ธุรกิจส่อแววโตช้า เหตุคลัสเตอร์แรงงานระบาดหนัก เร่งยับยั้ง พลิกฟื้นศก.
02 Jul 2021

ธุรกิจส่อแววโตช้า เหตุคลัสเตอร์แรงงานระบาดสูง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านกว่า 2.1 ล้านคน เร่งยับยั้งการระบาด พร้อมปรับแนวทางดูแล เพื่อพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ชี้แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน  ติดเชื้อโรคโควิด-19 จากการระบาดระลอกสาม (1 เมษายน – 28 มิถุนายน 2564)  กว่า 3.6 หมื่นคน คิดเป็น 16% ของผู้ติดเชื้อในไทย ส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมและแคมป์คนงานก่อสร้าง หากไม่ยับยั้งการติดเชื้ออาจลามสู่แรงงานส่วนอื่น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าเดิมได้ แนะนายจ้างเร่งนำแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายและเร่งฉีดวัคซีน พร้อมทั้งเสนอภาครัฐอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว และพิจารณาแนวทางควบคุมการระบาดแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจัง

 

การระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยระลอกสาม พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศสะสม 2.2 แสนคน และยังไม่มีทิศทางจะลดลงในช่วงเวลานี้ ttb analytics วิเคราะห์การแพร่ระบาดเจาะลึกไปยังกลุ่มแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน  เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ได้

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีจำนวนแรงงานรวมกันกว่า 2.1 ล้านคน และอยู่ในภาคธุรกิจที่ไทยขาดแคลนแรงงาน โดยการวิเคราะห์จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 

  • แรงงานต่างด้าวในไทยที่อยู่ในภาคธุรกิจและพื้นที่ต่าง ๆ  
  • สถานการณ์การติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านในไทย และ
  • ข้อเสนอแนะผู้ประกอบการและภาครัฐ

 

แรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน 2.1 ล้านคน  ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง

ttb analytics ศึกษาโครงสร้างการจ้างงานของประเทศไทย (ณ เดือนพฤษภาคม 2564) พบว่าแรงงานในประเทศมีจำนวน 40 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานไทยจำนวน 37.7 ล้านคน และแรงงานต่างด้าว 2.3 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน (เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว) 2.1 ล้านคน หรือคิดเป็น 91% ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด เมื่อพิจารณาการจ้างงานแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านในไทย พบว่าภาคธุรกิจที่จ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านสูงสุด คือ ภาคก่อสร้างและการผลิต มีสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน 15% และ 10% ตามลำดับ โดยคิดเป็น 28% ของจีดีพี ในขณะที่ภาคการค้าและบริการ มีสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน 5% และ 3% ตามลำดับ

 

เมื่อพิจารณาการจ้างงานแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน ด้วยพื้นที่ที่มีการระบาดตามประกาศของ ศบค.ล่าสุด พบว่าพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (10 จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่

  • กรุงเทพมหานคร (4.57 แสนคน)
  • สมุทรสาคร (2.18 แสนคน)
  • สมุทรปราการ (1.24 แสนคน)
  • ปทุมธานี (1.11 แสนคน)
  • นนทบุรี (0.85 แสนคน)
  • นครปฐม (0.78 แสนคน)
  • สงขลา (0.4 แสนคน) ปัตตานี (0.07 แสนคน)
  • ยะลา (0.02 แสนคน)
  • นราธิวาส (0.01 แสนคน)

 

ทั้งนี้ มีสัดส่วนแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน 9.3% ของแรงงานรวม หรือจำนวน 1.12 ล้านคน เทียบกับพื้นที่อื่น ๆ ที่มีสัดส่วนอยู่เพียง 5.7% หรือ 0.96 ล้านคน เท่านั้น จะเห็นได้ว่า แรงงานเหล่านี้ทำงานในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและยังอยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อลักษณะกลุ่มคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดมากขึ้นจะทำให้ภาคธุรกิจ  ดังกล่าวอาจหยุดชะงักลงได้

 

 

สถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 ระลอกสาม แรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านติดเชื้อกว่า 3.6 หมื่นคน

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสาม นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 28 มิถุนายน 2564 พบว่าการติดเชื้อในประเทศสะสมรวมกว่า 2.2 แสนคน โดยจำนวนการติดเชื้อดังกล่าว เมื่อแยกเฉพาะแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน พบว่ามีการติดเชื้อสะสมกว่า 3.6 หมื่นคน หรือ คิดเป็น 16% ของจำนวนผู้ติดเชื้อในไทย

 

เมื่อพิจารณาแหล่งเกิดคลัสเตอร์การติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน พบว่าส่วนใหญ่กว่า 36% ติดเชื้อจากสถานที่ทำงาน และ 25% จากพื้นที่เสี่ยง เช่น ตลาด ชุมชนแรงงานต่างด้าวที่แออัด โดยตัวเลขการติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่การระบาดระลอกสามช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นมา และเมื่อเจาะลึกเชิงพื้นที่ของการติดเชื้อพบว่าจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ เพชรบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร มียอดการติดเชื้อสะสมคิดเป็น 72% ของการติดเชื้อแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน ซึ่งการติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม แคมป์คนงานก่อสร้าง และในตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ที่มีแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านทำงานอยู่จำนวนมาก

 

พื้นที่ที่มีการติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านสูงจะอยู่ในจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และเมื่อเทียบสัดส่วนการติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านต่อการติดเชื้อรวมในพื้นที่นั้น ๆ พบว่าพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านติดเชื้อมาก ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี และนนทบุรี ซึ่งมีสัดส่วนการติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวต่อผู้ติดเชื้อในพื้นที่รวม เท่ากับ 60% 41% 37% 27%  17% และ 12% ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ หากไม่เร่งยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านในพื้นที่ดังกล่าว จะนำไปสู่การระบาดวงกว้างต่อแรงงานที่เหลือ รวมถึงในพื้นที่ชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าวได้

 

 

แนะผู้ประกอบการและภาครัฐ นำแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมาย และเร่งฉีดวัคซีน

 

การจัดการปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ในหมู่แรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน เนื่องจากแรงงานเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการผลิตและก่อสร้าง หากไม่บริหารจัดการยับยั้ง จะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังแรงงานกลุ่มอื่น ๆ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานได้ นอกจากนี้ สายการผลิตในโรงงานและการก่อสร้างจะหยุดชะงัก ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่ตามมาได้

 

ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวในกิจการ หากแรงงานต่างด้าวทำงานมานาน แต่ยังไม่ถูกกฎหมาย ควรเร่งนำแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นขึ้นทะเบียน เพื่อให้ภาครัฐสามารถจัดสรรวัคซีนได้และเมื่อแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนแล้ว ให้เร่งฉีดวัคซีน โดยพิจารณาขอจัดสรรจากรัฐ หรือ จัดหาเอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อจนก่อให้เกิดคลัสเตอร์ในสถานประกอบการ รวมถึงจัดสถานที่ทำงาน และที่พักของแรงงานไม่ให้แออัดมากเกินไป

 

 

ภาครัฐสามารถอำนวยความสะดวกด้านการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจน สามารถควบคุมและพิจารณาจัดสรรวัคซีนได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ภาครัฐควรจัดการขบวนการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าประเทศอย่างเด็ดขาด เนื่องจากอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่นำเชื้อโรคเข้ามาแพร่กระจายในหมู่แรงงานต่างด้าวด้วยกัน รวมถึงพิจารณาแนวทางการควบคุมการระบาดในแรงงานต่างด้าว อาทิ

  • คัดกรองแรงงานแข็งแรงที่มีความจำเป็นในงานสำคัญออกจากที่พักไปอยู่สถานที่ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าได้
  • วางแนวทางมาตรฐานการเคลื่อนย้ายแรงงาน จากที่พักอาศัยเดินทางไปปฏิบัติงานในโรงงาน หรือแคมป์ก่อสร้าง โดยควบคุมไม่ให้ปะปนกับประชาชนทั่วไป
  • พิจารณาจัดสรรฉีดวัคซีนให้แรงงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีโอกาสติดเชื้อสูง
  • ตรวจหาเชื้อซ้ำในสถานประกอบการและชุมชนที่แรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นประจำ

 

[อ่าน 2,191]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หลุยส์คาเฟ่ ปลุกกระแสแบรนด์เนมตื่น เอนเกจพุ่ง 950 % หลังเปิดตัวเพียงครึ่งเดือน
สัญญาณดีๆ ของปี 2023 มีส่งต่อปี 2024 ไหม
TikTok ร่วมพัฒนาอนาคตแห่งความบันเทิงและการค้าในปี 2567
ถอดรหัสเทรนด์ การชำระเงิน ในเอเชียแปซิฟิกปี 2567
ข้อมูลอโกด้าชี้ นักท่องเที่ยวไทยตื่นเที่ยวจีนหลังการยกเลิกวีซ่าไทย-จีนถาวร
การรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร และ ข้อดีของโคเวิร์กกิ้งสเปซ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved