KBANK x LINE ผสาน 2 จุดแข็ง ลุย โซเชียลแบงก์กิ้ง
27 Nov 2020

 

ภาพสะท้อนที่ออกมาจากความร่วมมือของธนาคาร ลงทุนผ่าน บริษัท กสิกร วิชั่น หรือ เควิชั่น และ LINE ลงทุนผ่านบริษัท ไลน์ ไฟแนนซ์เชียล เอเชีย เปิดให้บริการโซเชียลแบงก์กิ้งภายใต้ชื่อ 'LINE BK' ก็คือ การมองเห็นโอกาสทางธุรกิจของบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าโซเชียลแบงก์กิ้ง เนื่องจากเป็นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในแพลตฟอร์มของ LINE แชทแอปยอดนิยมที่มีฐานคนใช้งานถึง 47 ล้านคน เป็นการเข้าถึงลูกค้าที่เรียกว่า ‘ปลาใหม่’ ที่ยังไม่มีใครเข้าไปเจาะและส่วนหนึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการของแบงก์พาณิชย์ได้

 

ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงอาจจะเป็นการเข้ามาดิสรัปท์วงการการเงินของบ้านเราอีกครั้ง หลังจากที่เมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้ว ถูกดิสรัปท์มาครั้งหนึ่งจากการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาปฏิวัติช่องทางการให้บริการผ่านโมบายแบงก์กิ้ง จนทำให้การทำธุรกรรมผ่านธนาคารมือถือมีสัดส่วนถึงกว่า 90%

 

 

Social Banking โอกาสใหม่ของโลกการเงิน

หากนิยามความหมายของ ‘โซเชียลแบงก์กิ้ง’ แล้วจะพบว่า มันคือบริการธนาคารออนไลน์บนแอปโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่ธนาคารจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมหาศาล โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การให้บริการที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า รวมถึงการเจาะฐานลูกค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์มของซูเปอร์แอปเหล่านั้น 

 

ความร่วมมือระหว่าง ‘ธนาคาร’ กับ ‘ซูเปอร์แอป’ ที่มีทุกอย่างครบในแอปเดียว จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในระยะยาวให้ธนาคารจากการแชร์ข้อมูลกับพันธมิตร ทำให้สามารถให้บริการทางการเงินกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงธนาคารเพราะไม่มีบัญชีเงินฝาก หรือกู้ไม่ได้เพราะไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ เมื่อมีข้อมูลใหม่ด้านอื่นมาเสริมก็จะช่วยให้ธุรกิจนี้เสนอบริการทางการเงินต่างๆ ได้ถูกที่ ถูกเวลาตรงความต้องการและศักยภาพของลูกค้าได้ดีขึ้น

 

สำหรับในบ้านเรา LINE BK ถือเป็นผู้ให้บริการโซเชียลแบงก์กิ้งรายแรก ซึ่งน่าจะเป็นการชิงลงมือของธนาคากสิกรไทยที่มองเห็นโอกาสในการเข้าถึงฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของ LINE ที่มีระบบนิเวศ (Ecosystem) ค่อนข้างแข็งแกร่งและให้บริการที่หลากหลาย โดยบริการทางการเงินถือเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันที่คนใช้แอปพลิเคชันของ LINE ทำธุรกรรมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้ง การซื้อสติ๊กเกอร์หรืออื่นๆ ที่เป็นการทำแบบไม่รู้ตัว

 

การร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยจึงเป็นตัวช่วยเติมเต็มที่จะทำให้คนใช้ LINE สามารถทำธุรกรรมได้เลย โดยไม่ต้องออกจากแอป เพื่อเปลี่ยนเป็นแอปโมบายแบงก์กิ้งของธนาคาร

 

 

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) พูดไว้เมื่อครั้งงานแถลงข่าวเปิดตัวเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า LINE BK เป็นบริการทางการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงินออนไลน์รูปแบบใหม่ที่ ‘แชท-โอน-ยืม-จ่าย’ ในแอปพลิเคชั่น LINE  พร้อมทั้งบริการสินเชื่อให้กลุ่มฟรีแลนซ์หรือคนไม่มีรายได้ประจำสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และยังมุ่งพัฒนานำเสนอนวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบโจทย์ทางการเงินให้กับผู้ใช้งานทุกราย

 

เขายังบอกอีกว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ยังเป็นตัวตอกย้ำความมุ่งมั่นของธนาคารกสิกรไทยที่ต้องการสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem ซึ่งธนาคารกสิกรไทยเองมีการทำอย่างต่อเนื่องมาตลอดในช่วงหลายปีหลังมานี่

 

 สำหรับบริการ LINE BK นำเสนอ 4 บริการทางการเงินหลักได้แก่ 

  • บริการบัญชีเงินฝาก ครอบคลุมบริการ ‘โอน - ถอน - จ่าย’ ทำได้ทุกอย่างบนแอปพลิเคชัน LINE ไม่ต้องสลับแอปพลิเคชันและไม่ต้องจำเลขบัญชี
  • บริการบัญชีเงินออมดอกเบี้ยพิเศษดอกเบี้ยพิเศษสูงสุด15%ต่อปีสามารถกำหนดระยะเวลาออมเงินได้เองทั้งแบบระยะสั้น 6 เดือนดอกเบี้ย 1% ต่อปีหรือระยะยาว 12 เดือนดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี
  • บริการบัตรเดบิต บัตรเดบิตวีซ่า LINE BK ให้เงินคืน 0.5% เมื่อช้อปออนไลน์ 100 บาทขึ้นไป พร้อมให้ดึงวงเงินให้ยืมมาใช้จ่ายต่อได้ทันที
  • บริการวงเงินให้ยืม บริการสินเชื่อบุคคลแบบดิจิทัล ดอกเบี้ยผ่อนชำระ18% และดอกเบี้ยผ่อนขั้นต่ำ 20% วงเงินต่อรายสูงสุด 800,000 บาทหรือไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ โดยผู้มีรายได้ขั้นต่ำ แค่ 7 พันบาทสามารถขอสินเชื่อได้ มุ่งเจาะกลุ่มผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำและไม่มีสลิปเงินเดือน เช่น ฟรีแลนซ์ และเจ้าของธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็ก

 

จะว่าไปแล้ว การมีฐานผู้ใช้อยู่ในแพลตฟอร์มของ LINE ถึง 47 ล้านคนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเปิดตัวโซเชียลแบงก์กิ้งในครั้งนี้เพราะถือเป็นฐานที่ค่อนข้างใหญ่ เรียกได้ว่า ใหญ่กว่าฐานลูกค้าของแบงก์ต่างๆ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ๆ ที่มีฐานลูกค้าอยู่ราว 16 – 18 ล้านรายซึ่งการทำตลาดการเงินในยุคถัดจากนี้ไป การมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ และสามารถ Engage หรือสร้างปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาอย่างต่อเนื่องได้จะกลายเป็นโอกาสชั้นดีในการต่อยอดไปสู่การใช้บริการทางการเงินที่ทางแบงก์นำเสนอให้

 

ในช่วงที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นความพยายามที่จะเข้าไปจับมือกับแพลตฟอร์มใหญ่ๆ รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมา อย่างกรณีของเอสซีบีที่ทำเรื่องนี้มาตลอด อย่างล่าสุดกับความพยายามในการสร้างแอปพลิเคชันโรบินฮู้ด เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกในการใช้งานของแอปสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ หรือ Food Aggregator การปั้นแอปโรบินฮู้ดขึ้นมานี้ นอกจากการมองถึงการดึงลูกค้าเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มแล้วยังเป็นการมองถึงการเก็บดาต้าของลูกค้าและร้านค้าที่ร่วมอยู่ใน Ecosystem ซึ่งจะเป็นอีกสูตรสำเร็จในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงจุด และถูกที่ ถูกเวลา

 

สำหรับ LINE BK แล้ว การร่วมมือของพาร์ทเนอร์ทั้ง 2 ถือเป็นการผสานจุดแข็งที่จะถูกนำมาใช้ในการสร้างตลาดโซเชียลแบงก์กิ้งอย่างแท้จริงโดย LINE ถือเป็นแพลตฟอร์มที่มี Ecosystem ค่อนข้างแข็งแกร่ง มีการใช้บริการที่หลากหลาย ทั้ง Messenger หรือการแชท การเป็นเครื่องมือในการทำการตลาดเพื่อสร้าง Engagement ให้กับแบรนด์สินค้าบริการส่งอาหารและขนส่งในรูปแบบต่างๆ  และ บริการอีคอมเมิร์ซ

 

Ecosystem ของ LINE นี้จะมีผู้ที่อยู่ร่วมในระบบมากมาย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่เคยเข้าถึงการให้สินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ เนื่องจากไม่มีบัญชีเงินเดือน แต่ด้วยการที่ LINE มีข้อมูลจริงจากการใช้บริการ แถมเป็นข้อมูลที่ลงลึกจึงสามารถนำมาประกอบในการพิจารณาให้สินเชื่อ ซึ่งรายได้จากดอกเบี้ยสินเชื่อจะเป็นรายได้หลักที่สำคัญ ทำให้ธนาคารกสิกรไทยสามารถเปิดโอกาสเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้ โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องความเสี่ยง เนื่องจากการมีฐานข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการปล่อยสินเชื่อได้

 

เช่นเดียวกับ LINE ที่การร่วมทุนในครั้งนี้จะเป็นอีกการเพิ่มธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตระยะยาว เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเงินและแหล่งเงินทุนชั้นดีจากธนาคารกสิกรไทยเข้ามาเป็นตัวช่วยสนับสนุน LINE BK จึงเป็นโมเดลการร่วมทุนที่ Win - Win ทั้ง 2 ฝ่าย

กล่าวได้ว่า โซเชียลแบงก์กิ้งน่าจะเป็นเทรนด์ใหม่ของวงการการเงินของโลกที่กำลังก่อตัวเพื่อเติบโตในอนาคต เนื่องจากการทำธุรกิจการเงินนั้น การเข้าถึงฐานลูกค้าขนาดใหญ่ที่มีเรื่องของบิ๊กดาต้าเข้ามาสนับสนุนจะกลายเป็นแนวทางที่แบงก์พาณิชย์ทั่วโลกมุ่งไป

เพราะในอนาคต วงการการเงินก็จะไม่แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ ตรงที่เรื่องของบิ๊กดาต้าจะเข้ามามีบทบาทต่อการวางแผน เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ ‘ถูกที่ - ถูกเวลา’ ซึ่งไม่เพียงแค่การมีฐานลูกค้าจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังต้องมีการ Engage ลูกค้าเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการมี Engagement ที่ดีจะช่วยในแง่การต่อยอดการขายผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญยังสามารถต่อยอดไปสู่การ Cross-Selling ในระยะยาวได้อีก

 

จากการที่ LINE เปิดตัวโซเชียลแบงก์กิ้งในประเทศไทยเป็นแห่งแรกของโลก ในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะขยับเปิดตัวที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งจะใช้โมเดลการร่วมทุนในรูปแบบเดียวกันกับที่ประเทศไทย

นี่จึงเป็นอีกเครื่องยืนยันให้เห็นถึงเทรนด์ของโซเชียลแบงก์กิ้งที่จะเบ่งบานในทั่วโลกในระยะเวลาอันใกล้นี้.  

[อ่าน 4,660]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แนะแบรนด์เสริมกลยุทธ์
The Importance of Building ​Nation Brand
9 แนวทางการสื่อสารความยั่งยืนให้กับองค์กร Effective Sustainability Communications
เปิดมุมมอง “ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ถึงกลยุทธ์ KFC ของ CRG และแผนรุกตลาด QSR ปี 2567
Do & Don’t และแผนการสืบทอดธุรกิจครอบครัว
EMMA Clinic มอบอัตลักษณ์ความงามเฉพาะคุณ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved