ยอมรับ ปรับตัวเร็ว ทางรอดของธุรกิจยุคโควิด-19
13 Jun 2020

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิกฤตการณ์ COVID-19 (โควิด-19) เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจทั้งโลก ผู้คนต่างต้องปรับตัวให้เข้ากับ New Normal สำหรับใช้ชีวิตในแต่ละวัน ธุรกิจก็เช่นเดียวกัน วิถีเดิมๆ อาจจะใช้ไม่ได้ในยุคที่ต้องใช้ความเชื่อมั่นต่อการตัดสินใจ Wakingbee (เวคกิ้งบี) แบรนด์ Sportswear ไทยที่เป้าหมายอยู่ไกลระดับโลก เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ แต่การยอมรับ ปรับตัวเร็ว และหาโอกาสใหม่ๆ ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อีกครั้ง เป็นวิถีทางรอดที่แบรนด์เลือกใช้สำหรับการก้าวผ่านอุปสรรคนี้   

 

เทรนด์สุขภาพ…ธุรกิจเนื้อหอม

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ว่า ยอดจำหน่ายชุดกีฬาในประเทศมีมูลค่า 12,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 15,000 ล้านบาทในปี 2563 แนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจนี้ ทำให้ อรวัสสา ศยามเศรณี กรรมการผู้จัดการแบรนด์ ‘เวคกิ้งบี’ (Wakingbee) กระโดดเข้าสู่สนามแข่งขันของชุดกีฬา หรือ Sportswear ซึ่งเป้าหมายไม่ได้มองเพียงแค่ตลาดในประเทศเท่านั้น แต่ไกลไปถึงว่าแบรนด์จะต้องอยู่ในระดับ Global Brand ด้วย

“5 ปีที่แล้วเทรนด์สุขภาพกำลังมาแรงมาก ตลาดเสื้อผ้ากีฬาในระดับโลกนั้นแบ่งออกได้หลายเซกเม้นท์และแต่ละภูมิภาคก็มีความโดดเด่นที่แตกต่างกันไป ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีเสื้อผ้าออกกำลังกายที่ออกแบบขึ้นมาสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ จึงเริ่มสร้างแบรนด์ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้หญิง เพราะเชื่อมั่นในกำลังซื้อของผู้หญิง (She-economy) ที่รักสุขภาพ โดยกลุ่มเป้าหมาย คือผู้หญิงช่วงวัย 20-50 ปี เน้นการออกแบบจาก insight ของผู้หญิง ให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นการใช้งาน และเพิ่มกิมมิคในดีไซน์ เช่น กางเกงขาสั้นสองชั้นกันโป๊ และสปอร์ตบราที่มีฟองน้ำแบบ push-up และมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพผ้าและการตัดเย็บด้วย จึงได้รับเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดีในตลาด และมีฐานลูกค้ากว้างขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ แบรนด์ยังตั้งเป้าที่จะพัฒนาดีไซน์ และรูปแบบของสินค้าให้เป็น Athleisure หรือเสื้อผ้าที่ออกแบบมาให้สามารถสวมใส่ได้ทั้งออกกำลังกาย และในชรวิตประจำวันหรือเดินทางท่องเที่ยว เพื่อขยายตลาดไปยังกลุ่มที่อาจจะไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำแต่ก็สนุกกับการเลือกเสื้อผ้าของแบรนด์ไปใส่ได้”

 

 

ปลุกพลังในแบบคุณ

สำหรับความหมายของแบรนด์ นั้นมีที่มาจากคำว่า Waking คือ ปลุกให้ตื่น Bee คือ ผึ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความขยัน จึงรวมกันเป็น Wakingbee เพราะอยากให้เสื้อผ้าของเราเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้ทุกคนลุกขึ้นมาใช้ชีวิตแอคทีฟ ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘พลังในแบบคุณ’ (Sensible Sweat) หรือการใช้ชีวิตแอคทีฟแบบสมดุล เพราะเป้าหมายในการออกกำลังกายของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางคนอาจต้องการดูแลสุขภาพของให้แข็งแรง บางคนออกกำลังกายเพื่อผ่อนคลายจากความเครียดในขณะที่บางคนต้องการสร้างกล้ามเนื้ออย่างจริงจัง แต่ละคนรู้ดีว่าอะไรคือสิ่งที่ผลักดันให้เราเริ่มต้นออกกำลังกายและทำอย่างต่อเนื่องได้อย่างมีความสุข พยายามในทางที่ถูกและพอดีกับตัวเอง

 

เป้าหมายที่มองไกลว่าในประเทศ

ตลาด Sportswear โลกนั้นเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% เคยมีผู้คาดการณ์ไว้ว่าปีนี้จะมีมูลค่า 1.846 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แบรนด์เวคกิ้งบีตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องพาแบรนด์ไปถึงระดับโลก จึงหาโอกาสขยายธุรกิจไปต่างประเทศมาตลอด จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ SME Pro-active ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้งบสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปออกงานแสดงสินค้า หรือ Trade Fair ในต่างประเทศ เพราะการไปออกเทรดแฟร์ใหญ่ๆ ค่าใช้จ่ายจะสูงมากเป็นโอกาสยากสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กที่จะไปร่วมงานได้เอง

ปัจจุบันนี้สัดส่วนยอดขายของเวคกิ้งบีระหว่างในประเทศและต่างประเทศ คือประมาณ 85:15โดยมีเอเชียเป็นตลาดหลักอย่างฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งได้ดิสทริบิวเตอร์ในประเทศนั้นๆ ช่วยกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภค สำหรับอนาคตก็วางแผนที่จะขยายไปประเทศจีนและฝั่งตะวันตกเพิ่มเติมด้วย

 

 

เทรดแฟร์...เครื่องมือการตลาดที่ดี

อรวัสสา เล่าถึงการไปออกงานเทรดแฟร์ในต่างประเทศว่า จุดมุ่งหมายไม่ได้ว่าเราไปหาลูกค้าเพื่อจะขยายธุรกิจไปต่างประเทศอย่างเดียว แต่เป็นการเอาความรู้หรือประสบการณ์ที่เราได้มาต่อยอดธุรกิจได้ด้วย เวคกิ้งบีเริ่มไปออกเทรดแฟร์ตั้งแต่ปี 2559 ที่งาน Hong Kong Fashion Week ซึ่งถือเป็นงานที่ใหญ่มาก และต่อมาก็สมัครไปทุกปี เฉพาะฮ่องกงเองได้เข้าร่วมถึง 4 งาน ทำให้ขยายตลาดไปฮ่องกงได้จนถึงทุกวันนี้

นอกจากนั้นยังได้งบสำหรับเข้าร่วมงาน Japan Fashion Week ที่ประเทศญี่ปุ่น และล่าสุดไปงาน ISPO ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีต้นแบบมาจาก ISPO ที่มิวนิค ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในงานหลักที่ตั้งใจจะไปร่วมทุกปีเพราะประเทศจีนเป็นเป้าหมายหลักของการขยายตลาดต่างประเทศของแบรนด์ ซึ่งตามกำหนดการเดิมในเดือนกรกฎาคมนี้ก็วางแผนจะไปร่วมงาน ISPO 2020 แต่เมื่อมาเจอสถานการณ์โควิด-19 ก็คงต้องรอให้ทุกอย่างคลี่คลายเสียก่อน

 

วิกฤตการณ์ COVID-19 ที่ในร้ายมีดี

เมื่อรัฐบาลใช้นโยบายล็อคดาวน์ แรกๆ ก็ช็อค เพราะ 11 สาขาต้องหยุดให้บริการ แต่สิ่งสำคัญคือการปรับตัวรับกับสถานการณ์ให้ได้อย่างรวดเร็ว ทีมงานทุกคนเช็คสภาพคล่องของกระแสเงินสดของบริษัท ปริมาณสินค้าที่สต็อคไว้ และที่กำลังให้ซัพพลายเออร์ผลิตอยู่ การส่งสินค้าไปต่างประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างไรฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่จะได้รับผลกระทบอย่างไร และจะสร้างฐานลูกค้าใหม่ในช่วงเวลาแบบนี้อย่างไร

ซึ่งพบว่าพฤติกรรมลูกค้าไม่ได้เปลี่ยนไปแค่การใช้ชีวิตประจำวัน แต่หลายคนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ ทุกคนรู้ว่าร่างกายต้องแข็งแรง ต้องทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ต้องออกกำลังกาย ทำให้เสื้อผ้ากีฬามีโอกาสเข้ามาในใจผู้บริโภคมากขึ้น คนที่ไม่เคยออกกำลังกายจริงจัง ก็เริ่มหันมาศึกษา เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่ เพราะเสื้อผ้าที่คุณภาพดี จะสร้างประสบการณ์ที่ดีในการออกกำลังกายด้วย

 

 

ออนไลน์ไม่ใช่ปัญหา

เมื่อหน้าร้านต้องหยุดให้บริการ แต่ Customer Journey ของลูกค้าก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ผู้คนพาตัวเองเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้นเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในแต่ละวันได้ การซื้อสินค้าออนไลน์จากเรื่องไกลตัวจึงเป็นเรื่องไกลตัว นอกจากอาหาร เครื่องสำอาง Sportwear ก็ทำได้เช่นกัน

“เราพบว่ายอดการสั่งซื้อทางออนไลน์ของเวคกิ้งบีเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าด้วยความที่เมื่อต้นปีเป็นช่วงที่แบรนด์ปรับเวบไซต์ใหม่พอดี ทำให้ง่ายต่อการใช้งาน เหมาะต่อรูปแบบของอีคอมเมิร์ซ ลูกค้าเลือกสินค้าง่าย สะดวก และกระตุ้นการตัดสินใจได้เร็วขึ้น แบรนด์สร้างแพลทฟอร์มที่รองรับการขายสินค้าออนไลน์มาอยู่แล้ว  มีภาพแคตตาล็อคสินค้าที่เลือกดูได้หลายมุม ลูกค้าสะดวกต่อการช้อปปิ้งออนไลน์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน้าร้านยังจำเป็นเพราะสินค้าเสื้อผ้า การได้ลอง หรือได้จับ สัมผัสเนื้อผ้ายังเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องการ”

 

มองตลาดต่างประเทศหลังโควิด-19

ช่วงที่ผ่านมายอดออเดอร์จากต่างประเทศก็ลดลงไปบ้าง แต่เป็นช่วงสั้นๆ เมื่อการจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ก็ไม่มีปัญหา หลังจากนี้แนวโน้มคาดว่าจะเติบโตขึ้นเพราะเทรนด์สุขภาพเป็นเทรนด์สำคัญของตลาดโลก ต่างประเทศเองก็เหมือนบ้านเราที่เมื่อทุกคนหันมาออกกำลังกายมากขึ้น ทั้งวิ่ง โยคะ เข้าฟิตเนส ว่ายน้ำ ก็ทำให้ตลาดของเสื้อผ้ากีฬาเติบโต และแบรนด์เองมีสินค้ารองรับทุกกิจกรรม ขณะเดียวกันทางดิสทริบิวเตอร์ที่ฮ่องกงและไต้หวันก็เปิดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลักอยู่แล้ว ทำให้ยังมียอดสั่งซื้อเข้ามาเรื่อยๆ

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นวิกฤตแต่ก็เป็นสถานการณ์ที่ทำให้ทุกธุรกิจได้คิดและพิจารณาถึงวิธีการทำธุรกิจของตัวเองทำให้เราต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจให้ยืดหยุ่นตลอดเวลาสามารถปรับตัวเพื่ออยู่กับสถานการณ์ต่างๆ  การยอมรับ ปรับตัว และลงมือทำทันที จะเป็นทางรอดสำคัญ เราไม่เสียเวลานั่งจมอยู่กับปัญหาแต่ต้องพยายามหาทางแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด และจากการปรับตัวของแบรนด์นั่นทำให้เรามั่นใจว่า Wakingbee ต้องได้ไปต่อ

 

 

นอกจากนี้ ยังมั่นใจว่าเทรดแฟร์จะยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายตลาดของแบรนด์ เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ประเทศต่างๆ เปิดให้เดินทาง มีระบบการจัดการที่ปลอดภัย มั่นใจได้แล้ว ก็จะเข้าร่วมงานผ่านการสนับสนุนจากโครงการ SME Pro-active เหมือนเดิม เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้สร้างโอกาสทางธุรกิจได้จริง”  

 

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 หรือ 02-507-7786

[อ่าน 1,442]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แนะแบรนด์เสริมกลยุทธ์
The Importance of Building ​Nation Brand
9 แนวทางการสื่อสารความยั่งยืนให้กับองค์กร Effective Sustainability Communications
เปิดมุมมอง “ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ถึงกลยุทธ์ KFC ของ CRG และแผนรุกตลาด QSR ปี 2567
Do & Don’t และแผนการสืบทอดธุรกิจครอบครัว
EMMA Clinic มอบอัตลักษณ์ความงามเฉพาะคุณ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved