'รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล' แนะเคล็ดรับมือ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเป็น 'Learning Family'
07 Dec 2023

ท่ามกลางความท้าทายอย่างหนักหน่วงในปีนี้ และอาจลากยาวถึงปี 2567 ธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยควรต้องรับมืออย่างไรกับความท้าทายต่างๆ ที่แม้เศรษฐกิจคล้ายว่าจะฟื้นตัวบ้างแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดี คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ผู้ก่อตั้ง FAMZ บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวชั้นนำของประเทศไทย ได้แนะกลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัวเพื่อรับมือกับเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2567

 

ธุรกิจครอบครัวควรต้องรับมือกับเทรนด์ความท้าทายในปี 2567 นี้อย่างไร

ผมมองว่า การปรับตัวของธุรกิจครอบครัวนับจากนี้ ไม่ใช่แต่เฉพาะแค่ปีหน้า นั่นคือ ธุรกิจครอบครัวสมัยใหม่ต้องปรับตัว และพัฒนาครอบครัวให้เป็น Learning Family โดยต้องเพิ่มศักยภาพของสมาชิกในครอบครัวให้เป็นคนที่มีความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวอยู่ตลอดเวลา

เพราะการเป็นครอบครัวที่ “เปิดกว้าง” ที่จะเรียนรู้คนอื่น พร้อมที่จะเรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องของเทคโนโลยี และเรื่องต่างๆ ที่ไม่คุ้นเคย

“ความพร้อมที่จะเรียนรู้” นี่ละที่มีความสำคัญอย่างมากกับการธำรงอยู่อย่างแข็งแรงและยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว เพราะโลกน่าจะเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ

ฉะนั้น ธุรกิจครอบครัวจึงต้องมีกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์เพื่อสร้างครอบครัวตัวเองให้เป็น “ครอบครัวที่รักการเรียนรู้” ซึ่งผมคิดว่า สมาชิกครอบครัวแต่ละคน และแต่ละครอบครัวต่างก็มีเป้าหมายของตนเองที่จะต้องทำอยู่แล้ว แต่ก็มีบางเรื่อง บางมิติที่ธุรกิจครอบครัวจำเป็นจะต้องสร้างหรือพัฒนาขึ้นมาให้เกิดขึ้นในครอบครัวของตัวเอง

 

 

ฟังดู คำว่า Learning ดูเหมือนว่า ธุรกิจครอบครัวจะต้องกลับเข้าคลาสเรียนหรือเปล่า

จริงๆ คำว่า Learning ของผมมีทั้งความหมายของ “การเรียนรู้” แบบ “ไกลตัว” และใกล้ตัว”

สำหรับความหมายของ Learning  หรือ “การเรียนรู้” ที่อาจจะฟังดูเป็นเรื่อง “ไกลตัว” ก็จะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาพใหญ่ๆ เช่น เทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลก แต่เราต้องยอมรับความจริงว่า ในทางปฏิบัติ โลกของเราตอนนี้ต่างก็ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบสูงทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งต้องมีธรรมาภิบาล ไม่สร้างผลกระทบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งต้องไม่สร้างผลกระทบให้ “โลกรวน” ดังนั้น เราจึงต้องเรียนรู้และดำเนินการอย่างจริงจัง และด้วยความรับผิดชอบ

พร้อมทั้งต้องเรียนรู้ด้วยว่า จะต้องทำอย่างไรจึงจะตอบโจทย์เหล่านี้ ด้วยการกลับไปเช็กตัวเราเองว่า ถ้าคนทั้งโลกเป็นแบบนี้แล้วครอบครัวของเราจะต้องปรับตัวอย่างไร

 

สำหรับความหมายของ Learning ในส่วนที่เป็นเรื่อง “ใกล้ตัว” นั่นคือ เรื่องธุรกิจของตัวเอง และธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้นๆ ของเรา ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี เราก็ต้องให้ความสนใจกับเทคโนโลยีดิจิทัลในตอนนี้ว่ามีอะไรบ้าง

และเราก็จับตาในมิตินี้ตลอดเวลา ซึ่งบางเรื่องเราอาจจะไม่เคยทำ เราก็เริ่มเข้าไปศึกษา เพื่อเรียนรู้ให้มากขึ้น หรือศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เพียงแต่ประเด็นสำคัญที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ หรือ Learning นั้น ทุกคนต้อง “เปิดใจ” และก้าวออกมาจาก Comfort Zone หรือ “พื้นที่ปลอดภัย” ของตนเอง ด้วยการตัดสินใจออกจากพื้นที่เดิมๆ ที่เราคุ้นเคย

ที่สำคัญ Comfort Zone นั้นหนาและกว้างใหญ่มากๆ ฉะนั้น การจะตัดสินใจก้าวออกจาก Comfort Zone จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน

ที่สำคัญ “อย่าติดกรอบ” ว่า เราเคยทำก่อนหน้านี้มาอย่างไร หรือเราเป็นใครมาก่อน เช่น เป็นนักวิชาการ เป็นผู้นำ/ทายาทธุรกิจครอบครัว เป็นพนักงานของธุรกิจครอบครัว ฯลฯ

เพราะครอบครัวต้องเปิดใจเพื่อ “การเรียนรู้” รวมทั้งการสร้าง “วัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้” ให้เกิดขึ้นในครอบครัวด้วย โดยเฉพาะเมื่อเจ้าของธุรกิจครอบครัวมีความรู้ความเข้าใจและเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ก่อนก็จะทำให้สามารถส่งต่อสิ่งต่างๆ ด้วย

 

นอกจากนี้ “การเรียนรู้” หรือ Learning อีกระดับที่มีความท้าทายไม่แพ้กันในธุรกิจครอบครัว นั่นคือ “การเรียนรู้ระหว่างสมาชิกในครอบครัว” ซึ่งเป็นทายาทสายเลือดเดียวกันเอง

ทั้งนี้ “การเรียนรู้” โลกข้างนอกที่ว่ายากแล้ว ที่จริงๆ สิ่งที่ยากกว่าก็คือ “การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน” เพราะเป็นประเด็นที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเชื่อมโยงกันอยู่ อีกทั้งเป็นความสัมพันธ์ที่เราตัดไม่ขาด

ที่สำคัญ ถ้าหากว่าไม่สามารถประสานกันได้เป็นเนื้อเดียวกัน หรือสอดคล้องกันในทิศทางเดียวก็ย่อมจะส่งผลกระทบกับคนอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดของนโยบาย เพื่ออธิบายของกลุ่มบริษัทหรืออะไรต่างๆ

 

เนื่องจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกันเองระหว่างสมาชิกในครอบครัวนั้นก็ต้องใช้ “การเรียนรู้คนอื่น”ด้วยเหมือนกัน นับแต่การเรียนรู้ถึงที่มาของวิธีคิด แนวคิดการบริหาร สไตล์การบริหาร หรือแม้แต่สาเหตุของการตัดสินใจของผู้อาวุโสในครอบครัวรุ่นก่อนหน้านี้

แน่นอน เราเองก็ต้องเปิดใจให้กว้างเพื่อการเรียนรู้จากคนอื่นด้วยเหมือนกัน ซึ่งก็จะทำให้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อาวุโสในครอบครัวรุ่นก่อนหน้าด้วย เพราะเราไม่ควร “ด่วนคิด” ว่า คนรุ่นหลังมีความสามารถสื่อสารดีกว่าคนรุ่นก่อนหน้า

ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร ความเข้าใจเชิงลึก ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบอี-คอมเมิร์ซ ฯลฯ แต่ต้องมองให้ลึกซึ้งถึงศักยภาพของคนรุ่นก่อนหน้าของครอบครัวที่สั่งสมกันมา โดยเฉพาะ “ภูมิปัญญาของตระกูล” (Family Wisdom) ที่เราจะเพิกเฉยภูมิปัญญาไม่ได้ เพราะภูมิปัญญาเหล่านี้อาจจะเป็นประโยชน์เราได้ในวันใดวันหนึ่งก็ได้ ซึ่งอาจจะต่อยอดกับภูมิปัญญาได้

 

 

 

“การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน” ระหว่างสมาชิกในครอบครัวถือว่าท้าทายที่สุดหรือไม่

ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายเหมือนกัน เพราะว่า มีอารมณ์ และความคาดหวังรวมอยู่ด้วย แต่หากสามารถ “เรียนรู้ซึ่งกันและกัน” ได้ นี่ก็ถือเป็นเวทีที่จะทำให้ได้แสดงความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน จะส่งผลต่อเนื่องถึงความสัมพันธ์ในธุรกิจครอบครัวที่ดีขึ้น

เพียงแค่ปรับทัศนคติ ปรับวิธีการอยู่ร่วมกัน ปรับวิธีการทำงาน เปิดใจให้กว้าง และพร้อมที่จะพัฒนาธุรกิจของครอบครัว และตนเองให้สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ผมเชื่อว่า นี่ต่างหากที่จะทำให้บางธุรกิจสามารถที่จะธำรงอยู่ได้ ทั้งสภาพแวดล้อมที่มีความผันผวน และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ตรงนี้ จึงบอกได้อย่างชัดว่า เหตุใดทักษะ “การเรียนรู้” ของครอบครัว หรือ Family Skill จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ

 

 เท่ากับต้อง Unlearn - Relearn, Upskill – Reskill กันเลยหรือไม่

อาจจะต้องแบบนั้น เพราะหากสุดท้ายแล้ว เรารู้แล้วว่า วิธีแบบเดิมๆ นั้นใช้ไม่ได้ เราก็ต้อง Upskill – Reskill ของใหม่ หรืออาจต้อง Unskill ของเดิมไปเลย เพราะใช้ไม่ได้แล้ว ต้องเริ่มต้นทักษะใหม่ๆ อย่างผมเองก็ยังไปทดลองเรียนรู้เรื่องการเล่นบอร์ดเกมที่เกี่ยวกับการลงทุน เพื่อศึกษา Gamification

 

ข้อสำคัญ เราต้องไม่เป็น “น้ำเต็มแก้ว” ตั้งแต่แรก มิฉะนั้น เราจะไม่มีความสามารถทางการแข่งขันอย่างแน่นอน

 


#FAMZ #ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว #บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว #ธุรกิจครอบครัว

ข้อมูลเพิ่มเติม www.famz.co.th

[อ่าน 2,255]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ด้วยการตลาดแบบยั่งยืน (Sustainability Marketing)
“สะสม” แค่กระแส หรือจงรักภักดี
ฉากทัศน์แห่งความรุ่งเรืองของธุรกิจ Art Toy ในประเทศไทย
The Charming Business of Art Toy
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัวสู่การเติบโตยั่งยืน
Soft Power เอาจริงหรือ?
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved