TOD การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน สร้างสรรค์พื้นที่ดีเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
31 Jan 2022

 

จากการเติบโตของสังคมเมืองที่รวดเร็ว ทำให้เมืองใหญ่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความแออัดและสภาพการจราจรติดขัดส่งผลให้สภาพแวดล้อมของเมือง โดยเฉพาะพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนเกือบทุกที่ ดูแออัดทรุดโทรมอย่างที่ไม่ควรจะเป็น จนกระทั่งปี ค.ศ.1993 ปีเตอร์ คาลธอร์ป สถาปนิกนักออกแบบและวางผังเมือง ชาวอเมริกัน ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาในรูปแบบ TOD (Transit-Oriented Development) หรือการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาทางสหรัฐอเมริกาได้นำการพัฒนาในรูปแบบ TOD ไปใช้พัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟนครชิคาโกเป็นแห่งแรก และตามด้วยพื้นที่สถานีรถไฟแห่งอื่นทั่วประเทศ

 

ผลที่ได้รับจากการพัฒนาครั้งนั้นทำให้ 20 ปีต่อมา พื้นที่รอบสถานีรถไฟนครชิคาโกเต็มไปด้วยผู้คนที่เลือกเดินทางจากบ้านด้วยโครงข่ายทางเดินเท้าและการปั่นจักรยาน เพื่อมาใช้บริการสถานีรถไฟ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างย่านการค้าเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเมือง ตามด้วยการสร้างสวนสาธารณะ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ สถานีรถไฟชิคาโกจึงไม่ใช่แค่จุดเชื่อมต่อการเดินทาง แต่เป็นจุดเชื่อมต่อวิถีชีวิตของผู้คนให้กลายเป็นสังคมเมืองขนาดย่อมที่มีทุกอย่างพร้อมสรรพ

 

แนวทางการพัฒนาในรูปแบบ TOD เป็นโมเดลที่ได้รับการยอมรับ และถูกนำไปใช้กับสถานีขนส่งมวลชนในหัวเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมโยงสู่การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในยุคปัจจุบันอีกด้วย เช่น สถานีรถไฟโอซาก้า เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เรียกได้ว่าถอดรูปแบบการพัฒนาแบบ TOD อย่างเต็มระบบ อาคารผู้โดยสารของสถานีรถไฟโอซาก้านั้น เมื่อมองดูจากภายนอกจะไม่รู้สึกว่านี่คือสถานีรถไฟ แต่เหมือนอาคารศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง แตกต่างกันตรงที่มีช่องทางเข้าซื้อตั๋วและพื้นที่รอรถไฟ ภายในเต็มไปด้วยร้านค้าตลอดเส้นทางเดินทุกชั้น ทั้งบนดินและใต้ดิน และยังมีโซนพื้นที่เช่าสำนักงาน และพื้นที่สวนสาธารณะสำหรับการออกกำลังกายอีกด้วย

 

เห็นได้ว่า พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟโอซาก้าในรัศมี 2 กม. เต็มไปด้วยอาคารสำนักงาน โรงแรม โรงพยาบาล สถานีตำรวจ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และพื้นที่พักอาศัย เชื่อมต่อกันด้วยโครงข่ายทางเดินเท้าใต้ดินและบนดินมายังสถานีรถไฟ มีการใช้ระบบเอไอ (AI : Artificial Intelligence) เข้ามาควบคุมระบบไฟฟ้า น้ำ ระบบรักษาความปลอดภัย ทำให้โอซาก้าขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในสมาร์ทซิตี้แห่งญี่ปุ่น คู่กับ เมืองโตเกียว และ เมืองเกียวโต ที่กำลังพัฒนาสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะด้วยเช่นกัน

 

 

ข้อมูลจาก บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ระบุว่า การพัฒนาในรูปแบบ TOD ไม่เพียงแต่พัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัยและพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณใกล้เคียงเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางการพัฒนาที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม  การบริหารจัดการขยะ การบำบัดและปล่อยน้ำเสีย ชักจูงให้ประชาชนหันมาใช้การเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน โครงข่ายทางเดินเท้า เพื่อเข้าสู่บริเวณสถานีรถไฟ ทดแทนการเดินทางด้วยแท็กซี่หรือรถยนต์ส่วนตัว จึงลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมกับการสร้างบรรยากาศของเมืองในย่านนั้นให้น่าอยู่ขึ้น

 

ดังนั้นพื้นฐานแรกที่เราจะได้เห็นจากการพัฒนาในรูปแบบ TOD คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยกับการเดินเท้า ด้วยการสร้างโครงข่ายทางเดินเท้า จากย่านที่พักอาศัยให้มีทางเดินกว้างขวาง สะอาดตา เส้นทางไม่ซับซ้อน ผู้คนสามารถข้ามถนนได้อย่างปลอดภัยทั้งการเดินและการปั่นจักรยานเพื่อมายังสถานีรถไฟ พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงระยะ 500 เมตรจากสถานีรถไฟ แต่ยังมีส่วนในการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยราคาประหยัดที่อยู่ห่างออกไปจากตัวสถานีรถไฟในระยะรัศมี 1 – 5 กม.

 

การมีร้านค้าหรือศูนย์การค้าในบริเวณสถานีก็เป็นสิ่งจำเป็นผู้ใช้บริการสามารถเดินเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นก่อนเดินทางไปทำงานหรือแวะซื้ออาหารก่อนกลับบ้านภายในบริเวณสถานีรถไฟอย่างสะดวกสบาย เมื่อมองในภาพใหญ่ สิ่งนี้คือการดึงดูดกำลังซื้อมหาศาลจากผู้เดินทางให้เข้ามายังบริเวณสถานี ผลักดันให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและยกระดับเศรษฐกิจของพื้นที่โดยรอบในระยะยาว นอกจากนี้คนในชุมชนโดยรอบยังสามารถผลิตสินค้าท้องถิ่นที่สามารถหาซื้อได้เฉพาะพื้นที่นั้น อย่างเช่นที่สถานีรถไฟโอซาก้า มีการวางขายแบรนด์สินค้าของชาวเมืองโอซาก้าที่สามารถหาซื้อได้เฉพาะที่สถานีโอซาก้าเท่านั้น เป็นการดึงดูดผู้คนและกระตุ้นเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลให้ไหลเวียนในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟได้เป็นอย่างดี

 

 

สุดท้ายจุดสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลยในการพัฒนาในรูปแบบ TOD คือการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสำหรับใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรม ออกกำลังกาย แหล่งนั่งพักผ่อนหย่อนใจ หรือใช้เป็นจุดนัดพบของผู้คน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการพัฒนาในรูปแบบ TOD คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีโดยรอบสถานีรถไฟ ให้เป็นสถานที่ซึ่งหลอมรวมความต้องการผู้คนที่ใช้ชีวิตใกล้เส้นทางคมนาคม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีความสุขและความสะดวกสบาย จากการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟอย่างมีประสิทธิภาพ

 


ขอบคุณข้อมูลจากบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด

ภาพจาก www.osakastation.com และ www.instagram.com/chicagocta

[อ่าน 3,715]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มงต้องลงแล้ว Miss AI เวทีประกวดนางงามจาก AI ครั้งแรกของโลก!
‘Digital Art Toy’ ภาคต่อที่เพิ่มมูลค่าให้กับ ‘ของเล่นศิลปะ’
พบความเชื่อมโยง แพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก
กับเหตุสังหารหมู่โลมา เมืองไทจิ ประเทศญี่ปุ่น
ทำไม 'รถยนต์​ไฟฟ้า' ของ Apple ถึงไปไม่ถึง 'ฝัน'
ทำความเข้าใจการขึ้นราคากระเป๋า Chanel ล่าสุดปี 2024 และตลาดขายต่อ
"ยูนิลีเวอร์" วางแผนแยกธุรกิจไอศกรีม ส่งผลให้พนักงาน 7,500 ราย ถูกเลิกจ้าง
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved