่างนี้ก็เรียกว่า เราก้าวสู่ Digital Transformation อย่างสมบูรณ์แบบไม่ได้ ดังนั้น ขั้นตอนนี้จึงต้องเป็นเฟสสุดท้าย เนื่องจากเมื่อมองการยอมรับเทคโนโลยีตามกฎของ Geoffrey Moore (ตามภาพ)

 

 

จะเห็นว่า การที่จะเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลควรอยู่ในจุดที่เป็น Early Majority หรือที่เรียกว่า Growth เพราะกราฟกำลังชันหัวขึ้น เพราะมันยังเติบโตต่อได้เรื่อยๆ เป็นช่วงจังหวะที่มีศักยภาพและมีความพร้อม เป็นช่วงที่บุคลากรและองค์กรได้เรียนรู้ ลองผิดลองถูก สามารถนำทรัพยากรที่มีมาต่อยอดได้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

แต่ก็มีคำถามว่า ทำไมเราไม่ทำ Digital Transformation  ตอนที่อยู่ในจุดสูงสุดอย่าง Mainstream Market ณ จุดที่พีคมากๆ นี้ ซึ่ง ณ จุดนี้จะจะมีข้อจำกัดอยู่สองเรื่อง คือ เมื่อถึงจุดสูงสุดแล้ว บุคลากรก็จะไม่อยากเปลี่ยนแปลง เพราะอยู่ใน Comfort Zone ก็สบายดีอยู่แล้ว อีกอย่างการเปลี่ยนแปลงใช่วงนี้ถือเป็นช่วง Late Transformation นั่นคือ ไม่ทันการณ์แล้ว เพราะคนอื่นทำ Transformation ไปก่อนหน้ากันแล้ว และตลาดอาจจะวายไปแล้วก็ได้

 

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มักจะชอบการเปลี่ยนแปลง ณ จุดที่เป็น Mainstream เนื่องจากไม่ได้แปลกแยกจากคนอื่นๆ แต่ที่จริงแล้ว พฤติกรรมของคน โดยเฉพาะคนไทยจะเปลี่ยนแปลงที่จุด End หรือ Laggard เหมือนนักศึกษาจะสอบวันพรุ่งนี้ก็จะอ่านหนังสือกันคืนนี้ ทำให้มีเวลาเตรียมสอบแค่ 5-6 ชม. นี่คือการอ่านหนังสือ ณ จุด End ย่อมต่างจากคนที่อ่านหนังสือ ณ จุด Growth ที่เตรียมตัวมาตลอดเทอมการศึกษา องค์กรก็เช่นกันที่บอกว่า อยากเปลี่ยนแปลง แต่มาเปลี่ยนแปลงเมื่อคราวที่เจอวิกฤติโควิด หรือผลกระทบ ฯลฯ อย่างนี้ก็น่าจะเรียกว่า ต้องเปลี่ยนเพราะไม่มีทางเลือกมากกว่า แต่ที่สำคัญ ตัวแปรอย่างโควิด หรือผลกระทบต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ว่า อีก  1 วัน, 1 เดือนหรือ 1 ปีจะมาถึง ฉะนั้น ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงจริงๆ จึงต้องเปลี่ยนแปลงตรงส่วนที่เป็นจุด Growth

 

กรณีที่เป็น SMEs ที่เปลี่ยนแปลงช้ากว่าองค์กรใหญ่ๆ จะต้องทำอย่างไร มีคีย์ลัดอะไรหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือ Micropreneur ซึ่งเล็กกว่า SMEs อีก เพราะเป็นกลุ่มฟรีแลนซ์ หรือทำธุรกิจไม่เกิน 5 คน คนเหล่านี้ก็ทำในเฟส 1 คือ เรื่อง Information, Communication เหมือนที่กล่าวมาข้างต้นได้เลย ยิ่งเป็นองค์กรเล็กอาจมีข้อจำกัดมากกว่าองค์กรใหญ่ เช่น การสื่อสาร หากยังต้องเจอลูกค้าแบบ1:1 ทุกวันนี้ย่อมจะไม่เพียงพอแล้ว และอาจพบลูกค้าได้ไม่เกิน 3 คน/วัน แต่หากนำขึ้นดิจิทัลแพลตฟอร์มก็จะทำให้เราสามารถพบลูกค้าได้ 10-20 คนก็ได้ เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้จะมีคนน้อย เจ้าของกิจการอาจไลฟ์สดขายของได้ แพ็กของขาย หรือทำอะไรหลายๆ อย่างได้เป็น Multi-Skill

 

สำหรับคนกลุ่มนี้ถ้ายังไม่แตะเข้าไปที่เฟส1 เชื่อได้ว่า ต่อไปคนกลุ่มนี้จะมีความเดือดร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หากแตะเข้าเฟส 1 ได้แล้วก็จะทำให้สามารถอยู่รอดได้ หรือเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมได้

 

SME หรือ Micropreneur ถือว่ามีทุนน้อย จำเป็นหรือไม่ว่าจะต้องใช้เทคโนโลยีแพงๆ เพื่อ Go Digital

ไม่ว่าจะเป็น SMEs, Micropreneur หรือธุรกิจขนาดใหญ่ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อเทคโนโลยีแพงๆ มาใช้เลย ต้องเข้าใจว่า เทคโนโลยีแพงๆ บางครั้งไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการเสมอไป ความสำคัญของการใช้ดิจิทัลอยู่ที่เราเข้าใจดิจิทัลแค่ไหน

 

ยิ่งเข้าใจเยอะ จะยิ่งเสียเงินกับเทคโนโลยีดิจิทัลได้แบบ ‘ถูกและดี’ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากโฆษณาสินค้า/บริการ ถ้าซื้อผ่านเอเจนซีก็ต้องใช้งบสูงประมาณหนึ่ง แต่ปัจจุบัน ถ้าเรามาดูช่องทางดิจิทัลที่เหมาะสมกับสินค้าของเรา แล้วอาจจะโพสต์ภาพขายของในโซเชียลมีเดีย เช่น IG TikTok Facebook, ตั้งกลุ่มหรือเพจเพื่อขายสินค้าให้สั่งสินค้ากับเราโดยตรง ฯลฯ ซึ่งบางรายยังไม่ได้เสียค่าบูสท์โพสต์เลยด้วยซ้ำ ตรงนี้ก็ขึ้นกับสินค้าและไอเดียของเรานั้นเข้ากันได้หรือเปล่า

[อ่าน 2,656]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ด้วยการตลาดแบบยั่งยืน (Sustainability Marketing)
“สะสม” แค่กระแส หรือจงรักภักดี
ฉากทัศน์แห่งความรุ่งเรืองของธุรกิจ Art Toy ในประเทศไทย
The Charming Business of Art Toy
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัวสู่การเติบโตยั่งยืน
Soft Power เอาจริงหรือ?
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved