Strategic Move กับ 2nd wave COVID (จะมามั้ย?)
15 Feb 2021

 

มันมาอีกแล้วจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19ที่ทำให้เราดีใจได้เพียงไม่กี่เดือนว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดูแลสถานการณ์ได้ดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่งแต่ในเดือนธันวาคมเราเริ่มได้ข่าวของการส่งท้ายปีใหม่ด้วยความน่ากังวลกันอีกรอบ เมื่อมีผู้ที่เห็นแก่ตัวและไม่รับผิดชอบอย่างที่สุดลักลอบเข้าประเทศ (ที่เรียกกันสุภาพๆ ว่าผ่านพรมแดนธรรมชาตินั่นแหละ) ที่แย่กว่าการทำผิดกฎหมายคือเข้ามาแล้วยังไม่สำนึก ยังเตร็ดเตร่เร่ร่อนไปทั่วสร้างความย่อยยับให้กับการท่องเที่ยวของหลายจังหวัดในภาคเหนือที่หวังจะพอมีรายได้ไว้ประคับประคองธุรกิจในปีหน้า

 

สถานการณ์ในปีนี้ยังไม่สู้จะดีนัก แต่หลายธุรกิจก็ต้องวางแผนสำหรับปีหน้ากันแล้ว โดยการวางแผนในครั้งนี้เชื่อว่าหลายๆ ธุรกิจคงต้องมีการวางแผน Business Continuity Plan หรือ BCP เป็นแผนในการรับมือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ธุรกิจอาจต้องหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นเวลาหลายวันหรือเป็นเดือนหรือเป็นชั่วโมง เป็นแผนที่จะทำให้องค์กรสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อเนื่องได้ให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เกี่ยวข้องกับกิจการ (Stakeholders) น้อยที่สุด

 

แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นการวางแผนสำหรับ Next Normal ในปีหน้าที่ท้าทายคือ การวางแผนเพื่อ Strategic Move หรือการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างชัดเจน สามารถทำได้หลายรูปแบบ เพื่อขยายขอบเขตการทำธุรกิจต่อไปในอนาคต

จากนิยามดังกล่าวอธิบายง่ายมากๆ ว่า ถ้าปีหน้าใครยังคงทำธุรกิจแบบเดิม ผลิตภัณฑ์เดิม กลุ่มลูกค้าเดิม เจาะตลาดเดิม แสดงว่าคุณไม่ได้   ‘Move’ และอาจทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงมากในปีหน้า ลองมาดู ABCD ที่ผมจะนำมาเล่าให้ฟังกันนะครับ

 

 

Agile

 การปรับองค์กรให้คล่องแคล่วว่องไว หมดยุคของช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม แต่เป็นยุคของปลาเร็วไล่ล่าปลาช้า และที่สำคัญปลาใหญ่สมัยนี้ยังว่ายเร็วเพื่อจะกินปลาเล็กและช้าอีกด้วย การปรับเปลี่ยนแผนเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ ต้องทำได้อย่างทันท่วงที การมีทีมที่สามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว สามารถรายงานตรงกับผู้บริหารระดับสูงได้ เป็นสิ่งจำเป็นในการทำ Strategic Move ในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาบริษัทที่ปรึกษาหลายแห่งใช้คำว่า Resilience หรือความยืดหยุ่น เช่น

เมื่อเกิดการ Lockdown ทำให้หลายบริษัทเกิดการ Live ขายสินค้าเพราะลูกค้ามาที่หน้าร้านไม่ได้ จากผลการวิจัยพบว่าในอนาคตผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าแบบ BOPIS หรือ Buy Online Pickup In Store สูงถึง 59%(McKinsey COVID-19 : US Consumer Pulse Survey 2020) ซึ่งก็เห็นธุรกิจหลายรายเริ่มปรับตัวในลักษณะดังกล่าว เช่น ร้านกาแฟ Starbucks ที่ให้ลูกค้าสั่งสินค้าได้ทางแอปพลิเคชันพร้อมทั้งชำระเงินผ่านบัญชี Starbucks card จากนั้นสามารถไปรับสินค้าได้ที่สาขาโดยที่ไม่ต้องต่อคิว ถูกใจสาวกตัวจริงของ Starbucks เป็นอย่างมาก เพราะลูกค้าประจำของที่นี่จะมีเมนูประจำอยู่แล้ว

 

 

Business Model

การหารูปแบบของธุรกิจใหม่ๆเป็นเรื่องจำเป็น ปีที่ผ่านมาพบว่าหลายธุรกิจที่ไม่สามารถอยู่รอดได้มักจะมีรูปแบบธุรกิจที่ตายตัว และไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ได้ทัน ดังนั้นในปีหน้าผู้บริหารควรมองหารูปแบบธุรกิจใหม่ไว้เผื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดแบบไม่คาดคิดหรือถ้าไม่เกิดขึ้นก็ยังมีรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ไว้เพิ่มรายได้ให้กับกิจการได้อีกด้วย หากคิดไม่ออกลองคิดเรื่องการ Diversify ธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งมี 2 แบบทั้งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม (Related Diversification) หรือไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม (Unrelated Diversification) อาจทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆ หลายคนชอบบอกว่าสถานการณ์แบบนี้ไม่ควรลงทุน ไม่ควรทำอะไรใหม่ๆให้ประคองตัว

แต่ผมกลับมองตรงกันข้ามการหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ไว้อาจเป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้าเพราะอะไรๆก็ไม่แน่นอนเช่น ศิลาวดีรีสอร์ท Destination ชื่อดังบนเกาะสมุย ได้ขยายธุรกิจไปทำฟาร์มผักออร์แกนิก และฟาร์มเมลอนออร์แกนิก ปลูกอยู่บนเกาะสมุยนี่แหละ นอกจากจะเอามาใช้เสิร์ฟแขกที่รีสอร์ทได้แล้ว ยังมีเหลือเฟือเพื่อเอาไว้จำหน่ายได้อีกทางหนึ่ง เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

 

 

CRM

ในสถานการณ์โควิดสิ่งที่เกิดขึ้นคือการรักษาระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing ทำให้ผู้คนต้องห่างกันมากขึ้น อยู่กันไกลขึ้น ผมเคยให้นิยามของ New normal ไว้ว่า New normal is the way we make Physical Distancing but trying to get in touch with our customer หมายความว่าเราพยายามที่จะอยู่ห่างกัน แต่ในทางธุรกิจเราต้องพยายามใกล้ชิดลูกค้าให้ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ดังนั้นกลยุทธ์ที่จะมาช่วยได้คือ การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าหรือ CRM การติดต่อผ่านช่องทางต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เราได้รับ e-mail, SMS, Line message, Facebook Message หรือการ Feed ข้อมูลต่างๆ มาหาเรามากขึ้น แต่ละบริษัทซื้อโฆษณาทาง Facebook จนทำให้ค่าโฆษณาในช่วงที่ผ่านมาราคาสูงขึ้นมาก (หลายๆ Page เจอค่าโฆษณาแพงขึ้นถึง 2 เท่า)

นอกจากการติดต่อกับลูกค้าแล้ว ยังมีสร้างกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสะสมแต้ม การจัดกิจกรรม Exclusive เฉพาะสมาชิก ทั้งนี้เพื่อให้ลูกค้าไม่หายไป เพราะการเสียลูกค้าในช่วงวิกฤติยิ่งจะทำให้กิจการวิกฤติมากขึ้นนั่นเอง ตัวอย่างเช่นในปีที่ผ่านมากิจกรรมสะสมแต้มของช่างเครื่องปรับอากาศ Eminent air มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 32% แสดงให้เห็นว่าสามารถรักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่ได้ดีมาก

 

 

Data

การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเข้มข้นจะถูกนำมาใช้งาน สังเกตได้ว่าอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการ และเงินเดือนดีมากคือนักวิเคราะห์ข้อมูลหรือ Data Analyst อย่างที่ทำงานกับผมอยู่เบาะๆ ก็เงินเดือนครึ่งแสนครับ เพราะต่อไปการทำการตลาดต้องอยู่บนความคุ้มค่าหมดยุคของการทำการตลาดแบบหว่านแห ต้องทำแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น Personalize Marketingจะถูกตัดสินใจอยู่บนข้อมูลอย่างละเอียด เคยรู้สึกไหมว่าทำไมLazada ถึงได้นำเสนอสินค้าที่เราสนใจได้ตลอดเวลา ทำไม Netflix นำเสนอหนังในสไตล์ที่เราชอบ ทำไม Joox รู้ว่าเราชอบฟังเพลงแนวไหน นี่แหละครับ โลกยุคใหม่ต้อง Move กันแบบนี้ ใช้ข้อมูลให้ละเอียดมากๆครับ

 

E-commerce เรื่องนี้ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของกิจการ ในยุคที่อาจเกิดการกักตัว(กันอีกรอบ) การวาง Strategic Move ไปบน Platform E-commerce ต่างๆ กลายเป็นเรื่องจำเป็น โควิดกลายเป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจต้องทำ E-commerce โดยดุษฎี การ Move ไปบนโลกการขายแบบใหม่นี้มีข้อควรพิจารณาก็คือ ต้องเป็น Omni channel หมายถึง ช่องทางการบริการลูกค้าที่หลากหลาย เชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ และประสานกันแบบไร้รอยต่อ ไม่ได้หมายความว่าทำออฟไลน์แล้วมีออนไลน์ด้วยเท่านั้น แต่ทั้งสองช่องทางต้องทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

เช่น Search หาข้อมูลออนไลน์ แชทพูดคุยกับร้านค้า แล้วไปทดลองสินค้าที่หน้าร้าน กลับมาซื้อออนไลน์เพื่อรับ Voucher ส่วนลด กดชำระเงินออนไลน์ แล้วไปรับสินค้าที่หน้าร้าน เพราะ Omni มาจากภาษาลาติน หมายถึง For All หรือ ทั้งหมด ดังนั้นการครอบครองช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ต้องทำให้ครบ

นอกจากนี้รูปแบบของ E-commerce ก็เป็นสิ่งที่ต้องตัดสินใจเมื่อจะ Move เพราะมี 3 รูปแบบใหญ่ๆ ตั้งแต่ Brand.com หรือเว็บไซต์ของบริษัทที่ผมแนะนำว่าควรจะมีและทำให้ดีมากๆ ด้วย Marketplace ที่มีให้เลือกหลายค่าย หลายแห่งทั้ง JD, Shopee, Lazada และอื่นๆ รูปแบบสุดท้ายคือ C-commerce ผ่านทาง Social network ต่างๆ เช่น Facebook Live, Lineshop, Messenger ที่ล้วนแต่เติบโตกันแบบก้าวกระโดด

การทำ Strategic Move ยังสามารถทำได้ด้วยการเข้าหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เช่นการใช้ Platform Tiktok  ที่เป็นแอปพลิเคชันที่มาแรงที่สุดแห่งปี 2020 ด้วยยอดดาวน์โหลดสูงสุด ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยใสได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญคือต้องกล้าขยับ กล้า Move เพราะปีหน้าทำธุรกิจไม่ง่ายแน่ๆ ถึงแม้ปีนี้จะล้มก็อย่าไปกลัว รีบลุก รีบ Move ดังคำกล่าวที่ว่า “ล้มลงแล้วก้าวไปข้างหน้า ดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่กับที่” มา Move กันนะครับ

 


บทความจากนิตยสาร MarketPlus Issue 130  //  เขียนโดย ....อาจารย์ วีรพล สวรรค์พิทักษ์

[อ่าน 1,380]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แนะแบรนด์เสริมกลยุทธ์
The Importance of Building ​Nation Brand
9 แนวทางการสื่อสารความยั่งยืนให้กับองค์กร Effective Sustainability Communications
เปิดมุมมอง “ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ถึงกลยุทธ์ KFC ของ CRG และแผนรุกตลาด QSR ปี 2567
Do & Don’t และแผนการสืบทอดธุรกิจครอบครัว
EMMA Clinic มอบอัตลักษณ์ความงามเฉพาะคุณ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved