SCG ชูกลยุทธ์ ESG สร้างการเติบโตระยะยาว
26 Nov 2021

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี


 

นอกจาก เอสซีจี จะเป็นองค์กรที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโซ่คุณค่าของตนเองอย่างมาก แล้วยังเป็นองค์กรที่โฟกัสกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาอย่างมุ่งมั่น แม้ผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับธุรกิจของเอสซีจีในบางกลุ่มธุรกิจแต่ในบางภาพรวมแล้วก็ยังมีความมั่นคง แม้จะส่งผลกระทบกับรายได้และผลกำไรไปบ้าง จากการปิดประเทศทั้งภูมิภาค ต้นทุนพลังงาน และวัตถุดิบที่สูงขึ้นตามราคาตลาดโลก แต่กระนั้น สถานะทางการเงินของเอสซีจียังแข็งแกร่ง สำหรับก้าวต่อไปของเอสซีจี หลังจากการเปิดประเทศของไทยในวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา

 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ได้ประกาศยุทธศาสตร์การเติบโตในระยะยาวด้วยการชูกลยุทธ์ ESG (Environmental, Social, Governance) ด้วยกลยุทธ์หลักๆ ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน (Alternative Energy) ทั้งพลังงานชีวมวลและแสงอาทิตย์, การรุกธุรกิจผลิตวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติกชีวภาพ, การส่งผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและสุขอนามัยที่ดี เพื่อหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจให้กับเอสซีจี ขณะเดียวกันโรงงานสาธิตกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี (Advanced Recycling) ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC PLUS โดย International Sustainability and Carbon Certification (ISCC) และนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล ในเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้รับการรับรองเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-World Class ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุด จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 3 ปีต่อเนื่องเป็นแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมทั้งเดินหน้าช่วยสังคมต่อเนื่องทั้งกระจายวัคซีนสู่ภาคใต้ ด้วยขนส่งควบคุมความเย็น, ช่วยน้ำท่วมและสร้างอาชีพ

 

 

พลังงานทดแทน

เอสซีจี ตั้งเป้าที่จะเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับต้นทุนพลังงาน และวัตถุดิบที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอีก รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต ด้วยการเร่งบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยการทำสัญญาซื้อขายพลังงานล่วงหน้า การเลือกใช้วัตถุดิบที่เหมาะสมกับ สถานการณ์ตลาดและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน

 

ทั้งนี้ ในช่วง ม.ค.-ส.ค. 2564 เอสซีจี มีสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะ RDF เท่ากับ 12% (โดยเฉพาะในธุรกิจซีเมนต์มีการใช้พลังงานชีวมวลและเชื้อเพลิง RDF ถึง 25%) และพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) เท่ากับ 3% หรือ 77,744 เมกะวัตต์-ชั่วโมง

ทั้งนี้ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างก็มุ่งจัดหาพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น โดยรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จาก Solar Farm และ Solar Floating รวมถึงการนำลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์กลับมาใช้ใหม่

 

สำหรับการรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนนั้นมีจุดเริ่มต้นจากการที่ปัญหาการเผาไร่นับวันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน และก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 จึงเกิดเป็นโครงการความร่วมมือเพื่อจัดการกับปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพื่อลดปัญหาการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย และซังข้าวโพด รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 )อีกทั้งยังเป็นการเสริมรายได้ให้เกษตรกร โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวในไร่อ้อย เพื่อนำไปเป็นพลังงานทดแทนในอุตสาหกรรมมากขึ้นในอนาคต โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 - 31 มีนาคม 2566 และตั้งเป้ารวบรวมเศษวัสดุจากไร่อ้อยปีละ ประมาณ 1.2 แสนตัน เพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน

 

ทั้งนี้ Green Solution by CPAC ประยุกต์ใช้ใช้ประโยชน์จากหม้อเผาปูนซีเมนต์ และไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการเปิดจุดรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หน้าโรงงานซีแพค และนำเศษวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาบีบอัดเศษวัสดุที่ทันสมัยให้เป็นเม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet) พร้อมทั้งบริหารจัดการขนส่งเที่ยวกลับ (Backhauling Management) ของการขนส่งปูนซีเมนต์ เพื่อนำเม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet) ไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ

 

 

 

พลาสติกชีวภาพ

ขณะที่ธุรกิจเคมิคอลส์ ก็มุ่งสู่การเป็น 'ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน' โดยดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงาน และเร่งขยายธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ตลาดมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง จากในปี 2564 ที่วางโรดแมปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งหมด 4 ด้านหลัก ที่มีการบูรณาการหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพราะมีการออกแบบเม็ดพลาสติกให้ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด แต่ยังคงมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นขั้นเริ่มต้นไปจนถึงการนำพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกชั้นสูงซึ่งจะดำเนินธุรกิจควบคู่กับการตอบโจทย์การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะข้อที่ 9 การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน, ข้อที่ 12 ซึ่งกำหนดการสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และข้อที่ 13 การเร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น และ ESG ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน ชุมชน สังคม และดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน

 

 

นอกจากนี้ จากความร่วมมือกับเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เอสซีจี ยังตั้งเป้าที่จะพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร พร้อมทั้งเน้นพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกและโซลูชั่น โดยออกแบบให้สามารถรีไซเคิลได้ง่าย (Design for Recyclability) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ข้อของโรดแมปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของปี 2564 ที่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดขึ้น

ตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนแนวปฏิบัติดังกล่าว นั่นคือ การพัฒนาโซลูชันสำหรับบรรจุภัณฑ์โดยออกแบบให้มีชั้นแผ่นฟิล์มเป็นชนิดเดียวกันทั้งหมด (Mono-Material Solutions) นอกจากนี้ เอสซีจียังพัฒนาเทคโนโลยี SMXTM เพื่อให้เม็ดพลาสติกมีความแข็งแรงมากขึ้นจึงใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง และยังช่วยเพิ่มสัดส่วนเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็นำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ PCR (Post- consumer Recycled Resin) เพื่อเน้นเพิ่มการหมุนเวียนใช้ซ้ำพลาสติก

ทั้งนี้โรดแมปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของปี2564 ที่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ผลักดันให้เกิดขึ้นแล้ว คือ Chemical Recycling ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานปิโตรเคมี หรือ Recycled Feedstock เพื่อนำกลับมาผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) เพื่อช่วยตอบโจทย์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน 

 

ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

นอกจากนี้ กลยุทธ์ด้าน ESG อีกด้านของเอสซีจี คือ การโฟกัสกับการสร้างการเติบโตระยะยาวด้วยผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและสุขอนามัย อาทิ ผลิตภัณฑ์ SCG Green Choice ที่ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ช่วยประหยัดพลังงานและส่งเสริมสุขอนามัยที่ดี CPAC Green Solution ที่มีนวัตกรรมหลัก ได้แก่ CPAC BIM ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารงานก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการสูญเสียเวลาและทรัพยากร, ผลิตภัณฑ์กลุ่ม SCG Green Choice  เช่น ปูนงานโครงสร้าง เอสซีจี สูตรไฮบริดที่ลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์, ระบบหลังคา SCG Solar Roof ที่ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับเจ้าของบ้าน ด้วยการใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและ SCG Bi-Ionization Air Purifier ระบบไอออนกำจัดเชื้อโรคที่ช่วยลดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสในอากาศ  นอกจากนี้ ธุรกิจได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อติดต่อและบริหารการค้าขายกับคู่ค้าและลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน เอสซีจีพี มุ่งพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและ Mega Trends ของเศรษฐกิจไทยและอาเซียน การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน อาทิ เทคโนโลยีเครื่องจักร (Mechanization) ระบบอัตโนมัติ (Automation) ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) เพื่อใช้วิเคราะห์ คาดการณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต รวมถึงคุณภาพของสินค้าให้กับภาคอุตสาหกรรมควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก ในกระบวนการผลิต ขณะเดียวกัน ยังคงมุ่งขยายธุรกิจด้วยการเพิ่มกำลังการผลิต (Organic Expansion) และร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจให้ครอบคลุมธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน รองรับความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

 

 

การช่วยเหลือสังคม

ที่ผ่านมา เอสซีจีได้ส่งนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการส่งห้องคัดกรองและห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Screening & Swab Unit) นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจเชื้อก่อน เพื่อช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่อาจจะมีเชื้อ แต่ไม่มีอาการได้ จะทำให้ช่วยป้องกันบุคลากรไม่ให้ติดเชื้อ และไม่สิ้นเปลืองชุด PPE สร้างความมั่นใจให้บุคลากรในการทำหัตถการกับผู้ป่วย, ห้องแยกเชื้อความดันลบ, เตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี (SCGP Paper Field Hospital Bed) ผลิตจากกระดาษรีไซเคิล 100% จากเอสซีจี ฯลฯ

 

นอกจากนี้ ก็เป็นการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาภัยแล้ง อาทิ โครงการ 'เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง' ซึ่งเอสซีจี ร่วมกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และสยามคูโบต้า ดำเนินการ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเอสซีจีครบรอบ 108 ปี ในปี 2564 สนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยตนเองตามแนวพระราชดำริ ที่ใช้ ‘ความรู้คู่คุณธรรม’ ทั้ง ‘ความรู้’ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตรวจสอบแหล่งน้ำ วางแผนจัดทำผังน้ำ และการใช้น้ำที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชน ตลอดจนส่งเสริม ‘คุณธรรม’ ให้คนในชุมชน ‘รู้ รัก สามัคคี มีส่วนร่วม และพึ่งพาตนเอง’ จัดสรรแบ่งปันน้ำอย่างเป็นธรรม โดยมีชุมชนแกนนำของอุทกพัฒน์ฯ และเอสซีจี ร่วมเป็นพี่เลี้ยงพัฒนา 108 ชุมชน ฯลฯ

 

 

สำหรับปีนี้ การช่วยเหลือสังคมด้านวิกฤติโควิด-19 เอสซีจีได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข  สยามยามาโตะ และคูโบต้า เร่งกระจายวัคซีนไฟเซอร์เชิงรุก 3.1 แสนโดสใน 4 จังหวัดภาคใต้ที่มีการแพร่ระบาดสูง ได้แก่  สงขลา, นราธิวาส, ปัตตานี และยะลา ด้วยระบบควบคุมความเย็นของรถขนส่งบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ เมเนจเม้นท์ จำกัด

 


บทความจากนิตยสาร MarketPlus Issue 140

[อ่าน 4,268]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แนะแบรนด์เสริมกลยุทธ์
The Importance of Building ​Nation Brand
9 แนวทางการสื่อสารความยั่งยืนให้กับองค์กร Effective Sustainability Communications
เปิดมุมมอง “ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ถึงกลยุทธ์ KFC ของ CRG และแผนรุกตลาด QSR ปี 2567
Do & Don’t และแผนการสืบทอดธุรกิจครอบครัว
EMMA Clinic มอบอัตลักษณ์ความงามเฉพาะคุณ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved