'GC' รุกโมเดลจัดการขยะพลาสติกครบวงจร ชี้ดีมานด์พลาสติกพุ่ง รับ New Normal
01 Jul 2020

 

'GC'รุกพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล และย้ำยังเดินหน้าแผนผลิตพลาสติกใช้ครั้งเดียวให้เป็นศูนย์ภายใน 5 ปี แม้วิกฤติโควิด-19 ทำดีมานด์พลาสติกใช้ครั้งเดียวพุ่ง แต่เชื่อหลังวิกฤติโควิด-19 เทรนด์รักษ์โลกจะกลับมาเหมือนเดิม พร้อมปั้นโมเดลบริหารจัดการขยะครบวงจร ทั้ง 'เก็บ -แยก - รวบรวม' ขยะพลาสติกสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ  

 

ปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ (President) บมจ. พีทีที โกลบอล  เคมิคอล หรือ GC  เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดพลาสติกในช่วงวิกฤติโควิด-19 ว่า

 

"ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัยต่อสุขอนามัย ที่ผู้บริโภคให้สำคัญเป็นอันดับแรก ทำให้ดีมานด์ของพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว หรือ Single- Use Plastics ในช่วงล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก อาทิ ถุงหูหิ้ว ขวดน้ำพลาสติก หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก ฯลฯ และดีมานด์ของพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวก็จะยังคงอยู่แม้หลังล็อกดาวน์ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยกับบริการโฮมเดลิเวอรี่ และเห็นว่า พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยต่อสุขอนามัย ลดการแพร่กระจายเชื้อโรค อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันด้วย

 

นอกจากนี้ วิกฤติโควิด-19 มีส่วนทำให้ความต้องการใช้พลาสติกที่เกี่ยวข้องกับวัสดุอุปกรณ์การแพทย์เพิ่มสูงขึ้นเช่นกันและต่อไปรูปแบบการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เช่น การใส่หน้ากากป้องกันหน้า (Face Shield) หน้ากากอนามัย ซึ่งมีส่วนผสมของพลาสติก ฯลฯ อย่างไรก็ตาม หากวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายหรือมีวัคซีนแล้ว เทรนด์รักษ์โลกก็จะกลับมาเหมือนเดิม แต่เราก็มีโจทย์ที่จะต้องคิดกันต่อไปว่า เราจะบริหารจัดการขยะที่เกิดจากพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวอย่างเป็นระบบได้อย่างไร"

 

ปฏิภาณกล่าวเพิ่มเติมว่า "ช่วงวิกฤติโควิด-19 GC ได้ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนและพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เสื้อกาวน์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หน้ากากป้องกันหน้า (Face Shield) และชุด PPE ที่ขาดแคลน หมวกสุญญากาศ ฉากกั้นพลาสติก เป็นต้น เพื่อช่วยป้องกันโรคและการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่นั้นผลิตมาจากพลาสติกแทบทั้งสิ้น ส่วนบริการสั่งอาหารแบบโฮมเดลิเวอรี่ที่มีการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเป็นจำนวนมาก GC จึงร่วมกับWongnai และ LINE MAN เพื่อสนับสนุนการทำบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ และไม่เป็นภาระต่อสังคมกว่า 3 แสนชิ้นให้แก่ร้านอาหารกว่า 200 ร้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดปริมาณขยะ และส่งมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ได้มาตรฐานต่อผู้บริโภคกว่า 1 แสนครัวเรือน  เป็นต้น”  

 

“แม้วันนี้คนอาจจะยังไม่ได้พูดถึงปัญหาขยะพลาสติก ไม่ได้พูดเรื่องการนำพลาสติกมาใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิล สำหรับ GC เชื่อว่า เทรนด์ในการอนุรักษ์โลกยังคงอยู่ การปลูกฝังเรื่องการคัดแยกขยะยังคงต้องตอกย้ำอย่างต่อเนื่อง และ GC ก็ยังคงมุ่งมั่นทำตามเป้าหมายที่จะลดปริมาณการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว จำนวน 1.5 แสนตันต่อปี ให้เหลือ 'ศูนย์' ภายใน 5 ปี เพื่อมุ่งสู่ตลาดพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ที่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ ด้วยการใช้นวัตกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ  และสร้างแพลทฟอร์มเพื่อเป็นโมเดลให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะพลาสติกแบบครบวงจรมากขึ้น"

 

 

สำหรับเป้าหมายที่จะลดปริมาณการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวให้เหลือ "ศูนย์" นั้น ปฏิภาณชี้แจงว่า

“ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ขายเลย เพราะถ้ามีตลาด - มีคนซื้อเราก็ยังขาย เพียงแต่ตอนนี้ เราก็ต้อง Agility หรืออาศัยความคล่องตัวและต้องอยู่รอดก่อน ด้วยเหตุผลเชิงพาณิชย์ เราจะทำอะไรโดยไม่มองโอกาสทางธุรกิจ  แต่ถ้าหากไม่มีดีมานด์ในตลาด เราก็จะใช้กำลังผลิตตรงนี้ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ยาวกว่าได้ เช่น แทนที่จะไปผลิตเม็ดพลาสติกเกรด F เพื่อผลิตถุง Shopping Bag โดยเฉพาะ เราก็ทำ R&D แล้วผลิตเป็นท่อแบบ โพลีเอทิลีน (PE) ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อใหญ่ๆ ดำๆ เพื่อใช้ระบายน้ำ หรือสายไฟประเภท  Wire, Cable ซึ่งอายุใช้งานยาวนานเป็นสิบปี แล้วเมื่อใช้งานได้นานขึ้น การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศก็จะน้อยลง"

 

สำหรับการจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจรนั้น ปฏิภาณชี้แจงว่า

 

"GC อยู่ระหว่างการพัฒนาแพลทฟอร์มให้เป็นโมเดลที่สมบูรณ์ หรือ Loop Connecting โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารจัดการ ทั้งกลุ่มธุรกิจ กลุ่มซาเล้ง กลุ่มค้าของเก่า กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น รวมถึงได้ศึกษาร่วมกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อกำหนดให้สถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ที่มีอยู่กว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศเป็นจุดรวบรวมขยะพลาสติก (Drop-Point) โดยสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคนำขยะพลาสติกส่งคืน แลกคะแนนสะสมแต้มในบัตร Blue Card เพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเห็นคุณค่าของขยะพลาสติก และเอื้อให้สามารถนำขยะพลาสติกเข้าสู่วงจรรีไซเคิล (Recycle) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปแนวทางการดำเนินงานในเร็วๆ นี้"

 

 

นอกจากนี้ GC ยังได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้เม็ดพลาสติกจากไบโอพลาสติกมากขึ้น รวมถึงการลดปริมาณขยะในสถานที่ต่างๆ เช่น รณรงค์และส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด ใช้แก้วที่เคลือบไบโอพลาสติก เพราะช่วยลดปริมาณขยะ สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และเลือกใช้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย เช่น โครงการ Chula Zero Waste, โครงการ Waste This Way ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์, โครงการธนาคารขยะ (Think Cycle Bank)ในโรงเรียนต่างๆ ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กแยกขยะ เห็นคุณค่าของขยะเพราะถ้าสามารถจัดการเก็บขยะ คัดแยกขยะ ซึ่งเป็นปัญหาที่สุดในการกระบวนแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้ ขั้นตอนอื่นๆ ก็สามารถทำได้โดยง่าย และโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสนับสนุนการผลิต และใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น  

 

ขณะเดียวกัน GC ยังคงมุ่งศึกษาและวิจัยแนวทางการใช้เม็ดพลาสติกให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยจะทำให้เกิดการใช้งานอย่างยาวนานขึ้น และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขณะเดียวกันก็เพิ่มมูลค่าพลาสติกด้วยการร่วมมือกับดีไซเนอร์ 10 คน และร่วมกับกลุ่มพันธมิตรที่เป็นลูกค้าของ GC 19 ราย เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ภายใต้ โครงการ Upcycling Upstyling เพื่อสร้างสรรค์สินค้าในกลุ่ม Upcycling ด้วยการออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นแนวทางของบริษัทฯ เพื่อให้ผู้ผลิตขั้นปลายในสายอุตสาหกรรมพลาสติก สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ภายใต้กระแสรักษ์โลก  

 

 

ปฏิภาณกล่าวว่า "ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า พลาสติก คือวัสดุที่จำเป็นและขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน มีคุณสมบัติที่สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายตามความต้องการ สะดวก เข้าถึงง่าย เพราะราคาไม่แพง ขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานก็ควรเรียนรู้การใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงวิธีการคัดแยกขยะ การจัดการกับขยะพลาสติกแต่ละประเภทอย่างถูกต้องหลังการใช้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตด้วย"

[อ่าน 2,452]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“สะสม” แค่กระแส หรือจงรักภักดี
ฉากทัศน์แห่งความรุ่งเรืองของธุรกิจ Art Toy ในประเทศไทย
The Charming Business of Art Toy
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัวสู่การเติบโตยั่งยืน
Soft Power เอาจริงหรือ?
ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แนะแบรนด์เสริมกลยุทธ์
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved