'กร เธียรนุกุล' ปลดล็อกธุรกิจ SME ปั้นนักรบเศรษฐกิจ ด้วย MyWaWa
21 Dec 2022

‘Change Before You Have to’ หรือ ‘เปลี่ยนก่อนถูกบังคับให้เปลี่ยน’ วรรคทองของ Jack Welch อดีตซีอีโอ General Electric ยังคงอมตะเหนือกาลเวลา โดยเฉพาะกับในยุค Digital Disruption ที่เกิดขึ้น และถ่างช่องว่างให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหลายๆ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับ ‘คนตัวเล็ก’ อย่างเอสเอ็มอี ดังนั้น ธุรกิจที่เข้ามาปิดช่องว่างตรงนี้นอกจากจะมีโอกาสทางธุรกิจแล้ว ยังจะมีส่วนช่วยเกื้อหนุนระบบเศรษฐกิจ และลดความเหลื่อมล้ำได้อีกด้วย

ซึ่งแนวคิดเกื้อหนุนระบบเศรษฐกิจและปั้นนักรบทางเศรษฐกิจนั้น คือ ปณิธานของ 'กร เธียรนุกุล' ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม MyWaWa เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์ม e-Marketplace สัญชาติไทยที่ทำธุรกิจ B2B แบบ End to End และมุ่งนำพาผู้ประกอบการไทยให้ขายสินค้าในต่างประเทศได้ พร้อมขยายฐานระบบนิเวศของ MyWaWa  เพื่อมุ่งเป้าสู่การเป็น Trade Investment แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

MyWaWa ก่อนที่จะ Disrupt ตนเอง เราถูก Digital Disruption มาก่อนอย่างไร

ฐานเดิมของธุรกิจครอบครัวเป็นโรงพิมพ์ ชื่อ หจก.นิวไวเต็ก เดิมอยู่ตลาดน้อยและย้ายมาสี่พระยา แต่เดิมธุรกิจโรงพิมพ์ดีมาก ผมไม่เคยเห็นโรงพิมพ์หยุดเครื่องเลย คนทำงานกันวุ่นทั้งวัน แต่หลังจากที่ผมเข้ารับหน้าที่ดูแลลูกค้ารายใหญ่ของธุรกิจกงสีแทนคุณน้า ซึ่งเสียชีวิตนั้นเป็นจังหวะที่ผมเห็นสัญญาณว่า ตลาดโรงพิมพ์เริ่มเปลี่ยนแล้ว เพราะมีการลดงบการพิมพ์จากเดิมที่ใช้พิมพ์ 80% ออนไลน์ 20% เป็นพิมพ์ 20% ออนไลน์ 80% สลับกัน

ตอนนั้นจึงได้ปรึกษากับครอบครัวถึงการเสนอทางรอด ด้วยธุรกิจทางเลือก นั่นคือ

1) ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เพราะตอนนั้นอีคอมเมิร์ซเข้ามาบูมแล้ว

2)ธุรกิจซีเคียวริตี้พริ้นท์ติ้ง เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้โนวฮาว ทำให้มี Barrier สูง แต่ปัจจุบันธุรกิจนี้ก็ถูก Disrupt แล้วจากการใช้งานแอปพลิเคชันบนมือถือ

3) ธุรกิจที่มีอนาคตใหม่ หรือ New S-Curve ซึ่งต้องออกจากธุรกิจการพิมพ์ แล้วทำธุรกิจอื่น ผลคือเลือกทางที่ 3 แม้ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร จนเห็นโอกาสจากการที่เพื่อนมาถามถึงเรื่องแพคเกจจิ้ง เนื่องจากในปี 2557-2558 ตอนนั้นสืบค้นจากกูเกิ้ลไม่ได้ เพราะไม่มีธุรกิจแพคเกจจิ้งวางขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้เราเห็นโอกาสที่จะเป็นศูนย์รวมบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท โดยเริ่มจากแพลตฟอร์ม B2B ที่ชื่อ WaWa Pack

 

แต่ผมก็ต้องพิสูจน์ตนเองอย่างมาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับครอบครัวกับทางเลือกที่สามนี้ ที่สุด เมื่อ WaWa Pack ได้รับการคัดเลือกเข้าโปรแกรม S-Curve ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมช่วง ก.ค. 2562 และได้รับรางวัลชนะเลิศเป็น 1ใน 6 บริษัทที่ออกเดินสายโปรโมททั่วประเทศ และเม.ย. 2563 ก็ได้รับงบสนับสนุนโครงการด้วยคูปองนวัตกรรมจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มูลค่า 1.5 ล้านบาท และอีกหลายโครงการ ทำให้ครอบครัวก็สนับสนุนผมด้วยเงินทุนก้อนเล็กๆ ก้อนหนึ่ง และเราก็ได้ต่อยอดมาเป็นแพลตฟอร์ม mywawa.me เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา พร้อมตั้งเป้าให้ผู้ประกอบการภาคการผลิตไทยทุกอุตสาหกรรม ซึ่งมีจำนวน 4-5 แสนรายให้สามารถทรานส์ฟอร์มตนเองได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเดินหน้าต่อได้

 

 

ปัจจุบันสถานะ mywawa.me เป็นอย่างไร

การดำเนินงานของ mywawa.me ต้องถือเป็นการดำเนินงานในเฟสแรกที่เรามุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มให้เป็น Infrastructure e-Marketplace สำหรับ B2B แบบ End to End ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสมบูรณ์ที่สุดเพื่อให้ผู้ที่เคยทำธุรกิจแบบดั้งเดิมสามารถใช้งานได้ง่าย เข้าใจระบบได้อย่างรวดเร็ว โดยมีทีมงานคอยประกบเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด เมื่อดูจากผลการดำเนินงาน แพลตฟอร์มของเรามีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้ซื้อมากกว่า 2,000 ราย มีซัพพลายเออร์ในระบบกว่า 100 ราย มีสินค้ากว่า 3,000 รายการ (SKU)  และมียอดการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มกว่า 1,700 ล้านบาท โดยมีสินค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์ม mywawa.me ในเบื้องต้นมี 8 กลุ่ม ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม, แบบเรียนและอุปกรณ์การศึกษา, ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์, บ้านและวัสดุก่อสร้าง, เคมี ยางและพลาสติก, สุขภาพและความงาม, การพิมพ์ บรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์สำนักงาน ในอนาคตก็ตั้งเป้าที่จะขยายกลุ่มสินค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

 

จากการทำงานกับ ‘คนตัวเล็ก’ อย่างเอสเอ็มอี พบความท้าทายอะไรบ้าง

ค้นพบความไม่พร้อมหลายๆ อย่าง ทั้งด้านเงินทุน ความรู้ทางด้านดิจิทัล ที่สำคัญ คนเหล่านี้ไม่เห็นประโยชน์ของการวางสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เนื่องจากคนเหล่านี้ยังยุ่งกับธุรกิจของตนเอง ยังวิ่งขายสินค้าเอง ดังนั้น จึงไม่เห็นประโยชน์ว่า ทำไมจะต้องวางสินค้าบนแพลตฟอร์ม ทำไมต้องถ่ายภาพสวยๆ เขียนบรรยายภาพให้โดนๆ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม จากการที่เรามีโอกาสร่วมงานกับธุรกิจรายใหญ่ที่มีทรัพยากร อย่างเงินทุน บุคลากรและมีความเข้าใจ เห็นถึงประโยชน์ของการวางสินค้าบนแพลตฟอร์มก็กลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่ทำให้เราบ่งชี้ได้ว่า เอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์อะไร เช่น สามารถขยายตลาดในต่างจังหวัดได้  เป็นต้น และจากการทำงานกับเอสเอ็มอี การดีลงานกับคนรุ่นลูกที่มีความเข้าใจโลกดิจิทัลมากกว่า ทำให้เราสามารถสื่อสารได้ง่ายขึ้น และคนรุ่นลูกนี้เองที่จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นพ่อแม่กับเราได้

นอกจากนี้ การทำงานกับเอสเอ็มอีก็ทำให้เราเรียนรู้เช่นกันว่า เราต้องปิดช่องว่างทางด้านการสื่อสาร ทำให้เราปรับเปลี่ยนจากศัพท์เทคนิคแบบจัดเต็มเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เช่น SKU เป็น รายการสินค้า, เชื่อม API เป็น เชื่อมระบบ, สร้าง Business Page เป็น หน้าร้านค้า, ฟังก์ชัน RFQ (Request for Quotation : ขอใบเสนอราคา) เป็น ฟังก์ชันถามหา เป็นต้น ศัพท์แสงยากๆ แบบเดิมแม้แต่องค์กรขนาดใหญ่ก็ไม่ต้องการ เขาก็อยากได้ภาษาที่เข้าใจง่ายๆ เหมือนกัน

 

องค์กรใหญ่ที่ว่านั้นทำไมต้องมาที่ mywawa.me ในเมื่อมีทรัพยากรมากพอ

บางครั้งคำว่า ‘ทรัพยากร’ ไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง เพราะองค์กรเหล่านี้ก็มีโฟกัสของตนเอง เนื่องจากต้องทุ่มงบกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประกอบกับองค์กรเหล่านี้จะมีโจทย์ซ้ำๆ ไม่ท้าทาย ทำให้ไม่สามารถดึงดูดบุคลากรด้านไอทีที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้เท่าที่ควร เนื่องจากมีเส้นทางเติบโต (Career Path) ที่ไม่ชัดเจน แตกต่างกับบริษัทที่เป็น Tech Company หรือธุรกิจแพลตฟอร์มอย่างของเราที่จะมีสินค้า/บริการเป็นโจทย์แปลกๆ เข้ามา ดังนั้น การใช้แพลตฟอร์มของเราเพื่อขยายตลาดจึงทำให้สะดวกกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน องค์กรใหญ่เองก็พยายามปรับตัวเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมงาน ทั้งปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบไฮบริดทั้งทำงานจากบ้าน ผสมผสานกับทำงานที่ทำงานด้วย, การปรับแต่งบรรยากาศในสำนักงานแบบยืดหยุ่นมากกว่าเดิม หรือเป็นสไตล์ลอฟท์ ฯลฯ

 

เป้าหมายในเฟสต่อๆ ไปของ mywawa.me จะเป็นอย่างไร

เป้าหมายของเราคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยองค์กรในการทรานส์ฟอร์มการทำธุรกิจจากรูปแบบ ออฟไลน์สู่ออนไลน์ เพื่อตอบสนองกับยุค Digital Transformation โดยการเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างผู้ซื้อ ผู้ผลิต และผู้ค้าส่ง

สำหรับเป้าหมายในระยะ 3-5 ปีนี้ เราตั้งเป้าที่จะขยายฐานตลาดในต่างประเทศให้ได้ เราอยากเป็น MyWaWa International เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายสูงสุด นั่นคือเป็น Trade Investment แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เราต้องการเป็นแพลตฟอร์มอันดับแรกในใจสำหรับผู้ที่ต้องการมองหาสินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทว่า ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ตอนนี้ เราต้องการนำพาผู้ประกอบการไทยไปเจาะตลาดในต่างประเทศให้ได้ก่อน เนื่องจากเราเห็นว่า นี่คือโอกาสทางธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ เนื่องจากปัจจุบันก็มีผู้ค้าจากกลุ่มประเทศแถบอินโดจีนอย่าง CLMV ที่ติดต่อเข้ามาแล้ว เพียงแต่ตอนนี้เรายังต้องเดินหน้าสร้างระบบนิเวศของตนเองให้ครอบคลุมการให้บริการดังกล่าว โดยขณะนี้เราอยู่ระหว่างการร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศ ด้วยการจับมือกับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อการรุกสร้างระบบเพย์เม้นท์ ซึ่งจะต้องมีบริการที่ครอบคลุมถึงการเปิดแอลซี รองรับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วย รวมทั้งการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ ซึ่งจะต้องมีบริการที่ครอบคลุมถึบริการคลังสินค้า (Cargo) ตลอดจนระบบโลจิสติกส์ที่สามารถส่งสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้านได้

สำหรับระบบเครือข่ายโลจิสติกส์นั้น เราอยู่ระหว่าง Soft Launch กับ Flash ด้วยบริการส่งแบบเหมาที่เรียกว่า Flash Bulky โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกการขนส่งได้แบบเหมาขนส่งทั้งคัน หรือเหมาขนส่งแบบครึ่งคัน โดย Flash Bulky จะรับสินค้าให้จากโรงงานถึงลูกค้า ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้กำหนดจุดรับสินค้าเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน ส่วนจุดส่งปลายทางก็เป็นจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และบริการนี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้

 

 

รูปแบบการเปิดตลาดในต่างประเทศจะเป็นอย่างไร

จะใช้รูปแบบของการเปิดรับซัพพลายเออร์ในประเทศนั้นๆ เพื่อเปิดให้บริการ โดยจะเป็น Facilitator มากกว่า ไม่ใช่แค่รูปแบบ ‘ซื้อมา-ขายไป’ เท่านั้น ซึ่งโจทย์นี้เราได้เจรจากับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แล้ว เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ซัพพลายเออร์ต่างๆ ที่สนใจมาวางโปรไฟล์ที่แพลตฟอร์มของเรา เพื่อเป็นช่องทางติดต่อกับคู่ค้าในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ หากมีการขยายตลาดในประเทศใดเราก็จะประสานงานกับทูตพาณิชย์ในประเทศนั้นๆ ต่อไป

 

เป้าหมายในอนาคตนี้หนักใจตรงไหนหรือไม่

จริงๆ แล้ว เป้าหมายในอนาคตนี้เป็นเป้าหมายที่เราอยากช่วยเกื้อกูลระบบเศรษฐกิจและสร้างนักรบทางเศรษฐกิจ แม้ว่า ณ จุดแรกจะมาจากความพยายามหาทางรอดให้กับธุรกิจกงสีก็ตาม แต่ที่สุด เราเห็นว่า นี่เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจในภาพรวม ส่วนที่กังวลคือ การที่ผู้ประกอบการอาศัยแพลตฟอร์มต่างประเทศมากๆ นั้นทำให้แพลตฟอร์มต้นทางของประเทศนั้นๆ ได้ข้อมูล (Data) จากการใช้งานของไทยไป ทำให้สามารถวิเคราะห์พฤติกรรม ความต้องการตลาด เทรนด์ตลาด ฯลฯ แล้วผลิตสินค้าดักหน้าผู้ประกอบการไทยได้ จากเดิมที่ผู้ประกอบการไทยจะขึ้นหน้าฟีดอันดับต้นๆ ของแพลตฟอร์ม ปัจจุบันก็ไม่ใช่แล้วผู้ประกอบการอันดับต้นๆ กลายเป็นผู้ประกอบการจีน หรือจากภาวะสงครามการค้าที่ทำให้ระบบโลจิสติกส์มีปัญหา

นี่จึงเป็นสิ่งที่อยากให้ภาครัฐเห็นความสำคัญของ Data Security & Logistics Security (ความมั่นคงทางด้านข้อมูลและความมั่นคงทางด้านโลจิสติกส์) นอกเหนือคีย์เวิร์ดที่เคยพูดถึง Food Security & Power Security (ความมั่นคงทางด้านอาหาร และและความมั่นคงทางด้านพลังงาน)  เนื่องจากขณะนี้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ B2C เราเจอปัญหานี้ไปแล้ว ดังนั้น การปิดช่องว่างสำหรับความมั่นคงทางด้านข้อมูลของ B2B จึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ และเราต้องการช่วยปิดช่องว่างตรงนี้ด้วย

[อ่าน 1,719]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ด้วยการตลาดแบบยั่งยืน (Sustainability Marketing)
“สะสม” แค่กระแส หรือจงรักภักดี
ฉากทัศน์แห่งความรุ่งเรืองของธุรกิจ Art Toy ในประเทศไทย
The Charming Business of Art Toy
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัวสู่การเติบโตยั่งยืน
Soft Power เอาจริงหรือ?
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved