ฝึกตัวเองให้ทัน Future Normal
03 Apr 2023

อย่าเพิ่งเบื่อคำว่า Next Normal นะครับ เพราะเมื่อสามปีที่ผ่านมาถูกยกมาพูดกันมากมาย (อาจจะมากจนเกินจำเป็นด้วยซ้ำ) เพราะตอนนี้กำลังจะมีคำใหม่มาอีกแล้ว คือคำว่า Future Normal

 

ก่อนอื่นเราทบทวน Next Normal กันสักนิด ยกตัวอย่างที่กลายเป็น normal จริงๆ กันสักหน่อย ในมุมของการตลาด New Normal คือ การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ของผู้บริโภคทุกช่วงอายุ รวมถึงการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ขององค์กร

 

เป็นวิถีการดำเนินชีวิตหลังจากสถานการณ์โควิด เช่น การมุ่งเน้นเรื่องสุขอนามัย และความปลอดภัย จะเห็นได้จากธุรกิจรับส่งอาหารที่กลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไปแล้ว

 

การใช้ Mobile Banking ที่ธนาคารกสิกรไทยเพิ่งออกมาให้ข่าวว่าเกือบจะเป็น 100% ของลูกค้าแล้ว แม้แต่คุณแม่ของผมที่ปฏิเสธทุกเทคโนโลยี แต่ New Normal ของท่านคือ การทราบทุกกิจกรรมของลูกหลานผ่านทาง Social Network

 

 

ล่าสุดมีหนังสือของ Henry Coutinho-Mason กับ Rohit Bhargava ชื่อ  ‘The Future Normal’ ออกมาอีกแล้ว ว่ากันว่ามีถึง 30 บทเลยทีเดียว รอติดตามได้ในนิตยสาร MarketPlus

หนังสือเล่มนี้กล่าวไว้ว่าการทำนายอนาคตเป็นเรื่องง่าย แต่การทำนายอนาคตที่จะกลายเป็นสิ่งปกติของมนุษย์ทุกคนอันนี้เป็นเรื่องยากกว่าครับ

 

Future Normal ไม่ใช่แค่ Trend (เทรนด์)

บางท่านอาจจะคิดว่าการทำนายเรื่องในอนาคตคือการหาเทรนด์หรือแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่าเทรนด์ หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และน่าจะมีผลต่อในอนาคต

 

เทรนด์ไม่ใช่แค่แฟชั่นหรือแฟด (Fad) ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงชั่วคราวแล้วหายไป แต่ต้องเห็นการเติบโตหรือลดลงในแต่ละช่วงเวลา เช่น เทรนด์การใช้ Mobile banking เทรนด์การแต่งตัวแบบ K-Pop (ที่เกิดขึ้นมายาวนานจนไม่ใช่แค่แฟชั่นแล้ว)

เพราะคำว่าเทรนด์แบ่งได้หลายแบบ เช่น Macro trends ประมาณ 10 ปีขึ้นไป หรือ Consumer trends ประมาณ 3 ปีขึ้นไป

 

 

ผมได้ไปฟังผู้บริหาร Google พูดให้ฟังเรื่อง Trends ในหัวข้อ Think with Google Year in search 2022 โดยการวิเคราะห์เทรนด์จากการค้นหาเป็นพันล้านครั้งของผู้บริโภคชาวไทย และชาติอื่นๆ แบ่งออกได้เป็นสามเทรนด์ ได้แก่

 

การค้นหาตัวตนที่แท้จริง การค้นหาคุณค่า และการค้นหาความสุข

 

สามเรื่องนี้เป็นเทรนด์ที่มีการค้นหาเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีที่ผ่านมา และธุรกิจต่างๆ ควรนำไปปรับใช้กำหนดกลยุทธ์ได้ (https://www.thinkwithgoogle.com/_qs/documents/18044/yearinsearch_thailand22_th.pdf)

 

แต่สำหรับสาย Futurist นั้น จะมองหาสิ่งปกติใหม่ (New Normal) ที่จะกลายเป็นสิ่งที่ถาวรในสังคม นั่นคือความยากของการทำนายอนาคตแบบ Future Normal ครับ

และแน่นอนว่า 1 ในนั้นน่าจะมีเรื่องของ Artificial Intelligence หรือ AI ด้วย

 

พอพูดถึงเทคโนโลยีมากๆ อนาคตหน่อยๆ เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะเกิดอาการท้อแท้ ออกไปทางเบื่อเสียด้วย และรู้สึกว่าไม่อยากจะเรียนรู้

 

ผมก็เป็นครับ พอเราอายุมากขึ้น แล้วต้องให้มาเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลามันก็ใช่เรื่องจริงไหม แต่ผมไปเจอหลักการนึงเกี่ยวกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่น่าสนใจจึงอยากนำมาแบ่งปันกันครับ

นั่นคือหลักที่เรียกว่า ‘กฎ 20 ชั่วโมง’ ของ Josh Kaufman แค่อ่านชื่อกฎก็น่าสนใจแล้วใช่ไหมครับ คุณพระ! เราจะสามารถทำสิ่งใหม่ได้ด้วยการฝึกฝนเพียงแค่ 20 ชั่วโมงเองหรือ?

 

 

จากการค้นคว้าและวิจัยของผู้เขียนพบว่าการที่คนเราจะเรียนรู้ในเรื่องใหม่ๆ จากศูนย์ไปสู่ขั้นที่ใช้การได้ดี จะใช้เวลาในการฝึกฝนและเรียนรู้เฉลี่ยราวๆ 20 ชั่วโมง หากนำ 20 ชั่วโมงมาคำนวณ เราจะใช้เวลาแค่เพียงเฉลี่ยวันละประมาณ 40 นาที แค่ 1 เดือนเท่านั้น

เพราะ 20 ชั่วโมงคือ 1,200 นาที หาร 30 วัน ได้ ‘40นาทีต่อวัน’ Josh ได้พิสูจน์ด้วยตัวเองในการเรียนเครื่องดนตรีชิ้นใหม่ให้เล่นได้เป็นอย่างดีภายในเวลาแค่ 20 ชั่วโมงเท่านั้น

 

จากนั้นเขาจึงได้สรุปหลักการที่ผมนำมาเขียนให้ทุกท่านอ่านดังต่อไปนี้ครับ

 

  • เริ่มจากการเลือกสิ่งที่สนใจ

เราควรเลือกสิ่งที่เราสนใจ เราชอบหรือเป็นประโยชน์กับชีวิตเรา ไม่ใช่ว่าคนบอกให้เรียนก็เรียน คนบอกให้ฝึกก็ฝึก ยิ่งเป็นสิ่งที่เราชอบเราก็จะสนใจมากขึ้น ยิ่งเราสนใจก็จะเรียนรู้ได้เร็วกว่า

 

  • ต่อด้วยการเลือกทีละอย่าง

สิ่งที่ทำให้หลายคนล้มเหลวคือเรียนหว่านไปหมด นู่นก็อยากเป็น นี่ก็อยากเก่ง แต่กฎ 20 ชั่วโมงบอกว่าให้เราเลือกฝึกสิ่งที่เราต้องการจริงๆ เพียงสิ่งเดียว (หรือทีละสิ่ง) จะทำให้เราฝึกฝนได้ตามเป้าหมาย

 

  • ต่อมาคือ การกำหนดระดับประสิทธิภาพที่ต้องการ (Performance Level)

เราควรตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น ต้องการฝึกทำอาหารให้ได้ถึงระดับเปิดร้านขายหรือสมัครเข้าทำงานร้านอาหารได้ จากนั้นให้แบ่งสิ่งที่เราสนใจให้เป็นส่วนๆ เพื่อให้ฝึกได้ง่าย เช่น

 

การฝึกทำอาหารอิตาเลียนประกอบด้วย การฝึกทำเส้นพาสต้า การทำซอส การจัดจาน เราจึงควรหัดวิธีการทำเส้นพาสต้าให้ได้ผลก่อน เป็นต้น

 

 

หลักการที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ การกำจัดอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น ข้อนี้สำคัญมากนะครับ ผมชอบข้อนี้มาก เพราะผมใช้เสมอเวลาอยากฝึกอะไรใหม่ๆ เช่น

ผมอยากฝึกวิ่งให้ดีขึ้น อุปสรรคคือ ‘การตื่นเช้า’ ‘การเตรียมชุดวิ่ง’ ‘วิ่งแล้วไม่รู้ทำอะไร’ ผมจึงกำจัดโดยการเตรียมทุกอย่างให้พร้อมตั้งแต่ตอนกลางคืน วางชุดวิ่ง รองเท้า อุปกรณ์ทุกอย่างให้หยิบใส่ได้ง่ายที่สุด มีเพลงหรือ podcast ในโทรศัพท์พร้อมหูฟังเวลาวิ่ง

 

และหลักสุดท้ายที่อยากบอกท่านผู้อ่านคือ อย่าเยอะ

ใช่ครับ อย่าฝึกเยอะ เพราะเราตั้งเป้าไว้แค่ 40 นาทีเท่านั้น อย่าหักโหม อย่าเวอร์วังถ้าเราจะใช้กฎนี้

เพราะการฝึกที่มากเกินไป ยาวนานเกินไป จะทำให้เบื่อหรือรู้สึกเสียเวลาหรือไม่มีเวลาในครั้งต่อไป

 

ดังนั้นการยึดมั่นกับสิ่งที่เราวางแผนไว้คือสิ่งสำคัญ ค่อยๆ แต่สม่ำเสมอครับ

 

 

Future Normal น่าจะมีสิ่งต่างๆ ให้ทุกท่านได้ฝึกทำอีกมาก อย่างน้อยผมก็เล่นเกมบน Metaverse ไม่ค่อยเป็นล่ะ แค่เดินวนๆ ก็เวียนหัวแล้ว

 

น่าจะถึงเวลาที่พวกเราจะลองนำวิธี 20 ชั่วโมงนี้ไปทดลองฝึกทำอะไรสักอย่างดู ผมเชื่อว่าถ้าทำอะไรใหม่ๆ ได้สักอย่าง กำลังใจจะมา แล้วจะทำให้เรามีพลังที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกในอนาคตได้อย่างแน่นอน

 

อ่านถึงตรงนี้แล้วเลือกสิ่งที่สนใจจะลองฝึกเป็นอย่างแรกได้หรือยังครับ เอาใจช่วยนะครับ แค่ 20 ชั่วโมงเอง

 


บทความจาก นิตยสาร MarketPlus Magazine Issue 155 April 2023
เขียน โดย อาจารย์ วีรพล สวรรค์พิทักษ์  CMO บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด


 

[อ่าน 743]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ด้วยการตลาดแบบยั่งยืน (Sustainability Marketing)
“สะสม” แค่กระแส หรือจงรักภักดี
ฉากทัศน์แห่งความรุ่งเรืองของธุรกิจ Art Toy ในประเทศไทย
The Charming Business of Art Toy
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัวสู่การเติบโตยั่งยืน
Soft Power เอาจริงหรือ?
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved