วัคซีนโควิด 19 จุดสตาร์ทแบ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 2 ขั้ว
20 May 2021

ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกยังมีการระบาดของโควิด-19 ประเทศส่วนใหญ่จะไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ ทำให้การเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นปัจจัยหลัก ที่จะเป็นตัวตั้งต้นในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศทั่วโลกให้กลับมาได้อย่างเร็วที่สุด ซึ่งการกระจายวัคซีนในแต่ละประเทศก็มีอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ 

  1. ปริมาณการผลิตวัคซีนมีจำกัดขณะที่ทั่วโลกต่างก็ต้องการวัคซีน
  2. จำนวนประชากรในประเทศยิ่งมากยิ่งท้าทายการกระจายวัคซีน
  3. การควบคุมสถานการณ์ในประเทศหากมีการระบาดรุนแรงยิ่งกระตุ้นทั้งประเทศตระหนักถึงความสำคัญของวัคซีน
  4. ปัจจัยเฉพาะของประเทศส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีน 

ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวแบ่งความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน ซึ่งมีผลต่อเนื่องมายังการฟื้นตัวของเศรษฐโลก ในขณะที่ขั้วกลุ่มประเทศตะวันตกเป็นผู้พัฒนาวัคซีน แต่ก็ยังเห็นความแตกต่างในความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนอย่างสหรัฐฯ และยุโรปในขณะเดียวกันประเทศทางฝั่งเอเชียส่วนใหญ่ ยกเว้นจีน และรัสเซีย ไม่ได้เป็นผู้พัฒนาวัคซีนแต่บางประเทศกลับฟื้นตัวได้เร็ว แม้อัตราการฉีดวัคซีนจะยังต่ำอยู่

 

 

 

ขั้วของกลุ่มตะวันตก ผู้พัฒนาวัคซีน โดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่เป็นแกนนำในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ใช้กันแพร่หลายอาทิ AstraZeneca, Johnson&Johnson, Pfizer และ Moderna ซึ่งน่าจะตัดประเด็นความมีเพียงพอของวัคซีนได้ แต่ก็ยังมีประเด็นอุปสรรคบางประการ ที่ทำให้เส้นทางการฟื้นตัวแตกต่างกัน

  • สหรัฐฯ มีสัญญาณบวกก่อนใคร นับตั้งแต่ นายโจ ไบเดน เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี มาตรการต่างๆ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ประชาชนเชื่อมั่นในตัววัคซีนที่ผลิตประกอบกับมาตรการจูงใจในการฉีดของแต่ละรัฐฯ อาทิ การแจกล็อตเตอร์รี่ แจกอาหาร แจกเงินสด แจกทุนการศึกษา ยิ่งกระตุ้นให้อัตตราผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกเร่งขึ้นมา 45.88% ต่อประชากรสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก (รองจากอิสราเอล สหราชอาณาจักร และบาห์เรน) จนสามารถปลดล็อคกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้สำเร็จกำลังซื้อของผู้บริโภคและผลประกอบการของภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นจะเห็นได้ว่า ตัวเลข GDP ในไตรมาส 1/2564 ขยายตัวดีถึง 6.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน บวกกับมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 3 ก้อน รวมเป็นวงเงิน 6 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ที่ทยอยเข้ามาช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มกลับสู่ภาวะใกล้เคียงปกติได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564

  • ฝั่งยุโรป ยังมีความแตกต่างของการกระจายวัคซีน ในสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกในโลกที่เริ่มฉีดวัคซีนก่อนใครในวันที่ 8 ธ.ค. 2564 และพัฒนาการต่างที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เป็นประเทศแรกในยุโรป ประกอบกับการที่สามารถพัฒนาวัคซีนได้เองยิ่งสร้างความเชื่อมั่นทำให้วัคซีนกระจายได้ถึง 52.4% ของประชากร สูงเป็นลำดับที่ 2 ของโลก นอกจากนี้ อังกฤษเพิ่งผ่านช่วงเวลาวิกฤตจากไวรัสสายพันธุ์อังกฤษระบาดอย่างหนักจากที่เคยมียอดผู้ติดเชื้อพุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 67,928 รายต่อวัน จนทางการต้องประกาศปิดเมืองทั่วประเทศเป็นรอบที่ 3 สถานการณ์ดังกล่าวล้วนกระตุ้นให้กระจายวัคซีนเป็นไปอย่างราบลื่นทำให้อังกฤษเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มต่างๆ และยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ราว 2 พันคนต่อวัน อีกทั้งยังมีแผนการฉีดให้แก่เด็กในช่วงเดือนส.ค.นี้ สัญญาณบวกดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางอังกฤษคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศในปี 2564 น่าจะกลับมาเติบโตได้ที่ 7.25% (จากที่หดตัว 10% ในปี 2563) นับเป็นการเติบโตดีที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา อย่างไรก็ดี ภาพรวมของสหภาพยุโรป (EU) ช้า ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่เริ่มฉีดวัคซีน แต่ส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาปริมาณวัคซีนไม่เพียงพอ และความกังวลต่อผลข้างเคียงของวัคซีนทำให้การกระจายวัคซีนค่อนข้าง นอกจากนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหลายประเทศยังอยู่ในระดับสูงทั้งเยอรมนีอยู่ที่ 8,500 รายและฝรั่งเศสที่ 15,685 ราย (17 พ.ค.2564) ยิ่งทำให้การกลับใช้ชีวิตปกติคงต้องใช้เวลายาวนาน สอดคล้องกับคาดการณ์ของ IMF คาดว่า เศรษฐกิจภาพรวม EU ปี 2564 ฟื้นกลับมาขยายตัวที่ 4.5%

 

 

ขั้วของกลุ่มเอเชียที่โดยมากไม่ได้เป็นผู้พัฒนาวัคซีนและการกระจายวัคซีนยังทำได้น้อยกว่าชาติตะวันตกอย่างมีนัยสำคัญแต่บางเศรษฐกิจกลับฟื้นตัวได้เร็ว

  • จีน เป็นผู้พัฒนาวัคซีนที่นำมาใช้ได้แล้ว รวมถึงรัฐบาลจีนมีประสิทธิภาพควบคุมการแพร่ระบาด จนยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำราว 100-300 คนต่อวัน โดยจีนสามารถพัฒนาวัคซีนได้เอง อาทิ Sinopharm และ Sinovac แต่ด้วยประชากรจำนวนมากทำให้การกระจายวัคซีนล่าช้า ประกอบกับการระบาดที่ไม่น่ากังวลจึงทำให้ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนจะยังล่าช้าอยู่ที่ราว 354 ล้านโดส ยังห่างไกลจากเป้าหมายครอบคลุม 560 ล้านคน หรือประมาณ 40% ของประชากรภายในเดือน มิ.ย. 2564 อย่างไรก็ดี ด้วยการแพร่ระบาดที่ไม่รุนแรงแม้การกระจายวัคซีนจะล่าช้า แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาสู่ภาวะใกล้เคียงปกติได้มากกว่าประเทศอื่นๆ ก็หนุนให้กำลังซื้อในประเทศกลับมาได้ไวเช่นกัน

 

  • ญี่ปุ่น เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังเผชิญความท้าทายอย่างหนักในการกระจายวัคซีน โดยเฉพาะการสร้างความน่าเชื่อถือในตัววัคซีนโควิด-19 เนื่องจาก ชาวญี่ปุ่นมีประสบการณ์เชิงลบต่อการฉีดวัคซีนมายาวนาน ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 การวัคซีนป้องกันโรคไอกรนทำให้เด็กทารกเสียชีวิต ตามมาด้วยทศวรรษที่ 1980 มีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนป้องกันโรคคางทูมและหัดเยอรมัน จนล่าสุดในปี 2013 กระแสสังคมบั่นทอนความน่าเชื่อถือทำให้ญี่ปุ่นต้องยกเลิกการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก สิ่งเหล่านี้ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกก็ยังอยู่ในระดับต่ำมากเพียง 2.9% ต่อประชากร และยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังอยู่ที่ระดับ 5,000-6,000 คนต่อวัน ซึ่งการจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จนนำไปสู่การเปิดประเทศจึงเป็นเรื่องที่ห่างไกล โดยเฉพาะการจัดงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 2020 ที่เลื่อนมาเป็นช่วงกลางปีนี้ก็ยังไม่มีความแน่นอน ยิ่งไม่ส่งผลดีต่อการกระตุ้นการจับจ่ายและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเท่าใดนัก

 

  • สำหรับ ประเทศในเอเชียตะวันออก อย่าง เกาหลีใต้ กับ ไต้หวัน เป็นอีกประเทศที่ประสบความสำเร็จสามารถจำกัดการระบาดได้อย่างดีจึงเอื้อให้ภาครัฐทยอยจัดหาและกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อขอเกาหลีใต้ อยู่ที่ 500-700 รายต่อวัน สำหรับไต้หวันมียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมเพียง 1,256 ราย และแทบไม่พบยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ อย่างไรก็ดี ประชาชนเกาหลีใต้มีความกังวลต่อความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 บางยี่ห้อเช่นกัน ซึ่งถ้าหากรัฐบาลจัดหาวัคซีนทางเลือกได้หลายชนิดก็น่าจะทำให้เกิดความคืบหน้าในประเทศได้ โดยกรณีนี้ต่างกับญี่ปุ่นที่กังวลต่อการฉีดวัคซีนแทบจะทุกประเภท

 

  • อินเดีย น่าจะฟื้นตัวจากโควิดช้าที่สุด เพราะเผชิญความท้าทายในการกระจายวัคซีนรอบด้าน 1) ผลิตวัคซีนเองได้จำกัดเพราะต้องพึ่งพาวัตถุดิบสำคัญจากชาติตะวันตกที่ทั่วโลกก็ต้องการวัตถุดิบนี้เช่นกัน 2) จำนวนประชากรที่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกกว่า 1,300 ล้านคน ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกอยู่ในระดับต่ำ 9.9% 3) ภาครัฐไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ทำสถิติไม่ต่ำกว่า 3 แสนรายต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.2564 มาจนถึงตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่สถานการณ์จะดีขึ้นได้ และ 4) ปัจจัยเฉพาะในประเทศนำมาซึ่งการระบาดรุนแรง อาทิ ความเชื่อในพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่แม่น้ำคงคาเมื่อต้นเดือนเม.ย. วิถีชีวิตที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้ ดังนั้นแม้รัฐบาลจะต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจก็ยากจะเกิดได้ในระยะเวลาอันสั้น ประกอบกับประชากรส่วนใหญ่ 99.5% ยากจนมีรายได้ไม่ถึง 30 ดอลลาร์ฯ ต่อวัน ยิ่งเป็นอุปสรรคการต่อการเข้าถึงวัคซีนและมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐบาล

 

 

สำหรับ ไทย ที่กำลังรับมือกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษในการแพร่ระบาดระลอก 3 นี้ ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.97% ของประชากรไทย ยิ่งท้าทายเป้าหมายการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศคงอ่อนแรงอีกระยะหนึ่ง จนอาจกระทบต่อแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวให้กลับมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ 

 

อย่างไรก็ดี การที่ประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกอย่างจีน สหรัฐอเมริกา  สหราชอาณาจักร รวมถึงการค่อยๆ ดีขึ้นของสหภาพยุโรป ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมก็น่าจะมีส่วนช่วยหนุนรายได้จากการส่งออกของไทยไปยังปลายทางต่างๆให้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนภาคการผลิตได้บางส่วน แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์อินเดีย แอฟริกาใต้และบราซิลอาจลุกลามเป็นวงกว้างจากตอนนี้ ซึ่งวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันคงไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ ปัญหาโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อาจก็จะกลับมาเป็นประเด็นฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกได้อีก​

[อ่าน 2,088]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อโกด้าเผยไทยติดอันดับ 2 จุดหมายยอดฮิตของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นช่วงโกลเดนวีค
หลุยส์คาเฟ่ ปลุกกระแสแบรนด์เนมตื่น เอนเกจพุ่ง 950 % หลังเปิดตัวเพียงครึ่งเดือน
สัญญาณดีๆ ของปี 2023 มีส่งต่อปี 2024 ไหม
TikTok ร่วมพัฒนาอนาคตแห่งความบันเทิงและการค้าในปี 2567
ถอดรหัสเทรนด์ การชำระเงิน ในเอเชียแปซิฟิกปี 2567
ข้อมูลอโกด้าชี้ นักท่องเที่ยวไทยตื่นเที่ยวจีนหลังการยกเลิกวีซ่าไทย-จีนถาวร
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved