สวัสดี 2566 กับ 6 สิ่งที่ CEO ควรทำ
19 Dec 2022

 

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๖ ครับท่านผู้อ่าน ปีนี้ปีเถาะ ตามตำราโหราศาสตร์ว่าไว้ว่า ‘กระต่ายคือสัตว์ที่อ่อนโยนน่าทะนุถนอมมากที่สุดในบรรดา 12 นักษัตร เป็นสัญลักษณ์ของความเมตตากรุณา อ่อนหวานและเป็นที่รักของผู้อื่น เป็นเพื่อนที่ดี มีอัธยาศัยดี ซื่อสัตย์เป็นมิตร เข้ากับคนได้ง่ายและรู้จักวางตัว อารมณ์เย็น เป็นคนที่ดูเป็นเด็กอยู่เสมอ มีจินตนาการสร้างสรรค์ ในขณะที่คนอื่นกำลังตื่นตระหนก กระต่ายจะถอยห่างออกมาดูลาดเลาเพื่อดูว่ามีอะไรผิดสังเกต กระต่ายมักจะหลีกเลี่ยงการปะทะ หากมีเหตุรุนแรงจะหลบไปหาความสบายใจที่อื่น’

พอแค่นี้ก่อน เดี๋ยวหลายท่านจะนึกว่า  Business in Action กลายเป็นคอลัมน์ดูดวงไปเสียแล้ว แต่จากที่กล่าวมาข้างต้น ผมลองนำมาคิด วิเคราะห์เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการควรวางแผนไว้ได้หลายประการครับ

 

 

ความน่าทะนุถนอม – Branding ดูดีสวยงาม

ในปี 2565 นี้สถานการณ์ต่างๆ น่าจะรับมือได้ ดังนั้นช่วงเวลาแห่งการสร้างแบรนด์น่าจะกลับมาอีกครั้ง หลายแบรนด์เริ่มส่งสัญญานให้เห็นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของ Nielsen และ DAAT มีตัวเลขของการใช้สื่อเติบโตสูงถึง 5% จากยอด 53,802 ล้านบาทในครึ่งปีแรกของปี 64 มาเป็น 56,655 ล้านบาทในครึ่งปีแรกของปี 65 โดยเฉพาะครึ่งปีหลังของ 65 เติบโตในทิศทางบวกประมาณ 5% - 8% โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง สื่อในโรงภาพยนตร์ที่กลับมาเติบโตได้ดีกว่า 162% สื่อนอกบ้าน (OOH) เติบโตได้กว่า 42% ทำให้เห็นสัญญานการฟื้นตัวของการใช้งบประมาณในสื่อต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

 

เป็นเพื่อนที่ดีเข้ากับคนง่าย – Co-branding

ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความร่วมมือกันระหว่างแบรนด์มากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแฟชั่น สินค้าหรูหรา ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม เช่น Balenciaga กับ Gucci สุดยอดลักซ์ชูรีแบรนด์ที่ร่วมมือกันในช่วงปลายปีกับยอดขายถล่มทลาย Omega กับ Swatch 2 แบรนด์นาฬิกาค่ายเดียวกันกับกระแสที่ยังแรงข้ามปี Guss Damn Good กับ Line ไอศกรีมสุดน่ารักที่ออกมาให้คึกคักในช่วงปีใหม่ หลายแบรนด์เห็นประโยชน์ของการร่วมมือกัน ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งซึ่งกันและกัน และพร้อมที่จะสร้างยอดขายเติบโตไปด้วยกัน

 

ดูเด็ก มีจินตนาการสร้างสรรค์ – Brand Rejuvenation

ทุกแบรนด์ที่ผ่านช่วงวิกฤติมาได้ มักจะรู้สึก ‘เหนื่อยล้า’ เชื่อว่าท่านผู้อ่านก็เช่นกัน ปีเถาะปีใหม่นี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการทำตัวให้ทันสมัย Look Young เช่น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งนวตกรรมใหม่ๆ ดีไซน์ใหม่ๆ การหาจุดสื่อสารที่แตกต่างจากเดิม การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ล้วนเป็นสิ่งที่จะกระตุ้นแบรนด์ให้ดูเด็กลงได้ทั้งสิ้น ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงาน  ‘Disney Showcase’ มา ปี 2565 นี้จะมีงาน Disney100th : Imagine the Possibilities ยาวต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องใหม่ๆ การเปิดสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในประเทศไทย ไปจนถึงการเฉลิมฉลองในทุกอีเวนต์ตลอดทั้งปี ซึ่งน่าสนใจมากๆ ว่าแบรนด์ที่มีอายุ 100 ปี ทำอย่างไรถึงมีแต่ความสนุก เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการได้ขนาดนี้ เตรียมติดตามนะครับ

 

McKinsey&Company ได้เผยแพร่บทความเรื่อง  ‘สิ่งที่ CEO ควรให้ความสำคัญในปี 2023’  What should CEOs prioritize in 2023? โดย Homayoun Hatami and Liz Hilton Segel โดยมี 6 ประเด็นที่น่าสนใจนำมาเล่าให้ฟังกันครับ

1. Resilience: Fall back and Spring ahead

ปรับตัวให้มีความยืดหยุ่น ถอยแล้วเด้งไปข้างหน้า ในบทความกล่าวว่าต่อจากวิกฤติโควิด เรายังต้องเจอวิกฤติเงินเฟ้อกันต่อ ดังนั้นการปรับตัวเป็นสิ่งที่ CEO ทั้งหลายทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ปีนี้ต้องสร้างตัวเองให้แข็งแรง พร้อมเติบโต มีข้อแนะนำเรื่องความยืดหยุ่นอยู่ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงิน ด้านการปฏิบัติการ ด้านเทคโนโลยี ด้านองค์กร ด้านรูปแบบธุรกิจ และด้านการบริหารชื่อเสียง

 

2. Courage

ผู้บริหารควรบริหารงานด้วยความกล้าหาญ ไม่ใช่มุทะลุ แต่เต็มไปด้วยความสุขุมรอบคอบ ในบทความกล่าวถึงการยอมถอยหลังบางก้าว เพื่อที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า ในช่วงปีที่ผ่านมาหลายบริษัทอาจทำได้ไม่ตามเป้าหมาย ก็ต้องยอมรับ แต่พร้อมที่จะวางแผนแล้วก้าวไปข้างหน้าใหม่อีกครั้ง

 

 

3. Hatch New Business

ผู้บริหารมากกว่าครึ่งมองการเริ่มธุรกิจใหม่เป็น 1 ใน 3 สิ่งที่ควรทำในระดับสูงสุด โดยเฉพาะเทคโนโลยีสีเขียวหรือ Green Technology ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ Green Technology เป็นแนวคิดในการบริหารจัดการ และเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการสร้างขยะ รวมถึงการรีไซเคิล

 

4. Technology: The Basis of Growth

การนำเทคโนโลยีมาใช้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เนื่องจากโควิดเข้ามาเป็นตัวเร่งให้ทุกบริษัทปรับตัวด้วยเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีมาใช้เริ่มตั้งแต่การนำซอฟต์แวร์มาใช้ การสร้างธุรกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยี และการปรับเปลี่ยนธุรกิจเดิมด้วยเทคโนโลยี

 

 

5. Net Zero

เป็นความท้าทายของผู้บริหารที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทุกๆ องค์กรต้องร่วมมือกัน เพราะการทำ Net Zero จำเป็นต้องพิจารณาตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

 

6. Rebuild The Employee Experience

การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงาน สร้างขวัญกำลังใจ รวมถึงการสร้างความผูกพัน เป็นสิ่งที่ CEO ควรทำ เพราะในอดีตเราอาจมองว่าพนักงานเป็นลูกจ้างที่รับเงินเดือน และทำตามคำสั่ง แต่เราเห็นชัดว่าการผ่านช่วงวิกฤติมาได้ พนักงานมีส่วนสำคัญมากในทุกๆ องค์กร การทำแผนสร้างความผูกพันอาจเป็นเรื่องจำเป็น โดยมีการวางแผนในหลายมุม เช่น รูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid) การสร้างออฟฟิศแห่งอนาคต (อาจอยู่ในรูปแบบ Metaverse ก็เป็นได้)

 

 

ต้องยอมรับว่าปี 2565 เป็นปีแห่งความท้าทายใหม่ๆ ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนในหลายเรื่อง แต่จากเหตุการณ์ในปีที่ผ่านมาทำให้ผู้บริหารที่ปรับตัวได้ทัน ปรับตัวได้เร็ว ผ่านมาได้พร้อมกับประสบการณ์ที่แกร่งขึ้น ปีใหม่นี้ก็เช่นกัน เราต้องผ่านไปให้ได้ และพร้อมที่จะเติบโตไปด้วยกันอย่างแข็งแรง ขอให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีความสุขตลอดทั้งปีนี้นะครับ สวัสดีปีใหม่ครับ

 


 

บทความจากนิตยสาร MarketPlus Magazine Issue 152

เขียนโดย ...อาจารย์ วีรพล  สวรรค์พิทักษ์ 

 

[อ่าน 790]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เผยลักษณะสำคัญของ Savvy Explorers ในเอเชียแปซิฟิก
อโกด้าเผยไทยติดอันดับ 2 จุดหมายยอดฮิตของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นช่วงโกลเดนวีค
เปิดโพล!! คนไทยคิดอย่างไรกับสงกรานต์ 21 วัน
หลุยส์คาเฟ่ ปลุกกระแสแบรนด์เนมตื่น เอนเกจพุ่ง 950 % หลังเปิดตัวเพียงครึ่งเดือน
สัญญาณดีๆ ของปี 2023 มีส่งต่อปี 2024 ไหม
TikTok ร่วมพัฒนาอนาคตแห่งความบันเทิงและการค้าในปี 2567
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved